ยอดสินเชื่อคงค้างระบบธนาคารพารณิชย์ไตรมาสแรกขยายตัวแค่ 0.22% "ทหารไทย-กรุงศรีฯ"สวนทางหดตัว 0.34% ขณะที่ยอดเงินฝากไตรมาสแรกขยับเพิ่ม 3.15% โดยมาจากกลุ่มธนาคารพาณิชย์ขนาดเล็ก ขณะที่ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ "กรุงเทพ-กสิกร" ยังรักษาระดับเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าที่ 4,844 และ 1,288 ล้านบาท ด้าน"กรุงไทย-ไทยพาณิชย์"เงินฝากหดตัว 10,020 และ 2,003 ล้านบาทตามลำดับ
ศูนย์วิจัยกสิกรไทย รายงานตัวเลขสินเชื่อ เงินฝาก และสินทรัพย์ ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ตามฐานข้อมูลที่ปรากฏในแบบรายงาน ธ.พ. 1.1 ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 โดยระบุว่ายอดคงค้างสินเชื่อ (หักค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญแล้ว) ในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย เดือนมีนาคม 2550 มีจำนวน 4,910,676 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 53,199 ล้านบาท หรือคิดเป็นอัตราการเติบโตร้อยละ 1.10 ซึ่งเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนร้อยละ 5.07 โดยการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า สรุปได้ว่าใน กลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง สินเชื่อปรับตัวเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 56,930 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 1.89 นำโดยธนาคารไทยพาณิชย์ และกรุงไทย จำนวน 23,951 และ 17,939 ล้านบาท ตามลำดับ เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของทั้งเงินให้กู้ยืมแบบ และสินเชื่อประเภทตั๋วสัญญาใช้เงิน ตามมาด้วยธนาคารกรุงเทพ และธนาคารกสิกรไทย ซึ่งมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 8,567 และ 6,474 ล้านบาท ตามลำดับ
สำหรับในกลุ่มธนาคารขนาดกลาง 3 แห่ง สินเชื่อรวมลดลงจากเดือนก่อนหน้า 4,028 ล้านบาท คิดเป็นการหดตัวร้อยละ 0.34 โดยเป็นผลจากการลดลงของสินเชื่อที่ธนาคารทหารไทยและธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวน 5,416 และ 96 ล้านบาท ตามลำดับ จากการลดลงของสินเชื่อประเภทเงินเบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน และเงินให้กู้ยืม ในขณะที่ สินเชื่อของธนาคารนครหลวงไทยเพิ่มขึ้น 1,484 ล้านบาท
ส่วนในกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 7 แห่ง สินเชื่อเติบโตจากเดือนที่แล้วจำนวน 296 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวเล็กน้อยร้อยละ 0.04 โดยธนาคารที่มีสินเชื่อเพิ่มขึ้น เรียงจากมากไปน้อย ได้แก่ ธนาคารธนชาตและเกียรตินาคิน ที่สินเชื่อเติบโตจำนวน 1,649 และ 992 ล้านบาท ตามลำดับ ตามมาด้วย ธนาคารทิสโก้ และสินเอเชีย จำนวน 919 และ 546 ล้านบาท ตามลำดับ ในขณะที่ ธนาคารที่มีสินเชื่อลดลงจากเดือนก่อนหน้า ได้แก่ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย จำนวน 1,757 ล้านบาท ยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำนวน 1,190 ล้านบาท และไทยธนาคาร จำนวน 863 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2549 จะพบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมียอดสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 1/2550 เพิ่มขึ้นจำนวน 11,005 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.22 นำโดยการเพิ่มขึ้นของเงินให้สินเชื่อที่กลุ่มธนาคารขนาดเล็ก และกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ จำนวน 9,056 และ 8,471 ล้านบาท ตามลำดับ สวนทางกับกลุ่มธนาคารขนาดกลางที่มีสินเชื่อลดลง 6,522 ล้านบาท
