เปิดแผลใหญ่สนามบินสุวรรณภูมิ รายงานทุจริตฉบับล่าสุดส่งถึงมือ คตส. และ ป.ป.ช.สดๆ ร้อนๆ มั่นใจลากคอ “ทักษิณ” กับพวกพ้องเข้าตะรางได้แน่ เปิดปมปัญหามากมาย แต่ทำไมไม่เคยได้รับการแก้ไข ใครเข้าเกียร์ว่างในท่าอากาศยานแห่งนี้ “บรรณวิทย์” เสนอโละบอร์ด ทอท. เชื่อเป็นทางออกที่ให้ทุกเรื่องหนักอกของสุวรรณภูมิคลี่คลาย
การเดินเกมขุดคุ้ยเบาะแสการทุจริตคอร์รัปชัน พร้อมๆ กับการติดตามแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ ของ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ เก่งเรียน ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา และติดตามการแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เข้ามาถึงอีกจุด “ร้อน” เมื่อ พล.ร.อ.บรรณวิทย์ ส่งเรื่องเกี่ยวกับการทุจริตในสัญญาก่อสร้างอาคารสนามบินสุวรรณภูมิไปให้กับคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) เมื่อวันที่ 3 เมษายนที่ผ่านมา หลังจากใช้เวลาในการศึกษาความทุจริตในสัญญามาเป็นเวลากว่า 3 เดือน 3 สัปดาห์กว่าจะได้ข้อยุติ
“สัญญานี้เอาผิดถึงนักการเมืองมีการสั่งการลงมา เป็นการแก้แบบที่เป็นสาระสำคัญ และเพิ่มวงเงินโดยไม่ขออนุมัติจากคณะกรรมการการท่าฯ ที่เป็นบริษัทมหาชน มีกฎเกณฑ์ แม้เป็นนายกรัฐมนตรีก็ทำไม่ได้ และเมื่อแก้แบบก็ไม่ได้มีการประกวดราคาใหม่สร้างเลย” พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์”
นี่เป็นอีกสัญญาคอร์รัปชันใหม่สดๆ ร้อนๆ ที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษา และติดตามการแก้ไขปัญหาสนามบินสุวรรณภูมิส่งเรื่องไปยัง คตส.เพื่อเอาผิดนักการเมืองขี้ฉ้อตั้งแต่ระดับนายกรัฐมนตรีลงมา ซึ่งไม่ต้องบอกก็คงทราบดีแล้วว่าเป็นใคร หลังจากที่ก่อนหน้านี้ได้ส่งเรื่องร้องทุกข์กล่าวโทษกรณี ซีทีเอ็กซ์ 9000 ท่อร้อยสาย และคิงเพาเวอร์ ไปเรียบร้อยแล้ว
เปิดแผลใหม่! ส่งถึงมือ คตส.ร้อนๆ
สัญญาก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิที่ส่งกลิ่นเหม็นโฉ่ คือ แผลใหม่ที่ พล.ร.อ.บรรณวิทย์เปิดขึ้นก่อนที่จะส่งให้ คตส.รับไปชำแหละต่อ
“ปัญหาที่พบใหม่ๆ ที่นี่เยอะมาก แต่เราไปไม่ถึง ตอนนี้ต้องเลือกทำเฉพาะที่จะกระทบต่อผู้ใช้บริการ จากสัญญาทั้งหมดเราไปได้อย่างเก่งผมว่าไม่เกิน 10 สัญญา วันนี้ (3 เมษายน) เพิ่งเสร็จสัญญาเดียว เพิ่งจะได้ข้อยุติว่าสัญญาก่อสร้างอาคารผิดพลาดตรงไหน มีการแก้ไขอย่างไร มีการเพิ่มวงเงินอย่างไร เมอร์ฟี่จาห์นออกแบบ แต่สุดท้ายก็ไม่ใช่เมอร์ฟี่จาห์น เพราะมีการแก้แบบทั้งหมด 24 ครั้ง เลยไม่รู้ว่าใครออกแบบแล้ว”
