นิตยสาร Stockholm New No.12 เตือนผู้ไปเยือนสวีเดนว่า จะผิดหวังถ้าคาดหวังว่าจะได้ตื่นเต้นกับสถาปัตยกรรมยุคปลายศตวรรษที่
20 และต้นศตวรรษที่ 21 เพราะอาคารที่ได้ชื่อว่าทันสมัยที่สุดใน Stockholm
นครหลวงของสวีเดนคือ House of Culture นั้นสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี 1974 และตลอด
3 ทศวรรษที่ผ่านมาก็แทบจะไม่มีความคืบหน้าอะไรในนครหลวง แห่งนี้ หากจะมีอาคารสร้างใหม่เกิดขึ้น
บ้างส่วนใหญ่จะเลียนแบบสถาปัตยกรรมยุคก่อนๆ ทั้งสิ้น
หน้าตาของ Stockholm ที่ปรากฏต่อสายตาผู้ไปเยือนจึงเป็นหน้าตาของนครใหญ่ที่ได้รับการวางผังเมืองมาตั้งแต่
100 ปีที่แล้ว โดยประมาณ คือ ในราวช่วงเปลี่ยนสู่ศตวรรษที่ 20.....
ทำให้ Stockholm กลายเป็น "ศิลานคร" (Stone city) ของชนชั้นกลางที่โดดเด่นเป็นหนึ่งเดียวของโลกไปโดยปริยาย......
"ศิลานคร" แห่งนี้สะท้อนความเชื่อมั่นในตนเองของชนชั้นกลางยุคนั้นที่มีอยู่เต็มเปี่ยมแบบไร้ขอบเขต
และสะท้อนถึงอำนาจรวมทั้งความเจริญรุ่งโรจน์อย่างน่าทึ่งของสังคมอุตสาหกรรมเกิดใหม่ของสวีเดน
คุณภาพของงานก่อสร้างยุคนี้จึงถือได้ว่าดีที่สุดเท่าที่เคยมีมา......
Stockholm ยังเป็นสัญลักษณ์อันยิ่งใหญ่ที่สะท้อนถึงความใฝ่ฝันที่จะก้าวสู่ความเกรียงไกรยิ่งใหญ่ของชาวสวีเดน
ความใฝ่ฝันที่จะมีความสำคัญและใหญ่โตกว่าที่เป็นจริง รวมถึงสะท้อนให้เห็นความมุ่งมั่นอย่างแรงกล้าที่จะเป็นผู้ทรงอิทธิพลทั้งทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์ให้ได้
"ศิลานคร" ยุคก่อนจะถึงกลางศตวรรษที่ 19 ไม่มีอะไรโดดเด่นน่าสนใจเลย เป็นเพียงเมืองเล็กๆ
ที่อุดมไปด้วยบรรยากาศบ้านนอก มีฝูงวัวและเล็มหญ้าอยู่ในสวนสาธารณะ มีแม่บ้านชรานั่งซักผ้าอยู่ริมน้ำเรียงเป็นตับ
ผู้ที่กุมบังเหียนในกิจการระหว่างประเทศมีเพียงราชสำนักและชนชั้นขุนนางเพียงหยิบมือเท่านั้น
จนกระทั่งถึงยุคพัฒนาเป็นสังคมอุตสาหกรรมคือ ทศวรรษ 1860 แล้วนั่นแหละที่ประชากรของ
Stockholm เพิ่มจำนวนขึ้นจนมีมากกว่าแสนคน
เมื่อมองในด้านสถาปัตยกรรมนั้นเล่า ปรากฏว่ายุคก่อนทศวรรษ 1880 "ศิลานคร"
มีสถาปัตยกรรมรูปแบบตายตัวเหมือนๆ กันมองดูแล้วแสนจะธรรมดา ปราศจากความสร้างสรรค์
