แบงก์กสิกรไทยเข็ดทุ่มงบการตลาดกระตุ้นฐานบัตร ระบุหลังประเมินผลจากปีก่อนพบไม่คุ้ม เหตุสถานการณ์ไม่เอื้อ หันจับมือพันธมิตรอัดแคมเปญสู้ โชว์ไตรมาแรกยอดบัตรพุ่งเกินเป้า 40,000 บัตร มั่นใจสิ้นปีปั๊มยอดบัตร 130,000 บัตร
นางสาวอัญชลี จรัสยศวุฒิชัย ผู้อำนวยการฝ่ายบริหารผลิตภัณฑ์และการตลาดบัตรเครดิต ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) (KBANK) เปิดเผยว่า ในปีนี้ธนาคารไม่ได้มุ่งเน้นทุ่มงบทางการตลาดมากขึ้นจากปีก่อนเนื่องจากเมื่อปลายปีที่ผ่านมาได้ทำการวิเคราะห์ถึงผลตอบแทนที่จะได้มาจากการโฆษณาว่ามีความคุ้มค่ามากแค่ไหนจากปัจจัยสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ธนาคารต้องเดินกลยุทธ์ใหม่ด้วยการใช้เงินโฆษณาที่น้อยกว่าเดิมแต่ให้ประโยชน์มากกว่าหรือเท่าเดิม
"งบการตลาดจะน้อยลงกว่าปีที่แล้ว เนื่องจากปลายปีที่แล้วมานั่งวิเคราะห์หากทุ่มทุนไปที่งบการตลาดแล้วผลตอบแทนที่ได้มาจะคุ้มมากแค่ไหนด้วยสถานการณ์บ้านเมือง เหตุการณ์รอบข้างซึ่งมีปัจจัยเข้ามามากๆ โดยงบปีนี้ใกล้เคียงกับปีที่แล้ว ในขณะที่ฐานเราโตขึ้น ซึ่งการที่งบโฆษณาน้อยลงเราจะเน้นเรื่องการทำโปรโมชั่นคู่กับพันธมิตรจะเอาเงินมารวมกัน และโปรโมทร่วมกัน เช่น โฮมโปร เซ็นทรัล เร็วๆนี้จะมีเครือของไมเนอร์กรุ๊ปเข้ามาร่วมพันธมิตรด้วย”นางสาวอัญชลี กล่าว
สำหรับในไตรมาสแรกที่ผ่านมาอัตราการเติบโตบัตรเครดิตยังเป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยมีจำนวนยอดบัตรเครดิตใหม่เพิ่มขึ้น 40,000 บัตรซึ่งสูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 30,000 บัตร โดยในเดือน มี.ค.มีจำนวนบัตรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญถึง 7,000 บัตร จากฐานบัตรในปัจจุบันที่ 1,070,000 บัตร คิดเป็นยอดActive 55% โดยหากเป็นไปได้ในปีนี้ธนาคารอยากให้ยอดดังกล่าวมีการปรับตัวมาที่ระดับ 58-60% แต่ก็คงเป็นไปได้ยากมาก เนื่องจากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นในปีนี้ไม่เอื้ออำนวย ประกอบกับปีที่ผ่านมาตัวเลขดังกล่าวได้มีการปรับตัวขึ้นมาบ้างแล้วในระดับหนึ่ง โดยยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรไตรมาสแรกสูงขึ้นถึง 15,000 บาท จากเป้าหมายยอดบัตรใหม่ทั้งปีที่ 130,000 บัตร และยอดใช้จ่ายผ่านบัตรที่ 50,000 ล้านบาท ซึ่งเชื่อว่าในสิ้นปีจะสามารถขยายฐานบัตรได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างแน่นอน
"ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรยังมีอัตราการเติบโต เดือน ม.ค. ก.พ.ยังแตะเป้าจากที่ตั้งไว้ 19-20% แม้สถานการณ์ต่างๆจะส่งผลให้ประชาชนใช้จ่ายน้อยลง โดยทั้งระบบพบว่าการใช้จ่ายลดลงถึง 10% แต่ของธนาคารไม่ถึง 10% เนื่องจากเรามีการทำโปรโมชั่นอย่างต่อเนื่อง แล้วลูกค้าเริ่มเห็นมูลค่าเพิ่ม เริ่มรู้จักกสิกรในแง่ของการให้สิทธิประโยชน์ให้ค่อนข้างมาก ทุกอย่างเป็นการคืนกำไรที่มอบให้ลูกค้าซึ่งมันคือ มูลค่าของเงินสดและเป็นตัวเงินจริงๆ อาจจะไม่ได้ให้เป็นของ แต่เป็นการให้ส่วนลดเพิ่ม คุ้มค่า สิ่งที่เราไปเราก็เลือก ที่ที่มีศักยภาพ” นางสาวอัญชลี กล่าว
นางสาวอัญชลี กล่าวต่อว่า ในส่วนของอัตราการชำระหนี้ในช่วงไตรมาสแรกที่ผ่านมายังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปีก่อน โดยอัตราการผ่อนชำระอยู่ในสัดส่วน 67% และอัตราการชำระเต็ม 33% ทั้งนี้ มองว่าหากเป็นไปได้อยากให้สัดส่วนมีการเปลี่ยนแปลงมาอยู่ที่ผ่อนชำระ 70%และอีก 30%เป็นชำระเต็มก็จะส่งผลให้การสร้างกำไรดีขึ้น แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องมีการติดตามดูแลในเรื่องความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นเป็นอย่างดี แต่ยอมรับว่าสัดส่วนดังกล่าวเป็นไปได้ยาก ขณะที่ยอด NPL ในไตรมาสแรกยังไม่มีความน่าเป็นห่วงแต่ยอมรับว่าในเดือนมี.ค.มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเนื่องจากธนาคารเริ่มปรับอัตราการชำระขั้นต่ำจาก 5%มาเป็น10%ส่งผลให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้ามีความคลาดเคลื่อน โดยในไตรมาสแรกมียอด NPL ที่ระดับประมาณ 2%ขณะที่ทั้งระบบมีอัตรา 4% ซึ่งธนาคารจะพยายามรักษาระดับไม่ให้เกิน 2.5%
"เอ็นพีแอลก็มีปรับเพิ่มเล็กน้อยเนื่องจากเรามีการปรับอัตราการชำระขั้นต่ำจาก5%มาเป็น10%แต่เราก็ค่อยๆปรับขึ้นไม่ได้ปรับทีเดียว ซึ่งในเดือน ม.ค.ยังไม่ค่อยเห็นเอ็นพีแอลปรับขึ้นชัดเจนนัก แต่พอค่อยๆปรับมาจะถึง 10%ถึงเริ่มเห็น แต่ไตรมาสแรกก็ปรับตัวขึ้นน้อยมากที่ประมาณ 0.27% แต่เราก็ได้หามาตรการเพิ่มเติมไปเตือนลูกค้าเพื่อเป็นการดูแลการปรับตัวเพิ่มขึ้นของ NPL” นางสาวอัญชลี กล่าว
อย่างไรก็ตาม ในส่วนของยอดการสมัครใหม่ในปีนี้อยู่ในระดับที่เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่ 63% เนื่องจากธนาคารมีการจัดการเรื่องของกระบวนการภายในให้มีความรวดเร็วขึ้น ลูกค้าสมัครบัตรได้เร็วขึ้น ประกอบกับธนาคารยังคงนโยบายในการคัดเลือกกลุ่มลุกค้าเหมือนเดิมว่าต้องการกลุ่มลูกค้าแบบไหน วึ่งที่ผ่านมาที่ได้ทำการออกบัตรเครดิตแพตทินัมให้กับกลุ่มลูกค้าที่เป็นหมอก็ได้รับการตอบรับที่ค่อนข้างดี
|