|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
กรมโยธาฯ ระบุแผนปรับปรุงผังเฉพาะคุมพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ ยังรอความชัดเจนรัฐบาล คาดลดโซนนิ่งคุมพื้นที่ พร้อมปรับการใช้ประโยชน์พื้นที่ใหม่ ขยายพื้นที่ระบายน้ำเพิ่ม ขณะที่กทม.แบ่งอำนาจตามพื้นที่การปกครองตามเดิม หลังครม. เห็นชอบระงับการนำเสนอร่างพ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานคร ด้านผู้ประกอบการยันไม่กระบทการดำเนินการ เหตุโครงการดำเนินการตามกฎหมายผังเมืองเดิม ชี้ผู้รับผลกระทบส่วนใหญ่คือนักเก็งกำไร-นักการเมืองที่กว้านซื้อไปก่อนหน้านี้
นายฐิระวัตร กุลละวณิชย์ อธิบดีกรมโยธาธิการและผังเมือง เปิดเผยถึงความคืบหน้าการร่างกฎหมายผังเมืองเฉพาะ เพื่อพัฒนาพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ ว่า การนำแผนดังกล่าวมาปรับปรุงใหม่ ยังต้องชัดเจนจากรัฐบาล จะดำเนินการอย่างไร ส่วนปัญหาในพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิที่เกิดขึ้น รวมถึงการย้ายเที่ยวบินบางส่วนไปท่าอากาศยานดอนเมือง และการชะลอขยายรันเวย์ที่ 3 ของสนามบินสุวรรณภูมินั้น กรมโยธาฯได้ทำเรื่องถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เพื่อขอให้ลงนามอนุมัติให้กรมขอคืนร่างกฎหมายดังกล่าวที่ส่งถึงคณะกรรมการกฤษฎีกาเพื่อพิจารณาคืนมา เพื่อรอความชัดเจนจากรัฐบาลจะสั่งการอย่างไร
ทั้งนี้ หากรัฐบาลไม่ขยายพื้นที่ในสนามบินสุวรรณภูมิ และตัดสินใจใช้ 2 สนามบินเป็นสนามบินนานาชาติตลอดไป กรมโยธาฯ ต้องมีการทบทวนการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสนามบินใหม่ จากเดิมกำหนดไว้ประมาณ 7 โซน เช่น โซนอุตสาหกรรม ,โซนที่อยู่อาศัย ,โซนพาณิชย์ และโซนบริการขนส่งหรือโลจิสติกส์ เป็นต้น
โดยการการทบทวนการกำหนดเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินรอบสนามบินนั้น จะมีการพิจารณาภายใต้ 4 หัวข้อหลักๆ คือ 1.การใช้ประโยชน์พื้นที่ ต้องมีการเปลี่ยนและกำหนดการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ใหม่ 2. ผลกระทบที่เกิดจากการใช้สนามบิน โดยเฉพาะผลกระทบด้านเสียง 3. การกำหนดพื้นที่แนวกั้นน้ำ คาดว่าจะต้องมีการขยายพื้นที่ในการทำแนวกั้นน้ำเพิ่ม โดยในโซนของแนวกั้นน้ำเดิมจะคงไว้ต่อไป เพราะพื้นที่ดังกล่าวยังเป็นพื้นที่รองรับน้ำอยู่ ส่วนพื้นที่ที่คาดว่าจะมีการขยายเพิ่มคือ ย่านถนนเลียบวารีไปถึงสนามบิน และพื้นที่วัดศรีวารีน้อย
สำหรับแนวคิดของรัฐบาลชุดที่ผ่านมา จะพัฒนาพื้นที่ในแนวกั้นน้ำเป็นเมืองน้ำ ให้มีการท่องเที่ยวทางน้ำ และมีการขุดคลองเพิ่มเป็นแนวยาวถึงอ่าวไทยนั้น อาจจะมีการยกเลิกโดยเฉพาะในส่วนของการอนุมัติให้มีการก่อสร้างที่อยู่อาศัยในพื้นที่ดังกล่าว โดยให้มีการยกพื้นสูงตามข้อกำหนดต่างๆ ที่กำหนดไว้ในแผนเดิม และ 4. ข้อกำหนดในการพัฒนาโครงการอาคารสูงในพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ อย่างไรก็ตาม ทางกรมโยธาฯจะทำการศึกษา และเก็บข้อมูลของพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิต่อไปเรื่อยๆ เพื่อนำมาประกอบในด้านวิชาการ