สำหรับผู้ที่ออกแบบก่อสร้างอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิก็คือ เมอร์ฟี่ จาห์น แทมส์ แอ็ก : MJTA ที่ใช้เวลาในการออกแบบสนามบินแห่งนี้ยาวนานนับ 10 ปี สัมผัสทุกรัฐบาล โดย วันชัย วิมุกตายน กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอ็คคอนซัลแท้นส์ และกรรมการบริหารกลุ่มเมอร์ฟี่ จาห์น แทมส์ แอ็ก ยอมรับว่าการออกแบบและการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงของเอ็มเจทีเอไม่ถือว่าเป็นเรื่องแปลก เพราะคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสุวรรณภูมิเป็นสนามบินที่มีอายุการดำเนินงานก่อสร้างมายาวนานกว่า 45 ปี มีการปรับเปลี่ยนรัฐบาลหลายยุคหลายสมัย (ฐานเศรษฐกิจ : พลิกปูมแก้แบบ “สุวรรณภูมิ” เอ็มเจทีเอ แจงยิบ 5 รัฐบาลมีเอี่ยว)
เมื่อเป็นเช่นนี้จึงส่งผลให้แบบการก่อสร้างจึงต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา แต่การปรับเปลี่ยนจะไม่กระทบต่อโครงสร้างของอาคารแต่อย่างใด และแม้การออกแบบจะผิด พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร พ.ศ.2522 ก็ผิดในจุดที่ยอมรับได้ เพราะหากจะต้องก่อสร้างตามข้อกำหนดใน พ.ร.บ.ดังกล่าว สนามบินแห่งนี้จะต้องมีทางหนีไฟมากมาย ต้องมีห้องน้ำหญิงชายรวมกันกว่า 2 หมื่นห้อง เพราะเป็นอาคารที่มีเนื้อที่ขนาดใหญ่ ซึ่งในทางปฏิบัติเป็นไปไม่ได้ และเรื่องนี้ไม่ได้เป็นปัญหา ซึ่งอาคารของรัฐอีกหลายโครงการก็เข้าข่ายผิด พ.ร.บ.นี้ แต่ก็แก้ไขด้วยการออกกฎกระทรวงมาแก้ไข ซึ่งกฎหมายก็เปิดช่องว่างเรื่องนี้ไว้
สำหรับเนื้องานที่ปรับแบบในหลายครั้งของเอ็มเจทีเอมีทั้งหมดจำนวน 24 ครั้ง ซึ่งจะปรับแก้ไขแบบในทุกส่วน อาทิ บริเวณชั้น 4 ของอาคารผู้โดยสารได้เพิ่มเช็คอินเคาน์เตอร์เป็น 460 เคาน์เตอร์ เพิ่มช่องตรวจสำหรับตำรวจตรวจคนเข้าเมืองจาก 40 เป็น 72 เคาน์เตอร์ ยกพื้นที่ด้านตะวันออกและเช็กอินเคาน์เตอร์ที่ 1 ให้เป็นจุดสำหรับเช็กอินพรีเมียมของการบินไทย ปรับปรุงทางลงชัน 3 เดิมของผู้โดยสารขาออกในประเทศเป็นทางลงหลักของเลาจน์การบินไทย เพิ่มทางลงของผู้โดยสารขาออกในประเทศจากชั้น 3 ลงไปชั้น 2 อาคารเทียบเครื่องบิน
ในส่วนอาคารเทียบเครื่องบินมีการปิดช่องโล่งในบริเวณอาคารเทียบเครื่องบินหมายเลข D และแอร์ไซด์ เซ็นเตอร์ เพื่อเพิ่มพื้นที่พาณิชย์ตามคำแนะนำของไออาต้า และอาร์ซี (Retail Consultant) เนื่องจากไออาต้าได้ให้ข้อเสนอแนะว่าควรเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์เพื่อให้ทอท.มีรายได้จากส่วนนี้เพิ่มขึ้นเป็น 50-55% เพราะเกรงว่าหากมีพื้นที่เชิงพาณิชย์น้อยเกินไปจะส่งผลให้ทอท.เรียกเก็บค่าธรรมเนียมและค่าบริการจากสายการบินในอัตราที่สูงเกินไป
