|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
คตส.มีมติส่งเรื่องให้กรมสรรพรกร ฟันภาษี แอมเพิลริชฯ กว่า 2 หมื่นล้านบาท โทษฐานปลอมเป็นบริษัทฝรั่งหัวดำ โอ๊ค-เอม อ้วม จ่ายซ้ำในฐานะกรรมการบริษัทฯ แถมส่อแววเจอข้อหาร่ำรวยผิดปกติ พร้อมมติแจ้งความดำเนินคดี จาตุรนต์ กล่าวหา คตส.เป็นศาลเตี้ย ส่วนการใช้ กม.ปปง.อายัดทรัพย์ผู้ซื้อ-ขายหุ้นชินคอร์ป คตส.ถอยหลังข่าวรั่ว สพรั่ง เรียก พชร จี้ส่งสัญญาซื้อ CTX ให้ คตส.หลังยื้อมานาน ขณะเดียวกันอัยการสูงสุด ยอมรับมีผู้ใหญ่ขอไม่ให้สั่งฟ้อง ทักษิณ คดีหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ
นายวิโรจน์ เลาหะพันธ์ ในฐานะประธานอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นบริษัทชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กับ บริษัท แอทเพิลริช อินเวสต์เมนต์ จำกัด แถลงผลการประชุมคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.)วานนี้(23เม.ย.) ว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบให้ส่งหนังสือให้กรมสรรพากร ประเมินเรียกเก็บภาษีบริษัทแอมเพิลริชฯ เนื่องจาก บริษัท แอมเพิล ริชฯ ต้องเสียภาษีในฐานะประกอบกิจการในประเทศไทย เพราะ มีรายได้ทั้งเงินปันผล เงินได้จากการขายหุ้น และการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศ และภาระปลอดหนี้ คตส. จึงเห็นควร เรียกเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล จากบริษัทแอมเพิล ริชฯ หรือ กรรมการบริษัทแอมเพิลริชฯ ในขณะเกิดหนี้ภาษี คือ นายพานทองแท้ ชินวัตร และน.ส.พินทองทา ชินวัตร ในฐานะเป็นกรรมการบริษัท
นายวิโรจน์ กล่าวว่า สำหรับภาษีที่บริษัทแอมเพิลริช จะต้องรับผิดชอบมีทั้งสิน 20,879,290,119.09 บาท แบ่งเป็นภาษีเงินได้นิติบุคคลจากฐานกำไรสุทธิ คือ เงินปันผล เงินขายหุ้นชินคอร์ป ภาระปลอดหนี้ 2542-2549 แยกเป็น ภาษีจริง 5.22 พันล้านบาท เบี้ยปรับจำนวนสองเท่า 1.04 หมื่นล้านบาท และเงินเพิ่ม 723 ล้านบาท รวมเป็นเงินภาษีทั้งสิ้น 1.64 หมื่นล้าน และเงินเพิ่มพิเศษเนื่องจากไม่ยื่น ภงด.51 ถึง 3 รอบปีบัญชี ซึ่งตามประมวลรัษฎากร กำหนดไว้ในมาตรา 67 ตรี ให้ นิติบุคคลที่ไม่ยื่น แบบแสดงรายการภาษีเงินได้ ในแต่ละรอบปีบัญชี ต้องเสียเงินเพิ่ม ในแต่ละปี อีก 20 % ของภาษีเงินได้ในปีนั้น รวมเป็น 512 ล้านบาท
นอกจากนี้ยังมีภาษีเงินได้จากการจำหน่ายกำไรไปต่างประเทศ กว่า 40 ล้านเหรียญสหรัฐ โดย บริษัท แอมเพิลริชฯ นำเงินปันผลส่งออกต่างประเทศตลอดเวลา จึงต้องเสียภาษีส่วนนี้อีก 7 % เป็นเงินจำนวน 1.26 พันล้าน พร้อมเบี้ยปรับสองเท่าเป็นเงิน 2.52 พันล้าน เงินเพิ่ม 200 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 3.98 พันล้าน
