ผลประกอบไตรมาสแรกปี 50 ธนาคารพาณิชย์ 7 แห่งยังคงชะลอตัว มีกำไรสุทธิลดลงกว่า 4 พันล้าน หรือคิดเป็น 20% "ทหารไทย-นครหลวงไทย"หนักสุดลดฮวบ 92 และ 83% ขณะที่ยอดเอ็นพีแอลส่อแววไหลกลับ "กรุงไทย"เพิ่มจาก 6.26% เป็น6.88% "กสิกรฯ"จาก 3.17% เป็น 3.31% และ "กรุงศรี"จาก 5.34% เป็น 6.30%
จากผลการสำรวจจำนวนสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(เอ็นพีแอล)ของธนาคารพาณิชย์จำนวน 7 แห่งหลังประกาศผลการดำเนินงานในไตรมาสแรกพบว่า ธนาคารกรุงเทพมียอดเอ็นพีแอล 4.05 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.41 ลดลงจากสิ้นปีที่อยู่ในระดับ 4.17 หมื่นล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 4.55 ธนาคารกสิกรไทยมียอดเอ็นพีแอล 2.2 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 3.31 ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่อยู่ในระดับ 2.89 หมื่นล้าน หรือคิดเป็นร้อยละ 3.17 ธนาคารไทยพาณิชย์มียอดเอ็นพีแอล 2.34 หมื่นล้านบาทคิดเป็นร้อยละ 3.4 ทรงตัวจากช่วงสิ้นปีที่อยู่ในระดับ 2.26 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 3.4 ธนาคารกรุงไทยมียอดเอ็นพีแอล 6.4 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.88 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่อยู่ในระดับ 5.90 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 6.26
ธนาคารทหารไทยมียอดเอ็นพีแอล 3.09 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.08 ลดลงเมื่อเทียบกับสิ้นปีที่อยู่ในระดับ 3.33 หมื่นล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 6.33 ธนาคารกรุงศรีอยุธยามียอดเอ็นพีแอล 2.8 หมื่นล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 6.30 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่อยู่ในระดับ 2.34 หมื่นล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 5.34
ด้านผลประกอบธนาคารกรุงเทพแจ้งไตรมาสแรกของปี 2550 มีกำไรสุทธิจำนวน 4,662 ล้านบาท ลดลง 552 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 10.6 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรกของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 5,184 ล้านบาท แต่เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า 1,006 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.5 จากไตรมาสก่อนหน้า
โดย ณ สิ้นมีนาคม 2550 สินเชื่อรวมของธนาคารมียอดเพิ่มขึ้นเล็กน้อยเป็น 959,249 ล้านบาท ในขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพเท่ากับ 89,322 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 9.2 ของสินเชื่อรวม ส่วนยอดเงินฝากของธนาคารยังคงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยมียอดรวมเพิ่มขึ้นเป็น 1,236,932 ล้านบาท ณ สิ้นมีนาคม 2550 หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากยอดเงินฝากรวม ณ สิ้นปี 2549
สำหรับส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยสุทธิในไตรมาสแรกของปี 2550 อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2549 ที่ร้อยละ 3.15 และธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการรับเพิ่มขึ้นเป็น 3,722 ล้านบาท ในขณะที่กำไรจากเงินลงทุนแสดงผลขาดทุน 22 ล้านบาท ส่วนกำไรจากการปริวรรตเงินเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.0 จากไตรมาสเดียวกันในปีที่แล้วเป็น 1,107 ล้านบาท
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ กรรมการผู้จัดการ บมจ.ธนาคารกรุงไทย เปิดเผย ผลประกอบการสำหรับงวดสามเดือน สิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2550 ว่า ธนาคารมีรายได้ดอกเบี้ยและเงินปันผลสุทธิจำนวน 10,766 ล้านบาท ลดลง 648 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.68 จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนจำนวน 11,414 ล้านบาท สำหรับกำไรก่อนการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญมีจำนวน 5,508 ล้านบาท ลดลง 1,721 ล้านบาท หรือร้อยละ 23.81 จากระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนจำนวน 7,229 ล้านบาท และเมื่อหักการกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญจำนวน 1,100 ล้านบาทแล้ว ก็ยังมีกำไรสุทธิ 4,408 ล้านบาท ลดลง 237 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.10 เมื่อเปรียบเทียบกับกำไรสุทธิจำนวน 4,645 ล้านบาท ในระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน
ยอดเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ของธนาคาร ณ วันที่ 31 มีนาคม 2550 มีจำนวน 94,627 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,935 ล้านบาท หรือร้อยละ 5.50 เมื่อเทียบกับยอด ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2549 จำนวน 89,692 ล้านบาท จึงส่งผลให้ธนาคารมีอัตราส่วนเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมร้อยละ 9.82 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดปีก่อนที่มีอัตราส่วนร้อยละ 9.22 และสำหรับยอดเงินให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (สุทธิ) มีจำนวน 64,241 ล้านบาท หรือร้อยละ 6.88 โดยในไตรมาสนี้นอกเหนือจากการที่ธนาคารกันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญรายเดือนปกติจำนวน 300 ล้านบาท ต่อเดือนแล้ว ธนาคารได้กันสำรองค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญเพิ่มขึ้นอีก 200 ล้านบาท เพื่อให้เพียงพอต่อการกันสำรองตามเกณฑ์ IAS 39 สำหรับปี 2550 ทั้งจำนวน
ด้านธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)แจ้งว่า ธนาคารกำไรสุทธิในไตรมาส 1 ปี 2550 ที่ 1,206 พันล้านบาท ลดลง 592 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 32.9 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 1,798 ล้านาท
จากก่อนหน้านี้ ธนาคารกสิกรไทยแจ้งผลการดำเนินงานไตรมาส 1 ปี 2550 ธนาคารและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิ 3,877 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 262 ล้านบาทหรือคิดเป็น 7.24% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 3,615 ล้านบาท และเพิ่มขึ้น 448 ล้านบาทหรือคิดเป็น 13.08% จากไตรมาสก่อนหน้าที่อยู่ในระดับ 3,429 ล้านบาท
ส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPL Gross) เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 6.84 เป็นร้อยละ 7.14 โดยการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพนั้น ส่วนหนึ่งเนื่องจากธนาคารได้ปรับเกณฑ์การปรับโครงสร้างหนี้ให้มีความเข้มงวด และเบ็ดเสร็จมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพอีกส่วนหนึ่ง มาจากการเพิ่มขึ้นของสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เข้ามาใหม่ สะท้อนภาวะการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และยืนยันความถูกต้องในการยึดถือนโยบายการขยาย สินทรัพย์อย่างรอบคอบและระมัดระวังของธนาคารกสิกรไทย
ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)แจ้งผลประกอบการไตรมาสแรกปี 2550 มีกำไรสุทธิ 3,699 ล้านบาท ลดลง 523 ล้านบาท หรือคิดเป็น 12.4% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้น 207% จากไตรมาสก่อน จากสินเชื่อ SME และสินเชื่อเช่าซื้อขยายตัวสูง
ธนาคารทหารไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลประกอบการในไตรมาสแรกของปี 2550 ธนาคารกำไรสุทธิ 158.55 ล้านบาท ลดลง 1,964.88 ล้านบาทหรือคิดเป็นร้อยละ 92 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2,123.43 ล้านบาท โดยเงินให้สินเชื่อมีจำนวน 524,586 ล้านบาท ลดลง 18,172 ล้านบาท หรือคิดเป็น 3.3% จากสิ้นปี 2549 ซึ่งการลดลงนี้เป็นผลจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพและการตัดจำหน่ายหนี้สูญ และการชำระหนี้ของเงินให้สินเชื่อ โดยพบว่าสินเชื่อทั่วไปลดลงจากการหดตัวของสินเชื่อในกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่และธุรกิจกลางและขนาดย่อม ในขณะที่สินเชื่อด้อยคุณภาพลดลง มาอยู่ที่ 51,239 ล้านบาท จากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพและการตัดจำหน่ายหนี้สูญ
ธนาคารนครหลวงไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลการดำเนินงานไตรมาสแรกปี 50 ของธนาคารมีกำไรสุทธิรวม 204.60 ล้านบาท ลดลง 1,061.06 ล้านบาทหรือคิดเป็น 83.8% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่อยู่ในระดับ 1,265.66 ล้านบาท และธนาคารมีกำไรก่อนสำรองหนี้สงสัยจะสูญและก่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล จำนวน 2,015 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 120 ล้านบาทหรือ 6% เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปี 2549 ซึ่งมีจำนวน 1,895 ล้านบาท เพื่อให้เป็นไปตามเกณฑ์ IAS 39 ที่จะนำมาใช้สิ้นปี 2550 ธนาคารจึงตั้งสำรองหนี้สูญและหนี้สงสัยจะสูญ จำนวน 1,810 ล้านบาท ทำให้ธนาคารมีกำไรสุทธิลดลงดังกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อรวมผลการดำเนินงานธนาคารพาณิชย์ 7 แห่งในไตรมาสแรกมีกำไรสุทธิรวม 18,214 ล้านบาท ลดลง 4,668 ล้านบาท หรือคิดเป็น 20.29%
|