ประชุมผู้ถือหุ้นไอทีวี ฟ้องร้องกันนัวเนีย ไอทีวีเตรียมฟ้อง สปน. ส่วนผู้ถือหุ้นรายย่อยเตรียมฟ้องผู้บริหารเหตุไม่ดูแล ขณะที่ “สุพงษ์” ยื่นฟ้องผู้บริหารไอทีวีต่อศาลแพ่งแล้วกว่าหนึ่งแสนสี่หมื่นแปดพันล้านบาท จับตา ครม. ขิงแก่ ตัดสิน อนาคต “ทักษิณทีวี” ทีวีสาธารณะหรือทีวีเสรี คาดเลือกทั้ง 2 แนวทาง พร้อมหาทางออกให้เงินเดือนพนักงานเถื่อน
วานนี้(23 เม.ย.) บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) มีการประชุมสามัญผู้ถือหุ้น ประจำปี 2550 ณ ห้องประชุม ออดิทอเรียม อาคารชินวัตร 3 ซึ่งบรรยากาศโดยรวม ค่อนข้างเงียบเหงา ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เข้ามาประชุมวันนี้ ค่อนข้างบางตา
ฟ้องร้องนัวเนีย
การประชุมครั้งนี้ ทางคณะกรรมการบริษัทฯ ได้นำเรื่องขึ้นที่ประชุมด้วยว่า บริษัทไอทีวีเตรียมยื่นเรื่องฟ้องต่อ สปน. ให้ทางผู้ถือหุ้นรายย่อยที่เข้าประชุมได้รับทราบด้วย โดยหัวข้อที่จะยื่นฟ้องนั้น จะมีด้วยกัน 3 หัวข้อ คือ
1.สปน. ไม่นำข้อ 5 วรรค 4 เสนอต่อ ครม. เป็นการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบ โดยใจความสำคัญ ของ สัญญาสัมปทาน ข้อ 5 วรรค 4 คือ หลังจากวันทำสัญญานี้ หากสำนักงานหรือหน่วยงานของรัฐให้สัมปทานอนุญาตหรือทำสัญญาใดๆ กับบุคคลอื่นเข้ามาดำเนินกิจการให้บริการส่งวิทยุ โทรทัศน์ โดยมีการโฆษณา หรืออนุญาตให้โทรทัศน์ระบบบอกรับเป็นสมาชิกทำการโฆษณาได้ และเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมงานได้รับผลกระทบต่อฐานะทางการเงินของผู้เข้าร่วมงานอย่างรุนแรง เมื่อผู้เข้าร่วมงานร้องขอสำนักงานจะพิจารณาและเจรจากับผู้เข้าร่วมงานโดยเร็วเพื่อหามาตรการชดเชยความเสียหายที่ผู้เข้าร่วมงานได้รับจากผลกระทบดังกล่าว
2.สปน.บิดเบือนสัญญาเข้าร่วมงานฯ เช่น การไม่นำข้อพิพาทเรื่องค่าปรับเข้าสู่การพิจารณษของอนุญาโตตุลาการ การคำนวณค่าปรับโดยไม่ชอบ และเผยแพร่ข่าวทำให้บริษัท เสียหาย
และ3.สปน.บอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯโดยไม่ชอบ โดยบริษัท คาดว่าจะยื่นคำฟ้องต่อศาลปลายเดือน เม.ย. 2550 นี้
นายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ กรรมการและประธานกรรมการบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯเตรียมที่จะยื่นเรื่องฟ้อง สปน. โดยขณะนี้กำลังอยู่ในขั้นตอนของการเตรียมเอกสาร ซึ่งมองว่าจะมีการยื่นฟ้องทุกศาลที่สามารถรับเรื่องฟ้องได้
ขณะเดียวกันผู้ถือหุ้นรายย่อย นำโดยนางสาวรัตนาพร นามมนตรี ประธาน กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย ITV ซึ่งได้มีการจัดตั้ง “กลุ่มผู้ถือหุ้นรายย่อย ITV ที่ได้รับความเสียหายจากการถูกบอกเลิกสัมปทาน (กลุ่มฯ)” นั้น จะมีการยื่นเรื่องฟ้องทางสปน. ต่อศาลปกครอง ศาลอาญา รวมถึง จะยื่นฟ้อง กลต. ต่อศาลปกครองอีกด้วย โดยจะฟ้องทาง สปน. ในเรื่องของการละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ โดยจะเรียกร้องค่าเสียหาย คิดเป็นมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท หลังจากนั้น จะมีการพิจารณาที่จะเตรียมยื่นฟ้องคณะกรรมการผู้บริหาร บริษัทไอทีวี ที่ทำให้บริษัทฯได้รับความเสียหายจากการปฏิบัติหน้าที่ที่ผ่านมา