นายวิโรจน์ กล่าวว่า เนื่องจาก แอมเพิลริชฯ ถ่ายเทผลประโยชน์ในหุ้นชินคอร์ป ให้กรรมการคือบุตรชายบุตรสาว นายกฯ เป็นพิเศษ ถือเป็นเงินได้ที่ต้องเสียภาษี แต่บริษัทไม่ได้หักไว้ ณ ที่จ่าย บริษัท แอมเพิล ริช จึงต้องเป็นลูกหนี้ร่วมในหนี้ภาษีรวม 6.53 พันล้านบาท รวมยอดหนี้ภาษีในส่วนเงินได้ บริษัทแอมเพิลริชฯ ที่จะต้องจ่ายภาษีรวม 20,879 ล้านบาท โดย คตส.จะสรุปรายงานส่งให้ กรมสรรพากร ประเมินเรียกเก็บภาษีภายในเร็วๆ นี้ โดย บริษัท เอมเพิลริช สามารถอุทธร เพื่อต่อสู้คดีได้โดยวางหลักทรัพย์ค้ำประกันในการต่อสู้ โดยหลักทรัพย์ค้ำประกันขึ้นอยู่กับยอดภาษีที่กรมสรรพากรต้องประเมิน
ผู้สื่อข่าวถามว่า ขั้นตอนต่อจากนี้คณะอนุกรรมการฯจะดำเนินการอย่างไร นายวิโรจน์ กล่าวว่า จะส่งตัวเลขฐานการประเมินภาษีที่สรุปจากบริษัท แอมเพิลริชฯ ในฐานะนิติบุคคลไปให้กรมสรรพากรประเมินจัดเก็บต่อไป ส่วนโทษทางคดีอาญา ทาง คตส.กำลังพิจารณาดูในรายละเอียดอยู่ เพราะยังไม่สามารถสรุปได้ทั้งหมด เนื่องจากยังมีกรณีที่เกี่ยวกับการการซื้อขายหุ้นในกลุ่มชินคอร์ปอีก 2-3 กรณีแยกย่อยที่ยังต้องตรวจสอบ
ก่อนนี้ในช่วงเช้า ในการประชุมคณะอนุกรรมการตรวจสอบการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป ที่มีนาย วิโรจน์ เลาหะพันธ์ เป็นประธาน ที่ประชุมได้เชิญ นาย กิตติรัตน์ ณ ระนอง อดีตกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย เข้ามาชี้แจง ข้อมูลเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป
รายงานข่าวแจ้งว่า ข้อมูลที่อนุกรรมการต้องการทราบจากนายกิตติรัตน์ คือ ในช่วงที่มีการซื้อขายหุ้นชินคอร์ป โดยเฉพาะในส่วนของบริษัทแอมเพิลริช อินเวสเมนต์ ว่า กลต. ได้เข้าไปตรวจสอบบ้างหรือไม่และข้อมูลที่พบมีอะไรบ้าง
แก้วสรรชี้เป็นบทเรียนคนโกง
นายแก้วสรร อติโพธิ เลขานุการ คตส. กล่าวว่า ทั้งหมดนี้ถือเป็นบทเรียน ให้ไปสอนลูกสอนหลานว่า หากทำถูกต้องตามกฎหมายซื้อขายหุ้นจริงโดยเสียภาษี เพียง 6.48 พันล้านบาท แต่กลับมีพฤติกรรมไปจดแจ้งเป็นบริษัทฝรั่งหัวดำ ใช้ชื่อลูกมาทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นโดยอ้อมแถมได้รับผลประโยชน์จากการซื้อขายหุ้น ในราคาหุ้นละ 1 บาท จากราคาหุ้นละ 49.25 บาท ถือว่าได้รับประโยชน์พิเศษ 48.25 บาทต่อหุ้น เท่ากับตัวเองเป็นกรรมการบริษัท สั่งให้บริษัทขายหุ้นให้ตัวเอง ในราคาหุ้นละ 1 บาทไม่มีกฎหมายใดในโลกยอมรับได้ที่ซื้อเองขายเองอย่างนี้ จึงต้องเสียภาษีในฐานะผู้ซื้ออีก 6.53 พันล้านบาท เมื่อรวมกับยอดปรับในการทำธุรกรรมซื้อขายหุ้นในฐานะนิติบุคคลของ บริษัท แอมเพิลริชฯ อีก 20.89 หมื่นล้านบาท หรือ 4.5 เท่าของการประเมินเสียภาษีจริง ยอดประเมินภาษีจึงสูงถึง 2.7 หมื่นล้านบาทเศษ เป็นตัวอย่างของการเสียน้อยเสียยาก เสียมากเสียง่าย ทั้งหมดนี้คือผลงานของผู้เป็นบิดามารดากับนักวางแผนภาษีตระกูลชินวัตร โดยคิดวางแผนเป็นขั้นตอนก็ต้องพบชะตากรรมเช่นนี้
