|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2550
|
|
ด้วยวัย 74 ปี บทบาทและความเป็นไปของ Shintaro Ishihara อาจมิใช่คำตอบของความหวังและอนาคตสำหรับการพัฒนาทางการเมืองของญี่ปุ่น
แต่การได้รับเลือกตั้งให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวเป็นสมัยที่ 3 ติดต่อกันจากผลการเลือกตั้งครั้งล่าสุดเมื่อต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา ย่อมไม่ใช่กรณีที่ปราศจากนัยสำคัญ
เขาเกิดที่เมือง Kobe (30 กันยายน 1932) หัวเมืองใหญ่ในเขต Kansai แต่ใช้ชีวิตในวัยเยาว์เติบโตขึ้นในเมือง Zushi เมืองชายทะเลในจังหวัด Kanagawa และเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษาที่มหาวิทยาลัย Hitotsubashi ในกรุงโตเกียว ก่อนจะสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยแห่งนี้ในปี 1956
ชื่อเสียงของ Shintaro Ishihara เริ่มปรากฏต่อสาธารณชนเมื่อเขาได้รับรางวัล Akutagawa Prize ประจำปี 1955 รางวัลด้านวรรณกรรมที่ถือเป็นรางวัลที่ทรงเกียรติระดับชาติสำหรับนักเขียนญี่ปุ่น จากงานเขียน เรื่อง Season in the Sun (Taiyo no kisetsu)
วรรณกรรมดังกล่าวได้รับการดัดแปลง เป็นบทภาพยนตร์ในชื่อเดียวกัน โดยมี Yujiro Ishihara น้องชายของ Shintaro Ishihara เป็นผู้แสดงนำอีกด้วย
บทบาทของ Shintaro และ Yujiro Ishihara จากวรรณกรรมและภาพยนตร์ดังกล่าว กลายเป็นต้นแบบทางวัฒนธรรมร่วมสมัยสำหรับเยาวชนคนรุ่นใหม่ในสังคมญี่ปุ่นยุคหลังสงครามไปโดยปริยาย
Yujiro Ishihara กลายเป็นนักแสดงขวัญใจมหาชนที่มีผลงานการแสดงอีกหลายเรื่อง ขณะที่ Shintaro Ishihara ให้ความสนใจ กับการสร้างงานเขียนหลากหลายรูปแบบทั้งเรื่องสั้น นวนิยาย บทละคร รวมถึงการเป็นเจ้าของคณะละคร
นอกจากนี้ไลฟ์สไตล์ของ Shintaro Ishihara ยังเป็นกรณีที่แต่งเติมสีสันให้ฉูดฉาด ยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อเขาเดินทางท่องเที่ยวสู่ขั้วโลก เหนือ ล่องเรือ yacht ไปโดยลำพังและการขี่รถจักรยานยนต์ตระเวนไปทั่วอเมริกาใต้
ในช่วงปี 1967-1968 ซึ่งสงครามเวียดนามกำลังระอุ Shintaro Ishihara ยังผันตัวเองไปเป็นผู้สื่อข่าวภาคสนามให้กับ หนังสือพิมพ์ Yomiuri อีกด้วย
Shintaro Ishihara เริ่มเข้าสู่วงการเมืองในปี 1968 ด้วยการเป็นผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา (House of Council-lors) ในสังกัดพรรคเสรีประชาธิปไตย (LDP : Liberal Democratic Party) และสามารถกำชัยชนะได้รับเลือกเข้าสู่สภาด้วยคะแนนเสียงท่วมท้น
หลังพ้นวาระในตำแหน่งวุฒิสมาชิก Shintaro Ishihara ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (House of Re-presentatives) ภายใต้ร่มธงของพรรค LDP สำหรับเขตเลือกตั้งที่ 2 ของกรุงโตเกียว และได้รับเลือกเข้าสู่สภาอีกครั้งในปี 1972
