ธปท.เผยยอดคงค้างบัตรเครดิตล่าสุด ณ สิ้นเดือนก.พ. แม้จำนวนบัตรในระบบสถาบันการเงินจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยอดคงค้างสินเชื่อ-ปริมาณการใช้จ่ายลดลง โดยเฉพาะปริมาณการใช้จ่ายเพียงเดือนเดียวยอดลดฮวบเกือบ 1 หมื่นล้าน เป็นผลจากลูกค้าทุกสถาบันการเงินมีการใช้จ่ายบัตรเครดิตทุกประเภทลดลง หวั่นปัจจัยการเมืองที่ยังไม่คลี่คลายและภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว
รายงานข่าวจากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) แจ้งว่า ธปท.ได้ประกาศยอดคงค้างบัตรเครดิตล่าสุด ณ วันที่ 28 ก.พ.50 พบว่า แม้จำนวนบัตรเครดิตจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่ยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตลดลง ขณะเดียวกันปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมก็ลดลงอย่างมาก ทั้งในส่วนของปริมาณการใช้จ่ายในประเทศ ปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศ การเบิกเงินสดล่วงหน้าลดลงทุกประเภท โดยปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ปริมาณการใช้จ่ายทุกประเภทลดลง เนื่องจากเศรษฐกิจที่ชะลอตัว และความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงจากความไม่แน่นอนทางการเมือง ทำให้ประชาชนมีการชะลอการใช้จ่ายและบางส่วนก็มีการชะลอการตัดสินใจซื้อสินค้าหรือมีการระมัดระวังการใช้จ่ายมากขึ้น ซึ่งส่วนใหญ่ประชาชนจะซื้อสินค้าเฉพาะที่มีความจำเป็นต่อชีวิตประจำวันเท่านั้น
ทั้งนี้ จากยอดคงค้างบัตรเครดิตในเดือนก.พ.นี้ มีปริมาณบัตรเครดิตทั้งสิ้น 11,006,451 บัตร หรือเพิ่มขึ้นจากเดือนก่อน 3,644 บัตร และมียอดคงค้างสินเชื่อทั้งสิ้น 116,740 ล้านบาท ลดลงจากเดือนก่อน 2,036 ล้านบาท หรือลดลง 1.21%ของสินเชื่อรวม โดยยอดคงค้างสินเชื่อบัตรเครดิตของสถาบันการเงินทุกประเภทลดลง โดยเดือนนี้ธนาคารพาณิชย์จำนวน 55,259 ล้านบาท หรือลดลง 1,090 ล้านบาท หรือลดลง 1.93%สาขาธนาคารต่างประเทศ 33,759 ล้านบาท หรือลดลง 18 ล้านบาท และบริษัทประกอบธุรกิจบัตรเครดิตที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน(นอนแบงก์) จำนวน 77,721 ล้านบาท หรือลดลง 928 ล้านบาท หรือลดลง 1.18%ของสินเชื่อรวม
ส่วนปริมาณการใช้จ่ายโดยรวมของสถาบันการเงินทุกประเภทลดลง โดยเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลงถึง 9,664 ล้านบาท หรือลดลง 13.04% จากปัจจุบันที่มีปริมาณการใช้จ่ายอยู่ที่ 64,432 ล้านบาท แบ่งเป็นปริมาณการใช้จ่ายในส่วนของธนาคารพาณิชย์ในเดือนนี้มีอยู่ 37,851 ล้านบาท หรือเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 6,844 ล้านบาท หรือคิดเป็น 15.31% สาขาธนาคารต่างประเทศ 7,919 ล้านบาท หรือลดลง 722 ล้านบาท คิดเป็น 8.36% และนอนแบงก์ 18,662 ล้านบาท หรือลดลง 2,097 ล้านบาท คิดเป็น 10.10%
ขณะเดียวกันปริมาณการใช้จ่ายทุกประเภทลดลงเช่นกัน โดยปริมาณการใช้จ่ายในประเทศมีปริมาณทั้งสิ้น 45,747 ล้านบาท หรือลดลงจากเดือนก่อน 7,537 ล้านบาท คิดเป็น 14.14% ส่วนปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศมีจำนวน 1,876 ล้านบาท ลดลง 297 ล้านบาท คิดเป็น 13.68% และการเบิกจ่ายเงินสดล่วงหน้าจากปัจจุบันที่มีจำนวน 16,809 ล้านบาท ลดลง 1,830 ล้านบาท คิดเป็น 9.82%
โดยปริมาณการใช้จ่ายในประเทศในเดือนนี้แบ่งเป็นส่วนของธนาคารพาณิชย์จำนวน 24,695 ล้านบาท หรือเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้าลดลง 5,177 ล้านบาท คิดเป็น 17.33% สาขาธนาคารต่างประเทศ 6,607 ล้านบาท หรือลดลง 614 ล้านบาท คิดเป็น 8.51% และนอนแบงก์ 14,443 ล้านบาท หรือลดลง 1,744 ล้านบาท คิดเป็น 10.78%
ส่วนการเบิกเงินสดล่วงหน้าของสถาบันการเงินทุกประเภทก็ลดลงเช่นกัน โดยแบ่งเป็นส่วนของธนาคารพาณิชย์ 12,478 ล้านบาท ลดลง 1,513 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 909 ล้านบาท ลดลง 44 ล้านบาท และนอนแบงก์ 3,421 ล้านบาท ลดลง 272 ล้านบาท นอกจากนี้ในส่วนของปริมาณการใช้จ่ายในต่างประเทศแบ่งเป็นส่วนของธนาคารพาณิชย์จำนวน 677 ล้านบาท ลดลง 153 ล้านบาท สาขาธนาคารต่างประเทศ 402 ล้านบาท ลดลง 62 ล้านบาท และนอนแบงก์ 796 ล้านบาท ลดลง 82 ล้านบาท เมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า
|