ด้านเงินฝากในระบบธนาคารพาณิชย์ไทยเดือนมีนาคม 2550 มียอดคงค้างทั้งสิ้น 6,119,509 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว 19,141 ล้านบาท คิดเป็นอัตราเพิ่มร้อยละ 0.31 และเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อน เงินฝากขยายตัวสูงขึ้นร้อยละ 3.04 สำหรับการเปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า พอสรุปได้ว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่ 4 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนก่อนหน้า 5,892 ล้านบาท คิดเป็นการหดตัวร้อยละ 0.15 นำโดยการลดลงของเงินฝากที่ธนาคารกรุงไทยจำนวน 10,020 ล้านบาท และไทยพาณิชย์จำนวน 2,003 ล้านบาท ในขณะที่ธนาคารกรุงเทพและกสิกรไทยยังคงมีเงินฝากเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้าจำนวน 4,844 และ 1,288 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่กลุ่มธนาคารขนาดกลาง 3 แห่ง เงินฝากลดลงจากเดือนก่อนหน้ามากกว่ากลุ่มธนาคารขนาดใหญ่เล็กน้อย โดยลดลง 7,643 ล้านบาท คิดเป็นการหดตัวร้อยละ 0.52 นำโดยการลดลงของเงินฝากที่ธนาคารกรุงศรีอยุธยาจำนวน 9,770 ล้านบาท ตามการลดลงของเงินฝากในทุกประเภทบัญชี รองลงมาเป็น ธนาคารนครหลวงไทยที่มีเงินฝากลดลง 1,938 ล้านบาท จากการลดลงของเงินฝากในบัญชีออมทรัพย์และประจำ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นของส่วนราชการและรัฐวิสาหกิจ ด้านธนาคารทหารไทย มีเงินฝากเพิ่มขึ้นจำนวน 4,065 ล้านบาท โดยเฉพาะในบัญชีเงินฝากออมทรัพย์
ส่วนกลุ่มธนาคารขนาดเล็ก 7 แห่ง เงินฝากเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว จำนวน 32,676 ล้านบาท คิดเป็นการขยายตัวร้อยละ 4.08 โดยธนาคารส่วนใหญ่ในกลุ่มนี้ มีเงินฝากเพิ่มขึ้น นำโดยธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำนวน 11,688 ล้านบาท ธนาคารไทยธนาคาร จำนวน 9,061 ล้านบาท ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดไทย จำนวน 7,577 ล้านบาท ธนาคารทิสโก้ จำนวน 3,121 ล้านบาท รวมทั้ง ธนาคารสินเอเชีย จำนวน 2,114 ล้านบาท ในขณะที่ ธนาคารที่เหลือ คือ ธนาคารเกียรตินาคินและธนชาต มีเงินฝากลดลง 769 และ 115 ล้านบาท ตามลำดับ
ทั้งนี้เมื่อเทียบกับสิ้นปี 2549 จะพบว่า ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมียอดเงินฝาก ณ สิ้นไตรมาส 1/2550 เพิ่มขึ้นถึงจำนวน 187,097 ล้านบาท หรือร้อยละ 3.15 ซึ่งสูงกว่าการขยายตัวของเงินให้สินเชื่อสุทธิที่เพียง 11,005 ล้านบาทมาก และบ่งชี้ถึงทิศทางสภาพคล่องของระบบธนาคารพาณิชย์ไทยที่ปรับตัวสูงขึ้น โดยเงินฝากที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่ในไตรมาส 1/2550 จะมาจากกลุ่มธนาคารขนาดเล็กจำนวน 117,879 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มธนาคารขนาดใหญ่จำนวน 84,040 ล้านบาท ในขณะที่เงินฝากที่กลุ่มธนาคารขนาดกลางลดลง 14,822 ล้านบาท
สำหรับสินทรัพย์รวมในระบบธนาคารพาณิชย์ไทย ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 มีจำนวน 7,734,093 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเดือนก่อนหน้า 67,526 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.88 โดยธนาคารที่มีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นสูงสุดสามอันดับแรก ได้แก่ ธนาคารไทยพาณิชย์ จำนวน 44,716 ล้านบาท ธนาคารไทยธนาคาร จำนวน 20,094 ล้านบาท และธนาคารยูไนเต็ด โอเวอร์ซีส์ (ไทย) จำนวน 13,374 ล้านบาท ส่วนธนาคารที่มีสินทรัพย์ลดลงมากที่สุดสามอันดับแรก ได้แก่ ธนาคารกรุงไทย จำนวน 14,578 ล้านบาท ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำนวน 9,186 ล้านบาท และธนาคารทหารไทย จำนวน 4,188 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2549 ระบบธนาคารพาณิชย์ไทยมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นรวมเป็นจำนวน 246,449 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.29 โดยส่วนใหญ่เป็นการเพิ่มขึ้นของสินทรัพย์เกือบทุกธนาคาร ยกเว้นธนาคารทหารไทยและธนาคารเกียรตินาคิน
|