Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ พฤษภาคม 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ พฤษภาคม 2550
วิกฤติโลกร้อน หายนภัยและก้าวต่อไปของมนุษยชาติ             
โดย พัชรพิมพ์ เสถบุตร
 


   
search resources

Environment




มนุษยชาติกำลังเผชิญกับภัยธรรมชาติที่รุนแรงอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เช่น พายุเฮอริเคนที่คร่าชีวิตคนอเมริกันในรัฐลุยเซียนาไปหลายพันคน ความแห้งแล้งยาวนานและไฟป่ารุนแรงในออสเตรเลีย น้ำท่วมในหลายประเทศ ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น สภาพพื้นที่ที่กลายเป็นทะเลทราย ความปรวนแปรทางธรรมชาติเหล่านี้ได้ถูกชี้ชัดแล้วว่าเป็นผลพวงอันเนื่องมาจากภาวะโลกร้อน

- รายงานเมื่อเดือนมีนาคมปีนี้กล่าวว่า ญี่ปุ่นต้องยกเลิกการจัดงานนิทรรศการการปั้นหิมะ เพราะไม่มีหิมะเลยในปีนี้ เป็นปรากฏการณ์ที่ไม่เคยปรากฏมาเลยนับตั้งแต่ปี ค.ศ.1876 ที่มีการบันทึกข้อมูลไว้

- โรคภัยเขตร้อนและแมลงพาหะที่เกือบสูญหายไป ได้กลับมาระบาดอีกครั้งในภูมิภาคเขตร้อน เช่น อหิวาต์ มาลาเรีย เพราะอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นทั่วไป

- แม่น้ำหลายสายในเอเชียและยุโรปแห้งเหือด เช่น แม่น้ำโขง แม่น้ำคงคา แม่น้ำไนล์

ส่วนเหตุการณ์ที่อยู่ใกล้ตัวเรา ในประเทศไทยนี้เอง เมื่อปลายปี 2549 ที่ผ่านมา เราก็ต้องเผชิญกับภัยน้ำท่วมใหญ่อย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนเช่นกัน คือ ท่วมตั้งแต่เชียงใหม่ พิษณุโลก อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ อ่างทอง อยุธยา โดยเฉพาะอ่างทอง กลายสภาพเป็นอ่างไปจริงๆ สาเหตุนั้นมาจากปัจจัยหลายประการร่วมกัน คือ การตัดไม้ทำลายป่า การใช้ที่ดินผิดประเภท การสร้างถนนขวางทางน้ำไหล และแน่นอนจะต้องรวมไปถึงสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติจากภาวะโลกร้อนด้วย ภัยพิบัตินี้เป็นสัญญาณเตือนให้ประเทศไทยที่มีพระสยามเทวาธิราชคุ้มครองอยู่ ต้องหันมาเตรียมรับมือกับภัยที่เกิดจากภาวะโลกร้อนให้มากขึ้น มิใช่ด้วยการสร้างเขื่อนเพิ่มขึ้น แต่ด้วยการวางแผนการพัฒนาและการจัดการทรัพยากรสิ่งแวดล้อมให้ดีขึ้น การประหยัดพลังงาน ใช้พลังงานให้มีประสิทธิภาพและการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 20 เมษายน ศกนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์ได้รายงานการสำรวจพบว่า ระดับน้ำทะเลในชายฝั่งทะเลอันดามันสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประมาณ 7-8 มม.ต่อปี ซึ่งเป็นระดับที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยถึง 4 เท่า ซึ่งอาจก่อให้เกิดผลกระทบหลายประการ เช่น เกิดคลื่นกัดเซาะชายฝั่ง เกิดน้ำทะเลรุกล้ำเข้าไปในแผ่นดินทำให้แหล่งน้ำและดินเค็มขึ้น

จะเกิดอะไรขึ้น หากไม่ดำเนินการใดๆ

กลุ่มผู้เชี่ยวชาญขององค์การสหประชาชาติที่ประกอบด้วยนักวิทยาศาสตร์ 2,500 คน ได้เสนอรายงานเกี่ยวกับภาวะโลกร้อนออกมาเมื่อเร็วๆ นี้ว่า