" สำหรับปัญหาเรื่องแนวกั้นน้ำ หรือพื้นที่แนวกั้นน้ำนั้น ในอดีตกรมโยธาฯ ได้เคยท้วงติงเรื่องการพัฒนาเมืองรอบสนามบินมาโดยตลอด เพราะพื้นที่ย่านสุวรรณภูมิมีปัญหาเกี่ยวกับระบบการระบายน้ำรอบพื้นที่สนามบิน แต่ไม่ได้รับความสนใจ ทำให้ในปัจจุบันต้องมีการทบทวนเรื่องแนวกั้นน้ำหรือทางระบายน้ำใหม่ เพราะพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ระบายน้ำ ทำให้ใต้พื้นที่ดังกล่าวมีระดับน้ำใต้ดินอยู่ เมื่อก่อสร้างรัยเวย์ และในฤดูน้ำหลาก พื้นดินก็จะมีระดับน้ำเพิ่ม จะมีผลต่อเนื่องถึงรัยเวย์แตกร้าว ต้องมีการดูดน้ำหรือระบายน้ำใต้ดินออก แต่ในฤดูแล้ง จะไม่มีปัญหาในเรื่องดังกล่าว"อธิบดีกรมโยธาฯอธิบายถึงปัญหาที่ต้องเกิดขึ้นกับสนามบินสุวรรณภูมิ
นายฐิรวัตรกล่าวถึง ผลกระทบในการพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ในโซนที่มีการอนุญาตไว้เดิมในพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ ว่า พ.ร.บ.ผังเมืองเฉพาะของสุวรรณภูมิ แม้จะไม่มีการประกาศใช้ แต่การพัฒนาโครงการของบริษัทบ้านจัดสรร ไม่น่าจะได้รับผลกระทบ เนื่องจากในพื้นที่ดังกล่าวยังสามารถพัฒนาได้โดยใช้กฎกระทรวงที่ออกตาม พ.ร.บ.ควบคุมอาคาร และกฎกระทรวงเกี่ยวกับการถมดินมาใช้บังคับใช้ได้
อนึ่งก่อนหน้านี้ หลังจากที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอให้ระงับการนำเสนอร่างพระราชบัญญัติสุวรรณภูมิมหานคร พ.ศ. ... ซึ่งส่งผลให้ไม่มีการแบ่งพื้นที่การปกครองพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิจัดตั้งเป็นจังหวัดที่ 77 นั้น ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีหนังสือถึง กรุงเทพมหานคร (กทม. ) ขอให้พิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับการแก้ปัญหา ร่าง พ.ร.บ.สุวรรณภูมิมหานคร
โดยทาง กทม. ได้เสนอแนวความคิดเห็น 2 ประเด็น คือ 1.กทม. เห็นสมควรให้มีการถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวเพราะส่งผลกระทบ ต่อการเปลี่ยนแปลงพื้นที่การปกครอง การบริหารราชการ กทม.และ จ.สมุทรปราการ และที่สำคัญส่งผลกระทบต่อความรู้สึกของประชาชนทั้ง 2 จังหวัด 2.การบริหารจัดการพื้นที่รอบสุวรรณภูมินั้น กทม.ได้เสนอความเห็นสมควรแต่งตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ บริหารงานลักษณะบรรษัทพัฒนาเมือง โดยแบ่งอำนาจตามพื้นที่การปกครองเดิม โดยพื้นที่ใดอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ให้ผู้ว่าฯ กทม. เป็นประธาน ส่วนพื้นที่ จังหวัดสมุทรปราการ ให้ผู้ว่าราชการจ.สมุทรปราการ เป็นประธาน
ทั้งนี้ การถอดร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว ส่งผลดีกับกทม.และจังหวัดสมุทรปราการ เพราะทำให้การควบคุมการใช้ประโยชน์ที่ดิน เป็นไปตามกฎหมายผังเมืองเดิมที่กำหนด และทำให้อำนาจการบริการงานต่างๆ ยังเป็นไปตามเขตการปกครองเดิม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นงานประจำที่หน่วยงานราชการเดิมปฏิบัติอยู่แล้ว เช่น การจัดเก็บภาษี งานทะเบียนราษฎร อย่างไรก็ตาม ผลเสียที่เกิดขึ้นเกือบทั้งหมดน่าจะตกอยู่กับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ นักเก็งกำไรที่ดิน และนักการเมืองต่าง ๆ ที่ไปกว้านซื้อที่ดินรอบสนามบินสุวรรณภูมิเพราะคิดว่าจะสร้างเป็นหมู่บ้านจัดสรร หรือพื้นที่การค้างต่างๆ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็ไม่สามารถดำเนินการตามที่ตั้งใจไว้ได้
