|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
"ไอทีวี" ต่อลมหายใจดิ้นขอเวลาเพิ่ม 6 เดือนชี้แจงแนวทางดำเนินธุรกิจต่อตลท. เปิดทางดันธุรกิจบริษัทย่อยเป็นธุรกิจหลัก ด้านสมาคมส่งเสริมฯ โบ้ยทำงานเพื่อรายย่อยแจงคดีถึงที่สิ้นสุด จี้บอร์ดฟ้องผู้ที่ทำให้บริษัทเสียหาย ขณะที่“ปลัดฯ สปน.-อธิบดีกรมกร๊วก” ใบ้กินโบ้ยกันเอง คำถาม ปชป.จี้ใจดำเงินบริหาร “ทักษิณทีวี” เผย 20 เม.ย. ได้ฤกษ์ดันระเบียบการเงิน “เอสดียู” เข้า บอร์ด ก.พ.ร. “จุลยุทธ” รับ ก.คลัง ยังไม่ไฟเขียวใช้เงิน 70 ล้านบริหารทีวี ด้าน “คุณหญิงทิพาวดี” แจงรวม กสช.-กทช. ต้องรอพิมพ์เขียว กมธ.ยกร่างรธน. ก่อน ส่วนกระบวนการสรรหา กสช. ไม่รอรธน. เดินหน้าเต็มที่
นายสมคิด หวังเชิดชูวงศ์ กรรมการ บริษัท ไอทีวี จำกัด (มหาชน) หรือ ITV กล่าวว่า ตามที่ตลาดหลักทรัพย์ฯขอให้บริษัทฯ ชี้แจงแนวทางการดำเนินการและกรอบระยะเวลา เพื่อแก้ไขเหตุเพิกถอนให้หมดไปภายใน 30 วันนับจากวันประกาศว่าหลักทรัพย์ของบริษัทฯ เข้าข่ายถูกเพิกถอน (ภายในวันที่ 9 เมษายน 2550) บริษัทฯขอขยายระยะเวลาการชี้แจงแนวทางการดำเนินการเพื่อแก้ไขเหตุเพิกถอนดังกล่าวออกไปอีก 6 เดือนนับแต่วันที่สิ้นสุดระยะเวลาตามที่กำหนด
ทั้งนี้เหตุผลที่จะต้องขอให้มีการเลื่อนชี้แจงแนวทางเนื่องจาก การคิดคำนวณค่าปรับ และดอกเบี้ยของค่าสัมปทานส่วนต่างของสำนักงานปลัดนายกรัฐมนตรี (สปน.) เป็นไปโดยไม่ชอบด้วยข้อกำหนดในสัญญาและกฎหมาย ซึ่งต่อมาบริษัทฯ ได้เสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการ เพื่อให้ชี้ขาดในเรื่องค่าปรับและดอกเบี้ยของค่าตอบแทนส่วนต่างว่าบริษัทไม่ได้เป็นฝ่ายผิดสัญญาและ สปน.ไม่มีสิทธิใด ๆ ที่จะเรียกร้องค่าปรับและดอกเบี้ยของค่าตอบแทนส่วนต่างดังกล่าว
อย่างไรก็ตามเหตุการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทฯ ไม่สามารถทราบจำนวนหนี้ที่แน่นอน และยังไม่อาจคาดการณ์ได้ว่า บริษัทฯ จะต้องชำระดอกเบี้ยและค่าปรับให้กับ สปน. หรือไม่เพียงใด บริษัทฯ จึงจำต้องขอเวลาเพื่อรอผลการพิจารณาชี้ขาดของคณะอนุญาโตตุลาการ
สำหรับการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานและดำเนินการสถานีวิทยุและโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ เนื่องจาก สปน. ได้อ้างเหตุที่บริษัทไม่ชำระค่าปรับและดอกเบี้ยจากค่าตอบแทนส่วนต่างในการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ เมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2550 ซึ่งบริษัทฯ ได้มีหนังสือโต้แย้งไปที่ สปน.ว่าการบอกเลิกสัญญาเข้าร่วมงานฯ ไม่ชอบด้วยกฎหมายและไม่ชอบด้วยข้อสัญญาของสัญญาเข้าร่วมงาน โดยในเบื้องต้นบริษัทฯ คาดว่าจะสามารถสรุปความเสียหายและดำเนินการทางกฎหมายในการดำเนินคดีต่อศาลและหรือการเสนอข้อพิพาทต่อสถาบันอนุญาโตตุลาการเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายดังกล่าวได้ภายในสิ้นเดือนเมษายน 2550 นี้
เล็งปรับธุรกิจอิงบริษัทย่อย
นายสมคิด กล่าวอีกว่า แม้ว่าปัจจุบันยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องของข้อพิพาทดังกล่าวข้างต้น แต่บริษัทฯได้พยายามพิจารณาหาแนวทางการประกอบธุรกิจใหม่ในกรณีที่บริษัทฯจะไม่สามารถดำเนินการธุรกิจสถานีวิทยุและโทรทัศน์ระบบ ยู เอช เอฟ ต่อไปได้อีก โดยได้มีการพิจารณาฐานของธุรกิจในบริษัทย่อยทั้งสองบริษัทฯ คือ บริษัท อาร์ตแวร์ มีเดีย จำกัดซึ่งประกอบธุรกิจให้เช่าอุปกรณ์ผลิตรายการวิทยุโทรทัศน์ ผลิตรายการโทรทัศน์ ซื้อ/ขายลิขสิทธิ์ภาพยนตร์ และจัดกิจกรรมการตลาดอื่นๆ และบริษัท มีเดีย คอนเน็คซ์ จำกัดซึ่งประกอบธุรกิจ ให้บริการสื่อโฆษณาและผลิตเนื้อหา (content) ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่