บทบาทของ Shintaro Ishihara เริ่มทวีความร้อนแรงยิ่งขึ้น โดยเขาวิพากษ์วิจารณ์ กลไกการทำงานของพรรค LDP อย่างต่อเนื่อง และเริ่มรวบรวมสมาชิกภายในพรรค LDP ที่มีแนวคิดต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์อีกกว่า 30 ราย ก่อตั้งกลุ่ม Blue Storm Group ขึ้นเป็นกลุ่มย่อยภายในพรรค LDP
ทัศนะที่ชิงชังและเกลียดกลัวต่อแนวคิด สังคมนิยมและคอมมิวนิสต์ของ Shintaro Ishihara สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดผ่านงานเขียนภายใต้ชื่อ Lost Country (1982) ซึ่ง Ishihara ได้คาดการณ์และฉายภาพประเทศญี่ปุ่น ที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองและควบคุมของสหภาพโซเวียต
ท่วงทำนองและท่าทีอนุรักษนิยม ที่พร้อมจะเป็นปฏิปักษ์กับแนวคิดสังคมนิยมทุกรูปแบบ ส่งผลให้ Ishihara ลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียวในปี 1975 เพื่อแข่งขันกับ Ryokichi Minobe นักการเมืองแนวสังคมนิยมที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดคนหนึ่งของญี่ปุ่น และดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวยาวนานตั้งแต่ปี 1967 (Ryokichi Minobe สิ้นสุดวาระในตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวในปี 1979)
การเลือกตั้งในครั้งนั้น ทำให้ Ishihara ต้องประสบกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งเป็นครั้งแรก แต่ด้วยบทบาทในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขาสามารถสร้างฐานทาง การเมืองภายในพรรค LDP และป่ายปีนขึ้นสู่ตำแหน่งสำคัญทางการเมือง ในเวลาต่อมา
Ishihara ได้รับแต่งตั้งให้เป็น Director-General for Environment Agency ในคณะรัฐบาลของ Takeo Fukuda เมื่อปี 1976 รวมถึงการเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ในคณะรัฐมนตรีภายใต้การนำของ Noboru Takeshita ในปี 1989 ด้วย
ในช่วงทศวรรษ 1980 นับเป็นช่วงที่ Ishihara สั่งสมการรับรู้จากสาธารณชนได้อย่างต่อเนื่อง แต่นั่นย่อมไม่เพียงพอที่จะทำให้ เขาประสบผลสำเร็จในการรวบรวมเสียงสนับสนุน เพื่อก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งหัวหน้าพรรค LDP ในการสรรหาเมื่อปี 1989 ที่ดำเนินไปท่ามกลางกรณีอื้อฉาว และการแข่งขันระหว่าง กลุ่มการเมืองหลากหลายได้
ชื่อและบทบาทของ Ishihara เริ่มเลือนหายออกจากสังคมการเมืองระดับชาติอย่างช้าๆ ในเวลาต่อมา แต่สำหรับแวดวงเศรษฐกิจการเมืองระดับนานาชาติ กลับให้ความสนใจ Ishihara มากขึ้นเป็นลำดับ
