|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
-เศรษฐกิจไทย"ยุคขิงแก่"ถึงทางตัน
-แบงก์ชาติ-คลัง เห็นขัดแย้ง
-ภาคประชาชนก้มหน้ารับกรรม
-ใครคิดซื้อบ้านใหม่-รถยนต์ใหม่ รอของถูก
-ส่วนใครที่เป็นหนี้ต้องหาทางรับมือ-รีไฟแนนซ์.ด่วน..
คนไทยอ่วมเศรษฐกิจยุคขิงแก่ ปัญหาการเมืองไม่นิ่ง กลุ่มอำนาจเดิมขย่มหนักขึ้น ความเชื่อมั่นของคนถดถอย ไร้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ แถมแบงก์ชาติ-คลังงัดข้อ นักการเงินแนะประชาชนต้องพึ่งตัวเอง อะไรที่ไม่จำเป็นอย่างเพิ่งซื้อ ส่วนคนที่เป็นหนี้อยู่แล้วหาช่องทางลดภาระ หากไม่ไหวจริง ๆ ต้องตัดใจ
ครบรอบ 6 เดือนของการเข้ายึดอำนาจการปกครองของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ(คมช.) เมื่อ 19 มีนาคม 2550 แม้การเข้ามาในวันแรกได้รับเสียงตอบรับจากประชาชนเป็นอย่างดี หลังจากทนเห็นรัฐบาลชุดก่อนบริหารประเทศแล้วก่อให้เกิดความแตกแยกของคนในชาติ รวมถึงข้อครหาเรื่องการทุจริต คอรัปชั่น
แต่ในวันนี้ความเชื่อมั่นของประชาชนที่มีต่อรัฐบาลเริ่มลดน้อยลงทุกขณะ ท่ามกลางการลุกขึ้นมาทวงอำนาจของกลุ่มการเมืองเดิมในร่างทรงรูปแบบต่าง ๆ หลังจากที่รัฐบาลชุดปัจจุบันยังไม่สามารถสร้างความอุ่นใจในเรื่องทิศทางเศรษฐกิจให้กับภาคประชาชนได้ เสียงที่เคยหนุนการเข้ายึดอำนาจในครั้งนั้นเริ่มแผ่วลง
ความไม่ชัดเจนรวมถึงการไม่มีนโยบายทางด้านเศรษฐกิจที่ชัดเจน ส่งผลให้ภาคธุรกิจต่าง ๆ หยุดรอ ไม่ดำเนินการใด ๆ ใหม่ ไม่ปล่อยสินเชื่อใหม่ เมื่อเศรษฐกิจไม่เดินหน้า ผลกระทบเหล่านั้นจึงถูกส่งต่อมายังภาคประชาชน ที่ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอยเหมือนอดีต เนื่องจากไม่มั่นใจในเหตุการณ์ในอนาคต
เห็นได้จากดัชนีมูลค่าค้าปลีกทั่วประเทศในเดือนธันวาคม 2549 ที่ลดลงจากเดือนเดียวกันของปี 2548 ถึง 5.7% ต่ำกว่าทุกเดือนในปี 2549 สะท้อนถึงความไม่มั่นใจของผู้บริโภค แม้ในเดือนดังกล่าวจะเป็นเดือนสุดท้ายของปี ที่ปกติจะมีการจับจ่ายมากกว่าทุนเดือนเนื่องจากเทศกาลปีใหม่
ขณะเดียวกันยอดจำหน่ายรถยนต์และจักรยานยนต์ลดลงอย่างต่อเนื่องในช่วงปลายปี 2549 เช่นเดียวกัน ตามมาด้วยพฤติกรรมการใช้จ่ายผ่านบัตรเครดิตที่มีรายการหนี้คงค้างเพิ่มขึ้น มีรายการยอดเบิกเงินสดล่วงหน้าเพิ่มขึ้นเช่นเดียวกัน
ดังนั้นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้คืออัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยที่มีความเป็นไปได้สูงว่าในปี 2550 อาจจะเติบโตต่ำกว่า 4% ขณะที่รัฐบาลที่เพิ่งเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจากม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุลมาเป็น ดร.ฉลองภพ สุสังกร์กาญจน์ ยังไม่สามารถออกมาตรการที่เพิ่มความเชื่อมั่นให้กับประชาชนได้
ไม่มีแผนกระตุ้นเศรษฐกิจ
นักเศรษฐศาสตร์มหภาคกล่าวว่า สิ่งที่เกิดขึ้นกับภาวะเศรษฐกิจไทยในเวลานี้ถือเป็นช่วงเปลี่ยนถ่ายระหว่างการบริหารประเทศรูปแบบหนึ่งมาสู่อีกรูปแบบหนึ่ง จากเดิมที่รัฐบาลชุดก่อนเน้นหนักการอัดฉีดเงินลงสู่ระดับรากหญ้าเพื่อเพิ่มกำลังซื้อของคนในประเทศ ทั้ง ๆ ที่ขณะนั้นทิศทางดอกเบี้ยยังสูงและราคาน้ำมันปรับขึ้นทำสถิติใหม่เป็นว่าเล่น
แต่ในวันนี้ดอกเบี้ยอยู่ในแนวโน้มขาลง ราคาน้ำมันก็ปรับลดลงมามาก แต่ความมั่นใจของประชาชนกลับลดลงมากกว่าเดิม ปัจจัยที่มีผลกระทบมากที่สุดคือสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่นิ่ง รัฐบาลปัจจุบันยังไม่สามารถสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้เกิดขึ้นมาได้ และการเปลี่ยนวิธีการกระตุ้นเศรษฐกิจก็ทำให้ความเชื่อมั่นต่อรัฐถดถอยลง
ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาเรายังไม่เห็นแผนในการกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศที่เป็นรูปธรรม แม้จะมีความพยายามในการสร้างความชัดเจนเรื่องเมกะโปรเจคในเรื่องการก่อสร้างเส้นทางรถไฟ 5 เส้นทาง สุดท้ายก็ปรับลดเหลือ 2 เส้นทาง แถมยังเลื่อนการเริ่มงานออกไปอีก ยิ่งทำให้เม็ดเงินที่จะใส่เข้ามาในรูปของการก่อสร้างต้องลดจำนวนและยืดเวลาออกไป
ถึงวันนี้การฉีดเงินเข้าสู่ระบบเพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของคนถือเป็นเรื่องหลัก แม้รัฐบาลพยายามเร่งการเบิกจ่ายเงินงบประมาณ แต่ถือว่าค่อนข้างช้า เพราะน่าจะดำเนินการได้ตั้งแต่งบประมาณผ่านในช่วงต้นปี 2550
"จริง ๆ แล้วรัฐบาลจะต้องคิดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมาในหลายแนวทางพร้อม ๆ กัน ไม่ใช่ใช้การเร่งการเบิกจ่ายด้วยงบประมาณเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียว มีหลายสิ่งที่สามารถช่วยเพิ่มความเชื่อมั่น เพิ่มอำนาจซื้อในทางเศรษฐกิจได้หลากหลายรูปแบบด้วยกลไกของรัฐ แต่ดูเหมือนหลายสิ่งจะติดขัดไปหมด"
คลัง-แบงก์ชาติขัดแย้ง
หน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศนอกจากนโยบายของรัฐบาลแล้ว กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทยถือเป็นหน่วยงานสำคัญที่จะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศเดินหน้าต่อไปได้ แต่ที่ผ่านมาในยุคม.ร.ว.ปรีดิยาธร เทวกุล ที่มาจากผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง นโยบายต่าง ๆ เป็นไปในทางเดียวกัน
โดยเฉพาะมาตรการในการปกป้องค่าเงินบาท แม้จะช่วยให้ค่าเงินบาทไม่แข็งจนเกินไป ช่วยเพิ่มความสามารถให้กับภาคส่งออก แต่กลับทำให้ภาคธุรกิจอื่นต้องหยุดชะงักหลังจากที่เม็ดเงินต่างประเทศไม่ไหลเข้ามาเหมือนเคย แม้จะมีเสียงเรียกร้องให้มีการยกเลิกแต่ทั้ง 2 หน่วยงานยังคงมุ่งมั่นที่จะใช้มาตรการดังกล่าวต่อไป
เมื่อได้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังคนใหม่ แนวคิดในการยกเลิกมาตรการดังกล่าวถูกหยิบยกขึ้นมาว่าจะยกเลิกด้วยความเห็นพ้องของธนาคารแห่งประเทศไทย แต่สุดท้ายมาตรการดังกล่าวยังคงอยู่และก็มีการปูดข้อมูลว่าธนาคารแห่งประเทศไทยได้ทำการปกป้องค่าเงินบาทเป็นเงินราว 1 ล้านล้านบาทจากรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ตามมาด้วยการออกมาชี้แจงข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยว่า เงินที่ใช้แทรกแซงค่าเงินบาทไม่ใช่ 1 ล้านล้านบาท แต่มีการออกพันธบัตรรวมอยู่ด้วย
ขณะที่เสียงเรียกร้องให้ธนาคารแห่งประเทศไทยนำร่องลดดอกเบี้ย เพื่อช่วยให้ค่าเงินบาทอ่อนลงและกระตุ้นเศรษฐกิจไปในตัว คงต้องรอลุ้นผลการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงินในวันที่ 11 เมษายนนี้ แต่ทางธนาคารแห่งประเทศไทยยังได้เสนอแนะแนวทางในการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการให้ใช้ภาษีเป็นตัวกระตุ้น นั่นหมายถึงเป็นหน้าที่ของกระทรวงการคลังที่จะต้องเป็นผู้ดำเนินการ
