การรวบรวมปะติดปะต่อผืนดินให้ได้ราวหนึ่งแสนตารางเมตรบนศูนย์รวมความเจริญของย่าน Roppongi ใจกลางมหานครโตเกียว นับเป็นเรื่องที่ยากยิ่งในห้วงเวลาปัจจุบัน แต่เรื่องที่ยิ่งยากไปกว่านั้นก็คือจะจัดการบริหารที่ดินทองผืนดังกล่าวอย่างไรให้เกิดอรรถประโยชน์สูงสุดอันเป็นที่มาของโจทย์เบื้องต้นของโครงการขนาดยักษ์ที่ใช้ชื่อว่า "Tokyo Midtown"
ห่างออกไปทางทิศใต้ราว 500 เมตรมี Mega-Project อีกแห่งหนึ่งที่เปิดตัวไปเมื่อ 4 ปีก่อนภายใต้ชื่อ Roppongi Hills ซึ่งหากความสำเร็จของโครงการที่ว่าได้สร้างปรากฏการณ์สั่นสะเทือนปรัชญาแนวคิดแบบเก่าในหลายสาขาที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาชุมชนในเมืองใหญ่แล้วการเปิดตัวของ Tokyo Midtown ในครั้งนี้อาจกล่าวได้ว่าเป็น after-shock ที่ตามมาด้วยความแรงไม่แพ้กัน
แม้ว่าถ้อยแถลงในระยะแรกของโครงการนี้ที่ประกาศจุดยืนอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์โดยเน้นทิศทางการ ขยายตัวในแนวตั้งอันสอดคล้องและรองรับวิถีชีวิตของคนกรุงซึ่งได้เห็นตรงกับวิสัยทัศน์ของ Shintaro Ishihara ผู้ว่าการนครโตเกียว คนปัจจุบันและผ่านการเห็นชอบจาก Junichiro Koizumi ซึ่งดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในขณะนั้นก็ตามที Midtown Tower ตึกสูงที่สุดในโครงการ กลับทำสถิติเพียงสูงที่สุดในโตเกียว (โดยสูงกว่า Mori Tower ของ Roppongi Hills 10 เมตร)
ทั้งนี้ใช่ว่า Tokyo Midtown จะพล่อง ทั้งกำลังทุนทรัพย์และภูมิปัญญาเพราะว่าเม็ดเงินที่ลงทุนไปกว่า 3.7 แสนล้านเยนบวกกับเทคโนโลยีญี่ปุ่นบนความเชี่ยวชาญของกลุ่มผู้ประกอบการชั่วโมงบินสูงทั้ง 6 นำทีมโดยบริษัท Mitsui Fudosan ที่มีผลงานที่โดดเด่นทั่วญี่ปุ่นนั้นคงไม่เหนือบ่ากว่าแรงที่จะสร้างตึกใหม่ให้สูงกว่า Landmark Tower ของเมือง Yokohama ซึ่งทำสถิติสูงที่สุดในญี่ปุ่นไว้ตั้งแต่ปี 1993 หรือแม้กระทั่งจะสร้างตึกให้สูงที่สุดในโลกก็ตาม
นั่นเป็นเพราะเป้าประสงค์ที่แท้จริงของ Tokyo Midtown ไม่ได้อยู่ที่การจารึกชื่อของสิ่งปลูกสร้างใน Guinness World Records หากมุ่งเน้นสรรค์สร้างมูลค่าเพิ่มทาง ธุรกิจภายใต้แนวคิด "Urban Revitalization" ที่อำนวยความสะดวกและปลอดภัยในชีวิตความเป็นอยู่อันทันสมัยท่ามกลางสภาพแวดล้อมที่ดีและมีคุณภาพมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลกต่างหาก
กลุ่มตึก 6 หลังรูปทรงเรียบง่ายแต่ภายในตกแต่งอย่างประณีตบรรจงจึงตั้งตระหง่านขึ้นที่ Akasaka 9-Chome ในเขต Roppongi ที่ตอบรับความต้องการของแนว คิดข้างต้นอย่างลงตัวและครบถ้วน
