|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2550
|
 |
ปี 2549 ที่ผ่านพ้นไปเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัจจัยลบที่กระหน่ำเข้าตลอดทั้งปี หลายปัจจัยต่อเนื่องมาจากปี 2548 ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มสูงขึ้นของราคาน้ำมันและอัตราดอกเบี้ย การแข็งค่าของเงินบาท
แต่ปัจจัยที่ส่งผลกระทบรุนแรงในวงกว้างกลับเป็นเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ปะทุขึ้น จนในที่สุดนำไปสู่การปฏิวัติเมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา
ปัจจัยลบดังกล่าวส่งผลให้ต้นทุนการดำเนินงานของบริษัทส่วนใหญ่ปรับสูงขึ้น การแข็งค่าเงินบาททำให้หลายบริษัทที่พึ่งพิงรายได้จากการส่งออกได้รับผลกระทบไปด้วย ทั้งหมดนี้สะท้อนออกมาให้เห็นเป็นรูปธรรมในผลการดำเนินงานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอย่างชัดเจน
โดยในภาพรวมทุกบริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯมีรายได้เพิ่มขึ้นจากปี 2548 ในสัดส่วน 21.82% แต่กลับมีผลกำไรลดลง 14.57% เช่นเดียวกับมูลค่าหุ้นรวม (Market Cap.) ที่ลดลงเล็กน้อย 0.96%
แต่บริษัทใน “ผู้จัดการ 100” ซึ่งเป็นบริษัทขนาดใหญ่กลับได้รับผลกระทบรุนแรงกว่า เพราะถึงแม้รายได้ในปี 2549 จะเพิ่มขึ้น 24.30% จากปี 2548 ซึ่งมากกว่าอัตราการเพิ่มขึ้นของทุกบริษัทโดยรวม แต่ผลกำไรกลับลดลงถึง 18.20% มากกว่าการลดลงของภาพรวม ในขณะที่มูลค่าหุ้นรวมของบริษัทใน “ผู้จัดการ 100” ลดลง 2.75% มากกว่าการลดลงของตลาดรวมเช่นกัน
บริษัท “ผู้จัดการ 100” ในปี 2548 มีผลการดำเนินงานขาดทุน 7 แห่ง แต่ในปี 2549 จำนวนบริษัทที่ขาดทุนเพิ่มขึ้นเป็น 13 บริษัท ในจำนวนนี้มี 4 บริษัทที่มีผลขาดทุนต่อเนื่องมาจากปี 2548 ได้แก่ ทรู คอร์ปอเรชั่น (อันดับ 22) นครไทยสตริปมิล (อันดับ 51) ปิกนิค คอร์ปอเรชั่น (อันดับ 69) และทีทีแอนด์ที (อันดับ 95)
แต่ที่น่าสนใจคือบริษัทในธุรกิจรับเหมาก่อสร้างมีผลการดำเนินงานพลิกจากกำไรเป็นขาดทุนมากที่สุด ตั้งแต่ อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเมนต์ (อันดับ 27) ช.การช่าง (อันดับ 43) และซิโน-ไทย เอ็นจิเนียริ่งฯ (อันดับ 62) เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้น ทั้งจากราคาน้ำมันและราคาวัสดุก่อสร้าง ซึ่งเป็นต้นทุนสำคัญ ทำให้จากที่เคยมีกำไรในปี 2548 กลับมาเป็นขาดทุนในปีที่ผ่านมา