เมื่อหน่วยงานที่มีหน้าที่สำคัญในการผลักดันเศรษฐกิจของประเทศขัดแย้งกันในลักษณะนี้ยิ่งทำให้เศรษฐกิจไทยตกอยู่ในสถานะที่ลำบากมากขึ้น เวลานี้เรายังไม่เห็นการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการใช้นโยบายทางการเงิน อย่างเช่นลดดอกเบี้ยแรง ๆ เพื่อลดแรงจูงใจในการออม ที่จะเร่งให้ประชาชนจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น
เราก็ไม่เห็นนโยบายทางการคลังเช่นการลดภาษีให้กับภาคบุคคล เพื่อคืนเงินกลับมาสู่ประชาชน หรือไม่เห็นการใช้มาตรการภาษีเพื่อเพิ่มความสามารถในการดำเนินการให้กับภาคการผลิต
"มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐแต่ละอย่างกว่าจะออกผลต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง แต่นี่ยังไม่มีอะไรที่ชัดเจนออกมายิ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยแย่มากกว่าที่เป็นอยู่" นักเศรษฐศาสตร์กล่าว
คิดจะซื้ออย่าเพิ่งซื้อ
ภายใต้สภาพการณ์ทางเศรษฐกิจที่ตกต่ำ สร้างความไม่มั่นใจต่อสถานการณ์ที่เกิดขึ้นส่งผลให้กำลังซื้อภาคประชาชนลดลงทุกขณะ ดังนั้นในภาคประชาชนย่อมต้องปรับตัวรับกับสภาพปัญหาดังกล่าว
นักการเงินรายหนึ่งกล่าวว่า เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มถดถอยส่งผลกระทบต่อสถานะทางการเงินของบุคคลแตกต่างกันไป แยกได้เป็น 2 กลุ่มคือกลุ่มที่ยังไม่มีภาระทางการเงินกับกลุ่มที่มีภาระทางการเงิน ที่จะต้องเกี่ยวข้องกับแผนการใช้ชีวิตในอนาคต ซึ่งเกี่ยวข้องกับบ้านหรือที่อยู่อาศัย รถยนต์ และวิธีการใช้เงิน
กลุ่มแรกคือกลุ่มที่ยังไม่ได้ซื้อบ้านหรือรถยนต์ ถือว่ามีสิทธิที่จะเลือกเงื่อนไขการซื้อที่ดีกว่าปัจจุบัน เนื่องจากแนวโน้มของอัตราดอกเบี้ยมีทิศทางปรับลดลงได้อีก 1% ภายในปีนี้จากแรงบีบของหลายฝ่ายเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ดังนั้นประชาชนหรือผู้บริโภคในกลุ่มนี้ถือว่าได้เปรียบสามารถที่จะรอให้ดอกเบี้ยปรับลดลงก่อนตัดสินใจซื้ออีกครั้ง หรือถ้ารอได้อาจเลื่อนการตัดสินใจไปต้นปีหน้าเพื่อประเมินสถานการณ์ใหม่อีกครั้ง
แม้ว่าการชะลอการซื้อบ้านหรือรถยนต์ ดูเหมือนเป็นการซ้ำเติมเศรษฐกิจของประเทศ แต่เราต้องคำนึงถึงตัวเราเองก่อน ไม่เช่นนั้นเราอาจต้องแบกรับภาระดอกเบี้ยสูงกว่าคนอื่น
ต้องช่วยตัวเอง
สำหรับกลุ่มที่ 2 เป็นกลุ่มที่มีทางเลือกน้อย เนื่องจากภาระหนี้สินได้เกิดขึ้นแล้ว ดังนั้นภายใต้สถานการณ์ที่เกิดความไม่เชื่อมั่นเศรษฐกิจย่อมทำให้กลุ่มนี้ตัดสินใจลำบาก โดยเฉพาะกลุ่มที่ผ่อนบ้านที่เพิ่งพ้นเงื่อนไขดอกเบี้ยแบบคงที่หรือแบบขั้นบันได เนื่องจากสถาบันการเงินที่ปล่อยสินเชื่อจะเสนอเงื่อนไขการผ่อนชำระบนสถานการณ์ดอกเบี้ยปัจจุบันให้ลูกค้าเลือกใหม่ว่าจะผ่อนชำระแบบคงที่หรือแบบขั้นบันไดต่อหรือใช้ดอกเบี้ยลอยตัว
ตัวอย่างที่สถาบันการเงินเสนอรูปแบบอัตราดอกเบี้ยให้ลูกค้าเลือก เช่น คงที่ 3 ปีที่ 6.75% หรือแบบขั้นบันไดปีแรก 6.5% ปีที่สอง 6.75% และปีที่สาม 7% หรือเลือกลอยตัวที่ 7.5% สิ่งที่เป็นปัญหาคือไม่มีใครคาดการณ์ได้ว่าอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะลดลงมากน้อยเพียงใด ทำให้ตัดสินใจยาก
หากเลือกแบบคงที่ 3 ปีที่ 6.75% หากธนาคารแห่งประเทศไทยปรับลดอัตราดอกเบี้ยนำร่องลดลง 1% ปี 2550 ดอกเบี้ยลอยตัวเหลือ 6.5% แค่ปีแรกก็ต้องจ่ายดอกเบี้ยสูงกว่าตลาด หากปี 2551 ปรับลดลงไปอีก 0.25-0.5% ยิ่งจะทำให้ผู้กู้เสียเปรียบมากขึ้น หากจะเลือกใช้อัตราดอกเบี้ยลอยตัวที่ 7.5% ในปัจจุบันก็ตอบยากว่าดอกเบี้ยจะลดลงมามากน้อยเพียงใด
"ถือว่าเป็นเรื่องปกติของผู้ที่ซื้อบ้านต้องหาทางหาแหล่งสินเชื่อที่ต่ำที่สุด เนื่องจากราคาบ้านแต่ละหลังค่อนข้างสูงและต้องผ่อนชำระยาวนาน"