โดยเฉพาะเมื่อหนังสือ The Japan That Can Say NO ("NO" to ieru Nippon) ซึ่งเป็นผลงานร่วมเขียนกับ Akio Morita ประธานบริษัท Sony ในขณะนั้น ปรากฏตัวต่อบรรณพิภพในปี 1989
สาระสำคัญของ The Japan That Can Say NO อยู่ที่การเรียกร้องให้นักธุรกิจและนักการเมืองญี่ปุ่น เลิกพึ่งพาร่มเงาของสหรัฐอเมริกา และพร้อมที่จะหยัดยืนเพื่อแสวงหาหนทางอันพึงประสงค์ด้วยตัวเอง
จังหวะเวลาที่ The Japan That Can Say NO ปรากฏตัวต่อสาธารณชนเป็นกรณีที่ควรให้ความสนใจไม่น้อย เพราะในช่วงปลายทศวรรษ 1980 ต่อเนื่องสู่ช่วงต้นของทศวรรษ 1990 เป็นช่วงที่สถานการณ์โลกกำลังจะเปลี่ยนผ่านจากยุคสงครามเย็นไปสู่ยุคระเบียบโลกใหม่
สหภาพโซเวียต รวมถึงแนวคิดสังคม นิยมและคอมมิวนิสต์ จึงอาจไม่ใช่ภัยคุกคาม ที่น่าสะพรึงกลัวสำหรับ Ishihara อีกแล้ว
Ishihara เริ่มถอยห่างจากแวดวงการเมืองระดับชาติในปี 1995 ก่อนที่เขาจะประกาศตัวเข้ารับสมัครเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการกรุงโตเกียว โดยไม่สังกัดพรรคการเมืองในปี 1999 และได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าการสมัยแรก
แม้ว่าโดยตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียว Ishihara อาจไม่ใช่นักการเมืองที่พร้อมจะส่งผลสะเทือนในแนวนโยบายระดับชาติ แต่ทัศนะและการแสดงความคิดเห็นอันเกี่ยวเนื่องกับประเด็นว่าด้วยชาติพันธุ์ กลับส่งผลสะเทือนในวงกว้างหลายกรณี
ในสุนทรพจน์ที่แสดงต่อเจ้าหน้าที่กองกำลังป้องกันตัวเอง (SDF : Self-Defense Forces) ในเดือนเมษายน 2000 Ishihara ระบุ ว่า อาชญากรรมโหดร้าย ที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในสังคมญี่ปุ่นปัจจุบัน เป็นผลจากการหลั่งไหลเข้าเมืองอย่างผิดกฎหมายของพวก sangokujin (third country person) และ gaikokujin (foreigners)
นัยความหมายที่สะท้อนการดูถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรงของ sangokujin (ไม่ใช่ชาติที่ชนะหรือแพ้ในสงครามโลกครั้งที่สอง) ซึ่งมุ่งเป้าไปที่ชาวจีนและเกาหลี กลายเป็นประเด็นที่ได้การวิจารณ์อย่างกว้างขวาง และติดตามมาด้วยการเรียกร้องให้ Ishihara ขอโทษและลาออกจากตำแหน่ง
กรณีว่าด้วย sangokujin ดังกล่าวยัง ผูกพันเกี่ยวเนื่องกับประเด็นประวัติศาสตร์ของ เหตุจลาจล ภายหลังการเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในเขต Kanto เมื่อปี 1923 (Great Kanto Earth-qauke of 1923) อีกด้วย
Ishihara ปฏิเสธที่จะลาออกและไม่กล่าวคำขอโทษใดๆ พร้อมกับระบุว่า sangokujin เป็น ศัพท์ที่เกิดขึ้นภายหลังจากที่ญี่ปุ่นแพ้สงคราม โดยทหารและชาวญี่ปุ่นจำนวนไม่น้อยถูกชาวจีนในไต้หวัน และชาวเกาหลีในคาบสมุทรเกาหลี ปล้น ทำร้าย และสังหาร