"ภัยจากภาวะโลกร้อนจะเกิดขึ้นทั่วไปหมดบนโลก ไม่มีประเทศใดที่จะหลีกพ้นไปได้ และเนื่องจากกระบวนการที่โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้นนั้นเกิดขึ้นรวดเร็วกว่าที่คิดไว้มาก หายนภัยก็จะติดตามมาอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน มนุษย์เราไม่มีเวลาที่จะลังเลอีกต่อไป เราจะต้องเริ่มลงทุนและลงมือปฏิบัติการกันนับตั้งแต่บัดนี้ ในทุกๆ วิถีทางที่จะทำได้ มิฉะนั้นหายนะก็จะตามมาอย่างใหญ่หลวง"

ความรุนแรงของภัยจากภาวะโลกร้อนขึ้นอยู่กับปริมาณของก๊าซเรือนกระจก (greenhouse gases) ที่สะสมอยู่ในบรรยากาศผิวโลก ก๊าซเรือนกระจกประกอบด้วยก๊าซหลายชนิด เช่น มีเทน คาร์บอนไดออกไซด์ ซัลเฟอร์ไดออกไซด์ ไนโตรเจนออกไซด์ เป็นต้น ก๊าซเหล่านี้ส่วนใหญ่เกิดจากกิจกรรมต่างๆ ของมนุษย์ โดยเฉพาะการเผาไหม้เชื้อเพลิง ดังนั้นก๊าซที่สะสมอยู่ในบรรยากาศมากที่สุดก็คือ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงนั่นเอง

หากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกไม่ลดลง แต่เพิ่มขึ้นตามอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของโลก ก็เป็นที่แน่นอนว่า เราจะเห็นภัยพิบัติตามมาดังต่อไปนี้ ในอนาคตอันไม่ใกล้ไม่ไกลนัก

- ทวีปเอเชียจะได้รับผลจากธารน้ำแข็ง (glacier) บนเทือกเขาหิมาลัยละลาย ซึ่งจะทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่ภายในปี 2020 ประชากรจำนวนอย่างน้อย 120 ล้านคน หรืออาจจะถึง 1,200 ล้านคน ในประเทศจีนและอินเดียจะประสบกับปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาด น้ำท่วม พื้นที่กสิกรรมถูกทำลาย โรคภัย เช่น อหิวาต์ และมาลาเรียจะกลับมาระบาดหนัก

- นักวิทยาศาสตร์อังกฤษออกมาเตือนว่าออสเตรเลีย จะต้องเผชิญกับคลื่นความร้อนและความแห้งแล้งที่ยาวนาน ไฟป่าที่รุนแรงขึ้น ภาค เกษตรกรรมจะเสียหายอย่างหนัก และแนวปะการัง Great Barrier Reef ที่มีชื่อเสียงอย่างน้อยครึ่งหนึ่งก็จะตายไปจากอุณหภูมิน้ำทะเลที่สูงขึ้น

- เกาะต่างๆ ตั้งแต่เขตหนาวในมหาสมุทรแอตแลนติก ไปจนถึงเกาะเล็กเกาะน้อยในเขตร้อนในมหาสมุทรแปซิฟิก ล้วนจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นอันเนื่องมาจากการละลายของแผ่นน้ำแข็งขั้วโลก (ice caps) น้ำทะเลจะท่วมแผ่นดินบนเกาะ น้ำเค็มรุกล้ำเข้าไปทำลายแหล่งน้ำจืดและพื้นที่เพาะปลูก เกาะบางเกาะอาจหายไปทั้งเกาะ ปัจจุบันบางเกาะได้มีแผนการอพยพโยกย้ายผู้คนไว้แล้ว

- ป่าฝนในเขตศูนย์สูตร อันเป็นแหล่งออกซิเจนและความหลากหลายทางชีวภาพของโลกจะถูกไฟป่าโหมเผาผลาญทำลาย