จะมียกเว้นเฉพาะในส่วนของพระราชวัง โบสถ์ และกรมทหารบางแห่ง และคฤหาสน์ของขุนนางเท่านั้น
สวีเดนพุ่งทะยานเข้าสู่ยุคพัฒนาสังคมอุตสาหกรรมเต็มตัว ในช่วง 3 ทศวรรษสุดท้ายของศตวรรษที่
19 เมื่อมีการเปิดใช้เส้นทางรถไฟสายหลักอันเป็นผลพวงจากยุค "Northern Gold"
ที่มีการใช้ทรัพยากรประเภทไม้และเหล็กซึ่งมีอยู่อย่างมหาศาลทางตอนเหนือของสวีเดนอย่างบ้าคลั่ง
ยิ่งทวีปยุโรปเน้นการพัฒนาสังคมอุตสาหกรรมมากขึ้นเท่าไร ความต้องการในทรัพยากร
ธรรมชาติของสวีเดน ก็ยิ่งมีมากเป็นเงาตามตัวแบบไม่มีขีดจำกัด
หลังจากนั้นไม่นาน อุตสาหกรรมในประเทศ ของสวีเดนก็หันมารองรับอุตสาหกรรมจากทรัพยากร
ธรรมชาติเหล่านี้ด้วยความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะภาวะบูมของอุตสาหกรรมกระดาษ
และเหล็กที่นำไปสู่นวัตกรรมระดับอัจฉริยะของสวีเดนครั้งแล้วครั้งเล่า อาทิ
กังหัน เครื่องแยกแร่ ดินระเบิด ตลับลูกปืน
อุตสาหกรรมดังกล่าวซึ่งเรียกกันว่า genius industry จึงเป็นตัวจักรสำคัญ
ผลักดันให้สวีเดนกลายสภาพจากประเทศเล็กๆ ยากจน บ้านนอก และด้อยพัฒนาผงาดขึ้นสู่ฐานะประเทศมหาอำนาจ
ด้านอุตสาหกรรมสำคัญที่สุดชาติหนึ่งของโลก ด้วยระยะเวลาเพียงไม่กี่ทศวรรษเท่านั้น
บริษัทข้ามชาติยักษ์ใหญ่ของสวีเดนทุกวันนี้ส่วนใหญ่ก็ก่อตั้งขึ้นในยุคนี้เช่นกัน
ปรากฏการณ์ "มหัศจรรย์แห่งอุตสาหกรรม" ที่เกิดขึ้นกับสวีเดน จึงถือเป็นความโดดเด่นเฉพาะตัวที่เกิดขึ้นในระดับโลกเลยทีเดียว
แน่นอนว่าความเจริญรุ่งเรืองแบบก้าวกระโดดที่อุบัติขึ้นในสวีเดนย่อม ส่งผลถึงการพัฒนาความก้าวหน้าที่ต้องตกอยู่กับนครหลวงและศูนย์กลางการเงินอย่าง
Stockholm ก่อนเป็นอันดับแรก
ปี 1866 จึงเป็นปีที่ "ศิลานคร" แห่งนี้ได้รับการวางผังเมืองใหม่ โดย เฉพาะการสร้างเครือข่ายถนนหนทางตามแบบอย่างนครใหญ่ต่างๆ
ของทวีปยุโรป
หลังจากขั้นตอนเตรียมการในช่วงทศวรรษ 1870 แล้ว การก่อสร้างขยายเมืองเริ่มดำเนินไปอย่างรวดเร็วในทศวรรษ
1880 ซึ่งเป็นทศวรรษที่มีการก่อสร้างอาคารกว่า 2,000 อาคาร บนหมู่เกาะที่รายรอบ
Old Town ซึ่งเป็นใจกลางเมืองยุคกลางของ Stockholm นับเป็นสถิติก่อสร้างสูงสุดที่ไม่เคยทำได้มากขนาดนี้อีกเลยจวบจนปัจจุบัน