|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2550
|
|
ถึงเวลาที่ UCOM จะหายไปและมี TAC เข้ามาแทนที่ นี่คือการเปลี่ยนแปลงของทั้ง UCOM, DTAC และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ในครึ่งปีแรกนี้
เช้าวันที่ 20 มีนาคม 2550 ดีแทค หรือบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ส่งข้อความเข้าโทรศัพท์มือถือ บรรดาสื่อมวลชนทั้งสายเทคโนโลยีสารสนเทศ สายการเงิน และสายหุ้น รวมถึงส่งเอกสารแจ้งยืนยันการแถลงข่าวด่วนในช่วงบ่ายของวัน เพื่อชี้แจงการเตรียมนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย หรือ SET ในเร็ววันนี้ นับเป็นการยืนยันข่าวอย่างชัดเจนเป็นหนแรก ตั้งแต่ที่มีข่าวคราวว่า ดีแทคจะเข้าซื้อขายใน SET มาตั้งแต่สองปีที่แล้ว
ข่าวคราวการเข้าจดทะเบียนหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ไทยไม่ใช่เรื่องแปลก สำหรับบริษัทใหญ่อย่างดีแทค แต่ทำไมถึงเพิ่งจะเป็นปีนี้ ก่อนหน้านี้ดีแทคหายไปไหน และเหตุการณ์ใดคือผลเกี่ยวเนื่องจากการเข้าตลาดหลักทรัพย์ของดีแทคบ้าง
และนี่คือคำตอบทั้งหมดของคำถามเหล่านี้...
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2538 ดีแทคตัดสินใจนำหุ้นของบริษัทเข้าซื้อขายและกระจายในตลาดหุ้นสิงคโปร์ หรือ (SGX-ST) โดยใช้ชื่อ TAC ภายใต้กลุ่ม TSC หรือ Transport, Storage & Communication จำนวนทั้งสิ้น 15 เปอร์เซ็นต์ของ Market cap ทั้งหมดของดีแทค หลังจากผิดหวังในการนำบริษัทเข้า SET อันเนื่องมาจากความซ้ำซ้อนของลักษณะธุรกิจ ซึ่ง ณ ขณะนั้นยูคอม (บริษัท ยูไนเต็ดคอมมูนิเกชั่น อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) : UCOM) ได้เข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ไปแล้ว และรายได้ของยูคอมส่วนใหญ่ก็ยังมาจากดีแทค ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่มเครือเดียวกัน
ปลายปี 2545 ข่าวคราวการขายหุ้นในกลุ่มดีแทคของตระกูลเบญจรงคกุลคืนให้กับเทเลนอร์ ผู้ถือหุ้นรายสำคัญของดีแทคและยูคอม ส่งผลให้ความฝันในการจะนำดีแทคเข้าจดทะเบียนใน SET ชัดเจน และเป็นจริงขึ้นมาในทันที
เมื่อได้หุ้นของยูคอมและดีแทคมาอยู่ในมือ โดยดีแทคกลายเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ยูคอม ซิคเว่ที่บอกว่าแนวความคิดของการนำ ดีแทคเข้าตลาดหลักทรัพย์ไทยนั้นเป็น "My own job description" ไม่ใช่การกำหนดกะเกณฑ์ หรือเป้าหมายของเทเลนอร์ตั้งแต่แรก ก็ไม่รอช้าที่จะนำดีแทคเข้าจดทะเบียน ใน SET
