|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2550
|
 |

ขณะพาแขกผู้มาเยือนเดินไปบนสะพานคนเดินข้ามความยาว 80 ฟุต ที่ตัวสถาปนิก Juan Miro เป็นผู้ออกแบบเอง เพื่อนำไปยังบ้านพักรับรองริมทะเลสาบใน Austin มลรัฐเทกซัส ตัวเขาต้องหยุดเดินเมื่อเห็นกอกกเติบโตพุ่งเสียดขึ้นจากป่าชายเลนของทะเลสาบตรงบริเวณใกล้ๆ กับเสาตอม่อของสะพาน กอกกเหล่านั้นลอดผ่านช่องเล็กๆ ของพื้นสะพาน แล้วโผล่ขึ้นมาอวดโฉมอย่างสง่างาม
"โอ! วิเศษ!" Miro อุทานแล้วเดินตรงรี่ไปยังกอกกที่โผล่พ้นพื้นสะพานขึ้นมาอย่างตื่นเต้นลิงโลดใจ "ผมเฝ้ารอด้วยความหวังว่ากอกกจะโผล่ขึ้นมาอย่างนี้จริงๆ"
การที่สถาปนิกอย่าง Miro มีทัศนคติอ่อนโยนต่อเรื่องที่ผู้คนมากมายพากันคิดว่าเป็นภัยคุกคามต่อธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้นั้น สะท้อนถึงกรอบความเชื่อในขอบข่าย ที่กว้างขึ้นของเขาว่า บ้านควรกลมกลืนไปกับธรรมชาติ ส่งผลให้เขาออกแบบสะพานซึ่งเมื่อมองจากระยะไกลแล้วแลดูเสมือนหนึ่งว่าเป็น สะพานที่สร้างขึ้นมาโดยใช้วัตถุดิบคือต้นกกที่ขึ้นในน้ำเบื้องล่าง
ความกลมกลืนที่ว่านี้เองที่เป็นสิ่งดึงดูดใจให้ผู้พบเห็นต้องลองก้าวเดินและย่างเหยียบไปบนพื้นสะพานเพียงเพื่อจะพบกับคำตอบที่กระจ่างแจ้งแก่ตัวเองว่า จริงๆ แล้ว ทั้งพื้นและราวสะพานนี้สร้างและประกอบขึ้นจากท่อนเหล็กที่ปล่อยให้ขึ้นสนิมจนมีสีสันสวยงาม แล้วนำมาตัดและประกอบกันเป็นส่วนของพื้นสะพาน ในส่วนของราวสะพาน ก็ตัดให้มีความยาวขนาดต่างๆ กัน (โปรดดูภาพประกอบ)
เสียงฝีเท้าของ Miro ทำให้นกกระยางขาวที่ยืนนิ่งเหมือนรูปปั้น ตื่นตกใจพร้อมกับกระพือปีกกว้างของมันบินหนีจากไปอย่างเงียบๆ เพื่อหามุมสงบแห่งใหม่ในทะเลสาบสำหรับพักเหนื่อยต่อไป
สถาปนิก "หัวใจสีเขียว" ผู้นี้ยังให้ข้อมูลน่าทึ่งอีกว่า ดงหญ้าสูงท่วมศีรษะที่เห็นขึ้นรายล้อมอาณาบริเวณบ้านกลายเป็นแหล่งพำนัก ของกวางพเนจรที่ชอบมาอาศัยหลับนอนยามเมื่อตะวันลับฟ้าไปแล้ว
ลุ่มน้ำในทะเลสาบแห่งนี้ยังเป็นแหล่งหยุดพักของบรรดาฝูงนกกระเรียนและหงส์ที่อพยพหนีหนาวลงซีกโลกใต้เป็นประจำทุกปีอีกด้วย
จึงเป็นที่ประจักษ์ชัดว่า ณ ที่แห่งนี้ซึ่งอยู่ห่างจากตัวเมือง Austin ออกไปเพียงไม่กี่ไมล์ก็สามารถกลายเป็นจุดที่สถาปนิกและธรรมชาติหาความลงตัวและผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืนจนแทบไม่น่าเชื่อ
