นายเกริก วณิกกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เปิดเผยว่า ตั้งแต่ต้นปี 2550 ที่ผ่านมา ในการประชุม 3 ครั้งของคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ได้มีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยตลาดซื้อคืนพันธบัตระยะ 1 วัน หรืออัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้วทั้งสิ้น 1% ส่วนจะมีผลให้ธปท.มีการทบทวนปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตหรือไม่ในอนาคตนั้นขอดูผลที่เกิดขึ้นกับตลาดธุรกิจบัตรเครดิตก่อนว่าตลาดมีการปรับตัวหรือเปลี่ยนแปลงมากน้อยแค่ไหนบ้าง
“ การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายถึง 1% ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมาจะส่งผลต่อตลาดธุรกิจบัตรเครดิตอย่างไรขอดูผลที่เกิดขึ้นระยะหนึ่งก่อน อย่างไรก็ตามที่ผ่านมาธปท.เพิ่งจะมีการอนุมัติให้สถาบันการเงินหรือบริษัทที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์)ปรับมาใช้อัตราดอกเบี้ย 20% จากเดิม 18% จึงขอดูภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตก่อนว่าตอบรับกับการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้อย่างไรบ้าง”
อย่างไรก็ตาม จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมาแล้ว 1% และในช่วงที่เศรษฐกิจชะลอตัว ผู้ประกอบการธุรกิจบัตรเครดิตบางแห่งทั้งสถาบันการเงินและนอนแบงก์อาจจะมีการปรับตัวเองด้วยการปรับลดอัตราดอกเบี้ยบัตรเครดิตเอง เพื่อพร้อมรับกับการแข่งขันที่จะเกิดขึ้นในอนาคตก็เป็นได้ นอกจากนี้ หากพิจารณาจากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตลดลงเรื่อยๆ แสดงให้เห็นว่าผู้บริโภคมีความระมัดระวังในการใช้จ่ายมากขึ้นด้วย จึงแสดงให้เห็นว่าธุรกิจบัตรเครดิตไม่น่าเป็นห่วงมากนัก
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า สายนโยบายสถาบันการเงินของธปท.ได้ประกาศยอดคงค้างบัตรเครดิตแยกตามประเภทบัตรเครดิตล่าสุด ณ วันที่ 28 ก.พ.50 พบว่า แม้จำนวนบัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตลดลง ขณะเดียวกันปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมก็ลดลงอย่างมาก ทั้งในส่วนของปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ ปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศ การเบิกเงินสดล่วงหน้าลดลงทุกประเภท ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลง ทำให้ประชาชนมีการชะลอการใช้จ่ายและมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น
ทั้งนี้ จากยอดคงค้างบัตรเครดิตในเดือนก.พ.นี้ มีปริมาณบัตรเครดิตทั้งสิ้น 11,006,451 บัตร หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3,644 บัตร และมียอดคงค้างสินเชื่อทั้งสิ้น 116,740 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 2,036 ล้านบาท หรือลดลง 1.21%ของสินเชื่อรวม โดยยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตของสถาบันการเงินทุกประเภทลดลง โดยธนาคารพาณิชย์มียอดคงค้างจำนวน 55,259 ล้านบาท หรือลดลง 1,090 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 33,759 ล้านบาท และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) จำนวน 77,721 ล้านบาท หรือลดลง 928 ล้านบาท
ส่วนปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมแยกตามประเภทสถาบันการเงิน เมื่อเทียบกับเดือนก่อนลดลงถึง 9,664 ล้านบาท หรือลดลง 13.04% จากปัจจุบันที่มีปริมาณการใช้จ่ายอยู่ที่ 64,432 ล้านบาท แบ่งเป็นปริมาณการใช้จ่ายในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในเดือนนี้มีอยู่ 37,851 ล้านบาท หรือเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 6,844 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.31% สาขาธนาคารต่างประเทศ 7,919 ล้านบาท หรือลดลง 722 ล้านบาท คิดเป็น 8.36% และนอนแบงก์ 18,662 ล้านบาท หรือลดลง 2,097 ล้านบาท คิดเป็น 10.10%
ขณะเดียวกันหากแยกตามประเภทของการใช้จ่ายลดลงเช่นกัน โดยปริมาณการใช้จ่ายในประเทศมีปริมาณทั้งสิ้น 45,747 ล้านบาท หรือลดลงจากเดือนก่อน 7,537 ล้านบาท คิดเป็น 14.14% ปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศ 1,876 ล้านบาท ลดลง 297 ล้านบาท คิดเป็น 13.68% และการเบิกจ่ายเงินสดล่วงหน้าจากปัจจุบันที่มีจำนวน 16,809 ล้านบาท ลดลง 1,830 ล้านบาท คิดเป็น 9.82%
|