กระบวนการของการเข้าจดทะเบียน ในตลาดหลักทรัพย์ฯเริ่มจากการที่ดีแทคมีสิทธิ์ยื่นขอเข้า SET ในทันที โดยจะทำการแตกมูลค่าที่ตราไว้ของ บริษัทฯ ตามอัตราส่วน 1 ต่อ 5 หลังจากนั้นจะเสนอขายหุ้นเป็นจำนวน 222 ล้านหุ้น และก่อให้เกิดการระดมทุนสำหรับการลงทุนด้านสถานีข่ายของดีแทคในปีถัดไปทั้งสิ้น 7,500 ล้านบาท
หลังจากนั้นดีแทคก็จะมีสิทธิ์ที่จะถอด หุ้นของยูคอมออกจากกระดานเขียวแดงของSET ได้ เพื่อให้การทับซ้อนนั้นหายไป เป็นที่มาของการเสนอ tender offer แก่ผู้ถือหุ้นยูคอม โดยการนำเสนอขายหุ้นของดีแทคจะทำให้ผู้ถือหุ้นยูคอมสามารถนำหุ้นที่มีอยู่มาแลกเป็นหุ้นดีแทคได้ โดยหุ้นยูคอม 100 หุ้นจะสามารถแลกเป็นหุ้นดีแทคได้ประมาณ 39 หุ้น ณ ราคาพาร์ปัจจุบัน โดยไม่มีทางเลือกอื่นให้แก่ผู้ถือหุ้นของยูคอม เพราะดีแทค มองว่าเป็นวิธีการที่นิยมและเป็นธรรมมากที่สุดเท่าที่มีอยู่
เมื่อแลกเปลี่ยนหุ้นเป็นที่เรียบร้อย ผู้ถือหุ้นยูคอมจะกลายเป็นผู้ถือหุ้นดีแทค ดีแทคจะสามารถถอนยูคอมออกจากตลาดในทันที และมีสถานะเป็นเพียงบริษัทลูกของ ดีแทคเพียงเท่านั้น
การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวไม่เพียง แต่เป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของวงการโทรคมนาคมไทย เพราะยักษ์ใหญ่ผู้ให้บริการ เครือข่ายโทรศัพท์มือถือจะเข้าซื้อขายใน SET เป็นรายที่สอง ต่อจากเอไอเอสเท่านั้น แต่ยังเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของดีแทค ซึ่งยังไม่เคยเข้า SET และเป็นประวัติศาสตร์หน้าใหม่ ของการซื้อขายหุ้นของ SET อีกด้วย
การที่ดีแทคเข้าจดทะเบียนใน SET กลายเป็นกรณีศึกษาให้กับบริษัทหลักทรัพย์กสิกรไทย และ SET ในฐานะที่เป็นบริษัทแรก ที่เข้าซื้อขายและกระจายหุ้นในตลาดหลัก ทรัพย์แบบควบ (Dual Listing) หรือขายทั้งสองกระดานเป็นรายแรก คือ ทั้ง (SGX-ST) และ SET นั่นเอง
ตามกำหนดการสิ้นเดือนเมษายนคือวันกำหนดประชุมผู้ถือหุ้นของดีแทค เพื่ออนุมัติแนวคิดทั้งหมด เดือนพฤษภาคมคือกำหนดการยื่นขอจดทะเบียนในตลาดหลัก ทรัพย์แห่งประเทศไทย และสิ้นไตรมาสสองคือกำหนดการที่หุ้นของดีแทคจะเริ่มซื้อขายได้จริงใน SET แต่ทั้งหมดอยู่ภายใต้เงื่อนไข ของความแน่นอนในสถานการณ์บ้านเมืองอย่างเช่นทุกวันนี้ แต่หากต้องเลื่อนไปอย่างไม่มีกำหนดก็เพียงเพราะเหตุผลเดียวที่ซิคเว่แสดงความเป็นห่วงและกังวลไม่น้อยก็คือ "สถานการณ์บ้านเมืองไม่ปกติ"
แต่ที่แน่ๆ ต่อให้ต้องเลื่อนไปอีกไม่ใช่สิ้นไตรมาสสอง อย่างไรเสีย ยูคอมก็จะหายไปในกระดานของ SET และจะมีชื่อของ TAC เข้ามาแทนที่ และหากเมื่อการจัดอันดับของ "ผู้จัดการ 100" วนมาถึงอีกครั้งในปีหน้า ก็คง ต้องจับตามองกันต่อไปว่า จะมี TAC ติดอยู่ในอันดับไหนของ 100 อันดับหรือไม่
|
|
|
|
|