บ้านพักรับรองสูง 3 ชั้นขนาด 3 ห้องนอนนี้ตั้งอยู่บนแผ่นดิน ที่มีลักษณะเป็นแหลมยื่นลงไปในผืนน้ำซึ่งด้านหนึ่งเป็นตัวทะเลสาบที่มีทางออกสู่ทะเล และอีกด้านหนึ่งเป็นทะเลสาบ Lake Austin จริงๆ แล้ว Lake Austin เป็นอ่างเก็บน้ำที่ต่อเนื่องมาจากแม่น้ำ Colorado ซึ่งไหลจากใจกลางเมืองลงสู่ Hill Country ทางทิศตะวันตกนั่นเอง
บ้านพักรับรองนี้เป็นโครงการที่ออกแบบและสร้างจนแล้วเสร็จก่อนโครงการบ้านพักอาศัยหลังใหญ่ การนำเสนอในบทความนี้จึงทำได้เฉพาะในส่วนของบ้านพักรับรอง โดย Miro รับผิดชอบร่วมกับหุ้นส่วนและเพื่อนสถาปนิก Miguel Rivera โดยลูกค้าให้ขอบข่ายงานกว้างๆ แก่พวกเขาว่า ต้องการบ้านที่มีหน้าต่างมากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพราะพวกเขาแวดล้อมอยู่ท่ามกลางธรรมชาติอันสวยงามน่าอภิรมย์
Miro เล่าถึงการตอบสนองของเขาและหุ้นส่วนว่า "เราจึงออกแบบให้ชั้นสองและสามของบ้านหลังนี้เป็นห้องกระจก แล้วใช้ระบบบานเกล็ดควบคุมอีกทีหนึ่ง ใครก็ตามที่เข้าพักในบ้านหลังนี้ย่อมสามารถใช้งานระบบบานเกล็ดได้ตามใจปรารถนา พวกเขาจะเปิดออกทั้งหมดก็ได้ หรือจะเปิดเฉพาะบางส่วนและ ทิ้งส่วนที่เหลือให้ปิดเอาไว้ก็ได้ เวลากลางคืนพวกเขา จะปิดบานเกล็ดลงมาทั้งหมดก็ไม่ผิดกติกาอะไร สิ่งสำคัญอยู่ที่ว่า พวกเขาจะรับรู้ถึงการได้เล่นอะไรสนุกๆ แบบ interactive จากการปรับปริมาณและ คุณภาพของแสงที่สาดส่องเข้ามาในห้องด้วยการควบคุมการทำงานของบานเกล็ดเท่านั้น เคล็ดลับอยู่ที่ว่า การเปิดและปิดบานเกล็ดในเวลาต่างกันของแต่ละวัน และต่างฤดูกาลของแต่ละปีจะก่อให้เกิดปริมาณและคุณภาพของแสงที่ให้ความแปลกใหม่ไม่น่าเบื่อซ้ำซาก แต่เต็มไปด้วยความสนุกน่าตื่นตาตื่นใจจริงๆ"
แขกที่พักอยู่ในห้องชุดชั้นสองจะเพลิดเพลินกับการนั่งหรือนอนเล่นที่ระเบียง แล้วจิบค็อกเทลพอเลือดฉีด หรือไม่ก็อ่านหนังสือในบรรยากาศสุขสงบและได้เพลินตาพักสายตากับสีเขียวของยอดไม้ที่พลิ้วไหวตามแรงลม ขณะที่แขกซึ่งพักอยู่ในห้องนอนสองห้องบนชั้นสามก็จะได้ดื่มด่ำกับทิวทัศน์แห่งท้องน้ำในทะเลสาบจนช่ำปอดตลอดจนถึงสภาพ แวดล้อมของป่าชายเลนที่อยู่ตรงหน้า และตื่นเต้นกับสัตว์พื้นเมืองชนิดต่างๆ ที่บังเอิญแวะเวียนและโผล่มาให้เห็นในวันนั้น
