ปตท.เคมิคอลวางหมากระยะยาวทุ่มงบ 85,000 ล้านบาทแตกไลน์ธุรกิจ เพื่อแก้ปัญหาโอเลฟินส์ผันผวน ส่วนการร่วมทุนที่อิหร่านชะงักเพราะการเมืองป่วน เตรียมกระจายความเสี่ยงด้วยการผุดโรงงานผลิตเอทานอล ใช้งบกว่า 2,000ล้านบาท พร้อมจับมือเกษตรกรเซ็นสัญญาContact farming ส่งวัคถุดิบป้อนโรงงาน ที่จะเปิดดำเนินการ ตค.นี้
จากภาวะความผันผวนของราคาโอเลฟินส์ในตลาดโลก บริษัทปิโตรเคมียักษ์ใหญ่อย่าง บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) จึงมิอาจนิ่งนอนใจได้ จึงจำเป็นต้องเพิ่มความแข็งแกร่งด้วยการแตกไลน์ขยายธุรกิจปลายน้ำเพิ่มเติมจากสายการผลิตหลักอย่างโอเลฟินส์ที่กำลังประสบกับปัญหาราคาดังกล่าว
รับมือโอเลฟินส์ดิ่ง
อดิเทพ พิศาลบุตร์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท.เคมิคอล จำกัด (มหาชน) (PTTCH) วางกลยุทธ์แผนการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้า (2550-2554) โดยเตรียมเพิ่มสัดส่วนการลงทุนในโครงการต่างๆเพิ่มขึ้นอาทิ Polymerในปี 2550 23 %ปี2553เพิ่มเป็น 33% Oleo-chemicals ในปี 2550 จาก 1% เป็น 8%ในปี2553 และลด Base Chemical จาก 58 % ในปี 2550 เป็น 44% ในปี2553และผลิตภัณฑ์อื่นๆ เพิ่มขึ้น จาก 5% ในปี2550เป็น 6% ในปี2553 ซึ่งบริษัทเตรียมงบลงทุนสนับสนุนแผนดังกล่าวไว้ที่ 85,500 ล้านบาท และแหล่งเงินทุนที่ใช้ในการขยายธุรกิจจะมาจากเม็ดเงินเพิ่มทุนจดทะเบียนเมื่อปีที่แล้วจำนวน 280,000ล้านบาท กระแสเงินสดจากการดำเนินงาน 40,000-50,000 ล้านบาท ที่เหลือมาจากเงินกู้และหุ้นกู้ และจากแผนการกู้เงินที่ได้รับการอนุมัติจากผู้ถือหุ้นแล้วจำนวน 800 ล้านเหรียญหรือ 32,000ล้านบาทแล้ว
สำหรับแผนการลงทุนดังกล่าวนั้นเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทั้งต่อบริษัทและบริษัทในเครือให้เป็นไปอย่างราบรื่น รวมถึงเพิ่มภูมิคุ้มกันด้านความปลอดภัยให้ทั้งกับบริษัทและลูกค้าดังจะเห็นได้จากการเพิ่มสัดส่วนโครงการต่างๆในส่วนของอุตสาหกรรมปลายน้ำ(Downstream Business) ทั้งสิ้นกว่า 10 โครงการ โดยเฉพาะการเปิดเกมรุกตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะประเทศอิหร่าน
การเมืองทำพิษโปรเจค“อิหร่าน”ชะงัก
ส่วนแผนรับมือในการกระจายความเสี่ยงจากภาวะความผันผวนของราคาโอเลฟีนส์ที่มีแนวโน้มลดลงนั้น บริษัทจะเน้นการลงทุนกระจายไปยังภาคการลงทุนอื่นๆเพิ่มขึ้นอาทิ โครงการร่วมทุนผลิตเม็ดพลาสติก HDPE ที่ประเทศอิหร่าน มีผู้ร่วมทุนประกอบด้วย อิหร่าน 30% บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท อิโตชู จำกัด รวมกันประมาณ 50% และบริษัทอีก 10%