ศูนย์กลางธุรกิจใหม่แกะกล่องบนพื้นที่ ใช้สอยสำหรับสำนักงานกว่า 20,000 ตารางเมตรพร้อมกันนั้นยังทำหน้าที่เป็น landmark ล่าสุดของมหานครโตเกียว ซึ่งประกอบด้วย (1) Midtown Tower ตึกอันเป็นสัญลักษณ์ของ Tokyo Midtown ที่ตั้งตรงแทรกตัวขึ้นไปบนท้องฟ้าของโตเกียว 248 เมตร (2) Midtown East เปิดประตูต้อนรับจากทางเชื่อมใต้ดินที่ต่อโดยตรงกับสถานี Roppongi ของรถไฟใต้ดิน 2 สายคือ สาย Oedo และ Hibiya (3) Midtown West หันหน้าทักทายผู้คนทางด้านถนน Gaien-Higashi
เงาของกระแสน้ำจากหลังคากระจกที่ทอดลงบนบันไดเลื่อนให้ความรู้สึกชุ่มชื้นในบรรยากาศผ่อนคลายก่อนเดินเข้าสู่บริเวณ Plaza ที่สะดุดตากับร้าน Starbucks ซึ่งไม่เหมือนกับสาขาอื่นใดในญี่ปุ่นด้วยบรรยากาศ การจิบกาแฟบนโซฟาหรูไปกับ Live! Tokyo FM Midtown Studio หรือเลือกซีดีจากร้าน Tsutaya ที่ตั้งอยู่ข้างๆ มาลองฟังใน Hear Music Space ที่เตรียมพื้นที่ของร้านไว้อย่าง กว้างขวางและเพียงพอ
อาคาร 4 ชั้นเพดานสูง 25 เมตรของ Galleria โดดเด่นด้วยต้นไผ่ญี่ปุ่นกลางชอปป”ง เซ็นเตอร์ที่รวบรวมร้านเสื้อผ้า เครื่องประดับและร้าน Interior and Design ชั้นนำของญี่ปุ่นและต่างประเทศซึ่งหลายร้านเป็นร้านที่เข้ามาเปิดสาขาแรกในญี่ปุ่น นอกจากนี้ยังเลือก เฟ้นร้านอาหารรสเลิศมารวมไว้ที่ Garden Terrace
หลบเลี่ยงความวุ่นวายของโลกธุรกิจไปทางสวนสาธารณะด้านหลังนั้นมีพื้นที่สีเขียว 40% ของโครงการที่ชะอุ่มด้วยพืชพรรณในสวนสาธารณะ Hinokicho และหากมองลงมาจากมุมสูงจะพบว่าบนหลังคาของกลุ่มตึกใน Tokyo Midtown ก็ปกคลุมด้วยสีเขียวของต้นไม้นานาชนิดด้วยเช่นกัน
ในบริเวณเดียวกันยังจัดสรรพื้นที่ส่วนหนึ่งสำหรับการเสพศิลปะโดยเฉพาะ ทั้ง Suntory Museum of Art ที่มีนิทรรศการศิลปะหมุนเวียนผลัดเปลี่ยนมาแสดงตลอดปี อีกทั้ง 21_21 sight ที่รวบรวมผลงานจากนักออกแบบชาวญี่ปุ่นซึ่งได้รับการยอมรับในระดับโลกอย่าง Issey Miyake, Suguru Sato, Naoto Fukazawa นอกจากนี้ Tokyo Midtown Design Hub ที่ทำหน้าที่เป็นฮับแห่งการสรรค์สร้างงานออกแบบของญี่ปุ่นจาก Kyushu University, Japan Industrial Design Promotion Organization (JIDPO), Japan Graphic Designers Association (JAGDA) ซึ่งพร้อมเผยแพร่และแลกเปลี่ยนงานสู่ประเทศ อื่นทั่วโลกโดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำแห่งการออกแบบจาก 5 ประเทศทั่วโลก*
หากนับรวมศูนย์ออกแบบของ Tokyo Midtown ทั้งหมดนี้เข้ากับ National Art Center Tokyo และ Mori Arts Center (ของ Roppongi Hills) ที่อยู่ในละแวกเดียวกันแล้วความสมบูรณ์แบบของ Art Triangle Roppongi Project กลายเป็นสวรรค์แห่งการเสพศิลปะในระดับ โลกไปโดยดุษณี
