Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
ผู้จัดการรายวัน30 พฤษภาคม 2550
บีโลว์เดอะไลน์ กดรายได้สื่อไตรมาสแรกนิ่ง วิทยุ - นิตยสารติดลบ เพราะแบ่งงบจัดอีเวนต์             
 


   
search resources

News & Media
Advertising and Public Relations
นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ประเทศไทย, บจก.




ผลการสำรวจมูลค่าตลาดโฆษณาในไตรมาสแรก ของปี 2550 ที่นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช เปิดเผยออกมาแสดงให้เห็นถึงจุดเปลี่ยนแปลงในธุรกิจสื่อโฆษณาที่ต้องปรับตัว ตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค และความต้องการของลูกค้าผู้ซื้อสื่อ เพื่อการอยู่รอดของผู้ดำเนินธุรกิจให้บริการสื่อโฆษณา

มูลค่าการใช้สื่อโดยรวม 21,829 ล้านบาท แม้จะเป็นตัวเลขที่น่าพอใจ ในภาวะที่สภาพเศรษฐกิจ ประกอบกับความเคลื่อนไหวทางการเมือง ไม่เอื้ออำนวยต่อการลงทุน ทำให้คาดการณ์ว่าธุรกิจส่วนใหญ่จะลดการใช้เงินเพื่อการโฆษณาประชาสัมพันธ์ลง แต่อุตสาหกรรมโฆษณาก็ยังเติบโตขึ้นได้ถึง 4.39% เมื่อเทียบกับการใช้เงินช่วงไตรมาสแรกของปี 2549 ที่มีมูลค่า 20,911 ล้านบาท มีเพียงสื่อหลักอยู่ 4 ประเภทที่มีการเติบโตติดลบมาตลอด 3 เดือนแรกของปี คือ วิทยุ หนังสือพิมพ์ นิตยสาร และสื่อเคลื่อนที่

นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ระบุว่า สื่อหนังสือพิมพ์ สื่อหลักอันดับ 2 รองจากโทรทัศน์ มีมูลค่าการใช้สื่อช่วง 3 เดือนแรก 3,587 ล้านบาท เทียบกับ 3 เดือนแรกของปีก่อน 3,996 ล้านบาท เติบโตลดลงถึง 10.24% เช่นเดียวกับสื่อวิทยุ มีมูลค่า 1,381 ล้านบาท ลดลง 7.19% เมื่อเทียบกับปีก่อนที่ทำได้ 1,488 ล้านบาท ใกล้เคียงกับการมีรายได้ติดลบลง 8.65% ของสื่อนิตยสาร 3 เดือนแรกของปีนี้ทำได้ 1,288 ล้านบาท น้อยกว่าปีที่แล้วที่ทำได้ 1,410 ล้านบาท ขณะที่สื่อเคลื่อนที่ ลดความนิยมการใช้งานลงถึง 17.59% เหลือมูลค่าเพียง 178 ล้านบาทในไตรมาสแรก จากปีที่แล้วที่เคยมีมูลค่าถึง 216 ล้านบาท

แต่การปรับลดการใช้สื่อหลักเหล่านี้ เริ่มเป็นที่ยอมรับของบรรดาเจ้าของสื่อแล้วว่า เป็นการลดลงตามการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมผู้บริโภค ที่เจ้าของสินค้าที่ลงโฆษณาต้องเคลื่อนตัวตาม

สื่อดั้งเดิมอย่างหนังสือพิมพ์ ที่เห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงมาตั้งแต่ปีที่ผ่านมา การถูกรายการโทรทัศน์เล่าข่าว เปิดหนังสือพิมพ์อ่านข่าวออกอากาศ ผนวกกับการใช้สื่ออินเทอร์เน็ตบริโภคข่าวสารแทนสื่อหนังสือพิมพ์ ส่งผลยอดขายหนังสือพิมพ์ลดต่ำลง ค่ายหนังสือพิมพ์จึงปรับตัวโดยการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์เข้ามาช่วยสร้างรายได้ ทั้งการพัฒนาเว็บไซต์เพื่อตอบรับความต้องการบริโภคข่าวของคนรุ่นใหม่ สร้างรายได้จากการหาโฆษณาบนเว็บเป็นกอบเป็นกำ เช่น เว็บผู้จัดการ หรือกรุงเทพธุรกิจ รวมถึงการเปิดให้บริการส่งข่าวผ่านโทรศัพท์มือถือ ที่ค่ายหนังสือพิมพ์ใหญ่อย่าง ผู้จัดการ มติชน เนชั่น เปิดให้บริการจนมีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

แต่การปรับตัวของสื่อวิทยุ กลับออกมาในรูปแบบของการจัดอีเวนท์ บีโลว์เดอะไลน์ ที่ลูกค้าเห็นจุดเด่นของรายการวิทยุที่มีกลุ่มผู้ฟังชัดเจน สามารถชักจูงออกมาร่วมกิจกรรมได้ งบประมาณที่เคยจ่ายให้กับคลื่นวิทยุในการซื้อสปอตโฆษณา จึงถูกแบ่งส่วนมาจัดอีเวนท์ ตัวเลข 7% ที่ติดลบจึงอาจไม่ใช่เรื่องน่ากังวลของสื่อประเภทนี้นัก เพียงแต่ผู้ผลิตรายการในวันนี้ คงต้องทำงานมากขึ้นในการดึงเงินจากลูกค้า ทั้งการครีเอทกิจกรรมแปลกใหม่ การทำหน้าออร์กาไนเซอร์จัดกิจกรรม ไม่ใช่แค่นั่งเปิดสปอตวิทยุเหมือนก่อน

