ธปท.เผยยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอลล่าสุด ณ สิ้นเดือนมี.ค.50 เพียงเดือนเดียวยอดเอ็นพีแอลพุ่งกว่า 3,000 ล้านบาท โดยเป็นผลมาจากหนี้ในส่วนของธนาคารพาณิชย์ไทยเป็นสำคัญ โดยแบงก์กรุงไทย-กรุงศรีฯ-กรุงเทพ ติดอันดับท็อปเท็นหนี้สูงสุดในระบบสถาบันการเงินไทย ส่วนนครหลวงไทยมียอดหนี้ลดลงมากที่สุดเกือบ 3,000 ล้านบาท
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท.ได้ประกาศยอดคงค้างหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของสถาบันการเงินในระบบล่าสุด ณ สิ้นเดือนมี.ค.2550 พบว่า เอ็นพีแอลจำนวนทั้งสิ้น 239,918 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.19%ของสินเชื่อรวม เพิ่มขึ้น 3,371 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 1.42% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยในระบบสถาบันการเงินมีเพียงเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ไทยเท่านั้นที่เพิ่มขึ้น ซึ่งภายในเดือนเดียวยอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นถึง 6,828 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3%ของสินเชื่อรวม จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างอยู่ที่ 234,798 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.58%ของสินเชื่อรวม
ขณะที่สถาบันการเงินในระบบเศรษฐกิจอื่นๆ ต่างมียอดเอ็นพีแอลลดลง เมื่อเทียบกับเดือนก่อน โดยสาขาธนาคารต่างประเทศมียอดคงค้างเอ็นพีแอลลดลงถึง 2,957 ล้านบาท หรือลดลงถึง 49.84%ของสินเชื่อรวม จากปัจจุบันที่มีเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 2,975 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.52%ของสินเชื่อรวม บริษัทเงินทุนมีเอ็นพีแอลลดลง 480 ล้านบาท หรือลดลง 18.09%ของสินเชื่อรวม จากยอดล่าสุดมีจำนวน 1,850 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.18%ของสินเชื่อรวม และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์มีเอ็นพีแอลลดลง 91 ล้านบาท หรือลดลง 23.64%ของสินเชื่อรวม จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างจำนวน 296 ล้านบาท หรือคิดเป็น 55.89% ของสินเชื่อรวม
ทั้งนี้ หากพิจารณายอดเอ็นพีแอลของธนาคารพาณิชย์ไทยที่เพิ่มขึ้นถึง 6,828 ล้านบาท เกิดจากธนาคารพาณิชย์จำนวน 11 แห่ง จากธนาคารพาณิชย์ไทยในระบบที่มีจำนวนทั้งสิ้น 17 แห่ง โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนธนาคารกรุงไทยมียอดเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นมากที่สุดในระบบธนาคารพาณิชย์ถึง 5,200 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 8.81%ของสินเชื่อรวม จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างเอ็นพีแอลจำนวน 64,241 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.88% รองลงมาเป็นธนาคารกรุงศรีอยุธยาเพิ่มขึ้น 2,581 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 10.14% จากยอดคงค้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน 28,044 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.30% และธนาคารกรุงเทพเพิ่มขึ้น 2,373 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 6.23% จากยอดคงค้างที่มีอยู่ 40,489 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.41%ของสินเชื่อรวม
นอกจากนี้ ธนาคารกสิกรไทยมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 1,112 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 5.32% จากยอดคงค้างของเอ็นพีแอล ณ สิ้นเดือนมี.ค.ที่มีจำนวน 21,998 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.31% ธนาคารไทยธนาคารเพิ่มขึ้น 863 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 49.23% จากยอดคงค้างที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2,616 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.53% ธนาคารไทยพาณิชย์เพิ่มขึ้น 748 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 3.30% จากยอดคงค้างเอ็นพีแอลที่มีอยู่ 23,428 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.42% ธนาคารธนชาตเพิ่มขึ้น 82 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.97% จากยอดเอ็นพีแอลที่มีอยู่ล่าสุด 1,732 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.84%ของสินเชื่อรวม
