ผ่านไปยัง หอศิลป์พีระศรี ในซอยอรรถการประสิทธิ์เมื่อต้นเดือนมีนาคม ความเงียบเหงาและร่วงโรยของสถานที่ยังคงปกคลุมไปทั่วภายในตึกร้างหลังนั้นนิทรรศการ "Present perfect" ที่คาดว่าจะปลุกตำนานของหอศิลป์แห่งนี้ยังคงจัดแสดงอยู่
อาคารเก่าๆ หลังนั้น ทรุดโทรมไปตามกาลเวลา แต่ยังคงมีร่องรอยความงามของงานสถาปัตย์หลงเหลืออยู่อย่างเห็นได้ชัด
สมกับที่เคยเป็นอาคารที่ได้รับรางวัลสถาปัตยกรรมดีเด่นของสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์
เมื่อปี พ.ศ.2545 ผลงานการรังสรรค์จากบริษัทสถาปนิก "โมเบลกส์" ของ ม.ล.ตรีทศยุทธ
เทวกุล
ป้ายชื่อด้านหน้า ตัวหนังสือบางตัวหลุดหายไป เมื่อเดินเข้าไป ในบริเวณ
จะเห็นทางเดินด้านข้างที่เอียงทรุดตัวลงไปเกือบตลอดแนว ไปจรดรั้วด้านหลัง
ตัวอาคารสีซีดจาง และผุร่อนจนเกือบหารอยสีเดิม ไม่ชัด คงมีเพียงไทรต้นใหญ่
ชมพูพันธ์ทิพย์ และทองกวาว เท่านั้นที่ยังคงให้ร่มเงาเช่นเดิม ยามเพียงคนเดียวที่เฝ้างานนิทรรศการ
กำลังนอนหลับอยู่หน้าเคาน์เตอร์ต้อนรับเก่าๆ ด้านล่าง ทีวี 1 เครื่อง และวิดีโอที่บันทึกเรื่องราวของที่มาและวัตถุประสงค์ของการจัดงานสำหรับเปิดให้ผู้สนใจฟังวางอยู่ข้างๆ
เวลาหลังอาหารเที่ยง ที่ว่างวาย ผู้คน อากาศที่ร้อนอบอ้าว พัดลมตัวเล็กๆ
และสายลมบางเบาจากต้นไม้ ช่วยกล่อมให้เขาหลับสนิทได้นานทีเดียว
หากตัดภาพกลับไปในสมัยปี พ.ศ.2517 ซึ่งเป็นปีที่ก่อตั้งหอศิลป์พีระศรี
โดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี อาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร
และศิลปินจำนวนหนึ่งที่ร่วมหาทุนมาก่อสร้าง จนการเคลื่อนไหวในแวดวงศิลปะรุ่งโรจน์อย่างมากในช่วงนั้น
แทบทุกวันสถานที่แห่งนี้ไม่เคยร้างผู้คน กลายเป็นแหล่งนัดพบพูดคุยของ บรรดาศิลปิน
และเป็นที่มาของแนวความคิดใหม่ๆ ในการสร้างสรรค์ งาน
นิทรรศการศิลปะดีๆ เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในวันที่ 14 พฤษภาคม
ซึ่งเป็นวันมรณกรรมของศาสตราจารย์ ศิลป์ พีระศรี จะจัดให้มีนิทรรศการใหญ่ขึ้นปีละครั้ง
ส่วนใหญ่เป็นการรวบรวมผลงานศิลปะจากลูกศิษย์ลูกหาอาจารย์ศิลป์ และผลงานของนักศึกษา
จากมหาวิทยาลัยศิลปากรในยุคนั้น
หลังจากสถานที่แห่งนี้ถูกปิดตัวลงในปี 2531 เพราะปัญหาของการเช่าที่ดิน
และได้เปิดใช้ขึ้นอีกครั้งเมื่อวันที่ 14 ธันวาคม 2545 โดยภาควิชาทัศนศิลป์
คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ ร่วมกับมูลนิธิหอศิลป์ พีระศรี มูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์
โดยใช้ชื่องานนิทรรศการครั้งนี้ว่า "Present Perfect" ปัจจุบันกาลที่สมบูรณ์
เวลายาวนานถึง 14 ปีนั้นแทบจะเรียกได้ว่าหอศิลป พีระศรี เหลือเพียงแต่ชื่อที่ยังอยู่ในความทรงจำของคนรุ่นเก่า
ในขณะที่คนรุ่นใหม่ก็จะรู้จักผ่านห้องเรียนทางประวัติศาสตร์ศิลป์ และในสูจิบัตรเก่าๆ
เท่านั้น
วัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้เพื่อสร้างแรงกระตุ้น ให้เกิดการตระหนักในการขาดแคลนพื้นที่แสดงงานทางด้านศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย
ผ่านทางผลงานของศิลปิน 17 ท่าน วัตถุประสงค์อีก 2 ประการคือ เพื่อร่วมในโอกาสที่หอศิลป์
จะทำการบูรณะครั้งใหม่ และเพื่อร่วมฉลองในโอกาสครบรอบ 40 ปีของมหาวิทยาลัยกรุงเทพ
Present Perfect ได้เปิดแสดงยาวนานจากวันที่ 14 ธันวาคม 2545 ถึงวันที่
30 มีนาคม 2546 หลังจากนั้นหอศิลป์ แห่งนี้ ปิดซ่อมใหญ่อีกครั้งหนึ่ง โดยความดูแลของ
ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร ประธานมูลนิธิจุมภฏ-พันธุ์ทิพย์