ทันทีที่ภาพยนตร์ไทยเรื่อง องค์บาก ทำรายได้ครบ 100 ล้านบาท "เสี่ยเจียง" สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ ประกาศว่า หนังเรื่องนี้จะทำเงินให้เขาไม่ต่ำกว่า 200 ล้านบาท และผู้กำกับ "ปรัชญา ปิ่นแก้ว" ต้องมีเงินเข้ากระเป๋าไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ในขณะที่ "พนม ยีรัมย์" นักแสดงนำ จะได้สิ่งตอบแทนที่มากกว่าค่าตัวมากมายนัก
คำพูดของ สมศักดิ์ ที่ให้สัมภาษณ์ กับ "ผู้จัดการ" หลังวันที่องค์บากฉลองรายได้ครบ
100 ล้านบาทไม่ถึงสัปดาห์ ได้สะท้อนวิธีคิดของผู้นำคนหนึ่งแห่งวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย
ที่กำลังเตรียมก้าวเข้าไปเป็นบริษัทอำนวยการสร้างภาพยนตร์รายแรกของเมืองไทย
ในตลาด หลักทรัพย์ฯ
ประสบการณ์ทั้งหมดที่เคยล้มลุกคลุกคลานมากับวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยนานถึง
30 ปี ได้สร้างความเข้มแข็งให้กับค่าย "สหมงคลฟิล์ม" ค่อยๆ ยืนหยัดได้อย่างแข็งแรง
จนกลายเป็นบริษัทนึ่งที่มีทิศทางในการก้าวเดินที่น่าสนใจจับตามองทีเดียว
วันนี้สหมงคลฟิล์มมีบริษัทในเครือที่เกี่ยวกับอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั้งหมดประมาณ
8 บริษัท คือ มงคลเมเจอร์ รับจัดจำหน่ายหนังฝรั่งจากบริษัทรายใหญ่จากเมืองนอก
มงคลภาพยนตร์ รับจำหน่ายหนังจีนกับหนังฝรั่งในเครือเล็กลงมา บริษัท สหมงคลฟิล์ม
สร้างหนังไทย บริษัทยูเอ็มจี ทำโรงภาพยนตร์ บริษัทเอส.เอฟ ทำโรง ภาพยนตร์
บริษัทปั่น คอมปานี ทำบริษัทโฆษณา บริษัททริปเปิล X ทำเอฟเฟกต์ คอมพิวเตอร์
นอกจากนั้นกำลังก่อสร้างโรงถ่ายภาพยนตร์ที่โชคชัย 4 รวมทั้งกำลังจะเปิด โรงเรียนสอนการแสดงขึ้นที่นั่น
โดยมี พนม ยีรัมย์ พระเอกจากเรื่อง องค์บาก เป็นผู้ฝึกศิลปะการต่อสู้ให้กับนักแสดง
เกือบทุกบริษัทกำลังปั่นเม็ดเงินเข้าสู่บริษัทแม่คือ สหมงคลฟิล์ม ปีละประมาณ
1,000 ล้านบาท โดยรายได้ส่วนใหญ่มาจากการทำภาพยนตร์
ในปีที่แล้ว ค่ายนี้มีภาพยนตร์เข้าฉายทั้งหมด 5 เรื่อง คือ 7 ประจัญบาน,
ขังแปด, สาบเสือที่ลำน้ำกษัตริย์, โก๋หลังวัง, ผู้หญิง 5 บาป รับเป็นผู้จัดจำหน่ายให้
3 เรื่องคือ ตำนานกระสือ, 999-9999 ต่อติดตาย และมนต์เพลงลุกทุ่งเอฟเอ็ม
ทำรายได้เฉพาะการเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ในกรุงเทพฯ ถึง 255 ล้านบาท ไม่รวมการขายสายหนังต่างจังหวัด
การขายลิขสิทธิ์ของวิดีโอ วีซีดี และขายให้กับตลาดต่างประเทศ
ส่วนปีนี้ ตารางฉายภาพยนตร์ของค่ายสหมงคลฟิล์มทั้งหมด 12 เรื่องในเดือนมีนาคมถูกกำหนดบุ๊คโรงเสร็จสิ้นตั้งแต่เดือนมีนาคม
(ดูรายละเอียดในตารางหนังไทยที่จะเข้าฉายในปี 2546) ส่วนแผนงานภาพยนตร์เรื่องใหม่ที่จะฉายในปี
2547 ได้วางแผนเสร็จสิ้นแล้วเช่นกัน 18 เรื่อง หลายเรื่องอยู่ในระหว่างการถ่ายทำ
และบางเรื่องเสร็จแล้วอยู่ในระหว่างการตัดต่อ
แผนงานทั้งหมด แสดงให้เห็นความพร้อม และศักยภาพของบริษัทแห่งนี้อย่างมาก