ความหมายของ sangokujin จึงไม่ใช่ ถ้อยความดูถูก หากเป็นการแสดงความเกรงกลัวต่างหาก
ทัศนะอันร้อนแรงที่เกี่ยวเนื่องกับชาติพันธุ์ของ Ishihara กลายเป็นหัวข้อการวิพากษ์วิจารณ์อีกครั้งในปี 2006 เมื่อเขากล่าว ถึง Roppongi ย่านธุรกิจราตรีที่เต็มไปด้วยแสงสีของแหล่งบันเทิงเริงรมย์กลางกรุงโตเกียว ว่าเป็นเพียง
"ดินแดนของเพื่อนบ้านชาวต่างชาติจากแอฟริกา ซึ่งไม่พูดภาษาอังกฤษและเข้ามา ประกอบการในธุรกิจที่ทุกคนก็รู้ว่าคืออะไร"
เขาก้าวล่วงไปถึงขั้นที่ระบุว่า กลุ่มคน เหล่านี้เป็นผู้ก่อให้เกิดอาชญากรรมใหม่ๆ เช่น การขโมยรถยนต์ที่ไม่เคยเกิดขึ้นในญี่ปุ่น ซึ่งญี่ปุ่นควรจำกัดการอนุญาตให้เฉพาะคนที่ฉลาดและมีปัญญาเท่านั้นที่จะเดินทางเข้าประเทศได้
ปรากฏการณ์น่าสนใจที่เกิดขึ้นต่อเนื่อง จากทัศนะของ Ishihara ดังกล่าวอยู่ที่พื้นที่ซึ่งเคยเป็นที่ทำการของ Japan Defense Agency ในเขต Akasaka 9-chome ซึ่งเป็น พื้นที่ต่อเนื่องจากย่าน Roppongi และอยู่ห่าง จาก Roppongi Hills เพียง 700-800 เมตร ได้รับการพัฒนาพื้นที่เป็นโครงการอสังหาริมทรัพย์ขนาดใหญ่ ภายใต้ชื่อ Tokyo Midtown
ความโดดเด่นของ Tokyo Midtown ที่มี Mitsui Fudosan เป็นบริษัทหลักในการพัฒนาพื้นที่ ในด้านหนึ่งอาจอยู่ที่ Midtown Tower กลายเป็นสิ่งปลูกสร้างที่มีความสูงที่สุด ของกรุงโตเกียวในปัจจุบัน และเพิ่งเปิดตัวต่อ สาธารณะในฐานะย่านธุรกิจและแหล่งสันทนา การใหญ่ใหม่ล่าสุดของกรุงโตเกียวเมื่อปลายเดือนมีนาคม 2007
แต่นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับการเป็นพื้นที่ที่พร้อมจะรองรับการปรับเปลี่ยนภูมิทัศน์ และจัดระเบียบสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้นภายใน เขต Roppongi ในห้วงเวลาไม่นานนับจากนี้
การปราบปรามแหล่งบันเทิงไม่พึงประสงค์ และการตรวจจับแรงงานต่างด้าวในเขต Roppongi ส่งผลให้ผู้ประกอบการจำนวนมากตั้งข้อสังเกตและวิพากษ์วิจารณ์ว่า กรณีดังกล่าวเป็นไปเพื่อเอื้อประโยชน์ทางการค้าให้กับ Roppongi Hills และ Tokyo Midtown
ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่กลับแสดงความยินดี และรู้สึกอบอุ่นใจจากมาตรการปราบปรามอาชญากรรมนี้
จังหวะก้าวของ Ishihara ที่ปรากฏออกมาในรูปของการแสดงความคิดเห็นที่มีลักษณะเหยียดหยามทางชาติพันธุ์ (racism) แม้จะกลายเป็นประเด็นร้อนทางสังคมอย่างต่อเนื่อง
แต่ Ishihara ยังสามารถได้รับการสนับสนุนจากชาวกรุงโตเกียว ให้ดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวเป็นสมัยที่สอง ด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึงกว่า 3 ล้านเสียงในการเลือกตั้งเมื่อปี 2003