ทั้งนี้ เรื่องดังกล่าวยังอยู่ในระหว่างการหารือของฝ่ายบริหารซึ่งคาดว่าจะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง นอกจากนี้ ฝ่ายบริหารของบริษัทฯ ยังได้พิจารณาหาแนวทางในการฟื้นฟูกิจการของบริษัทฯ ซึ่งรวมทั้งการวางแผนธุรกิจ และหรือการระดมทุน จากผู้ร่วมทุนภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งบริษัทฯ จะต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งเพื่อพิจารณาผลดีและผลเสียอย่างละเอียดรอบคอบเพื่อให้การฟื้นฟูสถานะและกิจการของบริษัทฯ เป็นประโยชน์ให้กับบริษัทฯ และผู้ถือหุ้นรายย่อยมากที่สุด
อย่างไรก็ตาม บริษัทฯขอยืนยันว่าบริษัทฯ มีเจตนาที่จะแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น รวมถึงความพยายามในการที่จะปกป้องผู้ถือหุ้นรายย่อยมิให้เกิดความเสียหายจากการที่บริษัทฯ จะต้องถูกเพิกถอนจากตลาดหลักทรัพย์ฯ แต่ด้วยเหตุการณ์ต่างๆที่ยังไม่มีความชัดเจนที่ทำให้บริษัทฯ ยังไม่สามารถกำหนดแนวทางในการดำเนินการเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นได้ในขณะนี้ เนื่องจากการหาแนวทางต่างๆ เพื่อดำเนินการแก้ไขจำเป็นต้องใช้เวลาในการดำเนินการพอสมควร บริษัทฯ จึงใคร่ขอขยายระยะเวลาดังกล่าว
ตลท.ขอเวลาตรวจสอบ
นางภัทรียา เบญจพลชัย กรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมพิจารณาคำร้องของบมจ.ไอทีวีที่ขอเสนอขยายเวลาการดำเนินงานเพื่อแก้ไขเหตุเพิกถอน หากข้อเสนอดังกล่าวเป็นประโยชน์ต่อผู้ถือหุ้นรายย่อยและสามารถทำให้บริษัทสามารถดำเนินการต่อไปได้
ทั้งนี้ จะต้องพิจารณารายละเอียดข้อเสนอขยายเวลาดังกล่าวก่อน โดยตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมจะเข้าไปสนับสนุนการดำเนินธุรกิจใหมาของบริษัท
ส.ส่งเสริมฯโบ้ยคดีถึงสิ้นสุด
สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย ได้ออกแถลงการณ์เรื่องการตรวจสอบข้อเท็จจริง บมจ.ไอทีวี หรือ ITV โดยระบุว่าตามที่มีการประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นของบมจ.ไอทีวี ครั้งที่ 1/2550 เมื่อวันอังคารที่ 20 มีนาคม 2550 ที่ประชุมมีมติมอบหมายให้สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทยทำการตรวจสอบข้อเท็จจริงระหว่างบริษัทฯ กับสำนักปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) นั้น
ทางสมาคมได้พิจารณาเห็นว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับกรณีพิพากษาดังกล่าวได้เป็นข้อเท็จจริงที่ยุติไปแล้ว เนื่องจากศาลปกครองสูงสุดได้มีคำพิพากษาไปเมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2549 ซึ่งผลของคำพิพากษาดังกล่าวถือว่าถึงที่สุดแล้ว ทางสมาคมจึงไม่อยู่ในฐานะที่จะไปตรวจสอบข้อเท็จจริงอื่นใดเกี่ยวกับกรณีดังกล่าวได้อีก หากทางบริษัทเห็นว่ามีบุคคลใด ทำให้บริษัทได้รับความเสียหายตามคำพิพากษาดังกล่าว ก็เป็นหน้าที่โดยตรงตามกฎหมายของคณะกรรมการบริษัทที่จะต้องดำเนินการฟ้องร้องบุคคลนั้น เพื่อรักษาผลประโยชน์ของบริษัทและผู้ถือหุ้นต่อไป
สปน.โยนให้กรมประชาฯชี้แจง
วานนี้(9 เม.ย.) นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี (สปน.) กล่าวปฏิเสธที่จะตอบคำถามที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ชี้แจงเงินบริหารสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี โดยระบุสั้น ๆว่า เรื่องนี้ต้องให้อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์เป็นผู้ชี้แจง อย่างไรก็ตามได้มีการยืนยันแล้วว่า กรมประชาสัมพันธ์จะนำระเบียบการเงิน เกี่ยวกับการจัดตั้งหน่วยบริการรูปแบบพิเศษ หรือ เอสดียู ที่ไปจัดทำมาใหม่ เสนอคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) ได้ในวันที่ 20 เม.ย.นี้
