การพัฒนาเทคโนโลยี 3G ที่เป็นไปอย่างเชื่องช้ารวมถึงการนำเทคโนโลยีไร้สายมาใช้อย่างเป็นจริงเป็นจังของอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์ทำให้การถือกำเนิดของ WiMax ซึ่งถูกมองว่าจะเป็นการเพิ่มประสิทธิภาพของบรอดแบนด์ไฮสปีดแบบไร้สายกลายเป็นเทคโนโลยีสำคัญขึ้นมา โดยเทคโนโลยีเบื้องหลัง WiMax จะทำให้ข้อมูลสามารถส่งผ่านเครือข่ายไร้สายได้มากถึง 40 เมกะบิตต่อวินาทีในช่วงระยะทาง 10 กิโลเมตร โดยใช้อุปกรณ์ที่ราคาไม่แพงมากนัก นอกจากนี้เทคโนโลยีเดียวกันนี้ยังใช้ในการส่งข้อมูลไปยังเครื่องโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เร็วกว่าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือ 3G ในปัจจุบันนี้ด้วย
อย่างไรก็ตาม การนำ WiMax ไปใช้ในวงการธุรกิจจริงๆ ก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอย่างกว้างขวาง ซึ่งทำให้อนาคตของ WiMax ยังเป็นเรื่องที่ยากจะคาดเดากันอยู่ในปัจจุบัน
ในงาน 3GSM ซึ่งเป็นงานแสดงสินค้าเกี่ยวกับอุตสาหกรรมไร้สายที่เมืองบาร์เซโลนาโดยมีผู้เข้าร่วมงานกว่า 60,000 คนนั้นมีอุปกรณ์และเครื่องมือที่ใช้เทคโนโลยี WiMax มาแสดงในงานมากมาย ตั้งแต่ป้ายแบนเนอร์ขนาดใหญ่ไปจนถึงสินค้าในตู้แสดง เทคโนโลยี WiMax มีอยู่ทุกที่ยกเว้นในโลกแห่งความเป็นจริง
เทคโนโลยีไร้สายแบบใหม่นี้เป็นการผสมผสานความเร็วของการเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตเข้ากับมือถือที่มีใช้กันอย่างแพร่หลายทั่วไป ซึ่งปัจจุบันผู้ให้บริการมือถือก็เริ่มที่จะอัพเกรด เครือข่ายของพวกเขาด้วยอุปกรณ์ระบบ 3G แบบทันสมัยที่สุด โดยคาดกันว่าเครือข่ายของ WiMax จะมีการจัดตั้งขึ้นมากมายทั่วโลกและอุตสาหกรรม WiMax ก็จะสามารถสร้างตลาดที่ชัดเจนขึ้นมาได้
จากการสำรวจของบริษัทที่ปรึกษาแห่งหนึ่งพบว่า มีผู้ให้บริการเครือข่ายโทร คมนาคมประมาณ 78 เปอร์เซ็นต์วางแผน ที่จะลงทุนทางด้าน WiMax ภายในปีนี้ บริษัทเหล่านี้กว่า 200 รายทั่วโลกได้เตรียมที่จะนำ WiMax มาใช้หรืออย่างน้อยก็เริ่มทดลองใช้กันบ้างแล้ว ก่อนหน้านี้การนำ WiMax ไปใช้ต้องเผชิญกับผลการทดสอบที่ค่อนข้างเลวร้ายอันเนื่องมาจากการใช้เทคโนโลยีแบบเก่า แต่ปัจจุบันมาตรฐานของ Mobile WiMax ได้รับการยอมรับแล้วและผลิตภัณฑ์ตัวแรกๆ ก็กำลังจะออกสู่ตลาดในไม่ช้านี้แล้ว
บริษัทอย่าง Sprint Nextel ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายไร้สายรายใหญ่ของประเทศสหรัฐอเมริกา ได้วางแผนที่จะทุ่มทุนกว่าหนึ่งพันล้านเหรียญสหรัฐ ในช่วงแรกสำหรับโครงการเครือข่าย WiMax มูลค่า 3 พันล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งจะสำเร็จภายในปีนี้เช่นเดียว กับผู้ให้บริการอีกสองรายอย่าง Clearwire และ NextWave ก็ใช้เทคโนโลยีนี้เช่นกัน อินเทลก็วางแผนจะออกชิป WiMax สำหรับเครื่องแลปท็อปภายในปีนี้ ส่วนยุโรปก็กำลังพิจารณาการกำหนดคลื่นวิทยุให้ใช้สำหรับ WiMax ด้วยเช่นกัน