- พื้นที่ในภาคตะวันตกเฉียงใต้ของสหรัฐอเมริกา (บริเวณรัฐเนวาดา รัฐแอริโซนา) จะกลายสภาพเป็นทะเลทราย มีความแห้งแล้งมากขึ้น และเกิดพายุทรายบ่อยครั้ง ส่วนภาคตะวันออกเฉียงใต้ (บริเวณรัฐฟลอริดา รัฐมิสซิสซิปปี) จะประสบกับพายุเฮอริเคนที่รุนแรงมากขึ้น บ่อยครั้งขึ้น

- ภายในปี 2020 ประชากร 250 ล้านคนของทวีปแอฟริกาจะขาดแคลนน้ำสะอาด การเพาะปลูกเพื่อผลิตอาหารจะลดลง 50% จากภาวะผืนดินที่แห้งแล้งกลายสภาพเป็นทะเลทราย

- ยุโรปจะประสบกับผลพวงจากการละลายของธารน้ำแข็งบนเทือกเขาสูง ซึ่งปกติจะปกคลุมด้วยหิมะตลอดปี ระบบนิเวศและพืชพรรณเขตหนาวจะกลายสภาพ ไร่องุ่นที่งอกงามอยู่ในเขตอบอุ่นจะร้อนขึ้นและให้ผลผลิตน้อยลงมาก

ผลกระทบทั้งหมดที่ว่ามานี้ล้วนแต่มีผลที่ประเมินได้ทางเศรษฐกิจทั้งสิ้น ในประเทศไทยผลกระทบทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ความเสียหายต่างๆ อันเนื่องมาจากความแห้งแล้งและน้ำท่วม การขาดแคลนแหล่งน้ำ การท่องเที่ยวลดลง และที่สำคัญคือภาคเกษตรกรรมอันได้แก่ การประมง การเพาะปลูก และเลี้ยงสัตว์ การเพาะปลูกจะได้รับผลโดยตรงจากความแห้งแล้งและน้ำท่วม และยังจะได้รับผลต่อเนื่องอื่นๆ อีก เช่น ผลผลิตตกต่ำลงจากการปรวนแปรของฤดูกาล โรครา แมลงศัตรูพืชแพร่กระจายเพิ่มขึ้นในอากาศร้อน การเน่าเสียของผลผลิตจากอากาศร้อน ส่วนการประมงและเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำก็ย่อมมีผลลดลงมากด้วย เพราะอุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นเพียง 1-2 องศาเซลเซียส ก็ทำให้พืชพันธุ์สัตว์น้ำลดลงได้ถึง 30% สัตว์น้ำเศรษฐกิจ เช่น ปลาทู ปลาหมึก กุ้ง ก็ย่อมลดจำนวนลงตามไปด้วย ในขณะที่สาหร่ายที่ไร้ประโยชน์ เช่น red tides หรือขี้ปลาวาฬก็จะแพร่กระจายมากขึ้น ทำให้ออกซิเจนที่ละลายอยู่ในน้ำลดลง มีผลให้ปลาตายจำนวนมาก

ส่วนใดของโลกที่จะได้รับผลกระทบมากที่สุด

เมื่อบรรยากาศโลกค่อยๆ ร้อนขึ้น ปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นนั้นจะเริ่มปรากฏที่ขั้วโลกเหนือและขั้วโลกใต้ก่อน เพราะก๊าซเรือนกระจกจะลอยตัวจากส่วนต่างๆ ของโลกขึ้นไปสะสมอยู่บริเวณขั้วโลก ผลที่เห็นได้ชัดในขณะนี้คือแผ่นน้ำแข็ง (ice caps) ทั้งที่ขั้วโลกใต้และขั้วโลกเหนือกำลังละลายและก็เป็นเช่นน้ำแข็งทั่วๆ ไป คือ เมื่อมันเริ่มละลายแล้วก็จะละลายเร็วขึ้นๆ จนหมดไปอย่างรวดเร็ว ถัดมาธารน้ำแข็ง (glaciers) บนภูเขาสูงในเขตหนาวก็เริ่มละลายติดตามมา ผลจากการที่ ice caps และ glaciers ละลาย จะทำให้เกิดน้ำจำนวนมหาศาลไหลลงสู่ทะเล ทำให้ระดับน้ำทะเลสูงขึ้นทั่วโลกอย่างเห็นได้ชัด glacier ที่เคยเป็นเสมือนแหล่งเก็บน้ำสะอาดไว้ ปกติจะค่อยๆ ละลาย ให้น้ำสะอาดหล่อเลี้ยงประชากรในหลายๆ ประเทศในเขตอบอุ่น เมื่อภาวะโลกร้อนทำให้ละลายมากขึ้นก็จะไหลลงสู่ทะเลอย่างเร็ว ไม่มีน้ำกักเก็บไว้ ทำให้ประชากรขาดแคลนแหล่งน้ำ