นายจุลยุทธ กล่าวอีกว่า สำหรับกรณีที่ สปน.ได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงการคลัง เพื่อให้พิจารณาว่ากรมประชาสัมพันธ์ ซึ่งอยู่ในกำกับของ สปน. จะสามารถดำเนินการงานในระเบียบการหมุนเวียนการเงิน ตามระเบียบของกระทรวงการคลังว่าด้วยระบบบัญชี โดยเฉพาะการรับเงินและการหมุนเวียนเงินได้หรือไม่ และกระทรวงการคลัง ได้ส่งเรื่องกลับมาว่า กรมประชาสัมพันธ์ สามารถกำหนดระเบียบเพื่อเปิดบัญชีรับเงินรายได้ และค่าโฆษณา 70 ล้านบาทของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวี นับตั้งแต่วันที่ 8 มี.ค. 2550 มาเก็บไว้ได้ แต่ยังไม่สามารถนำเงินมาหมุนเวียนได้
“สปน.ได้เสนอไป 2 เรื่อง คือ 1.เรื่องเกี่ยวกับการรับเงิน ที่กระทรวงการคลัง ตอบมาว่า สามารถทำได้โดยให้กรมประชาสัมพันธ์ทำการแยกบัญชี และเรื่องที่ 2. การที่จะนำเงินมาใช้ในการหมุนเวียน โดยไม่ส่งกระทรวงการคลัง เป็นเรื่องที่หารือไป แต่ยังไม่ได้รับตอบกลับมา เพียงแต่ว่าตอนนี้ได้มีการประสานงานในระดับเจ้าหน้าที่ตลอดเวลา และรับทราบว่ามีการประสานเร่งรัดให้กระทรวงการคลังรีบตอบกลับมาว่าจะสามารถนำเงินมาหมุนเวียนเพื่อบริหารในสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีได้หรือไม่ และหากใช้ได้ สปน.ก็จะต้องมาทำระเบียบการเงินอีกครั้ง”ปลัดฯสปน.กล่าว
นายปราโมช รัฐวินิจ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ กล่าวถึงเรื่องที่พรรคประชาธิปัตย์เรียกร้องให้ชี้แจงสถานภาพการเงินของสถานีโทรทัศน์ทีไอทีวีว่า กรมประชาสัมพันธ์ถือเป็นหน่วยงานภาคปฏิบัติ และตนได้ส่งเรื่องมายัง ปลัดสปน.และรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแล้ว แต่เรื่องนี้ก็มีความคืบหน้าไปมาก และทุกอย่างก็เป็นรายละเอียดทางกฎหมายที่จะเสนอต่อบอร์ด กพร.โดยเร็ว
ขณะที่รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จะพิจารณาสรุปผลการจัดรับฟังความคิดเห็นถึงอนาคตสถานีโทรทัศน์ระบบยูเอชเอฟ ในวันที่ 10 เม.ย. นี้ เพื่อกำหนดที่จะยกร่างพ.ร.บ.โทรทัศน์สาธารณะหรือโทรทัศน์เสรีต่อไป
แหล่งข่าวจาก สปน. เปิดเผยว่า ก่อนวันที่ 20 เม.ย. ทางฝ่ายกฎหมาย ก.พ.ร. และอธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ จะหารือเรื่องเอสดียู ครั้งสุดท้าย เชื่อว่าประมาณวันที่ 18 หรือ 19 เม.ย.นี้ แต่ขณะนี้ยังไม่มีการประเมินว่าจะให้เอสดียูดำเนินการชั่วคราวในระยะเวลาเท่าใด ว่าจะเป็นเดือนหรือเป็นปี หรือให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเป็นผู้แก้ปัญหา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในวันเดียวกันคุณหญิงทิพาวดี เมฒสวรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เรียกประชุมถึงการแก้ไขพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2543 โดยเฉพาะ 2 องค์การ ได้แก่ คณะกรรมการกำกับกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ที่ดำเนินการอยู่ และคณะกรรมการการกำกับกิจการวิทยุกระจายเสียงวิทยุโทรทัศน์แห่งชาติ (กสช.) มีนายธีรภัทร เสรีรังสรรค์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี นายประสิทธิ โฆวิลัยกูล รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีและ นายจุลยุทธ หิรัณยะวสิต ปลัดฯสปน.