นั่นคือคำให้การของฝ่ายเอ็มเจทีเอ ซึ่งน่าสังเกตว่าเพราะเหตุผลที่ทอท.ต้องการเพิ่มพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้มากขึ้นนั่นเอง จึงเป็นที่มาของการเพิ่มพื้นที่ดิวตี้ฟรี และพื้นที่เชิงพาณิชย์ให้กับกลุ่มคิงเพาเวอร์ และที่น่าสนใจต่อจากนั้นก็คือ จากการนี้ทำให้ต้องปิดพื้นที่ที่จะต้องเป็นทางเลื่อนจากเดิมที่ต้องทำ 35 ทางเลื่อนเหลือเพียง 17 ทางเลื่อนเพื่อให้พื้นที่ร้านค้าเชิงพาณิชย์แทน ทำให้ผู้โดยสารขาเข้าประเทศต้องเดินลากกระเป๋าจนขาแทบลาก
สำหรับรายงานผลการพิจารณาสอบสวน กรณีการจัดจ้างก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร และอาคารเทียบเครื่องบิน ณ สนามบินสุวรรณภูมินั้น ที่พล.ร.อ.บรรณวิทย์ได้ยื่นให้กับประธานคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) และประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในประเด็นการทุจริตนั้นมี 3 เล่ม เล่มที่ 1 เกี่ยวกับคำร้อง เล่มที่ 2 เป็นข้อกล่าวหา และเล่มที่ 3 ความเสียหาย กลุ่มบุคคลที่เกี่ยวข้อง และฐานความผิด
รายละเอียดในเอกสารสรุปได้ว่า กรรมาธิการวิสามัญฯ อื่น และที่ปรึกษาประจำคณะกรรมาธิการวิสามัญอีกจำนวน 49 คน ได้ร่วมกันพิจารณาสอบสวนและศึกษาเรื่องเกี่ยวกับทุจรติในการจัดจ้างอาคารผู้โดยสารฯ ตั้งแต่กระบวนการและขั้นตอนก่อนเกิดสัญญา ขั้นตอนการสั่งให้เกิดสัญญา และสาระสำคัญของสัญญา ตลอดจนการดำเนินการบริหารสัญญาในการก่อสร้าง โดยเห็นว่าเรื่องนี้เป็นโครงการที่สำคัญที่สุดในสนามบินสุวรรณภูมิทั้งมูลค่าสูงที่สุดในโครงการเดียว และเป็นฐานเกี่ยวเนื่องกับการตรวจสอบกรณีอื่นๆ ที่ คตส. และ ป.ป.ช.ให้ความสนใจ เช่น เกี่ยวเนื่องกับกรณีซีทีเอ็กซ์ เกี่ยวเนื่องกับกรณีท่อร้อยสาย เกี่ยวเนื่องกับกรณีคิงเพาเวอร์ ซึ่งทุกโครงการที่พบว่ามีการทุจริตส่วนมีความสัมพันธ์ตรงกับอาคารผู้โดยสารทั้งสิ้น มีราคาทรัพย์สินที่ทุจริต 53,000 ล้านบาทโดยประมาณ
ในเอกสารยังระบุด้วยว่า ความเสียหายในด้านการใช้งานที่สัมผัสได้โดยสาธารณชนนั้น นักวิชาการชี้ปฐมเหตุว่าน่าจะต้องวิเคราะห์ที่ต้นเหตุ ต้นตอ คือ แบบที่ใช้ก่อสร้างในสัญญา ประกอบกับขณะนี้ผู้รับจ้าง (ITO) ในโครงการดังกล่าวขอเงินเพิ่มอีก 9.3 พันล้านบาท ในรูปของงานที่ต้องเปลี่ยนแปลง อันเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของแบบก่อสร้าง และผลกระทบอื่นของแบบก่อสร้างที่ใช้ลงนามในสัญญา