แน่นอนว่าสถาบันการเงินจะกำหนดเวลาให้เลือก ดังนั้นผู้ผ่อนบ้านควรเลือกที่อัตราต่ำไปก่อน หลังจากนั้นค่อยมาหาทางออกกันใหม่ เพราะหากดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่ผ่อนชำระอยู่สูงกว่าสถาบันการเงินอื่น ก็อาจใช้วิธีการรีไฟแนนซ์ ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับเงินต้น อัตราดอกเบี้ยของสถาบันการเงินแห่งใหม่ เงื่อนไขและค่าใช้จ่ายในการรีไฟแนนซ์
หากเหลือเงินต้นและระยะเวลาในการผ่อนชำระอีกมาก แล้วดอกเบี้ยของสถาบันการเงินที่รับรีไฟแนนซ์ต่ำกว่าสถาบันการเงินเดิมตั้งแต่ 1% ขึ้นไปอาจจะคุ้ม แต่ทั้งนี้ต้องพิจารณาถึงดอกเบี้ยลอยตัวด้วยว่าต่ำกว่าสถาบันการเงินเดิมหรือไม่ เท่าไหร่ และค่าธรรมเนียมและค่าประเมินไม่สูงจนเกินไป
ทางที่ดีควรอดทนรอสักนิด รอให้สถานการณ์ดอกเบี้ยให้นิ่งก่อน แม้จะต้องแบกดอกเบี้ยที่ผ่อนอยู่ในอัตราที่สูงกว่าตลาดอยู่บ้าง หากชัดเจนแล้วจึงค่อยตัดสินใจ
นี่เป็นเพียงเรื่องบ้านที่นับว่าโชคดีที่ยังพอมีทางเลือกอยู่บ้าง แต่คนที่กำลังผ่อนชำระรถยนต์อยู่ถือว่าโชคร้าย หากดอกเบี้ยปรับลดลง เนื่องจากวิธีการคำนวณดอกเบี้ยสำหรับรถยนต์จะใช้ดอกเบี้ยคงที่ คิดตามปีที่เลือกผ่อนชำระแล้วจึงคิดออกมาเป็นยอดที่ต้องจ่ายในแต่ละงวด แม้ดอกเบี้ยในตลาดจะปรับลดลง ผู้ผ่อนชำระก็ต้องแบกรับภาระนั้นไปจนครบ
ส่วนใหญ่แล้วสถาบันการเงินมักไม่มีโครงการรับรีไฟแนนซ์เหมือนกับบ้าน ทำให้ผู้ที่ซื้อรถแทบจะไม่มีทางเลือก แม้จะนำเงินออมที่มีอยู่มาชำระทั้งหมดก็ไม่เกิดประโยชน์ เพราะวิธีคิดดอกเบี้ยในการซื้อรถยนต์จะเป็นแบบคงที่ไม่ใช่ลดต้นลดดอกเหมือนบ้าน
ปัญหาทางการเงินอีกด้านหนึ่งของประชาชน นอกเหนือจากผ่อนบ้าน ผ่อนรถแล้ว บางคนยังผ่อนบัตรเครดิตอีกด้วย ยิ่งในเดือนเมษายน 2550 ผู้ที่ถือบัตรเดิมแล้วมีหนี้ที่ต้องผ่อนชำระต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขใหม่ที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนด คือผ่อนชำระขั้นต่ำที่ 10% ดอกเบี้ยที่ผ่อนชำระขยับจาก 18% ขึ้นเป็น 20%
แม้ที่ผ่านมาสถาบันการเงินหลายแห่งจะพยายามขอให้ลูกหนี้ผ่อนชำระเพิ่มขึ้นมาโดยลำดับจากระดับ 5% แต่ก็มีลูกหนี้จำนวนไม่น้อยที่ไม่สามารถทำตามเงื่อนไขนั้นได้ เมื่อเกณฑ์ใหม่บังคับใช้ทั้งหมด ทางเลือกก็มีน้อยเช่นกัน
ก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการบัตรเครดิตเคยแข่งขันกันรับรีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตกันมาก โดยเสนออัตราดอกเบี้ยที่ต่ำกว่าเข้ามาล่อใจ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะมีผู้ประกอบการรายใหม่เข้ามารุกธุรกิจนี้ จึงต้องเร่งสร้างฐานลูกค้า แต่ถึงวันนี้ไม่มีรายใหม่เข้ามา ดังนั้นโปรโมชั่นรับซื้อหนี้บัตรเครดิตจึงแทบจะไม่มี หรือถ้ามีก็จะไม่คุ้มเนื่องจากต้องเสียดอกเบี้ยแพงกว่าเดิม
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถผ่อนชำระตามเงื่อนไขใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทยได้ คงต้องยอมที่จะจ่ายดอกเบี้ยแพงขึ้นเพื่อแลกกับการผ่อนชำระขั้นต่ำที่ต่ำกว่า 10% ผู้ประกอบการจะจัดสินเชื่อบุคคลเข้ามารับหนี้บัตรเครดิตแทน แต่ต้องจ่ายดอกเบี้ยที่ 22-28% แล้วแต่สถาบันการเงินที่ให้บริการ