ส่วนอุณหภูมิของอากาศที่สูงขึ้นๆ จะทำให้ประเทศในเขตศูนย์สูตร ซึ่งร้อนอยู่แล้วร้อนยิ่งขึ้นไปอีก เกิดสภาวะแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำ เกษตรกรรมลดลง เกิดไฟป่าทำให้พื้นที่ป่าลดลง มีเชื้อโรคพาหะของโรคชุกชุมขึ้น ผลจากภาวะโลกร้อนจึงตกอยู่กับประชากรที่อาศัยอยู่ในบริเวณศูนย์สูตรซึ่งเป็นเขตที่มีประชากรหนาแน่นและยากจนมากกว่าส่วนอื่นๆ ส่วนประเทศในเขตอบอุ่น เช่น ฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมนี อิตาลี ก็จะมีสภาพอากาศที่ร้อนขึ้น การเพาะปลูก เช่น ไร่องุ่น ไร่มะกอก จะได้ผลน้อยลง โดยรวมแล้วสภาพพื้นที่ในเขตอบอุ่นจะเสมือนอยู่ในเขตร้อนมากขึ้น

ภาวะโลกร้อนเกิดขึ้นครอบคลุมไปหมดทั่วโลกก็จริง และทุกๆ ประเทศก็มีส่วนรับผิดชอบในการก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนมากน้อยต่างกัน โดยในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ประเทศตะวันตกมีความก้าวหน้าและพัฒนาอย่างรวดเร็ว มีการปฏิวัติอุตสาหกรรม มีเทคโนโลยี สร้างเมือง สร้างสาธารณูปโภค ยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน จึงมีการใช้พลังงานมาก ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกไปสะสมอยู่ในบรรยากาศนับตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ประเทศทางยุโรปและสหรัฐฯ จึงต้องมีส่วนรับผิดชอบต่อผลที่เกิดขึ้นในศตวรรษนี้มากกว่าประเทศที่กำลังพัฒนาและด้อยพัฒนาทั้งหลาย ส่วนประเทศด้อยพัฒนาที่อยู่ในเขตร้อน มีประชากรหนาแน่นและยากจน เป็นผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยที่สุด มีชีวิตที่พึ่งพากับภูมิอากาศและทรัพยากรธรรมชาติมากที่สุด แต่จะต้องรับผิดชอบต่อผลพวงที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนมากที่สุด

วิถีทางลดก๊าซเรือนกระจกได้ โดยไม่หยุดเติบโตทางเศรษฐกิจ

ขณะนี้มนุษยชาติได้เดินทางมาถึงจุดเปลี่ยนผันที่จะต้องเลือกระหว่างการใช้เชื้อเพลิงมหาศาลเพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ หรือการรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อรักษาสภาพภูมิอากาศของโลก

ขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกกำลังเผชิญกับหายนภัยจากภาวะโลกร้อน (global warming) ในหลายรูปแบบ จึงมีการจัดตั้งองค์กรและคณะกรรมการขึ้นมาเรียกว่า United Nations Framework of Climate Change (UNFCC) และ International Panel of Climate Change (IPCC) มีผลงานที่เป็นรูปธรรมออกมาคือ พิธีสารเกียวโต หรือ Kyoto Protocol ซึ่งมีการลงสัตยาบันกันเกือบทุกประเทศทั่วโลก ยกเว้นสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลีย พิธีสารเกียวโตเรียกร้องให้ประชาคมโลกลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิลลง จนอยู่ใน ระดับที่สมดุลไม่ทำให้อุณหภูมิของบรรยากาศเพิ่มขึ้นอีกต่อไป