จึงเห็นการปรับตัวของคลื่นวิทยุยักษ์ใหญ่ อย่าง จีเอ็มเอ็มมีเดีย หรือเอ-ไทม์มีเดีย ที่การเลือกดีเจในช่วงหลัง ๆ หันมาใช้ผู้มีชื่อเสียงในวงการบันเทิง วงการไฮโซ หน้าตาดี มานั่งเปิดเพลง จัดรายการ อาทิ "แพง"ขวัญข้าว เศวตวิมล "โบ ไทรอัมพ์ คิงด้อม" สุรัตนาวี สุวิพร "มดดำ" คชาภา ตันเจริญ หรือ กฤษณ์ ศรีภูมิเศรษฐ์ เช่นเดียวกับคลิก เรดิโอ ที่มีดีเจระดับนางเอก อย่าง "ตุ๊กตา" อินทิรา แดงจำรูญ หรือ "ตี้" ธิดารัตน์ เจริญชัยชนะ มานั่งจัดรายการ เป็นดารามืออาชีพที่สามารถรองรับการออกภาคสนามจัดกิจกรรมเพื่อดึงดูดกลุ่มเป้าหมายของสินค้า ตามความต้องการของลูกค้า ก็เป็นการสร้างรายได้ที่นีลเส็น มีเดีย รีเสิร์ช ไม่ได้ระบุไว้

เช่นเดียวกับสื่อนิตยสารที่วันนี้ นิตยสารหัวใหญ่ ๆ ที่ได้รับความเชื่อถือจากผู้อ่าน ถูกแบ่งงบโฆษณาจากการซื้อสื่อในนิตยสาร มาสู่การจัดงานภาคสนามที่จะทำให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างใกล้ชิด ทั้งนิตยสารแฟชั่น สตรี นิตยสารกลุ่มแม่และเด็ก จนถึงนิตยสารที่ให้ความรู้เฉพาะด้าน ซึ่งปฐม อินทโรดม ผู้จัดการทั่วไป บริษัท เอ.อาร์. อินฟอร์เมชั่น แอนด์พลับลิเคชั่น จำกัด เจ้าของนิตยสารไอทีในเครือ arip เคยกล่าวว่า ปัจจุบันตนต้องเปลี่ยนบทบาทมาคิดกิจกรรมอีเวนท์ด้านไอทีตามความต้องการของลูกค้าที่เข้ามาตลอดเวลา จนแทบไม่มีเวลาไปดูแลเนื้อหาในนิตยสาร

ด้านสื่อที่ถูกจับตามองมากที่สุดในช่วงไตรมาสแรก คือการเติบโตถึง 418% ของสื่อในโรงภาพยนตร์ มูลค่าการใช้สื่อที่สูงถึง 1,348 ล้านบาท ในไตรมาสแรกของปีนี้ ทำสถิติสูงแซงการใช้สื่อเอ้าท์ดอร์ และนิตยสาร ทั้งที่ไตรมาสแรกของปีก่อน มูลค่าของสื่อในโรงภาพยนตร์มีเพียง 260 ล้านบาท ต่างจากสื่อเอ้าท์ดอร์ และนิตยสารที่มีมูลค่ากว่าพันล้านบาท

เป็นที่คาดการณ์กันมาก่อนหน้าแล้วว่า ปีนี้จะเป็นปีที่อุตสาหกรรมภาพยนตร์เติบโตมากปีหนึ่ง ด้วยโปรแกรมภาพยนตร์ที่จะลงโรง เป็นงานในระดับสุดยอดทั้งไทย และเทศ ส่งผลถึงสื่อโฆษณาในโรงภาพยนตร์เติบโตตามขึ้น นอกเหนือจากสปอตโฆษณาสินค้าในโรงภาพยนตร์ จะมีมากขึ้นอย่างชัดเจน บริเวณหน้าโรงภาพยนตร์ยังถูกใช้เป็นพื้นที่จัดอีเวนท์ของบรรดาเจ้าของสินค้าผู้สนับสนุนภาพยนตร์อีกด้วย

ขณะที่สื่อหลักอันดับ 1 อย่างโทรทัศน์ ยังคงเติบโต 3.16% อยู่ในระดับคงที่มาตลอด 3 เดือน มีมูลค่า 12,754 ล้านบาท

มูลค่าการใช้โฆษณาในไตรมาสแรกของปี 2550 จึงกลายเป็นเหมือนตัวเลขการใช้งบเพื่อสื่อสารการตลาดส่วนหนึ่ง ที่แม้สื่อบางกลุ่มจะมีมูลค่าลดลงบ้าง แต่เงินที่ลดลงก็ไม่ได้หล่นหายไปไหน เพียงแต่ย้ายไปอยู่ในรูปของสื่ออิเล็ทรอนิกส์ ที่ก้าวสู่การเติบโต หรือกิจกรรมบีโลว์เดอะไลน์ ที่เพียงทำให้เจ้าของสื่อต้องทำงานหนักมากขึ้นเท่านั้นเอง   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us