อย่างไรก็ตามหากสภาพเศรษฐกิจอยู่ในภาวะที่นิ่งอย่างนี้ไปนาน ๆ ยิ่งจะทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของประชาชนลดลง ผู้ที่ผ่อนชำระเหล่านี้อาจตัดใจเลือกทิ้งทรัพย์สินเหล่านั้น ปัญหาจะตามมาอีกมา ทั้งเรื่องการฟ้องร้อง การบังคับคดีและจะลามมาถึงความสามารถในการทำกำของสถาบันการเงินผู้ให้บริการ หากหนักกว่านั้นคือตัวเลขหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้จะเพิ่มมากขึ้น
ในที่สุดปัญหาเดิม ๆ ที่เคยเกิดขึ้นในอดีต คนไทยในยุคนี้มีสิทธิที่จะต้องเผชิญกันอีกครั้ง
วายุภักษ์ 2 ตั้งง่าย:ขายยาก
ตลาดหลักทรัพย์ชงแผนผุดวายุภักษ์ 2 ก๊อปปี้วายุภักษ์ 1 หนุนตลาดหุ้น แต่สถานการณ์แตกต่าง คนกองทุนรวมมองสำเร็จยาก เหตุหุ้นของคลังเหลือไม่มาก แถมทิศทางทำกำไรไม่เหมือนอดีต ต้องกำหนดผลตอบแทนขั้นต่ำสูง คาดประชาชนตอบรับไม่มาก
แนวคิดในการจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 2 ที่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยพยายามพลักดัน พร้อมด้วยแรงหนุนอย่างบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม เอ็มเอฟซี จำกัด(มหาชน) หนึ่งในผู้บริหารกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ด้วยรูปแบบเดียวกับวายุภักษ์ 1 ขนาดของกองทุนไม่ต่ำกว่า 1 แสนล้านบาทเช่นกัน
ด้วยเหตุผลที่ระบุว่า เป็นช่วงที่เหมาะสมในการตั้งกองทุนขนาดใหญ่เข้ามากระตุ้นตลาดในช่วงนี้ เนื่องจากตลาดหุ้นไทยยังมีศักยภาพเพราะมีค่าอีพีเรโช ที่ต่ำไม่ถึง 9 เท่าและมีอัตราผลตอบแทนประมาณร้อยละ 4.8 และหากตั้งได้น่าจะมีนักลงทุนสนใจเข้ามาซื้อหน่วยลงทุนไม่ต่ำกว่า 40,000 คน
ทั้งนี้กองทุนวายุภักษ์ 1 ตั้งขึ้นเมื่อ 1 ธันวาคม 2546 เป็นกองทุนปิดอายุ 10 ปี เป็นกองทุนที่ค้ำประกันเงินต้นและผลตอบแทนขั้นต่ำร้อยละ 3% ต่อปีและมีโอกาสจะไม่ได้รับผลตอบแทนหรือได้รับผลตอบแทนที่สูงหรือต่ำกว่าอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่กำหนด
นโยบายการการลงทุน วายุภักษ์ 1 ลงทุนในหลักทรัพย์ของสถาบันการเงิน รัฐวิสาหกิจ และธุรกิจที่กระทวงการคลังถือหุ้นอยู่ในปัจจุบันและยังสามารถลงทุนในตราสารทางการเงินของรัฐบาล รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินอื่นที่เหมาะสม รวมทั้งการเปิดบัญชีเงินฝากกับสถาบันการเงิน
หากนับตั้งแต่การจัดตั้งกองทุนวายุภักษ์ 1 จนถึงสิ้นปี 2549 ผลการดำเนินงานนับตั้งแต่ตั้งกองทุนเพิ่มขึ้น 58.8% มีการจ่ายเงินปันผลทั้งสิ้น 6 ครั้งเป็นเงิน 1.9 บาทต่อหน่วย ภายในระยะเวลา 3 ปี เฉลี่ยต่อปีผู้ถือหน่วยได้รับผลตอบแทนราว 6.33%
ก่อนหน้านี้เคยมีความพยายามผลักดันให้มีการจัดตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ 2 เพื่อระดมทุนในใช้ในการสร้างรถไฟฟ้า แต่แนวคิดดังกล่าวเงียบหายไปเนื่องจากมีความไม่แน่นอนในเรื่องการก่อสร้าง
สถานการณ์ต่างวายุภักษ์ 1,2
ผู้บริการกองทุนรวมรายหนึ่งกล่าวว่า ผลตอบแทนจากกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 เฉลี่ยที่ 6.33% ต่อปีนั้นถือว่าสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ทั่วไป แต่ผลตอบแทนนับจากนี้ไปมีแนวโน้มว่าจะลดลงไปเรื่อย ๆ ตามสภาพเศรษฐกิจ และความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียน รวมถึงอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรใหม่ ๆ ที่จะออกมา
แนวคิดในการจัดตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ 2 ที่กระทรวงการคลังจะนำไปศึกษานั้น ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันคงจะทำได้ไม่ง่ายเหมือนในอดีต เนื่องจากสถานการณ์ทางด้านดอกเบี้ยในขณะนั้นอยู่ในอัตราต่ำ จากต้นปี 2545 โดยเงินฝากออมทรัพย์ลดลงจากระดับ 1.5% ลงมาเหลือ 0.75% ดอกเบี้ยเงินฝากประจำ 12 เดือนจาก 2% ลดลงเหลือ 1% ขณะที่ปัจจุบัน ดอกเบี้ยออมทรัพย์อยู่ที่ 0.75% แต่เงินฝากประจำ 12 เดือนส่วนใหญ่ให้ผลตอบแทนสูงกว่า 3%
หากจะออกกองทุนวายุภักษ์ 2 ในรูปแบบเดียวกันกับวายุภักษ์ 1 ก็ต้องเสนออัตราผลตอบแทนขั้นต่ำที่สูงกว่า ถือว่าเป็นเรื่องที่ท้าทายบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวมที่จะเข้ามารับหน้าที่บริหาร ขณะเดียวกันในช่วงปี 2546 ที่มีการตั้งวายุภักษ์ 1 ดัชนีตลาดหลักทรัพย์อยู่ในช่วงขาขึ้นอย่างต่อเนื่องจากแผนในการพัฒนาตลาดทุนของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา จากระดับดัชนีที่ 350 จุดขยับขึ้นถึง 772.15 จุดในวันสิ้นปี 2546 ทำให้การขายกองทุนรวมวายุภักษ์ 1 ทำได้ง่าย เนื่องจากประชาชนที่ไม่อยากทนรับสภาพออมเงินที่อัตราดอกเบี้ยต่ำ
หุ้นคลังเหลือไม่มาก
นอกจากนี้สถานการณ์วันนี้ไม่เหมือนกับเหตุการณ์ในปี 2546 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในตลาดหุ้นเมื่อปี 2546 อยู่ที่ 18,908.02 ล้านบาทต่อวัน แต่ในช่วงนี้เราซื้อขายกันต่ำกว่าหมื่นล้านบาท บางวันเหลือเพียง 4.7 พันล้านบาทเท่านั้น แถมทิศทางของดัชนีตลาดหลักทรัพย์ยังถูกปกคลุมด้วยปัจจัยความไม่เชื่อมั่นทั้งทางด้านการเมืองและเศรษฐกิจ
นักลงทุนต่างประเทศถูกมาตรการกันสำรองสกัดกั้นการเข้ามาทำกำไรค่าเงิน ทำให้ตลาดหุ้นซบเซาไปด้วย กำลังซื้อของคนในประเทศตกจากความไม่มั่นใจ ตลาดหุ้นไม่มีบริษัทจดทะเบียนใหม่ที่ดึงดูดใจนักลงทุน แผนการสร้างเมกะโปรเจคถูกลดขนาดโครงการลง
ที่สำคัญหุ้นที่อยู่ในมือกระทรวงการคลัง แม้จะยังเหลืออยู่แต่ถือว่าเหลืออีกไม่มาก เนื่องจากมีกฎเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังจะต้องถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 70% เว้นแต่มีการแก้กฎระเบียบ ซึ่งคงทำได้ไม่ง่ายนักสำหรับรัฐบาลชุดปัจจุบัน
หากใช้รูปแบบเดียวกันกับวายุภักษ์ 1 ทั้งหมด หุ้นที่กระทรวงการคลังถืออยู่นั้นก็เป็นหุ้นในกลุ่มเดียวกับวายุภักษ์ 1 จะทำให้วายุภักษ์ 2 ขนาดกองทุน 1 แสนล้านบาทดึงความสนใจของภาคประชาชนได้ไม่มากนัก
อย่าลืมว่าในรัฐบาลที่แล้ว มีแผนในการปั้นตลาดทุนที่ชัดเจน ส่วนจะปั้นเพื่อขายชิน คอร์ป หรือไม่นั้นคงตอบยาก แต่ที่แน่ ๆ ทำให้ตลาดหุ้นคึกคัก ราคาหุ้นบริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ ปรับตัวเพิ่มขึ้น มีบริษัทใหม่ ๆ เข้ามามากมาย รวมถึงการแปรรูปรัฐวิสาหกิจที่ถือว่าเป็นหุ้นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักลงทุนได้ แต่วันนี้ไม่มีการแปรรูปรัฐวิสาหกิจเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ไม่มีแผนกระตุ้นตลาดหุ้น
แม้แนวความคิดเรื่องการจัดตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ 2 เป็นเรื่องดี แม้จะจัดตั้งได้ด้วยกลไกของรัฐบาล ปัญหากลับมาอยู่ที่ความสนใจของนักลงทุนเข้าซื้อมากน้อยเพียงใด และศักยภาพในการทำกำไรของบริษัทจดทะเบียนที่กระทรวงการคลังถือหุ้นอยู่นั้นจะทำได้มากน้อยเพียงใดท่ามกลางเศรษฐกิจในขณะนี้
ที่ผ่านมาหุ้นที่ถือว่าเป็นแม่เหล็กที่ดึงดูดนักลงทุนในวายุภักษ์ 1 ได้เป็นอย่างดีนั่นคือกลุ่มพลังงานอย่าง ปตท. และไทยออยล์ ที่มีกำไรมากจากราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวขึ้น รวมถึงค่าการกลั่นที่อิงกับราคาในตลาดโลก แต่วันนี้ราคาน้ำมันได้ผ่านจุดสูงสุดระดับ 77 เหรียญต่อบาร์เรลมาแล้ว แม้จะมีปัจจัยหนุนให้ราคาน้ำมันปรับขึ้นได้จากสถานการณ์ระหว่างสหรัฐกับอิหร่าน แต่ยังคงเคลื่อนไหวบริเวณ 60-62 เหรียญ