นายแก้วสรร กล่าวว่า การพิจารณาประเมินเรียกภาษีบริษัท แอมเพิลริช ครั้งนี้ยังไม่มีการพิจารณาอายัดทรัพย์สิน เพราะการจะอายัดได้นั้นต้องมีการเรียกเก็บภาษี จากรมสรรพกร โดยไม่มีการวางหลักทรัพย์ค้ำประกัน จึงต้องมีการอายัดทรัพย์สินไว้ก่อน เพื่อไปต่อสู้พิจารณาในชั้นศาล กับกรณีการพิสูจน์ได้ว่าการกระทำทั้งหมดพบพฤติกรรมร่ำรวยผิดปกติหลังจากเข้ามาบริหารประเทศ ซึ่ง ขณะนี้ คตส.ยังไม่ได้วินิจฉัยเรื่องความร่ำรวยผิดปกติ
ส่อเค้าร่ำรวยผิดปกติ
ผู้สื่อข่าวถามว่าจากพฤติกรรมการยักย้ายถ่ายโอนผลประโยชน์และมีการหลบเลี่ยงการเสียภาษีจนทำกำไรให้ครอบครัวชินวัตรสูงถึง 7.3 หมื่นล้านบาท ถือว่าเข้าข่ายการทุจริตหรือร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ และต้องมีการยึดหรืออายัดทรัพย์หรือไม่ คตส.ยังไม่มีคำวินิจฉัยใด ๆ ในกรณีนี้ว่ามีทรัพย์สินงอกเงยขึ้น หรือได้มาโดยมิชอบ ขณะนี้เราเพียงแต่ชี้มูลในกรณีการหลบเลี่ยงภาษีทั้งในส่วนผู้ซื้อและผู้ขาย ซึ่งเป็นกลุ่มบุคคลเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า การยักย้ายถ่ายโอนหุ้นและทรัพย์สินของครอบครัวชินวัตร ถือว่าร่ำรวยผิดปกติหรือไม่ นายแก้วสรร กล่าวว่า การรวดเร็วหรือรวยผิดปกติคงไม่ใช่ เพราะเขารวยอยู่แล้ว แต่เราต้องถามว่า หุ้นที่เขาขาย 7.3 หมื่นล้าน สืบเนื่องมาจาก การปฏิบัติหน้าที่โดยมิสมควรหรือไม่ ถ้าพิสูจน์ได้ว่าทรัพย์สินที่ได้มา ได้มาจากการ ปฎิบัติหน้าที่ไม่สมควร ทรัพย์ก้อนนี้จึงถือว่าร่ำรวยผิดปกติ แต่ขณะนี้ยังไม่มีคำวินิจฉัยของ คตส.ใดๆ ทั้งสิ้นในส่วนนี้
ข่าวรั่ว! ต้องเบรกอายัดทรัพย์
นายสัก กอแสงเรือง โฆษกคณะกรรมการ คตส. กล่าวถึงกรณีที่มีกระแสข่าวว่า การประชุมใหญ่ คตส. วันเดียวกันนี้ กรรมการ คตส. จะมีการเสนอให้ใช้อำนาจ ตามกฎหมาย คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน(ปปง.) อายัดทรัพย์สินของ ผู้ที่เกี่ยวข้องในการซื้อขายหุ้น บริษัท ชินคอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ชินคอร์ป ว่า ยังไม่ทราบข้อมูลดังกล่าวและไม่แน่ใจว่าข่าวนี้มาจากไหน จึงไม่สามารถให้รายละเอียดได้
อย่างไรก็ตาม เรื่องการใช้อำนาจอายัดทรัพย์สินดังกล่าว แม้ว่า คตส. จะมีอำนาจในการบังคับใช้ แต่ก็ต้องดูรายละเอียดด้วยว่า ขอบเขตการใช้อำนาจรวมถึง วิธีการที่เกิดขึ้น มีความจำเป็นที่จะต้องใช้อำนาจนี้หรือไม่ ซึ่งหากต้องใช้ก็ต้องดูว่า มีพฤติการณ์ที่สื่อว่าจะยักย้ายถ่ายเททรัพย์สินหรือไม่