นโยบายด้านสิ่งแวดล้อม ว่าด้วยการจำกัดและควบคุมการ ใช้เครื่องยนต์ดีเซลในเขตเมือง เพื่อแก้ปัญหามลพิษในอากาศ และการประกาศที่จะลดจำนวนประชากรอีกา (crow) ที่มีอยู่มาก กว่า 37,000 ตัวทั่วกรุงโตเกียว ซึ่งเป็นกรณีคุกคามความเป็นอยู่ของชาวกรุงโตเกียว และเกี่ยวเนื่องกับการจัดเก็บขยะมูลฝอย
รวมถึงการเน้นที่จะสร้างให้ เกิด safe and secure society และการประกาศตัดลดงบประมาณการลงทุน ในโครงการขนาดใหญ่ของกรุงโตเกียว พร้อมกับเพิ่มช่องทางการจัดเก็บรายได้จากธุรกิจขนาดใหญ่แทนการเก็บภาษีเงินได้ส่วนบุคคล
กลายเป็นแนวนโยบายที่สอดคล้องกับความต้องการของวิถีชีวิตชุมชนเมืองและ สามารถสร้างคะแนนนิยมในหมู่ชาวกรุงโตเกียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ตลอดระยะเวลาของการดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการ 2 สมัยที่ยาวนานถึง 8 ปี Ishihara ต้องเผชิญกับแรงท้าทายที่จะให้เขาพ้นจากตำแหน่งอย่างต่อเนื่อง แต่ความพยายามดังกล่าวกลับไม่ประสบผล หากกลายเป็นเพียง คลื่นกระทบฝั่งที่อ่อนแรงลงไปโดยปริยาย
แม้ว่าความยาวนานของการดำรงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียว จะส่งผลให้เกิดความเคลือบแคลงทั้งในมิติของความโปร่งใสในการบริหารและการสะสมอิทธิพลทางการเมือง
แต่ปัจจัยสำคัญที่ทำให้ Ishihara ชนะการเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึง 2.81 ล้านคะแนน หรือคิดเป็นร้อยละ 51 ของ ผู้มาออกเสียงลงคะแนนในการเลือกตั้งผู้ว่า การกรุงโตเกียว ครั้งล่าสุดเมื่อช่วงต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา กลับเป็นผลจากการที่ผู้สมัครรายอื่นๆ ไม่สามารถนำเสนอนโยบาย หรือทางเลือกอื่นที่น่าสนใจกว่าได้
ขณะที่ประเด็นแหลมคมที่สุดในช่วงสุดท้ายของการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งผู้ว่าการกรุงโตเกียว อยู่ที่การเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน Summer Olympic ในปี 2016
Ishihara ประกาศให้การเสนอกรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬา Olympic 2016 ตั้งแต่เมื่อปี 2005 โดยวางเป้าหมาย ไว้ให้เป็นส่วนหนึ่งในนโยบายเพื่อการพัฒนาของกรุงโตเกียว
คณะกรรมการโอลิมปิกของญี่ปุ่น (Japanese Olympic Committee : JOC) ตัดสินใจเลือกกรุงโตเกียวเป็นตัวแทนของญี่ปุ่น ตามแผนและเค้าโครงที่ Ishihara เสนอ ซึ่งทำให้การรณรงค์เพื่อเสนอตัวของจังหวัด Fukuoka กลายเป็นหมันไปในที่สุด
อย่างไรก็ดี ความคิดเห็นของชาวกรุงโตเกียวเกี่ยวกับการเป็นเจ้าภาพมหกรรมกีฬาระดับโลกดังกล่าว มิได้ดำเนินไปอย่างเป็น ปึกแผ่นหรือมีทิศทางที่พร้อมจะสนับสนุนทั้งหมด หากประชาชนจำนวนไม่น้อยมีท่าทีที่ไม่เห็นด้วยกับการทุ่มเทงบประมาณในครั้งนี้