อีกกลุ่มหนึ่งที่ได้รับผลกระทบจากการปรับตัวขึ้นของอัตราดอกเบี้ยก็คือ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ ซึ่งติดอันดับ “ผู้จัดการ 100” ครั้งนี้ 11 ธนาคารด้วยกัน แต่มีเพียงธนาคารกรุงไทย (อันดับ 13) และธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (อันดับ 54) เท่านั้นที่ผลการดำเนินงานดีขึ้นทั้งรายได้และกำไร ที่เหลือแม้จะมีรายได้สูงขึ้นแต่ผลกำไรกลับลดลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งธนาคารทหารไทย (อันดับ 26) และไทยธนาคาร (อันดับ 56) ที่ถึงกับพลิกเป็นขาดทุน
ผลการดำเนินงานที่โดดเด่นในปี 2549 ยังคงเป็นธุรกิจพลังงาน ทั้งปตท. (อันดับ 1) และปตท.สำรวจและผลิตฯ (อันดับ 12) แต่ที่ส่งสัญญาณกำไรดีขึ้นกลับเป็นกลุ่มโรงไฟฟ้า ซึ่งมีผลกำไรสูงขึ้นทั้ง 3 บริษัท ตั้งแต่ผลิตไฟฟ้าราชบุรีโฮลดิ้ง (อันดับ 23) โกลว์ พลังงาน (อันดับ 31) และผลิตไฟฟ้า (อันดับ 45)
เช่นเดียวกับกลุ่มค้าปลีกที่สามารถฝ่าปัจจัยลบสร้างผลกำไรเพิ่มสูงขึ้นได้เช่นกัน ทั้งบิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ (อันดับ 19) สยามแมคโคร (อันดับ 20) โฮม โปรดักส์ เซ็นเตอร์ (อันดับ 62) ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน (อันดับ 65) และล็อกซเล่ย์ (อันดับ 73) มีเพียงซี.พี.เซเว่นอีเลฟเว่น (อันดับ 8) เท่านั้นที่ผลกำไรลดลงจากปี 2548 ซึ่งเป็นผลมาจากผลขาดทุนของบริษัทลูกในประเทศจีน
สำหรับบริษัทที่แทรกเข้ามา (Newcomers) และหลุดออกไป (Displaced) จากการจัดอันดับในครั้งนี้มีจำนวนประเภทละ 12 บริษัท โดยในกลุ่ม Newcomers เป็นบริษัทที่เข้ามาจดทะเบียนใหม่ 2 บริษัท คือ โรงกลั่นน้ำมันระยอง (อันดับ 6) และจี สตีล (อันดับ 48) ส่วนบริษัทในกลุ่ม Displaced เป็นบริษัทที่เพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ 3 บริษัทด้วยกัน ได้แก่ กรุงเทพผลิตเหล็ก ยูไนเต็ด บรอดคาสติ้งฯ และธนาคารยูโอบี
การจัดอันดับ “ผู้จัดการ 100” ครั้งนี้ เพื่อช่วยให้นักลงทุนสามารถเลือกเฟ้นบริษัทที่มีผลดำเนินงานดีอย่างต่อเนื่องและสม่ำเสมอ “ผู้จัดการ” ได้จัดอันดับ 100 บริษัทที่มีรายได้เพิ่มขึ้นทุกปีตั้งแต่ปี 2545 จนถึง 2549 ควบคู่ไปกับบริษัทที่มีกำไรเพิ่มขึ้นทุกปีในช่วงเวลาเดียวกัน โดยอ้างอิงบนพื้นฐานว่าบริษัทที่แข็งแกร่งย่อมสามารถทนทานกับปัจจัยลบต่างๆได้ดีและสร้างผลดำเนินงานให้เติบโตขึ้นได้อย่างสม่ำเสมอทุกปี ไม่ว่าภาวะเศรษฐกิจจะเป็นขาขึ้นหรือขาลง
ซึ่งการจัดอันดับครั้งนี้ได้ผลที่น่าแปลกใจว่าในจำนวนบริษัทจดทะเบียนเกือบ 500 บริษัทในตลาดหลักทรัพย์ฯมีเพียง 34 บริษัทเท่านั้นที่มีผลกำไรดีขึ้นทุกปีในช่วงเวลาดังกล่าว ในจำนวนนี้มีบริษัทใน “ผู้จัดการ 100” ปีนี้อยู่ 13 บริษัท นอกจากนั้นแล้ว บางบริษัทแทบไม่คุ้นชื่อคุ้นตานักลงทุนเอาเสียเลย
หากจะพลิกไปดูว่ามีบริษัทอะไรบ้างแล้วค่อยกลับมาดูบริษัทใน “ผู้จัดการ 100” ก็ไม่ผิดกติกาแต่อย่างใด
|
|
 |
|
|