คุณหญิงทิพาวดี แถลงภายหลังการประชุมว่า ที่ประชุมเห็นตรงกันว่าจะต้องรอมติความชัดเจนในการยกร่างรัฐธรรมนูญในวันที่ 10 เม.ย. นี้ของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสียก่อน ซึ่งคาดว่าจะมีการพิจารณายกร่างในมาตราที่เกี่ยวข้องกับองค์กรการจัดคลื่นความถี่ฯ โดยมีแนวโน้มที่อาจจะนำมารวมกัน ทั้งนี้ตนยังได้หยิบยกข้อเสนอการรวม กทช.และ กสช. ของคณะอนุกรรมาธิการวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สารสนเทศและการสื่อสารสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาชี้แจงโดยเฉพาะการหลอมรวมกันของเทคโนโลยีที่จะให้สอดคล้องกับเทคโนโลยีในปัจจุบัน เนื่องจากหลายประเทศก็มีการหลอมรวมกันแล้ว อย่างไรก็ตามที่ประชุมยังขอให้ สปน. ดำเนินการในกระบวนการคัดสรรคณะกรรมการสรรหา กสช. ซึ่งถือว่าเป็นครั้งที่ 3 ในรอบ 7 ปี ที่ยังไม่สามารถจัดตั้ง กสช.ได้
ทั้งนี้กระบวนการสรรหา กสช. จะดำเนินต่อไป โดยไม่รอว่ารัฐธรรมนูญจะบัญญัติ ให้รวม กทช. และกสช. หรือไม่ แต่หากรัฐธรรมนูญ มีบัญญัติใหม่ก็จะต้องมีออกกฎหมายลูกเพื่อรอประกาศใช้ และมีการยกร่างกฎหมายเพื่อรวม กสช.และ กทช.ขึ้นมาใหม่ ซึ่งตนเข้าใจว่าจะต้องใช้เวลาการรวม กสช. และกทช. ในปีหน้า(2551)
“เข้าใจว่าจะมีการบัญญัติมาตราองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ใหม่ ทั้งวิทยุ โทรทัศน์ และโทรคมนาคมแตกต่างไปจากที่บัญญัติเอาไว้แล้ว แทนมาตรา 40 เข้าใจว่าจะเป็นมาตรา 46 ในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่ประชุมจึงเห็นว่า จะต้องรอกฎหมายแม่บท หรือรัฐธรรมนูญก่อนว่าจะบัญญัติอย่างไร เราเป็นรัฐบาลชั่วคราวจึงต้องรอดูความชัดเจน และขณะนี้จึงไม่ควรที่จะดำเนินการใดๆในช่วงนี้”รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯกล่าว
นายจุลยุทธ กล่าวว่า ความคืบหน้าในกระบวนการคัดสรรคณะกรรมการสรรหา กสช. ยังอยู่ในขั้นขอความเห็นของตัวแทนสมาคมวิชาชีพ 37 สมาคมและตัวแทนองค์กรเอกชน 63 องค์กร โดยได้ทำหนังสือไปยังกระทรวงมหาดไทย และสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ เพื่อตรวจสอบคุณสมบัติของตัวแทนทั้ง 2
องค์กรนี้ โดยกำหนดจะได้ตัวแทน 4 องค์กรประกอบด้วย ส่วนราชการ 5 คน คณาจารย์ 4 คน สมาคมวิชาชีพ 4 คน และ ตัวแทนองค์กรเอกชนอีก 4 คน
|
|
|
|
|