โรงเรียน "ทอสี" เปิดสอนเตรียมความพร้อมให้กับเด็กๆ โดยยึดหลักการการเรียนผ่านปฏิบัติจริงมานานกว่า 10 ปี จนกระทั่งวันหนึ่ง "ครูอ้วน" ก็เกิดคำถามขึ้นมาในใจว่า "เรากำลังเตรียมความพร้อมให้เด็กไปเจอกับอะไรในชีวิต"
และนั่นคือที่มาของหลักสูตร เป็นแนวพุทธศาสนาอย่างจริงจังเมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา
พร้อมกับการเปิดสอนระดับชั้นประถมศึกษา
บุปผาสวัสดิ์ รัชชตาตะนันท์ หรือ "ครูอ้อน" รูปร่างแบบบาง ในชุดผ้าฝ้ายทอมือสีครามปนสีมะเหมี่ยว
ผมซอยสั้น หน้าตาดูอบอุ่น และแจ่มใส เริ่มเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง ถึงที่มาของโรงเรียนทอสี
ครูอ้อนสำเร็จการศึกษาระดับมัธยมจากโรงเรียนวัฒนาวิทยาลัย ระดับปริญญาตรีจากคณะศิลปกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สาขาจิตวิทยา จบปริญญาโทจากประเทศอังกฤษ ทางด้านจิตวิทยาเด็ก
เคยเป็น ครูสอนพิเศษภาษาอังกฤษที่โรงเรียนวัฒนาฯ และไปเป็นพนักงานประจำของธนาคารกสิกรไทย
ฝ่ายพัฒนาบุคคลอยู่หลายปี
เส้นทางชีวิตหักเหให้ได้ไปเป็นครูเต็มตัวครั้งแรกที่ประเทศอเมริกา ในช่วงหนึ่งของชีวิตขณะติดตามสามีซึ่งไปศึกษาต่อปริญญาโทที่นั่น
ความใสบริสุทธิ์ของเด็กๆ ในวัยเยาว์ที่แวดล้อมตัวเธอ สร้างความสุขในชีวิตให้เกิดขึ้นอย่างมากๆ
เลยมุ่งมั่นว่าหากกลับเมืองไทยจะต้องมีโรงเรียนเป็นของตนเอง และต้องเป็นโรงเรียนที่ทำการศึกษาให้เป็นเรื่องสนุก
เพื่อเด็กๆ จะได้เรียนรู้ตามพัฒนาการของเขาอย่างมีความสุข
อนุบาลทอสี โรงเรียนเตรียมความพร้อมสำหรับเด็กเล็ก เน้นในเรื่องเรียนรู้ผ่านการลงมือปฏิบัติจึงเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่างเมื่อปี
2532 ที่ซอยเอกมัย 22
"ครูอ้อนสอนไปพักใหญ่ก็พบว่า เด็กที่โรงเรียนมี 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งจะอ่านหนังสือได้แตกฉาน
อีกกลุ่มหนึ่งอ่านไม่ออกเลย ทำไมล่ะ ทั้งที่อยู่กับคุณครูคนเดียว กัน สอนเหมือนกัน
ก็เลยเริ่มมองลึกไปยังครอบครัวของเด็ก ก็พบว่าเด็กที่อ่านออกเพราะพ่อแม่เขารู้จักที่จะป้อนความรู้ให้ลูกมาก่อนเข้าเรียน
แต่ด้วยวิธีการธรรมชาติ ไม่ใช่การเรียนพิเศษ เช่น พ่อแม่อ่านให้ลูกฟัง ขับรถไป
อ่านป้ายข้างทางไป ชี้ชวนให้ลูกเกิดความสนใจที่จะสะกดคำ กลับบ้านก็หาหนังสือนิทานคำง่ายๆ
มานั่งอ่านกับ ลูก ซึ่งเด็กกลุ่มนี้จะอ่านหนังสือได้เร็วกว่าเด็กที่พ่อแม่ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องนี้"