ผลที่เกิดขึ้นจากภาวะโลกร้อนในปัจจุบันได้แสดงให้เห็นแล้วว่า ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของทุกประเทศทั่วโลกนั้นสั่นคลอน ขึ้นอยู่กับการแก้ไขภาวะโลกร้อน ไม่จำเป็นต้องโต้เถียงกันอีกต่อไปว่าจะเลือกเอาข้างสิ่งแวดล้อม หรือข้างเศรษฐกิจ แต่นั่นหมายถึงการชดเชยด้วยการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่ลดลง

นี่คือปัญหาที่สังคมโลกจะต้องขบคิดชั่งน้ำหนักหาแนวทางเหมาะสมที่จะปฏิบัติว่าจะเลือกการฉุดยั้งภาวะโลกร้อนเพื่อป้องกันหายนะที่จะเกิดขึ้นในอนาคต หรือจะเลือกความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจและการพัฒนาทางวัตถุต่อไป เราจำเป็นจะต้องเลือกจุดสมดุลของการปฏิบัติ หากมิได้มีการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับภาวะโลกร้อน มูลค่าเศรษฐกิจจากความเสียหายเหล่านี้ย่อมสูงกว่าค่าลงทุนที่เราจะดำเนินการป้องกันเพื่อลดการก่อก๊าซเรือนกระจก เป็นปริมาณหลายเท่านัก

ประโยชน์เชิงเศรษฐกิจอื่นๆ ที่จะเป็นผลพลอยได้จากการใช้เชื้อเพลิงน้ำมันลดลง ได้แก่ ฝนกรดที่เป็นมลพิษจะลดลง ดังนั้นค่าใช้จ่ายในการจัดการกับมลพิษก็จะลดลงสุขภาพของประชาชนดีขึ้น ค่าใช้จ่ายทางด้านสาธารณสุขก็จะลดลง ประเทศสามารถลดการนำเข้าน้ำมัน และพึ่งพาประเทศอื่นทางด้านพลังงานน้อยลง

นอกจากการลดการเผาไหม้เชื้อเพลิงลงแล้ว ป่าไม้ยังช่วยลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ลงได้มาก ป่าไม้เป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และปล่อยก๊าซออกซิเจนและไอน้ำออกมาช่วยลดอุณหภูมิอากาศลงได้ โดยเฉพาะป่าไม้เขตร้อนหรือป่าฝน (Tropical rainforest) เพราะป่าฝนมีสีเขียวตลอดปี มีการเจริญเติบโตอยู่สม่ำเสมอ ป่าฝนจึงได้ชื่อว่าเป็นปอดของโลก รัฐบาลของประเทศต่างๆ ในเขตศูนย์สูตรจึงควรช่วยกันขจัดการตัดไม้ทำลายป่า และส่งเสริมการปลูกป่ากันอย่างจริงจัง เพื่อลดปัญหาภาวะโลกร้อนลงได้ไปอีกระดับหนึ่ง โดยไม่ต้องลงทุนมากนัก และเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจขึ้นด้วย

ความสำคัญของภาวะโลกร้อนต่อรัฐบาลและผู้บริหารประเทศต่างๆ

รัฐบาลของประธานาธิบดี จอร์จ บุช แห่งสหรัฐฯ และนายกรัฐมนตรีจอห์น โฮเวิร์ด แห่งออสเตรเลีย ปฏิเสธที่จะให้ความร่วมมือกับ Kyoto Protocol เหตุผลของทั้งสองประเทศก็คือ

"การบังคับให้มีการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกโดยลดการใช้พลังงานลงนั้นจะทำให้อุตสาหกรรมและเศรษฐกิจในประเทศตกต่ำลง"