ฉ้อฉลสุวรรณภูมิ สูญ 9.3 พันล้าน
ทั้งนี้รายงานดังกล่าวได้ระบุถึงความเสียหายที่เกิดขึ้นแบ่งเป็น 3 ด้าน คือ ด้านการเงิน ด้านเวลา และด้านการใช้งาน โดยความเสียหายด้านการเงิน ตามเอกสารเรียกร้องของผู้รับจ้าง ITO มีมูลค่ารวมกว่า 9.3 พันล้านบาท ซึ่งความเสียหายแรกระบุว่าเป็นผลมาจากการทำ Variations หรือการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ได้แยกการเปลี่ยนแปลงในรูป Supplementary Contracts ออกแล้ว คือมีการแยกจ้างในรายการที่เคยตัดออกตามคำสั่ง 96/2544 อีกหลายพันล้าน เช่น Automated People Mover (APM)
นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตว่า ในรายการ 9.3 พันล้านบาท ได้รวมความเสียหายจากด้าน Claim ทับซ้อนไว้แล้ว ซึ่งตามเอกสารแนบความเสียหายการรวมหมวด Claim ที่ผู้รับเหมากล่าวอ้างนั้นสืบเนื่องจากความไม่สมบูรณ์ของแบบที่มีปฐมเหตุมาจากคำสั่งที่ 96/2544 อันก่อให้เกิดความเสียหายระหว่างการก่อสร้าง และการกลับกลายมาต้องจ้าง MJTA กลับมาอีกหลายสัญญาจ้าง ซึ่งสร้างความเสียหายโดยไม่มีผู้รับผิดชอบเพราะบางสัญญาจ้างที่เอื้อให้ MJTA เซ็นต์เพิ่มเติมกัล บทม.นั้น หัวหน้าทีมหลักคือ Murphy/Jeans ก็ปฏิเสธที่จะเข้าร่วมลงนามกับ บทม.แม้ต่อมามีการส่งคนมาร่วมทำงานรับเงินแต่ก็ไม่มี Liability ปัญหาพื้นฐานจึงล้วนเนื่องจากแบบก่อสร้างของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และพวก
กรณีตัวอย่างเช่น แบบหลังคาเทอร์มินอลเมื่อก่อสร้างแล้วสามารถที่จะพังได้ ผู้ตรวจสอบอิสระแจ้งว่าเป็นเหตุจากผู้ออกแบบ แต่นายศรีสุข กลับเร่งจ่ายเงินและเพิ่มเงินอีกหลายร้อยล้าน หรือกรณีแบบโครงสร้างง่ายๆ เช่น แบบคานปูน (Edge Beam) ที่รับโครงหลังคา Concourse เมื่อถูกลดขนาดเล็กลงไปในการแก้แบบของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และพวก ก็ต้องเสียเงินอีกรวมหลายร้อยล้านบาทเพื่อแก้ไขให้โครงสร้างคงอยู่ได้ โดยขณะนี้แม้มีการสงวนสิทธิ์ที่จะเก็บเงินจาก MJTA แต่ก็ยังมิได้เก็บเงินจาก MJTA แต่อย่างใด แต่กลับร่วมเอื้อประโยชน์ให้ MJTA และ ACT (ส่วนร่วมค้าใน MJTA) เข้ามาเป็นคู่สัญญาในกิจการออกแบบ แก้ไขแบบ และงานเพิ่มเติมรวมอีก 9 สัญญา คิดเป็นมูลค่านับพันล้านบาท เหล่านี้ล้วนเป็นตัวอย่างความเสียหายที่นายศรีสุข จันทรางศุ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และพวกเป็นผู้ก่อทั้งสิ้น