เมื่อพ่อแม่เข้าใจว่าการเรียนเกิดขึ้นได้ที่โรงเรียนเท่านั้น แต่การเรียนเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา
เรียนรู้ได้ตลอดชีวิต และโรงเรียนก็หาวิธีการสอนให้ถูกทาง เมื่อเหตุและปัจจัยดีผลก็ต้องออกมาดี
ซึ่งแนวคิดนี้เป็นสิ่งหนึ่งในหลักคำสอนศาสนาพุทธ
ในระหว่างที่ทำงานทางด้านการศึกษานั้นครูอ้อนได้ทำการศึกษาพระพุทธศาสนาไปด้วย
และค้นพบหลายอย่างว่าสามารถเข้าสู่วิถีชีวิตประจำวันได้ ก็เลยสนใจที่จะศึกษาอย่างจริงจัง
เพื่อเอาแนวคำสอนนี้เข้าสอดแทรกลงลึกในหลักสูตรการเรียนของกระทรวงศึกษาธิการ
"การนำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิต โดยผ่านหลักสูตรการเรียนการสอนน่าจะเป็นการเตรียมความพร้อมให้เด็กเหล่านี้มีความสุขในการดำรงชีวิต"
เป็นสิ่งที่เธอสรุป ดังนั้นจึงได้เปิดชั้นเรียนระดับประถมขึ้นมา รองรับ
ครูอาจารย์ ซึ่งเป็นบุคลากรสำคัญที่จะทำให้แนวทางนี้ประสบความสำเร็จ จึงถูกคัดเลือกอย่างมาก
เช่นเดียวกับการสอบสัมภาษณ์ผู้ปกครองก่อนรับเด็กเข้าเรียน เพื่อให้ความคิดของครู
และ ผู้ปกครองสอดคล้องไปแนวทางเดียวกัน
ครูโรงเรียนทอสีจึงจำเป็นต้องรู้จักปฏิบัติธรรม ต้องเข้าใจในหลักของพระพุทธศาสนา
ต้องร่วมกิจกรรมเสวนาธรรม ศึกษาเอกสารของท่านเจ้าคุณธรรมปิฎก ของท่านพุทธทาส
ของท่านชยสาโร ภิกขุ ซึ่งเป็นองค์ประธานของโรงเรียน หลังจากนั้นก็จะมาสรุปกันว่าอะไรที่น่าจะลงไปสู่วิถีชีวิตของเด็ก
ในขณะเดียวกันเด็กทุกคนของที่นี่จะต้องรู้จักสวดมนต์ การทำวัตร เช้าขึ้นมาเด็กๆ
ต้องสงบจิตใจด้วยการฝึกเดินจงกรมในบริเวณโรงเรียน เพื่อเป็นการฝึกสติ และฝึกสมาธิ
"ครูทุกคนจะไม่ใช้คำพูดว่า "อย่า" กับเด็ก จะเป็นคัมภีร์เลย แต่จะมีเหตุผลในการห้ามในแต่ละเรื่อง
และจะชมเชยเด็กเป็นพิเศษในแง่ที่ว่าเด็กคนนั้นแสดงความมีน้ำใจ ช่วยเหลือเพื่อนในเรื่องต่างๆ
ไม่ใช่เพราะคนนั้นคนนี้เรียนเก่ง เป็นต้น" ครูอ้อนอธิบายเพิ่มเติม
ปัจจุบันโรงเรียนแห่งนี้มีนักเรียนทั้งหมด 270 คน โดยมีนโยบายไม่มีการรับเด็กเกิน
25-30 คนต่อห้อง เพื่อให้ได้ผลในการสอนมากที่สุด
ภาระของครูคือการสร้างมนุษย์ แต่ไม่ใช่มนุษย์ที่เรียนเก่งอย่างเดียว ต้องเป็นมนุษย์ที่ช่วยตัวเอง
ได้และช่วยเหลือผู้อื่นได้ด้วย จึงจะเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ และเป็นภารกิจสำคัญของครูทุกคนของโรงเรียนแห่งนี้