4 เดือน 7 โบรกฯฝรั่งเดินหน้าซื้อสุทธิหุ้นไทย 3.6 หมื่นล้าน เป็นสัญญาณแสดงการกระเตื้องหลังกระหน่ำขายสุทธิจากมาตรการกันสำรอง30% เดือนเมษา JPM และ CLSA ทำยอดซื้อสุทธิสูงสุด เน้นเก็บหุ้นฐานะการเงินมั่นคงมีเงินปันผลมากกว่า 5%, แนวโน้มธุรกิจเติบโตได้ดี,ราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าเหมาะสม
หากขาดแรงซื้อของฝรั่งไปแล้ว การซื้อขายของตลาดหุ้นไทยก็คงจะซึมๆหงอยๆมีอาการเหมือนอย่างที่เห็นในสัปดาห์ที่ผ่านมา ดัชนีขึ้นก็ไม่ได้มาก ลงก็ไม่ได้เยอะ ไปไหนไม่ไกล ส่วนปริมาณการซื้อขายก็เบาบางวันละไม่กี่พันล้านบาท ต่างฝ่ายต่างก็กล้าๆกลัวๆ นี่เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าทิศทางของตลาดฯในช่วงนี้ก็คงต้องอาศัยแรงเทรดของฝรั่งเป็นสำคัญ
รายงานของ บริษัทหลักทรัพย์(บล.)นครหลวงไทยว่า จากการศึกษาปริมาณการซื้อขายของโบรกเกอร์ต่างชาติจำนวน 7 แห่ง ได้แก่ บล.เจพี มอร์แกน ประเทศไทย (JPM),บล. ซี แอล เอ เครดิต สวิส ประเทศไทย(CLSA),บล. เครดิต สวิส ประเทศไทย (CS),บล.ยูบีเอส ประเทศไทย (UBS),บล.ทีเอ็มบี แมคควอรี (TMBMACQ), บล.ภัทร(PHATRA),บล.ดีบีเอส วิคเคอร์ส (DBSV) พบว่านักลงทุนต่างชาติมีมุมมองต่อการลงทุนในตลาดหุ้นไทยดีขึ้นตามลำดับ นับจากช่วงปลายปีที่แล้วเป็นต้นมาซึ่งมีมาตรการกันสำรอง30% โดยปัจจุบันนักลงทุนต่างชาติมียอดซื้อสุทธิรวมกันกว่า 3.6 หมื่นล้านบาท มีปริมาณการซื้อขายคิดเป็นสัดส่วนราว 40% ต่อวัน เทียบกับปีที่ผ่านมาที่มีสัดส่วนเฉลี่ยที่ 32%
จากข้อมูลยังพบว่า การเทรดผ่านโบรกเกอร์ต่างชาติมีลักษณะที่กระจายตัวมากขึ้น โดยมีการสลับการเป็นผู้ซื้อ-ผู้ขาย เห็นได้จาก UBS ซึ่งในอดีตเคยเป็นผู้ซื้อสุทธิ กลับมาเป็นผู้ขายสุทธิในเดือนมีนาคม-เมษายน ในขณะที่ JPM ซึ่งที่ผ่านมาเคยเป็นผู้ขายสุทธิปัจจุบันก็กลายมาเป็นผู้ซื้อสุทธิแทน
ทั้งนี้ JPM และ CLSA นับว่าเป็น 2 โบรกเกอร์ต่างชาติที่มีมูลค่าซื้อสุทธิสูงสุดในช่วงเดือนเมษายน หลังจากที่ JPM ติดอันดับเป็นผู้ขายสุทธิมาตลอดในช่วง 3เดือนก่อนหน้านี้ ขณะที่ PHATRA, UBS และ CS มีสถานะเป็นผู้ขายสุทธิในเดือนเมษายน
สำหรับ UBS, TMBMAQ, CS และ CLSA ถือเป็นโบรกเกอร์ที่มีมูลค่าซื้อสะสมสุทธิในปี 2550โดย UBS มีมูลค่าซื้อสะสมถึง 1.6 หมื่นล้านบาท สอดคล้องกับการเสนอมุมมองของ UBS เองในการปรับเพิ่มน้ำหนักลงทุนในตลาดหุ้นไทยตั้งแต่ช่วงเดือนมกราคม ขณะที่ JPM และ PHATRA ก็ยังครองสถานะเป็นผู้ขายสุทธิในปีนี้
หากมองย้อนหลังก็จะพบว่า JPM, CLSA และ CS เป็นโบรกเกอร์ต่างชาติ 3 รายที่มีมูลค่าขายสุทธิในเดือนธันวาคมมากที่สุดหลังธนาคารแห่งประเทศไทยออกมาตรการกันสำรอง 30% ดังนั้นการกลับมาซื้อสุทธิของโบรกเกอร์ทั้ง 3 แห่งถือเป็นสัญญาณในเชิงบวก แสดงให้เห็นถึงมุมมองของโบรกฯต่างชาติที่ดีขึ้นตามลำดับ
นอกจากนี้จากประเมินยังพบว่า มีความเป็นไปได้มากที่ PHATRA และ DBS จะกลายเป็นผู้ซื้อ ขณะที่ UBS มีโอกาสเป็นผู้ขายสุทธิในช่วงเดือนเมษายน
บล.นครหลวงไทย ระบุเพิ่มเติมว่า การกลับมาซื้อสุทธิของนักลงทุนต่างชาติจะส่งผลดีกับหุ้นขนาดใหญ่ โดยเฉพาะในกลุ่มพลังงานและธนาคาร โดยเฉพาะหุ้น 10 ตัวซึ่งมีคุณสมบัติเด่น 3 ประการ ประกอบด้วยฐานะการเงินมั่นคงมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลมากกว่า 5% , แนวโน้มธุรกิจเติบโตได้ดีในปี 2550-2551 และราคาหุ้นต่ำกว่ามูลค่าที่เหมาะสมไม่น้อยกว่า15%
โดยหุ้นที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวประกอบด้วยหุ้นของ บมจ.เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (DELTA), บมจ.ทุนธนชาต (TCAP), บมจ.ปตท.เคมิคอล (PTTCH),บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ,บมจ.ฮานา ไมโครอิเล็คโทรนิคส (HANA),บมจ.โทรีเซนไทย เอเยนต์ซีส์ (TTA),บมจ.เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป (MAJOR),บมจ.แลนด์แอนด์เฮ้าส์ (LH),บมจ. อะโรเมติกส์ (ATC) และ บมจ.ไทยออยล์ (TOP)
ค่าเงินบาทที่แข็งขึ้นบวกกับเงินปันผลรับที่หลายบริษัทได้ทยอยจ่ายกันไปเกือบหมดแล้ว ดังนั้นแม้ดัชนีจะไม่ไปไหน แต่ฝรั่งที่ช้อนหุ้นไว้ก่อนหน้านี้ก็ได้กำไรแล้วเห็นๆ เพราะฉะนั้นในการตัดสินใจลงทุนช่วงต่อไปของนักลงทุนรายย่อย ก็ควรจะต้องใช้ข้อมูลและดัชนีอื่นๆนอกเหนือจากแรงซื้อของต่างชาติเป็นตัวประกอบในการตัดสินใจด้วย เพื่อจะได้เห็นถึงกลยุทธ์และรูปแบบการลงทุนที่สมบูรณ์ขึ้น
|