“บริษัท ได้ร่วมลงทุนกับบ.ซีเมนต์ไทยก็เป็นการเปิดตลาดใหม่ในดินแดนตะวันออกกลางโดยเฉพาในประเทศอิหร่าน ซึ่งความเสี่ยงในการลงทุนภายนอกประเทศจำเป็นที่บริษัทจะต้องมีพาร์ทเนอร์เข้ามาช่วย ซึ่งในอนาคตหากพบว่ามีแนวโน้มที่ดีก็จะมีการต่อยอดโครงการอื่นๆต่อไป”อดิเทพระบุ
อย่างไรก็ตาม โครงการร่วมทุนผลิตเม็ดพลาสติก HDPE ที่ประเทศอิหร่านมีอันต้องเลื่อนเปิดการผลิตออกไปอีก 6-เดือนจากกำหนดการเดิมที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือนพ.ค.2551เนื่องจากติดปัญหาการเมืองภายในอิหร่านและขาดการสนับสนุนของContactorจากต่างประเทศส่งผลให้โครงการดังกล่าวต้องเลื่อนโครงการออกไป ทำให้เกิดปัญหาความล่าช้าในเกิดขึ้น
ปัจจุบันโครงการนี้คืบหน้าไปเพียง 30% จากปัญหาของการเลื่อนโครงการส่งผลให้ค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ทั้งนี้ตัวเลขการลงทุนยังอยู่ในงบประมาณ ซึ่งโครงการดังกล่าวบริษัทได้ใช้เงินลงทุนรวม 240 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยบริษัทถือหุ้นอยู่ในสัดส่วน 10% ใช้เม็ดเงินลงทุนไปแล้วกว่า 7.2 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณ 300 ล้านบาทจึงไม่ส่งผลกระทบมากนัก
"ขณะนี้ยังไม่สามารถให้คำมั่นว่าโครงการนี้จะแล้วเสร็จได้ตามกำหนดจะต้องติดตามสถานการณ์ใกล้ชิด เพราะมีหลายปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ ทั้งโรงโอเลฟินส์ที่จะเป็นผู้ป้อนวัตถุดิบให้ก็เลื่อนออกไปอย่างไม่มีกำหนด ซึ่งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นจากการความล่าช้าก็ยังอยู่ในแผนงบประมาณ”
ขณะที่ การลงทุนในประเทศอื่นๆบริษัทจำเป็นต้องดูผลของโครงการที่อิหร่านก่อนจึงจะมีการพิจารณาการลงทุนต่อไป เนื่องจากจุดแข็งของบริษัทอยู่ที่ความแข็งแกร่งของฐานลูกค้าภายในประเทศเนื่องจากวัตถุดิบส่วนใหญ๋ได้รับการช่วยเหลือจากบริษัทปตท.จำกัด (มหาชน) การที่จะไปตั้งโรงงานในประเทศอื่นจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงต้นทุนของค่าวัตถุดิบหลักอย่างNaphtha เป็นสำคัญ
ขานรับก.พลังงาน/ผุดโรงงานเอทานอล