แม้จะมีความตื่นเต้นกันอยู่บ้างกับการถือกำเนิดของ WiMax แต่บทบาทขั้นสุดท้ายของ WiMax ในตลาดเครือข่ายไร้สาย ก็ยังเป็นที่ถกเถียงกันอยู่ อินเทลในฐานะผู้สนับสนุนสำคัญของเทคโนโลยีนี้มองว่า WiMax จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงวิธีการเข้าสู่อินเทอร์เน็ตของพวกเขาทั้งหมดในอนาคตอันใกล้ เช่นเดียวกับสมาคมอุตสาหกรรมโทรคมนาคมของประเทศสหรัฐอเมริกา (Telecommunications Industry Association : TIA) ก็มองในแง่บวกเช่นเดียวกัน โดย TIA คาดการณ์ตัวเลขขนาดของตลาด WiMax ในประเทศสหรัฐอเมริกา ว่าจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากปี 2004 ถึง 2008
กุญแจสำคัญที่จะทำให้ WiMax สามารถประสบความสำเร็จได้ก็คือ การให้บริการเครือข่ายส่งข้อมูลความเร็วสูงไปยังพื้นที่ชนบทห่างไกล IEEE 802.16 จะสามารถ ช่วยให้คนในพื้นที่ห่างไกลสามารถใช้บรอดแบนด์ความเร็วสูงแต่มีต้นทุนการเตรียมความ พร้อมของปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นที่ต่ำกว่าและปัจจัยที่จะทำให้ประสิทธิภาพของ WiMax ต่างไปก็คือระดับของการสนับสนุนจากผู้ให้บริการและผู้ผลิตสินค้าที่เป็นมาตรฐานที่มีมากกว่า
นอกจากนี้อีกจุดหนึ่งที่ยังเป็นที่ถกเถียงกันของการใช้ WiMax ก็คือ WiMax จะสามารถแย่งตลาดที่ให้บริการ DSL และบรอดแบนด์ที่ใช้เคเบิลโมเด็มซึ่งเป็นเครือข่าย แบบใช้สายได้หรือไม่ DSL และเครือข่ายเคเบิลโมเด็มมีการขยายตัวอย่างรวดเร็วในกลุ่มประเทศโออีซีดี (กลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่เน้นความสำคัญของประชาธิปไตยแบบตัวแทนและเศรษฐกิจแบบตลาดเสรี ปัจจุบันมีสมาชิก 24 ประเทศ) และสามารถให้บริการ ความเร็วต่อผู้ใช้แต่ละคนได้มากกว่าที่ WiMax สามารถให้ได้ นอกจากนี้ WiMax ยังต้องเผชิญกับการแข่งขันอย่างหนักหน่วงจากผู้ให้บริการเครือข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ ในขณะที่เทคโนโลยี 3G กำลังเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่เช่นกัน
ก่อนหน้านี้ราคาที่ค่อนข้างสูงของอุปกรณ์แบบไร้สายที่มีกำลังส่งระยะไกลได้ทำให้สินค้าในกลุ่มนี้กลายเป็นสินค้าสำหรับกลุ่มลูกค้าที่มีความต้องการใช้งานเฉพาะจริงๆ นั่นทำให้ WiMAX Forum พยายามทำให้ราคาอุปกรณ์มีราคาถูกลงมากๆ โดยการกำหนดมาตรฐานของ WiMax เพื่อให้มีการใช้เทคโนโลยีนี้มากขึ้นๆ
ส่วนค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับคลื่นความถี่อาจจะมีสัดส่วนสูงหรืออาจจะไม่มีมากนักก็ได้เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดของเครือข่ายโดยรวม ผู้ให้บริการโดยส่วนใหญ่มีแนวโน้มจะใช้อุปกรณ์ที่ใช้ช่องสัญญาณที่ได้รับอนุญาต โดยเฉพาะในพื้นที่ชนบทห่างไกล สำหรับผู้ที่ให้ความสำคัญกับช่วงความถี่ที่มีการให้สัมปทานนั้นประเด็นเรื่องต้นทุนของการขอใบอนุญาตอาจจะเป็นประเด็นสำคัญ ผู้กำหนดนโยบายมีแนวโน้มจะหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ต้นทุนของการได้รับสัมปทานช่องสัญญาณสูงจนจำกัดการเข้าสู่ตลาดของผู้เล่นรายใหม่ๆ