นายสัก กล่าวว่าเรื่องเกี่ยวกับการใช้อำนาจ คตส. เคยส่งเรื่องคดีบ้านเอื้ออาทร ให้ ปปง. รับไปดำเนินการตรวจสอบเกี่ยวกับเส้นทางการเงินต่างๆ แล้ว เนื่องจาก คตส. ไม่มีเวลามากพอ ในการดำเนินคดีนี้มากนัก ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่ทราบว่า ปปง. ได้อายัดทรัพย์สินแล้วหรือไม่
นายสัก ยังกล่าวถึงการดำเนินการเกี่ยวกับการซื้อขายหุ้น แอมเพิลริช ที่จะมีการนำเสนอให้ที่ประชุมใหญ่ คตส. พิจารณาคงจะเป็นการตรวจสอบเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับภาษี แต่ในส่วนการตรวจสอบ การกระทำความผิดตามกฎหมายอื่นๆ ขณะนี้ยังไม่แล้วเสร็จ
ผู้สื่อข่าวถามว่า การกระทำความผิดอื่นทางกฎหมายในส่วนของบริษัทแอมเพิลริชฯ รวมถึงการตรวจสอบเรื่องการซุกหุ้นด้วยหรือไม่ นายสัก กล่าวว่า รายละเอียดที่เราตรวจสอบขณะนี้มีลักษณะที่กว้างขวางมากกว่าเรื่องการซุกหุ้น เพราะเราจะดูข้อเท็จจริงทุกอย่างว่ามีการกระทำความผิดตามกฎหมายเรื่องอะไรบ้าง ส่วนจะใช้ระยะเวลานานเท่าไรคงบอกไม่ได้ เนื่องจากยังมีข้อเท็จจริงอีกหลายส่วน รวมถึงพยานสำคัญอีกหลายปากที่ต้องเชิญมาให้ข้อมูล
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าในช่วงบ่ายวันเดียวกัน มีการประชุม คตส. มีนายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.เป็นประธานการประชุม
แหล่งข่าวระดับสูงจาก คตส.เปิดเผยว่า แนวความคิดในการนำกฎหมาย ปปง.มาดำเนินการอายัดทรัพยสินในคดีความผิดที่ คตส.ได้ชี้มูลความผิดในบางคดี เช่นคดีการซื้อขายหุ้น ชินคอปอร์เรชั่นนั้น เดิมที คตส.บางท่านกำลังจะเสนอแนวคิดดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุม คตส.ให้พิจราในวันนี้ (23 เม.ย.) เพื่อดูความเป็นไปได้ในการ ใช้กฎหมาย ปปง. เพื่ออายัดทรัพย์ หลังจากก่อนหน้านี้มีการหารือนอกรอบมาแล้วครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 18 เม.ย.ที่ผ่านมา ปรากฎว่า เมื่อมีการนำเสนอข่าวว่า คตส. จะหยิบยกเรื่องดังกล่าวขึ้นมาหารือ ทำให้ คตส.หลายท่านจึงไม่นำเรื่องดังกล่าวขึ้นมา หารือ เนื่องจากเกิดข่าวรั่ว ทำให้ คตส.หลายท่านไม่กล้าที่จะหยิบยกขึ้นมาพูด รวมทั้งการให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชน
มีรายงานข่าวด้วยว่า ในที่ประชุมคตส. คณะทำงานตรวจสอบกรณีรัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ได้ออกมติครม. เพื่อออก พ.ร.ก. ภาษีสรรพสามิต ที่มี นายแก้วสรร อติโพธิ และนายบรรเจิด สิงคเนติ เป็นคณะทำงานไปศึกษาว่า การออก พ.ร.ก.ดังกล่าว เข้าข่ายทำให้รัฐเกิดความเสียหายหรือไม่ ซึ่งจากการตรวจสอบคณะทำงานรายงานเบื้องต้นว่า ไม่พบการกระทำที่ทุจริตชัดเจน แต่การออกพ.ร.ก.ดังกล่าว ไม่เหมาะสมและไม่สมควร และมีผลประโยชน์ทับซ้อน และไม่พบการทุจริต และเรียกรับผลประโยชน์จากการออก พ.ร.ก.ดังกล่าว ทำให้มี คตส.บางท่านมีความเห็นแย้ง เช่น นายอุดม เฟื้องฟุ้ง ที่แสดงความเห็นว่าเรื่องนี้น่าจะมีเจตนาส่อทุจริต เพราะทำให้คน ที่ออก พ.ร.ก.ได้รับผลประโยชน์