ด้วยความสงบร่มรื่นตั้งแต่ Parkside จนถึง Gardenside จึงเหมาะจะเป็น สถานที่สำหรับอยู่อาศัยพักผ่อนของ Tokyo Midtown Residences ด้วยวิวที่มองเห็น Tokyo Tower จำนวน 166 ห้อง, Oakwood Premier Tokyo Midtown เซอร์วิสอพาร์ต เมนต์ระดับพรีเมียมจากอเมริกาและโรงแรมหรู 5 ดาว อย่าง The Ritz-Carlton Tokyo สำหรับลูกค้ากลุ่ม A+ ขึ้นไปด้วยการสร้างคุณค่า ของบริการและเลือกใช้ผลิตภัณฑ์ระดับ world-class อย่างเช่น Fine Toiletries จาก Bvlgari นอกจากนี้ยังเพิ่มความสะดวกให้กับผู้พักอาศัย ด้วย supermarket ที่เปิดตลอด 24 ชั่วโมงภายใน Galleria
ภายในโครงการมีการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างมีประสิทธิภาพโดยติดตั้งระบบป้องกันการสูญเสียน้ำอย่างเปล่าประโยชน์รวมถึงการรีไซเคิลน้ำทิ้งจากครัวเรือนสำหรับใช้เป็นน้ำชักโครกในห้องน้ำ มีศูนย์ควบคุมพลังงานที่ติดตั้งโปรแกรมเชื่อมการทำงานของเครื่องไฟฟ้าทั้งระบบ รวมทั้งการเก็บพลังงานความร้อนส่วนเกินไว้แล้วนำกลับมาใช้เป็นกระแสไฟในช่วงกลางคืน เป็นต้น
ยิ่งไปกว่านั้นความจำเพาะอีกประการ หนึ่งที่สื่อถึงความใส่ใจในรายละเอียดปลีกย่อยของการดำเนินการคือการสร้าง Medical Center โดยความร่วมมือจาก John Hopkins University ที่ให้บริการทางการแพทย์ทั้งภาษาญี่ปุ่นและอังกฤษช่วยสร้างความอุ่นใจให้กับนักธุรกิจต่างชาติที่มาพักอาศัยใน Tokyo Midtown
กลุ่มลูกค้าเป้าหมายที่จะเข้ามาใช้บริการในโครงการนอกจากจะเป็นนักธุรกิจและบรรดาศิลปิน ดีไซเนอร์ชั้นนำแล้วบุคคลทั่วไปก็เป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ที่มีความสำคัญไม่แพ้กัน ประมาณการไว้ว่าจะมีผู้คนเข้ามาใช้ บริการถึง 30 ล้านคนต่อปี โดยเฉพาะอย่างยิ่ง คาดว่าจะมีคนเข้ามาเสพดนตรีอย่างใกล้ชิดเพิ่มขึ้นอีกจากการเปิดตัวของ Billboard Live Tokyo ที่จะเพิ่มสีสันให้กับ Tokyo Midtown ในเดือนสิงหาคมที่กำลังจะถึงนี้
แม้ว่าทั้ง Tokyo Midtown และ Roppongi Hills จะมีลักษณะโครงการพัฒนา อสังหาริมทรัพย์ในแบบเดียวกัน มีกลุ่มเป้าหมายกลุ่มเดียวกัน แต่หาใช่ว่าจะกลายเป็นคู่แข่งขันกันโดยตรง หากแต่ทั้ง 2 โครงการกลับกลายเป็นแม่เหล็กขั้วเหนือและใต้ที่เสริม แรงดึงดูดผู้คนจำนวนมหาศาลให้หลั่งไหลเข้าสู่ Roppongi ทั้งในเชิงธุรกิจ สันทนาการ และการอยู่อาศัยแห่งศตวรรษที่ 21
* ได้แก่ Illinois Institute of Technology (USA), Pratt Institute, Design Management Program and Industrial Design (USA), Delft University of Technology (Netherlands), Zollverein School of Management and Design (Germany), University of Art and Design, Helsinki (Finland), Academy of Arts and Design, Tsinghua University (China)
|