ก่อนที่จะมีการประชุม นายสุพงษ์ ลิ้มธนากุล ผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี เป็นโจทก์ยื่นหนังสือต่อศาลแพ่ง ฟ้องคณะกรรมการบริหาร บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นจำเลยจำนวน 9 ราย ประกอบด้วย นายบุญคลี ปลั่งศิริ, นายอนันต์ ลี้ตระกูล, นายวีระวงค์ จิตรต์มิตรภาพ, นางสริตา บุนนาค, นายนิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล, นายสมประสงค์ บุญยะชัย, นางดำรงค์ เกษมเศรษฐ์, นาง ศิริเพ็ญ สีตสุวรรณ และนายทรงศักดิ์ เปรมสุข ตามลำดับ โดยมีนายสุภวุฒิ กำเงิน เป็นผู้รับมอบอำนาจ โดยมีข้อหาหรือฐานความผิดในการยื่นฟ้องครั้งนี้คือ กรรมการทำให้เกิดความเสียหายแก่บริษัท, เรียกค่าสินไหมทดแทน ด้วยจำนวนทุนทรัพย์กว่า 148,104,477,443 บาท โดยศาลแพ่งได้รับฟ้องเรื่องดังกล่าวเป็นที่เรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ในคำขอท้ายคำฟ้องแพ่ง โจทก์ได้ขอศาลออกหมายเรียกตัวจำเลยมาพิจารณาพิพากษา และบังคับจำเลยตามคำขอต่อไปนี้ด้วย คือ 1.ให้จำเลยทั้ง 9 ร่วมกันหรือแทนกันรับผิดใช้จ่ายค่าเสียหายให้กับบริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เป็นจำนวน 148,104,477,433 บาท 2.ให้จำเลยทั้ง 9 ร่วมกันหรือแทนกันรับผิดชำระดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปีของเงินต้น 148,104,477,433 บาท นับถัดจากวันฟ้อง เป็นต้นไปจนกว่าจำเลยทั้ง 9 จะชำระเงินจำนวนดังกล่าวให้กับ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) เสร็จสิ้น
นายสุพงษ์ ลิ้มธนากุล ผู้ถือหุ้นบริษัทไอทีวี จำนวนกว่าแสนหุ้นกล่าวว่า เหตุผลที่ยื่นฟ้องคณะกรรมการบริหารไอทีวีครั้งนี้ มาจากสาเหตุหลัก 2 ข้อ คือ ความเสียหายจากการถูก สปน. ฟ้อง 100,000 ล้านบาท และ การเสียโอกาสทางธุรกิจจาก 18 ปี ของสัมปทานที่เหลืออยู่ คิดเป็นมูลค่ากว่า 45,000 ล้านบาท คณะกรรมการบริหารไอทีวี เพิกเฉยจนทำให้เกิดความเสียหายทั้ง 2 อย่างเกิดขึ้น อีกทั้งจำนวนเงินที่เรียกร้องค่าเสียหายนั้น เป็นจำนวนเงินที่ใกล้เคียงกับทาง สปน. ที่ได้ยื่นฟ้อง ไอทีวี ซึ่งสาเหตุที่เรียกจำนวนเงินขนาดนี้ เนื่องจากต้องการเทียบเคียงว่า ทาง คณะกรรมการบริหาร ไอทีวี จะเพิกเฉยอยู่ได้หรือไม่ ซึ่งครั้งนี้ทางคณะกรรมการบริหารเป็นผู้ถูกฟ้องร้องเอง ไม่เหมือนกับครั้งที่ สปน. ยื่นฟ้องบริษัท ไอทีวี กว่า แสนล้านบาทนั้น และไม่มีการตั้งทนายขึ้นมาแก้ต่างแต่อย่างไร”
อย่างไรตาม ในส่วนของค่าตอบแทนสำหรับพนักงานทั้งของไอทีวีละทีไอทีวีขณะนี้นั้น แหล่งข่าวรายหนึ่งกล่าวว่า จากการที่ไอทีวีในตอนนี้ ไม่มีธุรกิจหลักหรือรายได้จากทางใด ดังนั้นในช่วงนี้พนักงานที่เหลืออยู่จึงไม่ได้รับค่าตอบแทนในรูปของเงินเดือนแต่อย่างไร แต่จะเป็นค่าตอบแทนในรูปของการใช้จ่ายในแต่ละโปรเจ็กต์ๆไป ส่วนพนักงานที่ขึ้นตรงเป็นพนักงานของทีไอทีวี ก็เช่นกัน ขณะนี้ทางสปน. ก็ยังมิได้จ่ายค่าตอบแทนให้แก่พนักงานแต่อย่างไร จากที่เคยบอกว่าจะมีการเบิกจ่ายให้ในวันที่ 17 เมษายนที่ผ่านมา ก็ยังไม่มีพนักงานคนใดได้รับเงินเดือนดังกล่าวเลย