ในบางประเทศราคาของการขอใบอนุญาตเพื่อให้บริการทั่วประเทศจะต่ำมากๆ ยกตัวอย่างเช่นประเทศออสเตรีย ในขณะที่อีกหลายๆ ประเทศผู้ให้บริการจะพยายามหาทางใช้ประโยชน์จากช่วงความถี่ที่พวกเขาได้มาเพื่อนำมาใช้ประโยชน์ที่กว้างขวางขึ้นกับเทคโนโลยีเดิมที่มีอยู่ นโยบายการใช้ช่วงความถี่อย่างยืดหยุ่นมากขึ้นจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ราคาต้นทุนการให้บริการ WiMax ลดต่ำลงได้
เทคโนโลยีของ WiMax ได้ผ่านขั้นตอน ของการเปลี่ยนแปลงหลายต่อหลายหนโดยเริ่มต้นจากหลักการของการเป็นเทคโนโลยีแบบ fixed-wireless (กลุ่มผู้ใช้งานประจำที่) จนกระทั่งมาเป็นเทคโนโลยีแบบ nomadic/mobile (ใช้งานแบบเคลื่อนที่เล็กน้อยและแบบเคลื่อนที่ตลอดเวลา) นอกจากนี้มาตรฐานของการใช้งานก็ได้ปรับเปลี่ยนเพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของอุปสงค์ของผู้บริโภคด้วย
นักวิเคราะห์บางรายเชื่อว่าตลาดที่ใหญ่ที่สุดของเทคโนโลยี WiMax จะเป็นตลาด เชื่อมต่อแบบเคลื่อนที่ (ทั้งแบบเคลื่อนที่เล็ก น้อยและเคลื่อนที่ตลอดเวลา) ซึ่งจะใช้ IEEE 802.16e ในช่วงระยะเวลาหลายปีข้างหน้านี้ ซึ่งจะทำให้อุปกรณ์ WiMax แบบ fixed-wireless มีตลาดที่ค่อนข้างจำกัดโดยจะไปมุ่งเน้นแต่ตลาดพื้นที่ห่างไกลและมีการพัฒนาต่ำ กลุ่มธุรกิจก็จะต้องเผชิญกับการความยากลำบากในการตัดสินใจว่าจะนำเทคโนโลยี IEEE 802.16 มาใช้เมื่อไร อุปกรณ์สำหรับมาตรฐานในปี 2004 ซึ่งเริ่มต้นการออกใบรับรองมาตรฐานเดือนกรกฎาคม 2005 ที่ผ่านมาก็ยังขาดความชัดเจนเกี่ยวกับวิธีและการที่อุปกรณ์จะถูกอัพเกรดไปสู่เวอร์ชั่นเดียวกับมาตรฐานในอนาคตหรือไม่
อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าผู้ให้บริการบางเจ้าจะยังยื้อการซื้อ และนำอุปกรณ์ WiMax ไปใช้จนกว่าเวอร์ชั่นมาตรฐานจะพร้อม แต่ผู้ให้บริการเจ้าอื่นก็หวังว่าการลงทุนอุปกรณ์ WiMax แบบ fixed ในตอนนี้จะทำให้พวกเขาสามารถสร้างฐานลูกค้าในเครือข่ายที่จะสามารถอัพเกรดขึ้นเป็น 802.16e ในอนาคตได้เมื่อมาตรฐานได้รับการประกาศเรียบร้อยแล้ว
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองถึงโอกาสทางเศรษฐกิจแล้ว อาจจะยังไม่ค่อยสดใสนัก ในประเทศที่พัฒนาแล้ว WiMax จะต้องไปสู้อย่างหนักหน่วงกับเคเบิลบรอดแบนด์ในเรื่องราคา ยกเว้นที่พื้นที่ชนบทห่างไกลที่อาจจะไม่มีคู่แข่งมากมายนัก นอกจากนี้การต้องต่อสู้กับเครือข่ายมือถือที่มีอยู่ก็เป็นเรื่องยากเช่นกันโดยเฉพาะบริษัทมือถือที่มีลูกค้าอยู่ในมือเรียบร้อยแล้ว การที่ลูกค้ามือถือเดิมจะเลิกเครือข่ายเก่าแล้วหันไปใช้เครือข่าย WiMax ก็อาจจะไม่มากมายนัก นอกจากนี้เครือข่ายมือถือเดิมก็สามารถเพิ่มบริการในลักษณะเดียวกันนี้ได้เช่นกัน ส่วนในประเทศที่ยากจนอยู่ ราคาเริ่มต้นของ WiMax ในช่วงต้นนี้จะสูงกว่าราคาการใช้มือถือปกติมาก ก็จะทำให้ขายยากเช่นกัน