บริเวณตัวบ้านชั้นล่างออกแบบให้มีหน้าต่างสูงจากพื้นจรดเพดานทั้งในห้องอาหารและห้องนั่งเล่น เพื่อให้สามารถมองออกไปพบกับเทอเรซที่ออกแบบเน้นเรื่องความโค้งเว้าไปตามเส้นแนวของทะเลสาบและป่าชายเลนเพื่อหลีกเลี่ยงการรุกล้ำธรรมชาติซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่มาแต่ดั้งเดิม (โปรดดูภาพประกอบ)
นอกจากแขกผู้มาพักจะตื่นตะลึงกับสุดยอดแห่งงานออกแบบสะพานคนเดินข้ามดังได้กล่าวถึงในข้างต้นแล้ว ความคิดสร้างสรรค์อันเลอเลิศของสถาปนิกทีมนี้ยังสะท้อนให้เห็นในงานออกแบบเส้นทางสายยาวที่จะนำแขกออกสู่ทางหลวง เพราะในระหว่างการขับรถตลอดเส้นทางนี้ พวกเขาจะได้เห็นภาพประทับอย่างไม่รู้ลืมของงานออกแบบเพื่อโชว์ให้เห็นด้านหน้าของตัวบ้านแบบเต็มๆ ตา นั่นคือ การนำเหล็กแผ่นรูปทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดมหึมาจำนวนมหาศาลมาประกอบเป็นตัวบ้าน แล้วเจาะช่องหน้าต่างตามแนวนอนตรงนั้นทีตรงนี้ทีแบบไม่ได้ตั้งใจให้มีรูปแบบแน่นอนตายตัว มองดูแล้วเหมือนหลุมในก้อนเนยแข็ง Swiss cheese ไม่มีผิด (โปรดดูภาพประกอบ)
สถาปนิก "หัวใจสีเขียว" อย่าง Miro มีหุ้นส่วนเป็นเพื่อนชาวสเปนด้วยกันคือ Santiago Calatrava ทั้งคู่ทำกิจการร่วมกันที่สเปน โดย Calatrava ได้ชื่อว่าช่ำชองกับงานออกแบบสะพานโครงสร้างซับซ้อนจนมีชื่อเสียงกระฉ่อนโลก แต่เมื่อต่างช่วยกันออกแบบสะพานที่มีความเรียบง่ายอย่างเช่นของบ้านหลังนี้เป็นตัวอย่าง ผลงานก็ยังสามารถสะท้อนปรัชญาของวงการสถาปัตยกรรมที่ว่า ความงามต้องเป็นรองโครงสร้างโดยสิ้นเชิง ความงามต้องเป็นองค์ประกอบเข้ามาเสริมโครงสร้างดังที่ Miro ทิ้งท้ายว่า
"เมื่อคุณสร้างบ้านขึ้นมาสักหลังหนึ่ง คุณย่อมสามารถหาวิธีอำพรางโครงสร้างจนได้ แต่สะพานที่คุณสร้างขึ้นมาก็คือ โครงสร้างทั้งหมด คุณไม่มีทางจะหาวิธีอำพรางได้เลย"
ที่แน่ๆ คือ จากผลงานการออกแบบบ้านพักรับรองหลังนี้ คุณสามารถหาวิธีสร้างสะพานหรือบ้านที่นำเอาโครงสร้าง ออกมาอวดสายตาผู้พบเห็นได้อย่างมีศิลปะและน่าอภิรมย์โดยไม่ต้องตะขิดตะขวงใจเรื่องการต้องอำพรางโครงสร้างอีกต่อไป
แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี แซ่ลิ่ว
จากนิตยสาร Architectural Digest/April 2007
|
|
 |
|
|