ขณะที่คุณหญิงจารุวรรณ เมณฑกา ก็แสดงความเห็นว่า เรื่องดังกล่าว คตส.น่าจะรับไว้พิจารณา เพราะพบว่าก่อนหน้านี้นายบุญคลี ปลั่งศิริ อดีตกรรมการบริหาร บริษัท ชินคอร์ป เคยทำวิทยนิพนธ์ สมัยเรียนที่วิทยาลัยป้องกันราชอาณาจักร (วปอ.) ในเรื่องภาษีโทรคมนาคม และรัฐบาลชุดที่แล้วนำมาศึกษาขยายผล จนออกมาเป็น พ.ร.ก.ดังกล่าว
รายงานข่าวเปิดเผยว่า ท้ายที่สุดเมื่อ คตส. ไม่สามารถหาข้อสรุปได้ ว่าจะนำเข้าสูกระบวนการตรวจสอบของคตส.เพื่อสอบสวนเป็นเรื่องที่ 15 หรือไม่ ที่ประชุมให้คณะทำงานไปศึกษารายละเอียดเพิ่มเติม และนำกลับเข้ามาหารือในที่ประชุมใหญ่คตส.ต่อไป
จี้อัยการสูงสุดส่งข้อมูลสัญญา CTX
มีรายงานข่าวด้วยว่า เมื่อวันที่ 20 เม.ย.ที่ผ่านมา พล.อ.สพรั่งกัลยาณมิตร ผู้ช่วย ผบ.ทบ. และ ผู้ช่วยเลขาธิการคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.)ได้เรียก นายพชร นิติธรรมดำรงค์ อัยการสูงสุด ตัวแทนจาก ปปง. และ พล.ต.ท.มนตรี จำรูญ ผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เข้าพบ โดยมี คตส.บางส่วนร่วมหารือด้วย ซึ่งในที่ประชุม พล.อ.สพรั่งได้สอบถามความคืบหน้าในกรณีที่ คตส.ให้ สำนักงานอัยการสูงสุด เร่งส่งสัญญาซื้อขายเครื่องตรวจวัตถุระเบิด CTX 9000 ระหว่าง ทอท.กับ บริษัท อินวิชั่น ที่เป็นผู้จำหน่ายเครื่อง CTX ดังกล่าว ซึ่งเอกสารดังกล่าวถือว่า มีความสำคัญมาก เนื่องจากที่ผ่ามนั้นหลายหน่วยงานที่ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตเรื่องดังกล่าวต้องการ ทั้ง กรมสอบสวนคดีพอเศษ (ดีเอสไอ) กรรมธิการของวุฒิสภา ที่มี พล.ต.อ.ประทิน สันติประภพ ในฐานะประธานกรรมาธิการดำเนินการตรวจสอบเรื่องดังกล่าว ของ วุฒิสภาในสมัยนั้น รวมทั้งพรรคประชาธิปัตย์ แต่ที่ผ่านมาสำนักงานอัยการสูงสุดไม่ดำเนินการเร่งรัดขอเอกสารดังกล่าวจากประเทสสหรัฐอเมริการ ทั้งที่ผ่านเกือบ 2 ปีกว่า
ซึ่ง นายพชร ได้รับปากกับ พล.อ.สพรั่ง และ คตส. จะดำเนินการจัดส่งเอกสารดังกล่าวมาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อตรวจสอบเร็วที่สุด ซึ่งต่อมาอีก 3 วัน คือ วันที่ 23 เม.ย. ทางสำนักงานอัยการสูงสุดได้ส่งเอกสารดังกล่าวมาให้ คตส.เป็นที่เรียบร้อย
พชรชี้ผู้ใหญ่ขอไม่ให้ฟ้องคดีหมิ่น
รายงานข่าวแจ้วว่า นอกจากนี้พล.อ.สพรั่งได้สอบถามนายพชร ถึงกรณีที่สำนักงานคดีอาญา ของสำนักงานอัยการสูงสุด ที่สั่งไม่ฟ้อง พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพ เป็นเพราะเหตุใด ซึ่งนายพชร กล่าวว่า มีผู้ใหญ่ในบ้านเมืองคนหนึ่ง ได้ขอให้เรื่องดังกล่าวยุติ เพราะไม่ต้องการให้เรื่องเข้าสูการพิจารณาคดีของศาล