ความเสียหายด้านการเงินที่เกิดขึ้นมานี้ยากจะเยียวยา ส่วนความเสียหายเชิงปริมาณสรุปได้ดังนี้ ประการแรกการตัดเนื้องานออกแล้วเพิ่มเข้ามาใหม่ให้ไอทีโอผู้รับจ้างรายเดิม โดยวิธีพิเศษ และสร้างส่วนต่างที่แพงขึ้น ให้รัฐเสียหายรวมประมาณได้ 4,700 ล้านบาท จากรายการ เช่น Airside Groups, APM, Training, Design, Spare Parts และอื่นๆล้วนเป็นรายการที่ PMC เคยโต้แย้งถึงความจำเป็นในกระบวนการออกแบบและก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่
ทั้งนี้ ยังมีค่าเรียกร้องเพราะแบบและเอกสารประกวดราคาของนายวันมูหะมัดนอร์ มะทา และพวก เกิดความไม่สมบูรณ์ (เกิด Claims) ประมาณ 2,700 ล้านบาท และงานเพิ่มเติม 6,600 ล้านบาท (รวม 9,300 ล้านบาท)
นอกจากนี้ยังมีสัญญาเพิ่มเติมโดยวิธีพิเศษเช่น CTX และสายพานประมาณ 4,335 ล้านบาทและเก้าอี้บริหารต่างๆอีก 6,330 ล้านบาท โดย บทม.(ทอท.) ควรจะเรียกร้องค่าเสียหายคืนจาก MJTA หรือกลุ่มตามคำสั่ง 96/2544 ได้ประมาณ 1,400 ล้านบาท ในทันที แต่ บทม.(ทอท.) โดยมีนายศรีสุข จันทรางศุ เป็นผู้กำกับโครงการก่อสร้างกลับมิได้ดำเนินการใดๆทั้งสิ้น
สำหรับความเสียหายด้านเวลาและความล่าช้าจะเห็นได้ว่าโครงการก่อสร้างอาคารยังไม่แล้วเสร็จ ยังมีความบกพร่องจนไม่สามารถรับงานได้ เกิดความล่าช้าจากสัญญาเดิมปี 2547 และมีการถือเหตุขยายเวลามาโดยตลอด เช่นเหตุจากแบบบกพร่องหรือเหตุจากการเปลี่ยนแปลงงาน และกระทั่งบัดนี้ก็ยังไม่มีการออก Certificate of Substantial Completion อีกทั้งยังเกิดความเสียหายอีกมากมายในรูปของ Liquidated Damages และ General Damages ที่ต้องเก็บนับหลายพันล้านบาทแต่ ทอท.ยังคงวางเฉย
ในเชิงปริมาณความเสียหายด้านเวลานั้น บทม.ควรเป็ยฝ่ายได้รับเงินค่าปรับกลับมาวันละ 5 ล้านบาท นับจากวันที่ 28 กันยายน 2548 แต่ยังคงเสียหายด้านโอกาส โดยเฉลี่ยเป็นยอดสุทธิจากรายได้ปีละ 14,000 ล้านบาท
ในส่วนของความเสียหายด้านการใช้งาน และชื่อเสียง มีมากเกินกว่าจะประเมินเป็นตัวเงิน ปัจจุบันสนามบินสุวรรณภูมิมีระดับการใช้งานเพียง 3 ดาวจากมาตรฐานสากล และเฉพาะตัวอาคารผู้โดยสารของสนามบินถูกกำหนดให้อยู่ในระดับต่ำเพียง 2 ดาวเท่านั้น และตามที่ปรากฏจากรายงานร้องเรียนหลายร้อยหน้ากระดาษจากทุกส่วนของผู้ใช้อาคารระบุว่าปัญหาเกิดจากแบบก่อสร้าง ซึ่งมีการกล่าวมาโดยตลอดว่า พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา นายศรีสุข จันทรางศุ เป็นผู้ดำเนินการไปจนถึงขั้นนำไปประกอบสัญญาจ้าง
