|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ พฤษภาคม 2550
|
|
เมื่อไม่นานมานี้ J. Sainsbury ซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ และ Alliance Boots เชนร้านขายยายักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ตกเป็นเป้าหมาย การซื้อกิจการของบริษัทที่ซื้อกิจการด้วยวิธีที่เรียกว่า leveraged-buyout อย่างบริษัท Kohlberg Kravis Roberts และ Blackstone จากสหรัฐฯ รวมถึงบริษัทประเภทเดียวกันนี้ของอังกฤษเอง อย่าง Permira ทำให้สหภาพแรงงานในยุโรป ซึ่งไม่พอใจการลอยแพพนักงาน ที่มักเกิดขึ้นเสมอหลังการซื้อกิจการ เริ่มเรียกร้องให้รัฐบาลของตนเลิกยกเว้นภาษีให้แก่เงินกู้ที่กองทุนเหล่านี้กู้มาเพื่อใช้ในการซื้อกิจการ และประท้วงบริษัทลงทุนประเภทนี้ ซึ่งเป็นการลงทุนที่จัดอยู่ในประเภท private equity หรือการลงทุนในบริษัทนอกตลาดหุ้น
ในปีที่แล้ว กองทุนที่เรียกว่า private equity ของยุโรป มีขนาดกองทุน 114,000 ล้านดอลลาร์ หรือเพิ่มขึ้นมากกว่า 2 เท่าของปี 2004 แต่ในปีนี้คาดว่าขนาดของกองทุนยังจะเพิ่มขึ้นอีกเป็น 130,000 ล้านดอลลาร์ และแม้ว่าข้อตกลงการซื้อกิจการรายใหญ่ที่มีมูลค่าสูงๆ จะยังคงเกิดขึ้นในสหรัฐฯ เป็นส่วนใหญ่ แต่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ยุโรปกำลังจะกลายเป็นเป้าหมายที่กองทุนประเภทนี้โปรดปรานมากที่สุดอีกแห่งหนึ่ง
เพราะการซื้อกิจการในยุโรปยังมีราคาถูก และมีข้อดีอื่นๆ อีกมาก บริษัทในยุโรปไม่เพียงมีทรัพย์สินมากมายที่จะนำออกขายได้ แต่การที่ประเทศต่างๆ ในยุโรป รวมเป็นหนึ่งเดียวในนามของสหภาพยุโรป (European Union) ยังเปิดโอกาสให้สามารถ ซื้อและควบรวมกิจการขนาดใหญ่ข้ามประเทศได้ด้วย จึงไม่แปลกที่บรรดาผู้จัดการกองทุน private equity ข้ามชาติต่างกำลัง เล็งบริษัทในยุโรปตาเป็นมัน
อย่างไรก็ตาม การซื้อกิจการของ private equity ยังคงมีภาพลักษณ์ที่ย่ำแย่ในสายตาของชาวยุโรป นักการเมืองเยอรมนีมักกล่าวโจมตีบริษัท private equity ว่าเป็นนายทุนหน้าเลือด แม้กระทั่งนายกรัฐมนตรี Tony Blair ของอังกฤษ ซึ่งปกติเป็นมิตรกับนักลงทุนยังเตือนบริษัทประเภทนี้ให้ประพฤติตัวอย่าง "รับผิดชอบ" แม้จะเป็นที่ชัดเจนว่า private equity ได้ช่วยให้รายได้ของบริษัททั่วยุโรปเพิ่มพูนขึ้นก็ตาม
ธุรกิจที่ตกเป็นเป้าหมายการซื้อของกองทุน private equity ในขณะนี้ได้แก่ บริษัทโทรคมนาคมและสื่อ โดยเฉพาะบริษัทที่เคยเป็นรัฐวิสาหกิจมาก่อน ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา บริษัท private equity อย่างเช่น 3i และ Permira ของอังกฤษ ได้เข้าซื้อ VNU ในเนเธอร์แลนด์ Eircom ในไอร์แลนด์ ProSienbenSat ในเยอรมนี และ TDC ในเดนมาร์ก ด้วยเงินลงทุน 13,000 ล้านยูโร ซึ่งทำสถิติการซื้อกิจการแบบ leveraged buyout ครั้งใหญ่ที่สุดในยุโรป นักวิเคราะห์ชี้ว่า Vodafone ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ที่สุดของโลก ซึ่งกำลังอยู่ในสภาพอ่อนแออาจตกเป็นเป้าหมายการซื้อกิจการรายต่อไป