เสนอ2รูปแบบทีวีวันนี้
รายงานข่าวจากทำเนียบรัฐบาล แจ้งว่า ในการประชุม คณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 24 เม.ย. นี้คุณหญิงทิพาวดี เมฆสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะเสนอผลสรุปรับฟังความคิดเห็น จากคณะกรรมการรับฟังความเห็นเพื่อกำหนดอนาคตสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (ทีไอทีวี) หลังจากที่ รศ.ดร.ดรุณี หิรัญรักษ์ ประธานคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดอนาคตสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (ทีไอทีวี) ได้รวบรวมนำเสนอ ทั้งนี้เป็นการนำเสนอทั้ง 2 รูปแบบให้รัฐบาลเป็นผู้ตัดสินใจเลือกรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง
“รัฐบาลชุดนี้อาจจะผลักดันให้เกิดทีวีทั้ง 2 รูปแบบพร้อมกัน โดยใช้คลื่นความถี่ทีไอทีวี 1 คลื่น ส่วนอีกคลื่นรัฐมีทางเลือกหลายช่องทาง ไม่ว่าจะนำช่อง 11 มาปรับใช้ หรือการนำคลื่นความถี่ยูเอชเอฟ ที่มีอยู่อีก 3 คลื่นมาดำเนินการ”
ข้อสรุปของคณะกรรมการรับฟังความคิดเห็น เพื่อกำหนดอนาคตสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ (ทีไอทีวี) มีไว้ 2 ทางเลือก คือ ทีวีเสรี และทีวีสาธารณะ ได้แก่ ข้อเสนอแรก ทีวีเสรี (Independent Television) หมายถึง สื่อวิทยุกระจายเสียงหรือสื่อวิทยุโทรทัศน์ ที่ทำหน้าที่ในการเสนอข้อมูล ข่าวสาร สาระประโยชน์ สาระบันเทิง โดยให้มีอิสระเสรีภาพในการเสนอข้อมูลข่าวสาร ปราศจากการครอบงำหรือควบคุมกำกับ ดูแลของภาครัฐ หรือกลุ่มทุนทางการเมือง ตัวแทน รวมทั้งกลุ่มทุนเฉพาะราย
สถานีโทรทัศน์รูปแบบอิสระ หรือทีวีเสรี ดำเนินงานโดย เอกชนเป็นกรรมสิทธิ์ร่วมกับภาคประชาชน มีรายได้ของตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพางบประมาณจากภาครัฐ เป็นสถานีโทรทัศน์แบบผสมเพื่อสาธารณะ แสวงหากำไรได้แต่ไม่มากเกินไป และไม่อยู่ในการครอบงำของกลุ่มทุนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง เนื้อหาสัดส่วนข่าวสารสาระ 70% บันเทิง 30% อาจตั้งสัดส่วนการถือหุ้น 51% มาจากทุนเอกชนซึ่งแต่ละรายถือหุ้นไม่เกิน 5% และอีก 49% จากองค์กรภาคประชาชนถือรายละไม่เกิน 10% รูปแบบรายได้ มาจากหลายทาง ทั้งค่าโฆษณาสนับสนุนรายการ ค่าเช่าเวลาออกอากาศ เงินสนับสนุนจากองค์กรและ/มูลนิธิต่างๆ และเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป
สำหรับการดำเนินการของสถานีโทรทัศน์เสรี อาจทำภายใต้การบริหารจัดการของคณะกรรมการ 4 ชุด ประกอบด้วย 1.คณะกรรมการที่ปรึกษา 2.คณะกรรมการบริหารสื่อ มาจากตัวแทนผู้ถือหุ้นตามสัดส่วนที่กำหนด และจากผู้ทรงคุณวุฒิ 3.คณะกรรมการที่ปรึกษาฝ่ายข่าวและรายการ มาจากผู้เชี่ยวชาญด้านวิชาชีพสื่อสารมวลชนและเกี่ยวข้อง 4.คณะกรรมการภาคประชาชน มาจากการสรรหาจากองค์กรต่างๆ ของสังคม