เมื่อโอกาสในการทำกำไรลดลง เงินปันผลที่กระทรวงการคลังจะได้รับย่อมลดลง จึงส่งผลมาถึงผู้ถือหน่วยกองทุนรวมวายุภักษ์ในที่สุด ดังนั้นความหวังในการตั้งกองทุนรวมวายุภักษ์ 2 จึงน่าจะได้รับการตอบรับน้อยกว่าวายุภักษ์ 1
เฮือก.!สุดท้ายเศรษฐกิจไทย'ยุคขิงแก่' เบิกจ่ายงบฯ-เร่งเมกะโปรเจ็กต์เต็มตัว
ภาคเอกชน -นักวิชาการประสานเสียงจี้ภาครัฐแก้ปัญหาศก.ตกต่ำ พร้อมเร่งเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้า - เดินหน้าโครงการเมกะโปรเจกต์เต็มตัวกระตุ้นการลงทุน-การใช้จ่ายทั่วประเทศขับเคลื่อนศก.เดินหน้า เชื่อหวังพึ่ง"ส่งออก"เพียงอย่างเดียวไม่ได้ เหตุค่าเงินผันผวนหนักผู้ประกอบการส่อแววเจ๊ง! แนะต้องให้ ธปท.มีอิสระในการคุมค่าเงิน-เลิกมาตรการกันสำรอง 30%
ปัญหาเศรษฐกิจของไทยกำลังอยู่ในภาวะตกต่ำลงเรื่อยๆ สังเกตุได้ง่ายๆในรอบ 3เดือนที่ผ่านมามีกูรูหลายต่อหลายสำนักต่างออกมาฟันธงตัวเลข GDP ของประเทศลดระดับลงเรื่อยๆจาก4.5% เหลือแค่ 3% เท่านั้นในปัจจุบัน และเศรษฐกิจไทยจะพึ่งการส่งออกขับคลื่อนเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวคงไม่ได้อีกต่อไปเพราะค่าเงินที่ผันผวน-มาตรการกันสำรอง 30% ทำให้ผู้ประกอบการต่างโอดครวญกำลังจะเจ๊ง !!
ขณะที่"รัฐบาลขิงแก่" ที่อยู่ในภาวะอืดอาดดูเหมือนจะไม่ทันใจซะแล้วเพราะแม้จะได้ "ขุนคลัง" คนใหม่แต่เศรษฐกิจไทยยังโงหัวไม่ขึ้น
ต้องให้อิสระ "ธปท"
ดร.วรพล โสคติยานุรักษ์ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และรองประธานสภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กล่าวถึงภาวะเศรษฐกิจไทยที่ตกต่ำตัวลงอย่างต่อเนื่องว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นมีผลกระทบมาจากกระแสเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างรวดเร็วจากสหรัฐอเมริกาเข้ามาสู่เอเชียและหนึ่งในจำนวนนั้นมีประเทศไทยอยู่ด้วยจึงได้รับผลกระทบไปด้วยโดยมีผลกระทบต่อค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นในปัจจุบัน
อย่างไรก็ดีมีหลายคนพยายามบอกว่าให้เลิกมาตรการกันสำรอง 30% แต่นั่นไม่ใช่ทางออกของปัญหาที่แท้จริง แต่ควรให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)มีอิสระในการทำหน้าที่ให้มากที่สุดไม่เกิดการแทรกแซงใดๆเพราะธปท.เองเป็นองค์กรที่รู้เรื่องดังกล่าว
ดีที่สุด จึงสามารถหาวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวได้ด้วยตัวของเขาเอง แนวคิดดังกล่าวยังได้การสนับสนุนจาก "ประมนต์ สุธีวงศ์ " ประธานหอการค้าไทยที่มองว่า มาตรการกันสำรอง 30 % ตอนนี้ธปท.ก็ผ่อนคลายไปเยอะแล้วแต่มีผลเพียงในทางจิตวิทยาเท่านั้น จึงเชื่อว่าหากให้อิสระแก่ธปท.ในการตัดสินใจเลิกหรือไม่เลิกมาตรการดังกล่าวควรจะเกิดจากแนวความคิดจากธปท.เองไม่ควรไปกดดันเพราะธปท.จะรู้ดีที่สุด
ขณะที่"ดร.ณรงค์ชัย อัครเศรณี"ประธานคณะกรรมการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) กลับมองตรงกันข้ามว่า ธปท.ต้องยกเลิกมาตรการกันสำรอง 30% โดยด่วนเพราะหากยกเลิกจะทลายกำแพงที่กั้นระหว่างตลาดในประเทศนอกประเทศลงการที่ค่าเงินบาททั้งสองตลาดไม่เท่ากัน เป็นการส่งสัญญาณสะท้อนให้เห็นวิกฤตสำคัญของค่าเงินที่ผันผวนและถึงแม้ว่าจะมีการผ่อนคลายมาตรการ 30% ไปมากแล้ว แต่ก็เชื่อว่ามาตรการยังมีผลอยู่ ไม่ใช่ว่าค่าเงินประเทศอื่นไม่แข็ง แต่ต้องยอมรับว่าเงินบาทเราแข็งกว่าประเทศอื่นธปท.ไม่สามารถทำให้ค่าเงินนิ่งได้ เพราะเหตุผลส่วนตัวของแบงก์ชาติเองทำให้เราต้องรับความเสี่ยงเอง
