ภายใต้กรอบความคิดการสร้างธุรกิจให้คำปรึกษาครบวงจรมารวมไว้ที่เดียวกัน อาจจะเข้าใจว่าเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับเมืองไทย แต่รูปแบบดังกล่าวเกิดขึ้นและกำลังพิสูจน์ฝีมือของผู้ก่อตั้ง
ปัจจุบันมีบริษัทที่ปรึกษาสัญชาติไทยและต่างประเทศกระจายอยู่เต็มตลาดทั้งให้บริการด้านการเงิน
การตลาด วิจัย หรือที่ปรึกษาด้านการสร้างแบรนด์ แต่ดูเหมือนว่าไม่มีองค์กรไหนที่ดำเนินธุรกิจแบบครบวงจรโดยเฉพาะบริการหลักๆ
ได้แก่ ด้านการเงิน การสร้างแบรนด์ และจัดการระบบองค์กร
ด้วยช่องว่างดังกล่าวได้ส่งผลให้เกิด บริษัทเทิร์นอะราวด์ (Turnaround)
ภายใต้ แนวคิดของการให้คำปรึกษาแบบครบวงจร ทั้งด้านวาณิชธนกิจ การสร้างแบรนด์
และ การปรับโครงสร้างการบริหารองค์กร (Investment Banking, Brand Manage-ment
& Organization Restructuring)
จุดประกายตรงนี้เกิดขึ้น ณ ภัตตาคารแห่งหนึ่งใจกลางเมืองเมื่อเดือนกรกฎาคม
2544 เมื่อปารเมศร์ รัชไชยบุญ, ชัยวัฒน์ โควาวิสารัช และวิภูธา ตระกูลฮุน
ในฐานะเพื่อน ที่คบกันมานานหลายปี นั่งสนทนากันถึงความเป็นไปได้ที่จะมาดำเนินธุรกิจด้วยกัน
โดยจับมือกันระหว่างธุรกิจการเงินกับโฆษณา
จากการคุยกันถึงความต้องการทำงานตามเส้นทางของตัวเองของพวกเขา แนวคิดดังกล่าวได้ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง
โดยมีปารเมศร์เป็นผู้ดำเนินการจัดตั้งเทิร์นอะราวด์ขึ้นมาและเริ่มดำเนินธุรกิจอย่างจริงจังเมื่อเดือนสิงหาคม
ปีที่ผ่านมา
แม้ว่าธุรกิจการให้บริการด้านวาณิชธนกิจและการให้คำปรึกษาการสร้าง แบรนด์จะไม่ใช่เรื่องใหม่
แต่การรวมสองธุรกรรมเข้าไว้ด้วยกันและมีการประสานงาน อย่างใกล้ชิด เพื่อให้บริการกับลูกค้าอย่างสมบูรณ์
และเป็นธุรกิจที่ยังไม่เคยมีมาก่อน
"พวกเรามีความรู้สึกว่า ยังไม่มีบริษัทที่ปรึกษาแบบครบวงจรเลยในตลาดเมืองไทย
ดังนั้นจึงมีการปรึกษากันว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่ ที่จะมีบริษัทที่ปรึกษาสมบูรณ์แบบ"
ปารเมศร์เล่า "ต้องตอบคำถามให้ได้ว่ามีบริษัทที่ปรึกษาครบวงจรเกิดขึ้นแล้ว
โดยเข้ามาเชื่อมรอยต่อให้ธุรกิจนี้และเทิร์นอะราวด์เป็นองค์กรที่ Dynamic"
การเกิดขึ้นของเทิร์นอะราวด์ น้อง ใหม่แห่งวงการนับเป็นความเชื่อมั่นของ
ผู้ก่อตั้งอย่างมาก โดยเฉพาะความคิดเห็นของปารเมศร์ที่ว่า ปัจจุบันบริษัททำงานที่เรียกว่า
Total Business Solution "โดยที่ผ่านมาในตลาดเมืองไทยยังไม่มีบริษัทไหนสามารถดำเนินการได้
ขณะที่ตลาดทั่วโลกก็ไม่แน่ใจว่าจะมีหรือไม่"
หมายความว่าพวกเขากำลังท้าทาย กับอนาคต เนื่องเพราะเป็นแนวความคิดที่ยังใหม่ในตลาด
ถึงแม้ว่าเทิร์นอะราวด์จะมีกลยุทธ์การใช้ธุรกิจที่ปรึกษาด้านการเงินเป็นพลังขับเคลื่อน
สังเกตจากความสำเร็จในการเข้าไปเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
"5 เดือนแรกของการทำงานสามารถปิดดีลไปแล้ว 7 ดีล เป็นเหตุการณ์ ที่ค่อนข้างจะมีความหมาย
และไม่คิดว่าจะมีบริษัทขนาดใหญ่ที่ไหนสามารถปิดดีลได้เหมือนกับเทิร์นอะราวด์"
ชัยวัฒน์กล่าว "ช่วงต้นของการจัดตั้งบริษัทขึ้นมาไม่มีความมั่นใจจากความเสี่ยงหลายอย่าง
แต่วันนี้ได้พิสูจน์แล้วว่าสามารถเดินต่อไปได้"
ปัจจัยประการหนึ่งที่บริษัทมีผลงาน ค่อนข้างมากในฐานะผู้เล่นหน้าใหม่ ก็คือ
มีกลุ่มลูกค้าเป้าหมายชัดเจนซึ่งอยู่ในระดับ กลาง คือ ให้ความสำคัญกับขนาดของดีลประมาณ
100 ล้านบาท ไปจนถึง 1,500 ล้านบาท เป็นตลาดขนาดใหญ่ในการแสวงหารายได้ "ช่วงเวลาที่พวกเรานั่งปรึกษาจะดำเนินธุรกิจไม่ได้มองว่าตลาดกำลังจะฟื้น
แต่ในเชิงธุรกิจกลับมาแล้วโดยเฉพาะด้านโฆษณาซึ่งเติบโตอย่างต่อเนื่องจากงบประมาณได้ขยายตัวและคนไทย
กำลังสร้างแบรนด์" วิภูธาเล่า
เขายังอธิบายเพิ่มว่า บรรดาสถาบัน การเงินข้ามชาติทยอยถอนตัวออกไปจากตลาดทุนไทย
โดยเฉพาะไม่มีสำนักงานอีกต่อไป ดังนั้นเหลือเพียงผู้เล่นระดับท้องถิ่น "เมื่อพิจารณาแล้วมีโอกาสสำหรับบริษัทที่เพิ่งเกิดและพบว่ามีความเป็นไปได้ในทางการตลาด"
อาจจะเร็วเกินไปสำหรับการตัดสินว่าเทิร์นอะราวด์สามารถยืนอยู่ได้อย่างมั่นคง
แต่จากการมองการณ์ไกลของผู้ก่อตั้งที่พยายามให้ความสำคัญกับการพัฒนา และค่อยเป็นค่อยไปทำให้เส้นทางเดินของพวกเขายาวไกล
ประกอบกับความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนจากมืออาชีพมาเป็นนายจ้าง เป็นสิ่งยืนยันได้ถึงความตั้งใจ
"ตอนนี้พวกเรายังเป็นมืออาชีพเพียงแต่มีคำว่าผู้ถือหุ้นเข้ามา ดังนั้นสิ่งที่ต้องเป็นห่วง
ก็คือ ต้นทุน รายได้ และความเป็นอยู่ของพนักงาน ที่สำคัญเงินของผู้ถือหุ้นที่นำมาลงทุนทุกคนต้องคาดหวังถึงผลตอบแทน"
วิภูธากล่าว