"ธุรกิจมีขึ้นมีลง มีทั้งโอกาส และความเสี่ยง เราต้องบริหารได้ทั้งขาขึ้นและขาลง"
ดร.ดำรงค์ เกษมเศรษฐ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัทชินแซทเทลไลท์ จำกัด ในฐานะแม่ทัพของธุรกิจดาวเทียม
กล่าวด้วยท่าทีสบายๆ เมื่อ ถูกถามถึงการประสบปัญหาถึง 2 ครั้งในเวลาไม่ไกลกันนัก
คำพูดดังกล่าวมาจากเหตุการณ์ประท้วงในกัมพูชา เป็นผลให้อาคารสำนักงานของบริษัทกัมพูชา
ชินวัตร หนึ่ง ในบริษัทคนไทยที่เข้าไปลงทุนรับใบอนุญาตให้บริการโทรศัพท์มือถือ
ระบบ GSM 1800 ต้องได้รับความเสียหาย
ไม่ทันไร ดาวเทียมไทยคม 3 เกิดปัญหาขัดข้องทาง เทคนิค เมื่อแผงรับพลังงานเสียหาย
ช่องสัญญาณ 4 ทราน สปอนเดอร์ที่ยูบีซีเช่าไทยคมอยู่ใช้งานไม่ได้ทันที เป็นผลให้
ยูบีซีต้องหยุดให้บริการแก่สมาชิกไป 10 ชั่วโมง
ในเบื้องต้น ชินแซทเทลไลท์จะแก้ปัญหาด้วยการให้ยูบีซีย้ายจากเช่าดาวเทียมไทยคม
3 ไปใช้ไทยคม 2 แทน แต่ปัญหายังไม่คลายลง เนื่องจากดาวเทียมไทยคม 2 รับฟรีทีวีไม่ได้
ทำให้จุดรับชมเสริมไม่สามารถรับชมรายการโทรทัศน์ภาคปกติได้
การแก้ปัญหาขั้นต่อไป จึงต้องย้ายจากดาวเทียมไทยคม 2 กลับมาที่ดาวเทียมไทยคม
3 เพื่อให้ยูบีซีให้บริการแก่ลูกค้าได้เหมือนเดิม ส่วนลูกค้า iPSTAR ที่เคยเช่า
ไทยคม 3 ย้ายไปที่ไทยคม 2 แทน กำหนดดีเดย์ 8 มีนาคม ที่ผ่านมา
"ค่าใช้จ่ายในการโอนย้าย รับผิดชอบกันคนละส่วน ไทยคมลดค่าเช่าทรานสปอนเดอร์ให้กับยูบีซี
ในขณะที่ ยูบีซีลดค่าบริการให้ลูกค้า รับผิดชอบกันไปคนละทอด" ดร.ดำรงค์บอก
"ส่วนเจ้าของดาวเทียมจะชดเชยหรือไม่ เป็น เรื่องที่ต้องเจรจา"
ไทยคม 3 เป็นดาวเทียมที่ผลิตโดยบริษัทอัลคาเทล สเปซ ซิสเต็ม ประเทศฝรั่งเศส
ในขณะที่ดาวเทียมไทยคม 2 ดวงแรก คือ ไทยคม 1 และไทยคม 2 บริษัทชินแซทเทล
ไลท์ ซื้อมาจากบริษัทฮิวจ์ แอร์คราฟท์ สหรัฐอเมริกา หรือ บริษัทโบอิ้งในปัจจุบัน
ไทยคม 3 มีช่องสัญญาณแบบ C band 25 ทราน สปอนเดอร์ และ KU band จำนวน 14
ทรานสปอนเดอร์
"ดาวเทียมในโลกมี fail หลายดวง แต่เปอร์เซ็นต์ไม่มาก ของเราถือว่า fail
พอสมควร แต่ไม่ใช่ทั้งดวง เพียงแต่ความสามารถลดลง บังเอิญที่ช่องสัญญาณเราหยุดทำงานไป"
นับเป็นครั้งแรกในรอบ 10 กว่าปี ของดาวเทียมไทยคมที่ไทยคมต้องประสบปัญหากับตัวดาวเทียม
ก่อนหน้าไทยคม 3 จะประสบปัญหานี้ สำหรับชินแซทเทลไลท์ ที่ใช้ดาวเทียมของอัลคาเทล
รุ่นเดียวกัน ก็เคยประสบปัญหาในลักษณะเดียวกันมาก่อนหน้านี้แล้ว
ตามปกติแล้วดาวเทียมจะต้องประกันภัยต่อบริษัทนายหน้ารับประกันภัย โดยเบี้ยประกันจะอยู่ในอัตรา
10-15% ของมูลค่าดาวเทียม
"ความมั่นใจของเราคือ ระบบเราใหญ่ เรามี 3 ดวง ถ้ามีดวงเดียวคงแย่ และปีหน้าเราจะมีดวงที่
4 แล้ว ถ้าใครมีแค่ดวงเดียวคงแย่ เพราะไม่มีสำรองเลย"
อย่างไรก็ตาม ชินแซทเทลไลท์ คงต้องหามาตรการ มารองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิด
แม้จะแก้ปัญหาโยกสลับการใช้งานระหว่างดาวเทียมทั้ง 3 ดวงได้ แต่สำหรับดวงที่
4 อย่าง iPSTAR ที่ถือเป็นหัวหอกในอนาคตแล้ว โอกาสพลาดย่อมเกิดไม่ได้