ด้านนายอภิสิทธิ์ งามอัจฉะริยกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท เค.ซี.พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีการขยายแนวกั้นน้ำ หรือพื้นที่ระบายน้ำเพิ่มนั้น เดิมทีได้มีการกำหนดไว้แล้ว หากรัฐบาลเห็นว่าจำเป็นต้องมีการขยายพื้นที่เพิ่มก็ไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะต้องคำนึงถึงความจำเป็นที่ต้องขยายเพิ่ม เพราะพื้นที่เดิมเป็นพื้นที่ระบายน้ำอยู่แล้ว ส่วนการขยายพื้นที่เพิ่ม และการแบ่งเขตปกครองให้กทม.และจังหวัดสมุทรปราการดูแลเหมือนเดิม จะมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการหรือไม่นั้น เชื่อว่าไม่น่าจะส่งผลกระทบกับผู้ประกอบการบ้านจัดสรร แต่ในกรณีที่มีการซื้อที่ดินเพื่อเก็งกำไร หรือ การซื้อที่เพื่อรอพัฒนารองรับผังเมืองเฉพาะที่จะประกาศใช้ แต่ถูกยกเลิกไปนั้น อาจจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มนักเก็งกำไรที่กว้านซื้อดินจำนวนมากๆ ส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มนักการเมือง หรือผู้ที่รู้ข้อมูลเชิงลึกในช่วงอดีตรัฐบาลไทยรักไทย
นายชูเกียรติ ตั้งมติธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการสายการตลาด บริษัท มั่นคงเคหะการ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากกรณีดังกล่าวข้างต้นนั้น ในส่วนของผู้ประกอบการรายเดิม ไม่น่าจะได้รับผลกระทบดังกล่าว เนื่องจากเกือบทั้งหมดที่เข้าไปพัฒนาโครงการในพื้นที่รอบสนามบินสุวรรณภูมิ จะยึดข้อกำหนดตามผังเมืองเดิม เพราะผังเฉพาะที่มีการร่างกันอยู่นั้นยังไม่มีความชัดเจนในการประกาศใช้
สำหรับผู้ที่ซื้อที่ดินไว้เก็งกำไรหรือซื้อไว้เพื่อรอการพัฒนาตามผังเมืองใหม่ที่จะประกาศใช้ อาทิ ซื้อไว้เพื่อทำคลังสินค้า น่าจะได้รับผลกระทบบ้าง แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการที่อยู่ในโซนรอบสนามบินสุวรรณภูมิจะสามารถปรับตัวได้ทัน
" ความจริงแล้ว การก่อสร้างโครงการในพื้นที่รอบสนามบินโดยเฉพาะอาคารสูงนั้น ไม่ควรจะเกิดขึ้น เพราะมีข้อกำหนดเดิมอยู่แล้ว อาทิ มีการกำหนดขนาดและความสูงของอาคารว่าไม่ควรจะมีขนาดความสูงมากน้อยเท่าใด "
ส่วนกรณีที่จะมีการขยายพื้นที่รองรับหรือระบายน้ำ และแนวกั้นน้ำนั้น อยากให้ทางภาครัฐบาลมีการประกาศใช้และจัดทำอย่างเป็นรูปธรรม และมีการประกาศใช้ออกมาให้เร็วหน่อย เพื่อจะได้ช่วยให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวและแก้ไขได้ทันเวลา เพราะหากมีการประกาศออกมา แต่หากไม่มีการบังคับใช้จริง ผู้ประกอบการจะมีการชะลอการพัฒนาโครงการออกไป ซึ่งจะสร้างผลกระทบด้านลบมากกว่าด้านบวก ขณะเดี่ยวกัน ก็อาจจะมีการขายที่ดิน สร้างความเสียหายให้ผู้ซื้อต่อที่ดินรายต่อไป
|
|
|
|
|