เร่งเบิกจ่ายงบประมาณ เดินหน้าเมกกะโปเจกต์
นอกจากนี้ยังมีโจทย์ใหญ่ที่รัฐบาลต้องรีบดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือการกู้คืนเศรษฐกิจของประเทศที่ตกต่ำลงให้ฟื้นตัวขึ้นมาได้ภายในไตรมาส 2 หรือ ไตรมาส 3 ให้ได้โดยต้องไม่ลังเลกับโครงการใหญ่ๆที่ได้อนุมัติไปแล้วเช่น โครงการเมกะโปรเจกต์ที่จะสามารถช่วยกระตุ้นการใช้จ่ายทั้งด้านการลงทุน และการจับจ่ายให้มากขึ้น ขณะเดียวกันถือว่าใช้ความได้เปรียบจากอัตราแลกเปลี่ยนที่ถูกลงนำเข้าเครื่องจักรมาในราคาถูกกว่าเดิม ดั้งรัฐบาลจึงต้องเร่งดำเนินการโครงการดังกล่าวอย่างเร่งด่วน ขณะที่ "ประธานหอการค้าไทย"เชื่อว่าค่าเงินบาทว่าหากยังผันผวนต่อเนื่องไม่หยุดจะมีผลกระทบต่อไตรมาส 2-3-4 แน่นอนดังนั้นภาครัฐจะต้องมีนโยบายออกมากระตุ้นเศรษฐกิจไทยโดยด่วน
สำหรับงบประมาณแผ่นดินเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เศรษฐกิจดีขึ้นเพราะงบประมาณปีนี้ถึง 1ล้านล้านแต่เวลาผ่านไป 6 เดือนยังไม่มีการเบิกงบประมาณไปใช้จ่ายในโครงการต่างๆเท่าที่ควร ทั้งที่ความจริงต้องกระจายงบประมาณแผ่นดินไปตามจังหวัดต่างๆเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายของภาคประชาชนให้มากขึ้นซึ่งครม.เพิ่งมีมติเมื่อวันที่ 27 มี.ค.ที่ผ่านมาให้เห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เสนอแนวทางการขับเคลื่อนเศรษฐกิจระยะเร่งด่วน ประกอบด้วย เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณให้ได้ตามเป้าหมาย 85% โดยให้ทุกกระทรวงที่มีงบประมาณในหมวดที่ดินและสิ่งก่อสร้าง เร่งการประมูลงานก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 30 มิถุนายนนี้
ปล่อยกู้-ลดดอกเบี้ยกระตุ้นศก.
ในส่วนของภาคเอกชนนั้น รัฐบาลควรดำเนินนโยบายการคลังแบบผ่อนคลายเพราะหนี้สินของประเทศขณะนี้ประมาณ 40% เมื่อเปรียบเทียบกับ GDPของประเทศยังไม่สูงมาก จึงควรปล่อยสินเชื่อให้ภาคเอกชนเพื่อฟื้นฟูเครื่องจักร หรือนำเข้าเครื่องจักรในขณะนี้ เนื่องจากภาวะอัตราแลกเปลี่ยนที่ต่ำลง การหันมาใช่วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้การจ้างงานช่วยพัฒนาฝีมือแรงงานทั้งเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการไทยให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยอีก
ประเด็นดังกล่าว"สันติ วิลาสศักดานนท์" ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)มองว่าขณะปัญหาที่ภาคเอกชนเป็นห่วงเรื่องคือความไม่เชื่อมั่นที่เป็นผลจากเรื่องการเมืองและพระราชบัญญัติต่างๆ ที่ภาครัฐกำลังดำเนินการ และยังเสนอว่าคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ควรปรับลดดอกเบี้ย เพราะไม่มีแรงกดดันจากเงินเฟ้อเพื่อกระตุ้นภาคอสังหาริมทรัพย์รวมถึงการลดปัญหาเงินทุนไหลเข้าเพื่อเก็งกำไร
ขณะเดียวกัน ส.อ.ท.ยังได้เสนอให้ภาครัฐดูแลเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทให้มากขึ้นเช่น วงเงินในการใช้จ่ายการลงทุน,การทำแพคกิ้งเครดิต,การทำสัญญาซื้อขายเงินตราต่างประเทศ (ฟอร์เวิร์ด) ที่มีน้อยมากเพราะผู้ประกอบการเอสเอ็มอีประสบปัญหามากกว่าผู้ส่งออกรายใหญ่
|
|
|
|
|