ส่วนธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด(ไทย) เมื่อเทียบกับเดือนก่อนมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 69 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 11.33% ซึ่งในเดือนมี.ค.มียอดคงค้างอยู่ที่ 678 ล้านบาท หรือคิดเป็น 0.84% ธนาคารทิสโก้เพิ่มขึ้น 53 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 4.37% จากยอดคงค้างเอ็นพีแอลปัจจุบัน 1,267 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.73% ธนาคารเมกะสากลพาณิชย์เพิ่มขึ้น 49 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 55.06% จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างเอ็นพีแอล 138 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.43% ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อยมีเอ็นพีแอลเพิ่มขึ้น 24 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 800% เมื่อเทียบกับเดือนก่อน จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างเอ็นพีแอล 27 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.07%ของสินเชื่อรวม
ทั้งนี้ ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อยได้ยกระดับจากบริษัทเครดิตฟองซิเอร์(บค.)ไทยเคหะ ซึ่งได้คืนใบอนุญาตดังกล่าวและยกระดับสถานะมาประกอบธุรกิจธนาคารพาณิชย์เพื่อรายย่อยแทนตามแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงิน(มาสเตอร์แพลน) ฉบับที่ 1 เพื่อพัฒนาให้สถาบันการเงินมีความแข็งแกร่งและพร้อมรับกับการแข่งขันในอนาคต ดังนั้นจึงมีการโอนสินทรัพย์และหนี้สินของบค.ไทยเคหะมาที่ธนาคารไทยเครดิตเพื่อรายย่อยแทน
ขณะเดียวกันในเดือนมี.ค.2550 ยังมีธนาคารพาณิชย์ไทยจำนวน 6 แห่งที่มีเอ็นพีแอลลดลง โดยธนาคารนครหลวงไทยมีเอ็นพีแอลลดลงมากที่สุดในระบบสถาบันการเงินไทยถึง 2,840 ล้านบาท หรือลดลง 32.31% จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 5,949 ล้านบาท หรือคิดเป็น 2.40% รองลงมาธนาคารทหารไทยลดลง 2,389 ล้านบาท หรือลดลง 7.18% จากยอดคงค้างที่มีอยู่ล่าสุด 30,890 ล้านบาท หรือคิดเป็น 6.08% และธนาคารยูโอบีลดลง 899 ล้านบาท หรือลดลง 11.89% ซึ่งจากล่าสุดที่มียอดคงค้างเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 6,660 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.36%ของสินเชื่อรวม
นอกจากนี้ในเดือนนี้ธนาคารสินเอเชียมีเอ็นพีแอลลดลงลด 187 ล้านบาท หรือคิดเป็น 11.88% จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 1,387 ล้านบาท หรือคิดเป็น 5.57% ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เพื่อรายย่อยมีเอ็นพีแอลลดลง 7 ล้านบาท หรือลดลง 2.25% จากล่าสุดที่มียอดคงค้างทั้งสิ้น 304 ล้านบาท หรือคิดเป็น 1.70% และธนาคารเกียรตินาคินลดลง 3 ล้านบาท หรือลดลง 0.06% จากปัจจุบันที่มียอดคงค้างเอ็นพีแอลทั้งสิ้น 4,951 ล้านบาท หรือคิดเป็น 9.47%ของสินเชื่อรวม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงที่การเมืองยังไม่มีความไม่แน่นอนมีผลกดดันให้ภาวะเศรษฐกิจไทยชะลอตัวอย่างต่อเนื่อง และส่งผ่านมายังลูกค้าของธนาคารพาณิชย์ทั้งที่เป็นประชาชนทั่วไปและภาคธุรกิจในระบบด้วย ทำให้การจับจ่ายใช้สอยและการลงทุนต่างๆ ต้องชะงักไปตามภาวะเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันธนาคารพาณิชย์ไทยมีความระมัดระวังมากขึ้นในการปล่อยสินเชื่อให้แก่ลูกค้ารายใหม่ ดังนั้น แม้ภาครัฐจะมีนโยบายออกมากระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ แต่ผลที่เกิดขึ้นไม่ได้ส่งผ่านมายังระบบเศรษฐกิจมากนัก โดยเฉพาะการลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจแต่อย่างใด แต่ลูกค้ารายเก่าที่ยังคงแบกรับภาระการผ่อนชำระตามสัญญาเงื่อนไขเดิมอยู่
|