ทั้งนี้ ปัญหาในการลดคุณภาพและลดขอบเขตการรับประกัน เช่น อายุผ้าใบ จากมาตรฐานสากล 20 ปีเหลือเพียง 5 ปี ปรากฏตามการเปลี่ยนแปลงสัญญาโดยพลการของนายศรีสุข จันทรางศุ ส่งผลให้สนามบินสุวรรณภูมิกำลังจะหมดสภาพการใช้งาน หรือบางรายการเช่น โครงสร้างถึงขั้นแตก เป็นอันตรายแม้จะมีความพยายามในการซ่อมแซมปรับปรุงมาโดยตลอด
ความภาคภูมิใจกลับกลายเป็นความเสียหาย โดยผู้ถูกกล่าวหาคือ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายศรีสุข จันทรางศุ มีความผิดตาม พ.ร.บ.พนักงานในองค์กรของรัฐ มาตรา 4, 8 และ 11ความผิดตาม พ.ร.บ.ทอท.มาตรา 46 ความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 152, 157, 352, 354 ประกอบมาตรา 83,86 ความผิดตาม พ.ร.บ.ตลาดหลักทรัพย์มาตรา 304,308,311,313 และ 315 ความผิดตาม พ.ร.บ.บริษัทมหาชนจำกัด มาตรา 85 และ 91 โดยในส่วนของนักการเมืองที่เกี่ยวข้องต้องให้กระทรวงการคลังและ ทอท.ซึ่งเป็นหน่วยงานเข้าร้องทุกข์กล่าวโทษต่อ คตส.ก่อน ตามกฎหมาย ป.ป.ช.มาตรา 66 และ 67
ทุกปัญหาสุวรรณภูมิผ่านไปเกือบปีไม่มีแก้ไข
นับจากเปิดสนามบินสุวรรณภูมิมาตั้งแต่วันที่ 28 กันยายนปีที่ผ่านมาจนถึงวันนี้มีปัญหาเกิดขึ้นตลอด ไม่ว่าจะเป็น ท่าน้ำประปาแตก กระจกร้าว อาคารทรุด แท็กซี่เวย์-รันเวย์ร้าว ระบบปรับอากาศ ความสกปรกในห้องน้ำ และอื่นๆอีกมาก แต่เชื่อหรือไม่ว่าจนถึงวันนี้ปัญหาต่างๆ หลายต่อหลายเรื่องโดยเฉพาะเรื่องใหญ่ๆ ยังไม่ได้รับการแก้ไขอย่างเป็นเรื่องเป็นราว อาทิ ปัญหาทางวิ่ง-ทางขับ ที่มีปัญหาทั้งทรุดทั้งร้าวเกือบแสนตารางเมตร จนเป็นเหตุให้ต้องย้ายเที่ยวบินภายในประเทศกลับมายังสนามบินดอนเมือง เปลี่ยนนโยบายที่จะใช้สนามบินนานาชาติเพียงแห่งเดียวกลายเป็น 2 สนามบินคู่ขนานกันไปนั้น
ล่าสุด เมื่อวันที่ 4 เมษายนที่ผ่านมา ภาสกร สุวรรณกนิษฐ์ รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ทอท. ในฐานะประธานคณะกรรมการบริหารโครงการกรณีการชำรุดบริเวณทางขับ และทางวิ่งท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เพิ่งออกมาแถลงข่าวว่า ขณะนี้คณะกรรมการได้จัดทำร่างเงื่อนไขการประมูล หรือทีโออาร์ เพื่อจัดจ้างบริษัทที่ปรึกษามาศึกษาหาสาเหตุการชำรุดและแนวทางแก้ไขเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยภายในสัปดาห์นี้จะส่งร่างทีโออาร์ดังกล่าวไปยังสมาคมวิชาชีพวิศวกรเพื่อขอความคิดเห็น ก่อนเสนอให้คณะกรรมการ ทอท.พิจารณาเพื่อประกาศเชิญชวน เชื่อว่าจะดำเนินการได้ต้นเดือนพฤษภาคมนี้ ทั้งที่จริงแล้วปัญหาดังกล่าวเป็นปัญหาที่ค่อนข้างรุนแรงส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยต่อชีวิต ทรัพย์สิน และภาพลักษณ์ของประเทศ