จีนและอินเดียเป็นประเทศที่กำลังมีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างก้าวกระโดด มีการเผาผลาญเชื้อเพลิงน้ำมันเป็นจำนวนมหาศาล ปัจจุบันจีนขึ้นมาเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นที่สองรองจากสหรัฐอเมริกา นอกจากนั้นประเทศทั้งสองยังเป็นประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลก ถ้าปราศจากความร่วมมือจากทั้งสองประเทศ การดำเนินงานของ Kyoto Protocol ก็คงจะไม่ได้ผล

ส่วนประเทศไทย ถึงแม้ว่าจะเป็นสมาชิกในพิธีสารเกียวโตและร่วมลงสัตยาบันด้วย แต่ไม่อยู่ในข่ายที่ถูกกำหนดให้ลดก๊าซลงในปริมาณใด ภาครัฐจึงยังมิได้มีปฏิกิริยาออกมาจริงจังในการกำหนดให้ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือการปลูกป่าที่จะเป็นการแก้ปัญหาอย่างเป็นรูปธรรม มีแต่รายงานการสำรวจตรวจสอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมอุตุนิยมวิทยา กรมทรัพยากรธรณี กระทรวงสิ่งแวดล้อม ออกมาเป็นครั้งคราว เพื่อให้ประชาชนรับทราบ และมีการพูดอภิปรายกันในวงการวิชาการเท่านั้น ส่วนภาคธุรกิจอุตสาหกรรมในระดับข้ามชาติ ได้เล็งเห็นผลกระทบและเริ่มออกมาประชาสัมพันธ์แสดงความห่วงใยเพื่อสร้างภาพพจน์กันบ้างแล้ว เช่น บริษัทโตโยต้า ปตท.

แม้ว่าเราจะไม่ได้ตื่นตัวนัก แต่เราก็ควรตระหนักไว้ว่า เราเป็นประเทศเล็กๆ ที่กำลังพัฒนา มี GDP ที่สูงขึ้นเรื่อยๆ ใช้พลังงานมากขึ้นๆ ในขณะที่เรายังต้องนำเข้าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติอยู่ การใช้พลังงานเกินตัวย่อมก่อให้เกิดภาระหนักต่อประเทศ นอกเหนือไปจากการร่วมก่อปัญหาโลกร้อนและปัญหาสิ่งแวดล้อม ฉะนั้นเพื่อความอยู่รอด เราก็ควรเร่งปฏิบัติในทุกๆ ภาคส่วน และทุกระดับของสังคม ดำเนินตามข้อเสนอแนะของนักวิชาการ ได้แก่

- ประหยัดพลังงานและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อลดการใช้เชื้อเพลิงและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก

- เร่งพัฒนาการใช้พลังงานหมุนเวียน หรือพลังงานคืนรูป (Renewable energy) เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม พลังงานน้ำ

- ขจัดการตัดไม้ทำลายป่า เพิ่มพื้นที่ป่า เพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และเพิ่มออกซิเจน

- มีการวางแผนจัดการทรัพยากร และการควบคุมรักษาสิ่งแวดล้อมที่ดี

- ปรับปรุงการใช้ที่ดิน เพื่อจัดการเกษตรกรรม การอยู่อาศัย และการขยายตัวของเมืองให้เป็นระบบ

- จัดระบบการขนส่งการจราจรในเมืองให้มีประสิทธิภาพ

- ใช้มาตรการภาษี เก็บภาษีเพิ่มจากผู้ก่อมลพิษ

- และสุดท้าย ส่งเสริมวิถีการดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง อันเป็นลักษณะของชาวไทยที่กำลังจะถูกกลืนด้วยสังคมวัตถุนิยม

เนื่องจากผลกระทบและผลพวงจากภาวะโลกร้อนนั้นเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง เชื่อมโยงกันไปหมด เราจึงจำเป็นต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบเป็นบูรณาการ และมีความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมในภาพรวม ฉะนั้นความรู้และความร่วมมือของประชาชนนั่นแหละจึงเป็นความสำคัญที่เป็นพื้นฐานผลักดันให้เกิดการปฏิบัติที่เป็นจริงได้   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us