ขณะเดียวกันในการสนับสนุนของกระทรวงพลังงานในเรื่องพลังงานทดแทน ที่ประกาศให้สามารถผสมไบโอดีเซล (B100) ไม่เกิน 2% ซึ่งเริ่มมีผลบังคับใช้เร็วที่สุดตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2551 เป็นต้นไป จะส่งผลให้มีการใช้ไบโอดีเซล B100 เพิ่มจากปัจจุบัน 42,000 ลิตรต่อวัน เป็น 1 ล้านลิตรต่อวันนั้นเพื่อเป็นการรองรับความต้องการดังกล่าวบริษัทจึงได้ลงทุนก่อสร้างโรงงานผลิต Methyl EstercและโรงงานผลิตFatty Alcohol ขึ้นภายใต้การดูแลของบริษัท ไทยโอลีเคมี(TOL) โรงงานดังกล่าวมีกำลังการผลิตรวม 330,000ตันต่อปี ขณะนี้การก่อสร้างคืบหน้าไปแล้วกว่า 60 %คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนต.ค.ตามกำหนดการที่วางไว้ โดย 2 โรงงานดังกล่าวบริษัทใช้เงินลงทุนกว่า 2,400ล้านบาท
ทั้งนี้ Methyl Ester จะนำไปใช้เป็นสารเพิ่มประสิทธิภาพในน้ำมันดีเซล ส่วน Fatty Alcohol จะถูกนำไปใช้เป็นสารตั้งต้นสำหรับอุตสาหกรรม Oleo chemicals ใช้ในการผลิตผลิตภัณฑ์เพื่อสุขอนามัยส่วนบุคคลของบริษัทในเครือ
ด้านวัตถุดิบ บริษัทได้เตรียมเซ็นสัญญากับกลุ่มเกษตรกร(Contact farming) เพื่อการรันตีความมั่นใจต่อเกษตรกรผู้ปลูกปาล์ม ซึ่งในจุดนี้จะสามารถช่วยเหลือเกษตรกรรวมถึงลดภาระการนำเข้าวัตถุดิบในการผลิตเอทานอลจากต่างประเทศได้เป็นจำนวนมาก
“การที่เราเปิดรับซื้อวัตถุดิบการเกษตรอย่างเช่นปาล์มนั้น นอกจากเราจะไม่ต้องนำเข้าวัตุถุดิบจากต่างประเทศแล้วยังเป็นการช่วยเกษตรกรให้มีรายได้ที่แน่นอนซึ่งก็ได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย”
รายรับส่อแวววูบ
ด้าน ผลประกอบการล่าสุดของบริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน)ประจำปี 2549 พบว่า บริษัทมีรายได้จากยอดขายในปี 2549จำนวน 69,811ล้านบาท สูงขึ้น 22 %จากเดิมที่ปี2548รายได้อยู่ที่ 57,382 ล้านบาท บริษัทมีกำไรสุทธิประจำปี2549อยู่ที่17,306 ล้านบาทเพิ่มขึ้น34% จากเดิมอยู่ที่12,925 ล้านบาท ด้านกำไรสุทธิต่อหุ้นในปี2549อยู่ที่14.91บาท เพิ่มขึ้น 30%ขณะที่ปี2548อยู่ที่ 11.43 เนื่องจากบริษัทผลิตโอเลฟินส์เพิ่มขึ้น 13% ปริมาณHPDEเพิ่มขึ้น20 % และราคาขายโพรพิลีนเพิ่มขึ้น16% ราคาขายเอทิลีนเพิ่มขึ้น 18%และราคาขายHPDEอ้างอิงราคาSPOTเพิ่มขึ้น 19%
สำหรับผลการดำเนินงานในปีนี้ คาดว่าบริษัทอาจจะมีรายได้ต่ำกว่าปีก่อนประมาณ 3-4% หรือใกล้เคียงกันจากปีที่แล้วมีรายได้ 70,000ล้านบาท เนื่องจากกำลังการผลิตโอเลฟินส์ปี 2550 ใกล้เคียงกับปีที่ก่อนอยู่ที่ 1,580,000ตัน เนื่องจากบริษัทได้มีการหยุดซ่อมบำรุงโรงโอเลฟินส์ 60 วันก่อนที่จะมีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นมาอีก 150,000ตันต่อปี และ จากความล่าช้าของโรงแยกก๊าซฯแห่งที่ 5 ทำให้กำลังการผลิตโอเลฟินส์ปีนี้อาจจะต่ำกว่าเป้าหมายเดิม 1-2%ของกำลังการผลิตรวม
|