“ไม่เข้าใจเหมือนกันว่าทำไมเกิดอย่างนี้ทั้งที่ทางวิ่งทางขับ ทางสภาวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยก็แนะนำแล้วว่าให้ฟ้องคุ้มครองฉุกเฉินเพื่อจะให้บริษัทที่ก่อสร้างรับผิดชอบก็ไม่ยอมทำ การที่เราไม่ทำทำให้เราเสียเปรียบเรื่องจะไปเคลม เพราะสัญญาเคลมจะหมดในเดือนสิงหาคม หรือกันยายน
แล้วเรื่องการเรียกค่าค้ำประกัน ใครจะเชื่อว่าคณะกรรมการท่าอากาศยานที่เป็นวิศวกรไม่รู้ว่ามีสัญญาเคลม เราเชิญทางบอร์ดที่เป็นคณะกรรมการในการซ่อมแท็กซี่เวย์ กับรันเวย์มาชี้แจงที่สภาแล้วบอกว่า ทำไมท่านถึงไม่เรียกค่าเสียหายจากบริษัท เขาก็บอกว่าไม่รู้ เราก็บอกว่ามีสัญญานะ เขาก็บอกว่าไม่มี เราก็มอบสัญญานั้นให้ไป เขาก็เอาสัญญานั้นไปดูแล้วก็ยังไม่ทำอีก ผมไม่อยากคิดเลยว่าวันหนึ่งคณะวิสามัญฯจะต้องไปแจ้งร้องทุกข์กล่าวโทษกับคณะกรรมการชุดนี้” พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าว และว่า วันนี้มองให้เห็นว่าการทำงานของฝ่ายบริหารที่ควบคุมสุวรรณภูมิไม่ใช่แค่เกียร์ว่าง แต่เป็นเกียร์ถอยหลังด้วย
สิ่งที่สามารถสะท้อนให้เห็นได้อย่างเป็นรูปธรรมว่าสนามบินสุวรรณภูมิมีปัญหา และไม่สมบูรณ์พร้อม ก็คือ การที่กรมการขนส่งทางอากาศ (ขสอ.) ปฏิเสธการต่อใบแอร์โรโดม โอเปอเรติ้ง แมนวล หรือคู่มือการดำเนินการในเขตปฏิบัติการบินให้กับสนามบินสุวรรณภูมิที่หมดอายุลงเมื่อ 25 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งแม้ว่าทางอธิบดีกรมการขนส่งทางอากาศ ชัยศักดิ์ อังค์สุวรรณ จะออกมาบอกถึงสาเหตุของการไม่ต่อใบอนุญาตให้ว่า ไม่ได้เกิดจากปัญหาต่างๆที่เกิดขึ้นภายในสนามบินก็ตาม แต่ก็เป็นเรื่องแปลกว่าทั้งที่สนามบินสุวรรณภูมิเป็นของประเทศไทยแท้ๆ แต่ขสอ.กลับไม่ยอมต่อใบอนุญาตให้ ย่อมต้องแสดงให้เห็นว่าสนามบินที่เป็นความภาคภูมิใจของคนไทยทั้งประเทศแห่งนี้ต้องมีข้อบกพร่องที่ไม่ยอมแก้ไข หรือยังไม่ได้แก้ไขอีกมากมาย
ตัวอย่างปัญหาคาราคาซังเหตุเกิดจากฝ่ายใด
ปัจจุบันสุวรรณภูมิมีปัญหากว่า 60 จุด แบ่งเป็นปัญหาที่เป็นอันตรายร้ายแรง 30 จุด ที่เหลือเป็นความปลอดภัยทั่วไป ปัญหาที่เป็นอันตรายร้ายแรง เช่น ตู้ควบคุมระบบไฟที่ติดตั้งอยู่บนคานของอาคารสามารถอยู่ในอุณหภูมิไม่เกิน 40 องศา แต่หน้าร้อนของไทยมีอุณหภูมิเกิน 40 องศาซึ่งอาจทำให้ไฟไหม้ในอาคารได้ ขณะที่ระบบดับเพลิงบริเวณดังกล่าวจะใช้เวลาอย่างน้อย 