สำหรับข้อเสนอที่ 2 ทีวีสาธารณะ (public service television) คือ การมีปรัชญาและแนวทางในการดำเนินการ ที่ถือว่าประชาชนผู้เป็นเจ้าของประเทศเป็นพลเมือง ในขณะที่สื่อเป็นพื้นที่สาธารณะในการให้ข้อมูลข่าวสาร เป็นตัวกลางแลกเปลี่ยนเรียนรู้ของประชาชน มีความเป็นอิสระจากรัฐบาลและกลุ่มทุน
ลักษณะทีวีสาธารณะ คือ 1.มีความเป็นอิสระในการดำเนินงาน 2.ผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ 3.ผลิตและเผยแพร่รายการอย่างรับผิดชอบต่อสังคม 4.มีกลไกให้สังคมมีส่วนร่วม ทีวีสาธารณะจะมีฐานะเป็นองค์กรมหาชนตามกฎหมายพิเศษที่จะบัญญัติขึ้น
การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า ทีวีสาธารณะที่ออกอากาศวันละ 18 ชั่วโมง จะมีต้นทุนในการผลิตรายการคุณภาพสูงอยู่ในระดับปีละ 1,700 ล้านบาท รายได้ในการผลิตรายการ จะมีที่มาจาก ภาษีสรรพสามิตหรือภาษีพิเศษที่จัดเก็บจากอบายมุข หรือกิจกรรมที่กระตุ้นการบริโภคของประชาชน โดยกันไว้ให้เป็นรายได้ของสถานีโทรทัศน์โดยตรง (earmarked tax) จะทำให้รัฐบาลและกลุ่มทุนไม่สามารถเข้ามาแทรกแซงได้, เงินอุดหนุนจากกองทุนพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อการศึกษา ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542 เพื่อผลิตรายการด้านการศึกษา เงินอุดหนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และ เงินอุดหนุนที่ได้รับจากผู้สนับสนุนรายการ ที่ไม่ใช่การโฆษณาสินค้า และเงินบริจาคจากประชาชนทั่วไป
การปฏิรูป TITV ให้เป็นทีวีสาธารณะจะต้องดำเนินการ 2 ขั้นตอนหลัก คือ 1.ผลักดันให้มีการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้อง คือ "ร่างพระราชบัญญัติการแพร่ภาพและกระจายเสียงสาธารณะ พ.ศ...." ขั้นตอนที่ 2.แปลงสภาพ TITV ให้เป็นทีวีสาธารณะ โดยการสรรหาคณะกรรมการ แต่งตั้งผู้บริหาร และฝึกอบรมพนักงานให้เข้าใจหน้าที่ของทีวีสาธารณะ และดำเนินการอื่นๆ ตามกฎหมาย
อย่างไรก็ตาม สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) ที่ดูแลคลื่นความถี่ระบบยูเอชเอฟชั่วคราว อาจดำเนินการให้สถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี เป็นสถานีโทรทัศน์อิสระได้ โดยการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์การจัดสรรคลื่นความถี่ พ.ศ.2543 มาตรา 80 เพื่อให้สามารถจัดสรรคลื่นความถี่ได้
รายงานข่าวแจ้งว่า คุณหญิงทิพาวดี ยังจะรายงานผลการประชุมคณะกรรมการ ก.พ.ร. ถึงปัญหาที่ติดอยู่ขณะนี้ในการจัดตั้งระบบเอสดียู ในสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีที่ ก.พ.ร. ยังไม่ได้อนุมัติ คือ เรื่องการนำเงินนอกงบประมาณ ซึ่งเป็นเงินรายได้ มาหมุนใช้ในการบริหาร ที่ก.พ.ร. เห็นว่า เป็นการแสวงหากำไรเกินควร ในส่วนนี้เป็นอำนาจของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง โดยจะมีการหารทางออกเพื่อเร่งรัด ให้กับพนักงานที่ไม่ได้รับเงินเดือนมา 2 เดือนแล้ว
|