แม้ WiMax จะสามารถส่งผ่านข้อมูลได้เร็วกว่าเครือข่ายโทรศัพท์มือถือปกติ แต่ผลต่อเนื่องก็คือจะกินไฟมากทำให้เปลือง แบตเตอรี่ และต้องการเบสส่งสัญญาณจำนวนมากกว่าเพื่อให้ครอบคลุมพื้นที่มากกว่าและทะลุทะลวงได้มากกว่าด้วย ที่สำคัญ พวกเขาต้องการช่องสัญญาณสำหรับใช้งานเพื่อให้มั่นใจว่าระบบจะสามารถให้บริการคุณภาพสูงได้ ในขณะที่เทคโนโลยี 3G ที่กำลัง พัฒนาให้มีศักยภาพสูงขึ้นก็กำลังจะถูกนำมาใช้จริงจังมากขึ้นทุกทีๆ เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม แรงผลักดันสองประการ คือ ผู้พัฒนาระบบ 3G ซึ่งได้แก่ โมโตโรล่า, นอร์เทล, ซัมซุง, เอ็นอีซี และฟูจิตซึที่ไม่สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาได้ดีและคุ้มค่าพอ ในขณะที่เทคโนโลยี 4G กำลังมาถึง ทำให้คนกลุ่มนี้หันมามอง WiMax แทน รวมถึงอุตสาหกรรมคอมพิวเตอร์โดยเฉพาะอินเทลที่ต้องการอาศัยเทคโนโลยีไร้สายเป็นมาตรฐานสำคัญในการพัฒนา ถือเป็นแรงผลักดันที่ทำให้ WiMax ยังติดลมบนอยู่
WiMax จะเป็นเพียงออร์เดิร์ฟก่อนไปถึง 3G อย่างเต็มตัวและก้าวเข้าสู่เทคโนโลยี 4G หรือไม่ หรือ WiMax จะมาเปลี่ยนแปลง วงการอุตสาหกรรมโทรคมนาคมในอนาคตหรือเปล่า เป็นสิ่งที่เราต้องจับตามองแบบไม่กะพริบตา
อ่านเพิ่มเติม
1. WhyMax?, The Economist, Feb 22, 2007
2. Surfing the airwaves,' The Economist, London : July 15, 2006. Vol.380, Iss.8486, p.74.
3. Up in the air,' The Economist. London : Aug 12, 2006. Vol.380, Iss.8490 ; p.58.
4. Wi-Pie in the Sky?,' The Economist. London: Mar 11, 2006. Vol.378, Iss.8468 ; p.20.
5. World domination postponed,' The Economist. London : Jan 29, 2005. Vol.374, Iss.8411, p.70.
6. Spare me the details,' The Economist. London : Oct 30, 2004. Vol.373, Iss.8399 ; pg.15
7. Spectrum of opinion,' The Economist. London : May 28, 2005. Vol.375, Iss.8428 ; pg.84
8. The phone call is dead; long live the phone call,' The Economist. London : Dec 4, 2004. Vol.373, Iss.8404 ; pg.69
9. Why wait for WiMax?,' The Economist. London : Aug 20, 2005. Vol.376, Iss.8440 ; pg.55
10. Working Party on Telecommunication and Information Service Policies (2006), The Implications of WiMax for Competition and Regulation, Directorate for Science, Technology and Industry, Committee for Information, Computer and Communications Policy, OECD, 2 March, 2006
|