45 นาทีเพื่อให้คนขึ้นไปดับไฟเพราะไม่มีบันได และทางหนีไฟ เช่น ประตูหนีไฟยังมีสิ่งของกีดขวาง ขณะที่ปัญหารันเวย์และแท็กซี่เวย์อาจไม่ใช่ปัญหาใหญ่หากเทียบกับปัญหาภายใตอาคารผู้โดยสารและอาคารเทียบเครื่องบินที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิที่ส่งผลกระทบต่อความปลอดภัยของผู้โดยสารมากกว่า เพราะเที่ยวบินหนึ่งมีผู้โดยสาร 300-400 คน แต่ผู้อยู่ในอาคารมีไม่น้อยกว่าหมื่นคน
จากปัญหาใหญ่ที่มีผลต่อชีวิตและทรัพย์สินอย่างรันเวย์ และแท็กซี่เวย์ ไปจนถึงปัญหาเล็กๆอย่างห้องน้ำสกปรกนั้น ไม่ว่าปัญหาจะเล็กหรือใหญ่แทบจะไม่ได้รับการแก้ไขเลย ตัวอย่างเรื่องห้องน้ำที่ทั้งน้อยและสกปรกนั้น จริงแล้วหลายฝ่ายก็ล้วนตระหนักในปัญหานี้ว่าเกิดจากจำนวนห้องน้ำที่น้อยมาก แต่ปัญหาใหญ่กว่าคือไม่สามารถเพิ่มจำนวนห้องน้ำได้ เมื่อเป็นเช่นนี้จึงต้องทำความสะอาดห้องน้ำที่มีจำนวนน้อยอยู่แล้วให้สะอาดมากยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
สิ่งที่เกิดขึ้นจริงในขณะนี้ คือ เวลานี้มีคนทำความสะอาดไม่เพียงพอ คือ มีคนเพียงหนึ่งคนแต่ต้องทำความสะอาดห้องน้ำทั้งชาย-หญิง และห้องสูบบุหรี่ โดยต้องทำงานกะละ 12 ชั่วโมง ขณะเดียวกันอ่างล้างหน้าที่มีขนาดเล็กผิดปกติทำให้เวลาเปิดน้ำใช้แต่ละครั้งจะกระเซ็นเปียกเปื้อนพื้นเต็มไปหมด เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้พนักงานเกิดความอ่อนล้า ซึ่งที่ผ่านมามีการเสนอให้เพิ่มจำนวนพนักงานให้มากขึ้นเป็นห้องละ1 คน และให้ทำงานกะละ 4 ชั่วโมง หรือ 6 ชั่วโมง แต่ต้องทำงานตลอดเวลา แต่แนวทางนี้กลับไม่ได้รับการตอบรับเนื่องจากคณะกรรมการทอท.อ้างว่าไม่สามารถเพิ่มได้ในเวลานี้ เนื่องจากผิดสัญญาที่ทำไว้กับบริษัททำความสะอาด
“เรื่องนี้ผมเคยเสนอว่า เมื่อมีสัญญาเราก็ตั้งคณะทำงานเข้าไปดู เรียกบริษัทมาว่าเพิ่มคนได้หรือไม่ ถ้าเขาบอกว่าไม่ได้ เพราะถ้าเพิ่มต้องเพิ่มเงิน ทางแก้ง่ายๆก็คือ เราก็ไปฟ้องคุ้มครองฉุกเฉินว่าเขาไม่สามารถทำความสะอาดห้องน้ำได้ ขอให้หยุดไปก่อน แล้วนำศาลเผชิญสืบ ศาลไปเห็นห้องน้ำว่าอยู่ได้อย่างไร สกปรกอย่างนี้เป็นหน้าตาของประเทศ ก็คุ้มครองฉุกเฉินให้กับเรา เราก็จ้างบริษัทใหม่เข้ามาออกทีโออาร์ใหม่ ถามว่าทำอย่างนี้แล้วห้องน้ำจะสะอาดไหม นี่เรื่องง่ายที่สุดท่านยังไม่ทำเลย ก็สงสัยอยู่เหมือนกันว่าท่านทำอะไรอยู่” พล.ร.อ.บรรณวิทย์ กล่าว และว่า
“ผมอยากเห็นการโละบอร์ดชุดเดิม เพราะเป็นบอร์ดที่ประธานบอร์ดไม่ได้กำหนดเลือกมาสักคน แล้วถามว่าจะทำงานได้อย่างไร”
|