การซื้อกิจการต่างๆ ที่ผ่านมาข้างต้น ช่วยทลายกำแพงที่ขวางกั้นอุตสาหกรรมต่างๆ ของยุโรป ทำให้หลังถูกซื้อกิจการบริษัทของยุโรปสามารถเสนอบริการหลายอย่างพร้อมกัน ทั้งบริการโทรศัพท์ โทรทัศน์และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงแก่ลูกค้าได้ เนื่องจากกองทุน private equity จะขายทิ้งธุรกิจที่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของกิจการที่ตนซื้อมา และจะปรับเปลี่ยนเป้าหมายของบริษัทที่ตนซื้อมาเสียใหม่ ทำให้ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า ต่อไปยุโรปจะมีช่องโทรทัศน์มากขึ้นและลูกค้าจะเสียค่าบริการโทรศัพท์ที่ถูกลง
กิจการค้าปลีกขนาดใหญ่ในยุโรปเป็นเป้าหมายอันหอมหวานเช่นกันของ private equity เพราะกิจการเหล่านี้มักครอบครองอสังหาริมทรัพย์มากมาย ซึ่ง private equity จะนำออกขายได้ ถ้าหากการเจรจาซื้อ J. Sainsbury เชนซูเปอร์มาร์เก็ตยักษ์ใหญ่ของอังกฤษ ประสบความสำเร็จในกลางเดือนเมษายนนี้ นักวิเคราะห์ชี้ว่า J. Sainsbury คงจะขายร้านสาขาต่างๆ ของตน แล้วใช้วิธีเช่ากลับมา โดยการขายร้านออกไปจะทำให้ได้เงินกลับมาประมาณ 5-7.5 พันล้านปอนด์ ซึ่งสามารถจะนำไปแตกธุรกิจเข้าสู่ธุรกิจขายสินค้าที่ไม่ใช่อาหาร ช่วยให้สามารถแข่งขันกับคู่แข่งยักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯ อย่าง Wal-Mart ได้ และถ้าหากการซื้อห้างดังกล่าวสำเร็จ ก็คงจะมีข้อตกลงซื้อกิจการแบบเดียวกันนี้เกิดขึ้นกับกิจการอย่าง Nordea ธนาคารใหญ่สุดของสแกนดิเนเวีย และห้าง Printemps ของฝรั่งเศส
ในขณะที่ private equity อ้างว่าการซื้อกิจการของพวกเขาจะช่วยให้ยุโรปแข่งขันได้ดีขึ้น แต่ผู้ถือหุ้นในบริษัทที่ตกเป็นเป้าการซื้อยังไม่แน่ใจนัก นอกจากนี้ยังมีความขัดแย้งอื่นๆ อีก อย่างเช่นในการเจรจาซื้อ J. Sainsbury นั้น CEO Justin King ของห้างดังกล่าว ซึ่งจะได้รับผลกำไรจากการขายกิจการครั้งนี้ เป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการจัดทำข้อตกลงซื้อขายกิจการครั้งนี้ และเขากำลังถูกผู้คุมกฎของอังกฤษจับตามองว่า การกระทำของเขาเข้าข่ายผลประโยชน์ทับซ้อนหรือไม่
และเมื่อไม่นานมานี้ Luc Vandevelde ประธาน Carrefour ห้างค้าปลีกที่ใหญ่ที่สุดของฝรั่งเศส ต้องประกาศลาออก หลังจากถูกคณะกรรมการบริษัทตำหนิที่ไปเจรจากับกองทุน private equity หลายครั้ง ขณะนี้กลุ่มพิทักษ์สิทธิผู้ถือหุ้นทั่วยุโรป ซึ่งกล่าวหาบริษัท private equity ที่มักปกปิดแผนการที่จะทำกับกิจการที่ตนซื้อเป็นความลับ กำลังเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎเข้มงวดกับกองทุนเหล่านี้มากขึ้น และเรียกร้องความโปร่งใสจากกองทุนประเภทนี้เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะกรณีเข้าซื้อกิจการที่เกี่ยวกับการรักษาพยาบาลและพลังงาน
