ชาร์ป ควบรวมกิจการ 3 พันธมิตร คือ ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น, ชาร์ป เทพนคร และ ชาร์ป กรุงไทยฯ ร่วมทุนผุด บริษัทขึ้น ใหม่ "ชาร์ปไทย" หวังดึงงบการลงทุนจากบริษัทแม่ ลุยตลาดไทยเต็มกำลัง หวังปั้มเงินจากผลิตภัณฑ์หลัก ทั้ง เอชเอ ,เอวี และโอเอ รวมถึงกลุ่มผลิตภัณฑ์ธุรกิจ อย่าง ผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ สนองนโยบายรุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าโซนอาเซียน มั่นใจครบปี โกยรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท
นายมาโคโตะ ทาคาฮาชิ ประธานบริหาร ประจำภูมิภาคเอเชีย บริษัท ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น ประเทศญี่ปุ่น จำกัด เปิดเผยว่า จากที่บริษัทแม่ที่ประเทศญี่ปุ่นมีนโยบายที่จะรุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าในโซนเอเซีนนั้น จึงได้มีการเจรจาร่วมทุนกับตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าชาร์ปในหลายประเทศไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็น อินโดนีเซีย ฮ่องกง หรือแม้แต่มาเลเซีย ขณะเดียวกัน สำหรับประเทศไทยนั้น มองว่ามีศักยภาพที่ดี และน่าสนใจ จึงได้มีการเจรจาร่วมทุนกับ ตัวแทนจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าชาร์ปในประเทศไทยขึ้น จากเดิมที่มีอยู่ 2 บริษัทคือ ชาร์ป เทพนคร และชาร์ป กรุงไทยการไฟฟ้า ก่อตั้งบริษัทขึ้นใหม่ ภายใต้ชื่อบริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ด้วยทุนจดทะเบียนกว่า 490 ล้านบาท โดยมี ชาร์ป คอร์ปอเรชั่น ถือหุ้น 50 % ห้างเทพนคร พาณิชย์ และชาร์ป กรุงไทยการไฟฟ้า ถือหุ้นบริษัทละ 25 % และจะเริ่มดำเนินธุรกิจ ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2550 เป็นต้นไป
"การร่วมทุนครั้งนี้ ถือเป็นโมเดลการดำเนินธุรกิจใหม่ ที่ทางบริษัทแม่วางไว้ เพื่อรุกตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าอย่างจริงจังในโซนอาเซียน และเป็นการนำเอาผลิตภัณฑ์จากทางฝ่ายผลิต และฝ่ายการขายร่วมกันทำงาน เพื่อให้มีผลประโยชน์ร่วมกัน และเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน อีกทั้งยังช่วยกำหนดทิศทางความต้องการของตลาดร่วมกันได้อีกด้วย พร้อมทั้งยังช่วยในเรื่องของงบประมาณการลงทุนที่จะมีมากขึ้น เพื่อใช้สำหรับทำตลาดในประเทศนั้นเอง โดยมีนายจิตติน สีบุญเรือง จาก ชาร์ป เทพนคร และนายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย จากชาร์ป กรุงไทยการไฟฟ้า ดำรงตำแหน่ง ประธานบริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด ร่วมกัน "
ส่วนในเรื่องผลิตภัณฑ์ที่ทางชาร์ปไทย จะทำตลาดเองนั้นจะเป็นสินค้าที่ทั้ง 2 บริษัท ได้เป็นตัวแทนจำหน่ายไว้ก่อนแล้ว คือ กลุ่มผลิตภัณฑ์ธุรกิจ ได้แก่ เครื่องถ่ายเอกสาร และระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จากทาง ชาร์ป เทพนคร และกลุ่มผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าและอิเล็คโทรนิกส์ ประกอบด้วย หมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าในครัวเรือน หรือ เอชเอ ได้แก่ ตู้เย็น เครื่องปรับอากาศ เครื่องฟอกอากาศ เตาไมโครเวฟ หมวดภาพและเสียง หรือ เอวี อาทิเช่น แอลซีดี ทีวี เครื่องเล่นดีวีดี และหมวดเครื่องใช้สำนักงาน หรือโอเอ เช่น เครื่องคิดเลข เครื่องโทรสาร จากทาง ชาร์ป กรุงไทยการไฟฟ้า มั่นใจว่าในปีแรกนี้ หรือสิ้นสุดการดำเนินการของปีงบประมาณ 2550 ในเดือน มีนาคม 2551 นั้น คาดว่าจะมีรายได้กว่า 4,000 ล้านบาท จากสินค้าทั้ง 2 หมวด (เป็นรายได้ที่รวมกับรายได้จาก 2 บริษัท ที่เป็นตัวแทนจำหน่ายให้ก่อนก่อตั้ง ชาร์ป ไทย ขึ้นมาด้วย )
สำหรับนโยบายการทำตลาดของ ชาร์ปไทยนั้น จะมุ่งเน้นสินค้าในหมวดเอวีเป็นหลัก โดยเฉพาะ แอลซีดี ทีวี ที่กำลังมีอัตราการเติบโตที่ดี โดยจะมุ่งเน้นทำตลาดในขนาดตั้งแต่ 32 นิ้วขึ้นไป และจะเพิ่มจำนวนไลน์อัฟสินค้าให้ครบทุกขนาด รวมถึง อาจจะนำเอาแอลซีดี ทีวี ขนาด 108 นิ้ว เข้ามาจำหน่ายด้วย พร้อมทั้งขยายช่องทางการจัดจำหน่าย หรือเพิ่มจำนวนดิสเพลย์ และการจัดบูทแสดงสินค้าให้ผู้บริโภค ส่วนระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เป็นสินค้าอีกตัวที่จะทำตลาดอย่างจริงจังมากขึ้น เนื่องจากประเทศไทยกำลังให้ความสำคัญกับระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ จึงคาดว่าสินค้าดังกล่าวจะได้รับการตอบรับที่ดีทั้งจากภาครัฐและเอกชน ซึ่งการทำตลาดในปีแรกนี้ คาดว่าจะใช้งบการตลาดอยู่ที่ 5% ของยอดขายที่ตั้งเป้าไว้
นายศุภชัย สุทธิพงษ์ชัย ประธาน บริษัท ชาร์ป ไทย จำกัด กล่าวต่อว่า ถึงแม้ว่าทางบริษัท ชาร์ป กรุงไทยการไฟฟ้า จำกัด จะมีการโอนสินค้ากลุ่มเอวี และโอเอให้ทางชาร์ป ไทย ดำเนินการขายก็ตาม แต่ทาง ชาร์ป กรุงไทยการไฟฟ้า ยังคงดำเนินกิจการต่อไป โดยจะเป็นการจำหน่ายเครื่องใช้ไฟฟ้าภายใต้แบรนด์ ชาร์ป แต่จะเป็น สินค้าในกลุ่มเอชเอ ที่มีขนาดเล็ก เช่น หม้อหุงข้าว กระติกน้ำร้อน เตาอบไมโครเวฟ เครื่องปั่นเอนกประสงค์ เครื่องซักผ้า ตู้แช่ เตารีด เครื่องทำน้ำเย็น และเครื่องทำน้ำอุ่น ซึ่งเป็นสินค้าที่ทางบริษัท มีฐานการผลิตเองในประเทศไทย
"และถึงแม้ว่าสินค้าที่เคยสร้างรายได้หลักที่โอนให้ทางชาร์ป ไทย ดูแลนั้น จะมีมูลค่ากว่า1,000 ล้านบาท ของรายได้รวมในปีที่ผ่านมากว่า 3,500 ล้านบาท ก็ตาม เชื่อว่าภายในระยะ 2-3 ปี ชาร์ป กรุงไทยการไฟฟ้า จะสามารถสร้างรายได้จากสินค้าที่มีอยู่ขณะนี้ให้เท่ากับที่ขาดไปได้อย่างแน่นอน"
ทั้งนี้ในส่วนของ ชาร์ป เทพนครนั้น จากการที่เข้าไปถือหุ้นอยู่ 25 % ในชาร์ป ไทย จึงยังคงดูแลในส่วนของกลุ่มผลิตภัณฑ์ธุรกิจ ได้แก่ เครื่องถ่ายเอกสาร และระบบผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ เช่นเดิม แต่ขึ้นตรงกับ ชาร์ป ไทย นั้นเอง
อย่างไรก็ตามเมื่อนำเอารายได้ชาร์ปที่มีในประเทศไทยทั้งหมด ในปีที่ผ่านมา มีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 25,000 ล้านบาท และในปีนี้คาดว่าจะมีรายได้เติบโตขึ้น หรือมีมูลค่าประมาณ 30,000 ล้านบาท โดยเป็นรายได้ที่รวมการส่งออกด้วย ขณะที่รายได้ในโซนเอเซีย ได้แก่ กลุ่มประเทศตะวันออกกลาง อัฟริกา ออสเตรเลีย และเอเชีย (ไม่รวมญี่ปุ่น)ที่กำลังให้ความสำคัญอยู่นั้น มีกว่า 100,000 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนที่ 10 % ของรายได้รวมจากทั่วโลก
|