นายกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัทปูนซีเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยผลการดำเนินงานของบริษัทและบริษัทในเครือไตรมาส 1 ปี 50ว่า มีกำไรสุทธิรวมทั้งสิ้น 8,213 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 9,545 ล้านบาท กว่า 1,332.86 ล้านบาท คิดเป็นการลดลง 14 %
เนื่องมาจากในไตรมาส 1 ของปี 49 นั้น บริษัทและบริษัทย่อยมีกำไรเพิ่มเติมจากการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นในบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ จำกัด เพิ่มจาก 11% เป็น 27% ส่งผลให้รับรู้รายได้เพิ่มขึ้นสูง ประกอบกับที่ไตรมาสนี้ ธุรกิจซีเมนต์และก่อสร้าง มียอดขายชะลอตัวลง เป็นผลมาจากสภาวะเศรษฐกิจที่ซบเซาและการชะลอตัวของธุรกิจอสังหาฯ
โดยยอดขายธุรกิจซีเมนต์ ในไตรมาส 1/ 50 มียอดขายรวม 11,459 ล้านบาท ลดลง 2% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน และกำไรจากการดำเนินงานก็ลดลงกว่า 13% เนื่องจากปริมาณความต้องการปูนซีเมนต์ในการก่อสร้างที่อยู่อาศัย และโครงการของภาครัฐชะลอตัว ทำให้ยอดขายในประเทศลดลง ส่งผลให้ยอดขายซีเมนต์ในไตรมาสนี้ลดลงจากไตรมาสก่อน ดังนั้น บริษัทจึงเบนเข็มสู่การส่งออกเพิ่มขึ้นจาก 7 ล้านตันเป็น 7.5 ล้านตัน
อย่างไรก็ดี จากการคาดการณ์ชะลอตัวของธุรกิจอสังหาฯ ส่งผลให้การจำหน่ายปูนซีเมนต์ในประเทศปีนี้ลดลง 5% แต่หากรัฐออกมาตรการกระตุ้นอสังหาฯ ด้วยการลดดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่อง และอนุมัติโครงการเมกะโปรเจกต์ จะช่วยให้ธุรกิจอสังหาฯมีการเติบโตขึ้น ส่งผลดีต่อความต้องการวัสดุก่อสร้างมากขึ้น ซึ่งจะเห็นผลได้ชัดเจนได้ในช่วงครึ่งปีหลัง
" แม้จะทำการขยายการส่งออกให้มากขึ้น แต่ยังไม่แน่ว่าจะได้เงินจากส่วนนี้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะค่าเงินบาทที่ยังคงแข็งค่า ทำให้มองแล้วว่ากำไรสุทธิในปีนี้น่าจะลดลงจากปี 2549 " นายกานต์
สำหรับธุรกิจเคมีภัณฑ์นั้น ไตรมาส 1/50 มียอดขายรวมทั้งสิ้น 29,604 ล้านบาท มีกำไรจากการดำเนินการลดลง 32 % จากปีก่อน เนื่องจากปีที่ผ่านมาบริษัทรับรู้กำไรจากบริษัทกรุงเทพซินธิติกส์ แต่คาดว่ากำไรในไตรมาส 2 ของธุรกิจนี้ อาจจะปรับตัวลดลง เพราะส่วนต่างของสเปรดที่มีแนวโน้มแคบลงจากไตรมาสแรก ซึ่งมีส่วนต่าง 680 ดอลลาร์สหรัฐ ในขณะที่ไตรมาส 2 น่าจะลดลงเป็น 580-590 ดอลลาร์สหรัฐ จากราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้น
ด้านธุรกิจกระดาษพบว่ากำไรเพิ่มขึ้น 31 % เนื่องจากต้นทุนที่ลดลงจากการใช้ Coal-Fired Boiler ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายด้านพลังงาน แต่หากเปรียบเทียบกับ ไตรมาส1ปี 49 กำไรลดลง เนื่องจากต้นทุนวัตถุดิบที่เพิ่มสูงและค่าเงินบาทที่แข็งค่า
นายกานต์ กล่าวต่อว่า ในปีนี้ ทางบริษัทยังตั้งเป้าในการลงทุนกว่า 30,000 ล้านบาท ล่าสุดคณะกรรมการได้ทำการอนุมัติงบประมาณ 800 ล้านบาท เปิดโรงงานผลิตกล่องกระดาษที่นิคมอมตะนคร จ.ชลบุรี ส่วนการลงทุนในต่างประเทศได้ชะลอไว้ก่อน
"โครงการที่ประเทศเวียดนาม ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณา ส่วนที่อินโดนีเซียยังไม่มีข้อสรุปว่าจะเปิดโรงงานผลิตอะไร แต่มีความเป็นไปได้ ว่าจะใช้เป็นโรงงานผลิตซีเมนต์ ก่อสร้าง หรือเคมี ในอนาคตทางบริษัทจะพัฒนาให้ประเทศเวียดนามเป็นแหล่งผลิตอันดับ 2 รองจากประเทศไทยให้ได้ " นายกานต์กล่าว
สำหรับปีนี้ บริษัทจะพยายามเพิ่มยอดขายของเครืออีก 5 % ด้วยการขยายกำลังผลิตให้เต็มกำลัง แม้ว่าราคาปิโตรเคมีจะมีแนวโน้มอ่อนตัวลง ส่วนแผนงานใน 5 ปี บริษัทจะใช้งบประมาณกว่า 20,000 ล้านบาท ในการพัฒนาพลังงานที่เหลือใช้นำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซึ่งโครงการมูลค่า 2,000 ล้านบาท จะสามารถลดต้นทุนด้านพลังงานของบริษัทได้ประมาณ 400-500 ล้านบาท
นายกานต์ กล่าวถึงการลดส่วนการถือครองหุ้นลดในบริษัทย่อยที่ไม่ใช้ธุรกิจหลักของบริษัท (Non - Core) ว่า หลังจากที่บริษัทได้ลด Non-Core ในบริษัทเหล็กยามาโตะ จำกัด และ บมจ. สยามฟูกาวา แล้ว ในขณะนี้ก็ยังจะพิจารณาปรับลดอัตราการถือครองหุ้นในบริษัทอื่น ซึ่งรอจังหวะและความเหมาะสม
นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ กล่าวถึงแผนการรีไฟแนนซ์หนี้ของบริษัทว่า ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา บริษัทได้ทำการออกหุ้นกู้ไปแล้ว 15,000 ล้านบาท ในอัตราดอกเบี้ย 5.75 บาท เพื่อใช้ทดแทนหุ้นกู้ที่ครบกำหนดในปลายปี 6,000 ล้านบาท โดยหุ้นกู้ในส่วนดังกล่าว ได้จำหน่ายออกไปทั้งหมดแล้ว ส่วนหุ้นกู้ที่จะครบกำหนดในเดือนตุลาคมอีก 10,000 ล้านบาทนั้น คาดว่าคณะกรรมการคงจะทำการออกหุ้นกู้ชุดต่อไปเพื่อใช้รีไซแนนซ์ต่อไป
|