Shiro Asano อดีตผู้ว่าการจังหวัด Miyagi ซึ่งเป็นคู่แข่งขันคนสำคัญของ Ishihara ในการเลือกตั้งพยายามนำเสนอด้านลบของการเป็นเจ้าภาพ Olympic โดยหวังว่าจะสามารถได้รับการสนับสนุนจากประชาชนที่มีความคิดต่อต้านทัศนะของ Ishihara
ท่วงทำนองของ Shiro Asano รวมถึง ผู้สมัครรายอื่นที่หยิบยกกรณีการเป็นเจ้าภาพ Olympic 2016 ขึ้นมาเป็นประเด็นในการหาเสียง ทำให้การแข่งขันช่วงชิงตำแหน่งผู้ว่า การกรุงโตเกียว มีแนวโน้มที่จะเข้มข้นและปรากฏผลใกล้เคียงกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อปรากฏผลสำรวจทั้งก่อนและหลังการลงคะแนนเสียงเลือกตั้งว่า มีผู้สนับสนุนการเป็นเจ้าภาพ Olympic 2016 ในสัดส่วนร้อยละ 49 โดยมีผู้คัดค้านกรณีดังกล่าวมากถึงร้อยละ 46
ประเด็นหลักที่ผู้สมัครรายอื่นหยิบยกขึ้นมาเป็นเหตุผลในการคัดค้าน อยู่ที่การระบุว่าการเป็นเจ้าภาพ Olympic จะทำให้กรุงโตเกียวต้องแบกรับภาระทางการเงินขนาดมหึมา จากผลของการลงทุนก่อสร้างสนามกีฬาและโครงการอื่นๆ ซึ่งหมายถึงแนวโน้มที่จะต้องตัดลดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมและการศึกษาด้วย
แต่ Shiro Asano รวมถึง Manzo Yoshida ผู้สมัครที่ได้รับการสนับสนุนจากพรรคคอมมิวนิสต์ญี่ปุ่น (JCP: Japanese Communist Party) และ Kisho Kurokawa สถาปนิกชื่อดัง ต่างไม่สามารถสร้างความโดดเด่น เพื่อรวบรวมคะแนนเสียงของประชาชนและช่วงชิงตำแหน่งผู้ว่าการกรุงโตเกียวจาก Ishihara ได้
เพราะขณะที่การคัดค้านการเป็นเจ้าภาพ Olympic 2016 ผูกพันอยู่กับมิติของหลักการและผลกระทบที่มีลักษณะนามธรรม Ishihara กลับหยิบยื่นผลประโยชน์ที่เป็นรูปธรรม ด้วยการระบุว่าการเป็นเจ้าภาพ Olympic 2016 จะสามารถสร้างผลต่อเนื่องทางเศรษฐกิจที่มีมูลค่ามากถึง 3 ล้านล้านเยน
รวมถึงการระบุว่า "การได้ร่วมกันเป็น เจ้าภาพ Olympic 2016 ของชาวกรุงโตเกียว จะเป็นประหนึ่งสินทรัพย์ทางจิตใจที่ยิ่งใหญ่สำหรับญี่ปุ่น" ซึ่งดูเหมือนจะเป็นการกระตุ้นความรู้สึกฮึกเหิมและภาคภูมิให้กับชาวกรุงโตเกียวไม่น้อยเลย
กระนั้นก็ดี ดูเหมือนว่าชัยชนะของ Ishihara กำลังติดตามมาด้วยการเผชิญกับภารกิจหนัก ก่อนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพ Olympic 2016 อย่างเป็นทางการต่อคณะกรรมการโอลิมปิกสากล (International Olympic Committee : IOC) ในเดือนกันยายน
เป็นภารกิจที่ Ishihara ต้องเร่งประชา สัมพันธ์และโน้มน้าวให้ชาวกรุงโตเกียว หันมาสนับสนุนการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัด Olympic 2016 ในสัดส่วนที่เพิ่มมากขึ้นกว่าที่เป็นอยู่นี้
มิเช่นนั้นโอกาสของกรุงโตเกียวในการเป็นเจ้าภาพ Olympic 2016 คงเป็นได้เพียงความพยายามที่ล้มเหลว ตั้งแต่เริ่มต้นเท่านั้น
|
|
|
|
|