สินค้าสุขภัณฑ์และอุปกรณ์ตกแต่งในห้องน้ำงัดกลยุทธ์ฝ่ามรสุมเศรษฐกิจชะลอตัว บิ๊ก"คอตโต้"ระบุค่าบาทแข็งกระทบตลาดส่งออกสุขภัณฑ์ ไตรมาสแรกขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน 20ล้านบาท เร่งปรับลดต้นทุนผลิตด้านพลังงานและกระบวนการการผลิต ระบุเศรษฐกิจและอสังหาฯในประเทศหดตัว 3-5% พร้อมตั้งเป้าโตสวนกระแสตลาดประมาณ 5-10% หลังปรับกลยุทธ์ออกสินค้าใหม่ช่วยปรับราคาขายตามต้นทุนที่แท้จริง ด้าน"กะรัต ฟอเซท" ปั๊มรายได้ปี 50 โตเพิ่มอีก 20% หรือมีรายได้รวม 360 ล้านบาท เน้นตลาดภายในประเทศเป็นสำคัญ พร้อมเพิ่มโมเดลในหลากหลายรูปแบบของกระรัต ฟอเซท ลั่นภายใน 3 ปีต้องขึ้นแท่นติด 1 ใน 3 ของผู้นำตลาด ระบุปลายปีจ่อเข้าระดมทุนในตลาดหุ้น
นายนิพนธ์ ธีรนาทสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท สยามซานิทารีแวร์ อินดัสทรี จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่ายสุขภัณฑ์แบรนด์คอตโต้ เปิดเผยว่า ในปีที่ผ่านมาบริษัทได้รับผลกระทบจากการปรับตัวของต้นทุนการผลิตและค่าขนส่ง ทำให้ปีนี้บริษัทต้องมีปรับลดต้นทุนในการผลิต โดยจะเน้นในเรื่องของการปรับลดต้นทุนการใช้พลังงาน และลดขั้นตอนการผลิตที่ไม่จำเป็นลงไป นอกจากปัญหาต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้นมาแล้ว บริษัทยังได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาท ส่งผลให้ขาดทุนจากการส่งออกสินค้าสูงถึง 100 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา ส่วนในช่วงไตรมาสแรกของปี 2550 บริษัทมียอดขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยนไปแล้ว 20ล้านบาท ลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 49
ทั้งนี้ ในส่วนของการแก้ปัญหาการขาดทุนจากการส่งออกนั้น บริษัทจะเน้นส่งออกไปในกลุ่มประเทศที่มีศักยภาพมากขึ้นแทนการขยายตลาดใหม่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนในการทำตลาดลงมา อย่างไรก็ตามในปีนี้ บริษัทยังคงสัดส่วนในการส่งออกต่างประเทศไว้ที่ 30% และขายในประเทศ 70% เท่ากันปีที่ผ่านมา โดยบริษัทตั้งเป้าจะมีรายได้จากการขายเติบโตเพิ่มขึ้นจากปี2549ประมาณ 5-10% หรือมียอดขายรวมประมาณ 3,200ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี2549ที่ 3,000 ล้านบาท โดยสินค้าในตลาดระดับกลางและล่างจะเป็นแหล่งสร้างรายได้หลักของบริษัท และเพื่อให้สอดรับกับกำลังซื้อของผู้บริโภคตามภาวะเศรษฐกิจในตอนนี้ ทำให้บริษัทต้องออกสินค้าใหม่เพิ่มมากขึ้น เพื่อผลักดันเสนอราคาขายได้ตามต้นทุนที่แท้จริง ซึ่งในช่วงต้นปีที่ผ่านมา ได้ออกสินค้าใหม่มาแล้ว 2 ซีรี่ คือ เฮอร์คิวรีส ซึ่งจับกลุ่มลูกค้าระดับบน และสเปชโซรูชั่น ซึ่งเจาะตลาดระดับกลาง เป็นสินค้าที่ออกแบบมาให้เหมาะสมกับห้องน้ำที่มีพื้นที่ใช้สอยจำกัด อย่างเช่น โครงการคอนโดมิเนียม ที่ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมาเติบโตค่อนข้างสูง
นายนิพนธ์ กล่าวถึงแนวโน้มตลาดรวมสุขภัณฑ์ว่า จะมีมูลค่ารวมอยู่ที่ประมาณ 5,500 ล้านบาท มีอัตราการขยายตัวลดลงจากปีที่ผ่านมา 3-5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยเศรษฐกิจและการเมือง ส่งผลกระทบต่อการชะลอตัวในตลาดอสังหาริมทรัพย์ และต่อเนื่องมาถึงการใช้สินค้าสุขภัณฑ์ ทั้งนี้ในปัจจุบัน บริษัทยังถือว่าเป็นผู้นำตลาดสุขภัณฑ์ ทั้งในด้านยอดขายและมูลค่า โดยบริษัทมีส่วนแบ่งตลาด 40-45% ของมูลค่าตลาดรวม โดยขณะนี้บริษัทมีกำลังการผลิตรวมอยู่ที่ 2.8 ล้านชิ้นต่อปี อัตราการใช้กำลังการผลิตลดลงจาก 90% ในปีที่ผ่านมาลงมาเหลือ 80% ในปีนี้