แจ้งความ"อ๋อย"หมิ่นเจ้าพนักงาน
ด้านนายสัก กอแสงเรือง โฆษก คตส. แถลงภายหลังการประชุม คตส.ว่า ที่ประชุมได้หารือถึงกรณีที่นายจาตุรนต์ ฉายแสง รักษาการหัวหน้าพรรคไทยรักไทย ออกมา ระบุถึงการทำงานของ คตส.ว่า ควรเปลี่ยนบทบาทให้อยู่ในร่องในรอย ไม่ใช่ทำหน้าที่ กึ่งศาลเตี้ย และมีมติให้แจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหาดูหมิ่นเจ้าพนักงาน โดยนายนาม ยิ้มแย้ม ประธาน คตส.จะเป็นผู้สั่งการให้เจ้าหน้าที่เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษ
"ยืนยันว่าการทำงานของ คตส.เป็นเจ้าพนักงาน และทำงานตามกรอบอำนาจ หน้าที่ตามกฎหมาย ไม่ใช่ศาลเตี้ย กรณีนี้ที่ประชุม คตส.รับไม่ได้ วิพากษ์วิจารณ์บุคคลรับได้ แต่วิพากษ์วิจารณ์การทำหน้าที่ขององค์กร คตส.ว่า เป็นศาลเตี้ยนั้นรับไม่ได้ครับ"นายสักกล่าว
โฆษก คตส. กล่าวด้วยว่า สำหรับความคืบหน้าคดีสลากพิเศษเลขท้าย 2 ตัว 3 ตัว หรือหวยบนดิน ที่มีการร้องทุกข์กล่าวโทษเข้ามาแล้วนั้น ที่ประชุมวันนี้ มีมติให้ตั้งนุกรรมการไต่สวนแล้ว โดยมี นายอุดม เฟื่องฟุ้ง กรรมการ คตส. เป็นประธาน ส่วนกรณีที่มีการร้องคัดค้านรายชื่อคณะอนุกรรมการไต่สวนคดีทุจริตจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงนั้น ที่ประชุม คตส.มีมติให้ยกคำร้อง เพราะเห็นว่าคำร้องกังกล่าวฟังไม่ขึ้น
ดีเอสไอลุยสอบเอสซี เอสเสท
นายสุนัย มโนมัยอุดม อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) กล่าวถึง ความคืบหน้าคดีบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ปกปิดข้อมูล โครงสร้างการถือหุ้นในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์ (ไฟลิ่ง) ว่า ดีเอสไอได้เรียกพยานบุคคลของบริษัทที่เกี่ยวข้องมาสอบปากคำแล้วจำนวนหลายปาก และนำเอกสารหลักฐานที่ทางคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) มาประกอบสำนวน ซึ่งพนักงานสอบสวนจะทำตามขั้นตอนกฎหมายของการสอบสวนคดีพิเศษ
โดยคณะพนักงานสอบสวนจะประกอบด้วย อัยการ เจ้าหน้าที่จาก ก.ล.ต. ร่วมเป็นคณะที่ปรึกษาฯ ของพนักงานสอบสวน เพื่อให้ข้อมูลด้านเทคนิคและข้อกฎหมายของตลาดหลักทรัพย์เรื่องเทคนิคการซื้อขายหุ้น ยืนยันดีเอสไอ ทำคดีนี้อย่างตรงไปตรงมา ส่วนสาเหตุที่ไม่ได้ระบุชื่อบริษัทในราชกิจนุเบกษา เพราะทาง ก.ล.ต. ต้องการปกปิดไว้เป็นความลับ เป็นเหตุผลทางคดี
อธิบดีกรมสอบสวนคดีพิเศษ ยืนยันตนไม่ได้กลัวว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี จะกลับมาแก้แค้น เพราะทำทุกอย่างถูกต้องตามกฎหมาย.
|
|
|
|
|