ด้านบริษัท private equity พยายามยกตัวเลขขึ้นปกป้องตัวเองจากข้อกล่าวหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อนและการตัดเฉือนสินทรัพย์ของกิจการที่ซื้อมาออกขาย โดยชี้ว่า ผลการศึกษาของ Ernst and Young พบว่า บริษัท private equity โดยทั่วไปสามารถเพิ่มมูลค่าของกิจการที่ถูกซื้อไปเป็นสองเท่าภายในเวลา 3 ปีครึ่งหลังจากการซื้อ ขณะที่รายงานของ Citigroup แสดงว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา การซื้อกิจการของ private equity ในยุโรป ช่วยเพิ่มพูนรายได้ของบริษัทที่ถูกซื้อมากกว่า 14 เปอร์เซ็นต์ต่อปี เทียบกับกำไรเพียง 8 เปอร์เซ็นต์ของดัชนี FTSE ในตลาดหุ้นลอนดอน ซึ่งแสดงถึงผลกำไรที่น้อยกว่าของบริษัทจดทะเบียน ส่วนผู้บริหารกองทุน private equity ก็พยายามจะบอกว่า ขณะนี้ private equity กำลังได้รับความนิยมจากนักลงทุนอย่างล้นหลามจากที่เมื่อ 10 ปีก่อนแทบไม่มีนักลงทุนเหลียวแล
อย่างไรก็ตาม private equity ก็ตระหนักดีว่า จำเป็นต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อกอบกู้ภาพลักษณ์ที่เหมือนเสือหิวของตน และได้เริ่มแผนการประชาสัมพันธ์ระดับโลก เพื่อจะลบภาพลักษณ์นี้โดยในการประชุมบริษัท private equity ประจำปีที่ Frankfurt เมื่อไม่นานมานี้ ผู้บริหารที่ทรงอิทธิพลในวงการ private equity เรียกร้องให้เพื่อนๆ ร่วมวงการช่วยกันเพิ่มความโปร่งใส เพื่อหลีกเลี่ยงการถูกรัฐบาลตั้งกฎเกณฑ์ใหม่ๆ มาควบคุม ขณะที่กลุ่มบริษัท private equity ในยุโรปกำลังช่วยกันร่างหลักปฏิบัติในการเปิดเผยข้อมูล ซึ่งรวมถึงการขอให้บริษัท private equity เปิดเผยแผนการที่จะทำกับบริษัทที่พวกเขามีแผนจะซื้อกิจการให้สาธารณชนได้รับรู้
แต่การที่ต้องลอยแพพนักงานซึ่งมักเกิดขึ้นหลังจากการซื้อกิจการ ทำให้ private equity ยังคงยากจะดิ้นหลุดจากภาพลักษณ์ของนายทุนหน้าเลือด สหภาพแรงงานในอังกฤษชี้ว่า มีพนักงานตกงาน 4,000 คน หลังจากการซื้อกิจการ Automobile Association และ Birds Eye ผู้ผลิตอาหารแช่แข็งของอังกฤษ แต่ private equity พยายามอ้างผลการศึกษาจากมหาวิทยาลัย Nottingham ซึ่งพบว่า แม้การจ้างงานจะลดลงราว 5 เปอร์เซ็นต์ในปีแรกหลังการซื้อกิจการ แต่กลับเพิ่มขึ้น 21 เปอร์เซ็นต์หลังผ่านไป 4 ปี
บริษัท private equity ในสหรัฐฯ กลับไม่เจอปัญหาอย่างบริษัทประเภทเดียวกันในยุโรป ขณะนี้กองทุนบำเหน็จบำนาญต่างๆ ในสหรัฐฯ คือผู้ลงทุนรายใหญ่เป็นอันดับสองของกองทุน private equity ซึ่งหมายความว่า ผลประโยชน์ที่ได้จาก private equity ได้ไปถึงทุกคนรวมถึงครูและข้าราชการ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำให้กองทุน private equity ในสหรัฐฯ ไม่ถูกประท้วงต่อต้านเหมือนในยุโรป
และแม้แต่ในยุโรปเอง กองทุนบำเหน็จบำนาญในยุโรปก็เป็นผู้ลงทุนรายใหญ่ในกองทุน private equity ของยุโรปเช่นกัน โดยมีสัดส่วนการลงทุน 40 เปอร์เซ็นต์ ในกองทุน private equity เพิ่มจากที่เคยอยู่ในระดับเกือบ 0 เปอร์เซ็นต์ เมื่อ 6 ปีก่อน และยังมีแผนจะเพิ่มการลงทุนใน private equity ในปีนี้อีกด้วย แม้ในท่ามกลางกระแสต่อต้าน private equity ที่ยังคงแรงอยู่ในปัจจุบัน
เสาวนีย์ พิสิฐานุสรณ์ แปลและเรียบเรียง
นิวสวีค 26 มีนาคม 2550
|
|
|
|
|