ล่าสุด บริษัทได้เปิดตัวบริการ Cotto Bathroom Servise เพื่อสร้างตลาดการบริการทางด้านห้องน้ำครบวงจร (One Stop Servises) รองรับการขยายตัวของตลาดปรับปรุงห้องน้ำเก่า (รีโนเวต) และตลาดห้องใหม่ ซึ่งผลจากการสำรวจของบริษัทพบว่า มีกลุ่มบ้านเก่าที่ต้องการปรับปรุงห้องน้ำใหม่สูงถึง 20 ล้านหน่วยทั่วประเทศ โดยตั้งเป้าว่าจะเปิดศูนย์บริการ Cotto Bathroom Servise ในกรุงเทพฯ 4 สาขา ประกอบด้วย สาขาอโศก ,สุขาภิบาล ,รัตนาธิเบศร์ และสาขาดอนเมืองซึ่งเป็นสาขาใหญ่ โดยตั้งเป้าว่าจะมีทีมให้บริการในปีนี้ 30ทีมจากเป้าทั้งหมด 100ทีม และมีลูกค้าเข้ามาใช้บริการ200รายในปีนี้ โดยราคาเฉลี่ยในการปรับปรุงต่อห้องอยู่ที่ 1 แสนบาท
"กะรัต ฟอเซท"ชูสินค้าใหม่เจาะไลฟ์สไตล์คนซื้อ
อัครพงศ์ นิธยานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กะรัต ฟอเซท จำกัด กล่าวถึงทิศทางธุรกิจภายใต้สภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันว่า ทางบริษัทยังคงตั้งเป้าการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยในปีนี้จะรักษาการขยายตัวเพิ่มขึ้น 20% หรือมีรายได้รวมประมาณ 360 ล้านบาท ซึ่งจะเน้นการเติบโตจากสินค้าระดับกลางเป็นหลัก แบ่งเป็นยอดขายในประเทศ 325 ล้านบาท คิดเป็น 90% และยอดส่งออกต่างประเทศ 35 ล้านบาท คิดเป็น 10% จากการเจาะตลาดในเอเชีย และตะวันออกกลาง ทั้งนี้ไตรมาสแรกของปีนี้ บริษัทฯ สามารถทำยอดขายเติบโตจากช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว 30% เนื่องจากมีการปรับปรุงไลน์สินค้าให้ชัดเจน หันมาผลิตสินค้าเฉพาะรุ่นที่ตรงกับความต้องการของลูกค้ามากขึ้น และมีการปรับปรุงด้านบริการ โดยใช้ทีมขายชุดเดิม ซึ่งมีความคุ้นเคยกับลูกค้าเก่าเป็นอย่างดี
สำหรับบริษัทกะรัตฯ เป็นผู้ผลิตและจัดจำหน่ายก็อกน้ำ,ฟลัชวาล์ว, กระจก, บานกั้นห้องอาบน้ำ, อุปกรณ์ประกอบห้องน้ำ และอุปกรณ์อื่นๆ ภายใต้แบรนด์ “Karat Faucet” ราคา 800-6,000 บาท เพื่อเจาะตลาดระดับกลาง-บน และแบรนด์ “Global” ราคา 200-500 บาท ซึ่งมีคุณภาพที่เหนือกว่าสินค้าจากประเทศจีน นอกจากนี้ยังเป็นผู้นำเข้าและจัดจำหน่าย “วิเซนทิน (Visentin)” ก็อกน้ำระดับไฮเอนด์จากอิตาลี ราคาตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เน้นดีไซน์และการใช้วัสดุตกแต่งที่หรูหรา เจาะตลาด Niche Market ปัจจุบันสัดส่วนการทำตลาดสินค้าแยกตามแบรนด์แบ่งเป็น Karat Faucet 40% ,Global 50% และ Visentin 10% โดยมีการจำหน่ายผ่านช่องทางผ่านตัวแทนจำหน่ายกว่า 600 ราย ในกรุงเทพฯ 50% และต่างจังหวัด 50%
ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กล่าวว่าในส่วนของกลยุทธ์ทางการตลาด บริษัทมีแผนจะเพิ่มรูปแบบ(โมเดล)ในรุ่นของกะรัต ฟอเซท ให้มากขึ้น เน้นคุณภาพ ฟังก์ชั่นการใช้งาน ผสมผสานกับดีไซน์ที่ทันสมัยสอดคล้องกับพฤติกรรมผู้บริโภค ที่ปัจจุบันให้ความสำคัญกับการเลือกซื้อสินค้าให้เข้ากับสไตล์ของด้วยตนเองมากขึ้น โดยตั้งงบสื่อสารการตลาดไว้ 35 ล้านบาท รวมทั้งบริการหลังการขายผ่าน Call Center และตัวแทนจำหน่ายกว่า 600 รายทั่วประเทศ
โดยทางบริษัทยังได้ตั้งเป้าที่จะผลักดันให้สินค้ากะรัต ฟอเซท ก้าวขึ้นไปติดอันดับ 1 ใน 3 ของผู้นำตลาดให้ได้ภายใน 3 ปี จากขณะนี้ที่ กะรัต ฟอเซท มีมาร์เก็ตแชร์ 10% อยู่ในอันดับ 4 ของตลาดรวมก็อกน้ำและอุปกรณ์ประกอบห้องน้ำที่มีมูลค่า 3,500 ล้านบาท ทั้งนี้บริษัทฯ ยังมีแผนที่จะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปลายปี 2550 เพื่อระดมทุน 50-60 ล้านบาทมาใช้ในการขยายโรงงาน และปรับปรุงเครื่องจักร เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตจากปัจจุบันที่มีกำลังการผลิต 400 ตันต่อปีมาเป็น 500 ตันต่อปี
|