"ทำไมจะทำไม่ได้ ทุกวันนี้ผมมีผู้กำกับมือดี ทั้งเก่าและใหม่ที่พร้อมทำงานให้กับบริษัทผม
มากกว่าค่ายอื่นๆ ในเมืองไทย" สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ หรือ "เสี่ยเจียง"
ของคนในวงการอุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย กรรมการผู้จัดการบริษัทสหมงคลฟิล์ม กล่าวอย่างมั่นใจ
ด้วยความเชื่อมั่นในสายสัมพันธ์ที่ต่อเนื่องยาวนานกับบรรดาผู้กำกับภาพยนตร์
ทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่
"ท่านมุ้ย" หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล คือ บรมครูในวงการนี้คนหนึ่ง ที่ทำงานป้อนให้ค่ายนี้มาตลอด
ตั้งแต่เรื่อง กาม เสียดาย มาจนถึง สุริโยไท และล่าสุด ท่านมุ้ย และนนทรีย์
ผู้กำกับรุ่นใหม่ชื่อดังอีกคน กำลังร่วมกันทำภาพยนตร์ฟอร์มใหญ่ภายใต้การ
อำนวยการสร้างของสหมงคลฟิล์ม เรื่อง "ระนาดเอก 5 แผ่นดิน"
ส่วนผู้กำกับรุ่นใหม่ๆ ในวงการที่เข้า มาต่อสายสัมพันธ์กับหนังค่ายนี้ก็มี
เช่น สุกิจ นรินทร์ เฉลิม วงษ์พิมพ์ ออกไซด์ แปง อัครพล อัครเศรณี บัณฑิต
ทองดี มานพ อุดมเดช จรูญ วรรธนะสิน หรือแม้แต่ผู้กำกับรุ่นเก่าบัณฑิต ฤทธิถกล
รวม ทั้งบริษัทผลิตภาพยนตร์หลักๆ ของสหมงคลฟิล์มที่มาจากสองค่ายคือ หรรษาฟิล์ม
และบาแรมยู
หรรษาฟิล์ม เป็นบริษัทผลิตภาพยนตร์ของนนทรีย์ นิมิบุตร ที่มีความสำเร็จเรื่อง
2499 อันธพาลครองเมือง นางนาก จันดารา เป็นการันตี ส่วนบาแรม ยู คือบริษัทของปรัชญา
ปิ่นแก้ว ที่ล่าสุดกำกับเรื่อง องค์บาก
ทั้งหมดคือผู้กำกับและบริษัทผลิตภาพยนตร์ที่สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ
บอกว่าไม่เคยทำสัญญาในแผ่นกระดาษเป็น ลายลักษณ์อักษรเพื่อผูกมัดเลย
"ผมไม่เคยทำสัญญากับใคร อย่างท่านมุ้ย ผมไม่เคยเซ็นสัญญา อุ๋ย นนทรีย์
ปรัชญา ผมก็ไม่เคยเซ็น ข้าอยากให้เอ็งอยู่กับข้า เพราะเอ็งรักข้าๆ ไม่ได้อยากให้เอ็งอยู่กับข้าเพราะสัญญามันบีบ
แบบนั้นอย่าทำ ไม่อยากทำ"
พันธมิตรระหว่างผู้กำกับที่มีความสามารถเป็นต้นทุนรองรังอย่างหนึ่งของสหมงคลฟิล์ม
แต่ความแหลมคมอยู่ที่ความกล้าในการเลือกบทภาพยนตร์ของสมศักดิ์เอง
"บท ผมเป็นคนเลือกเอง ผมมั่นใจว่า ผมอยู่ในวงการมานานพอที่จะดูออกว่าเรื่องแบบไหนขายได้
หรือไม่ได้ พอได้เรื่องแล้ว อาจจะดูดารา แต่ที่เหลือจากนั้นคงต้องปล่อยให้ผู้กำกับ
หรือบริษัทโปรดิวเซอร์เขาจัดการ อย่างเรื่องอินทรีย์แดง ผมเลือกนนทรีย์ เป็นโปรดิวเซอร์
ผู้กำกับมาจากฮ่องกง แล้วใครจะเล่นเป็นมิตร นี่คือตัวหลัก ได้แล้ว ที่เหลือผมปล่อยเลย
ที่เหลือทีมงานโปรดิวเซอร์เขารันต่อไปได้"
ภาพยนตร์เก่าย้อนยุค เรื่องของหนังผี หนังบู๊ หนังตลก หนังรัก หรือแม้หนังที่ไม่ได้ขายดาราเลยอย่าง "สยิว" ที่หลายคนไม่คาดคิดว่าเขากล้าเอามาทำ เช่นเดียวกับหนัง อาร์ต ใช้เทคนิคของการใช้โทนสีทั้งเรื่อง
อย่าง "Fake โกหกทั้งเพ" เป็นความหลากหลาย ที่มีจุดมุ่งหมายที่จะเสิร์ฟให้แก่ผู้บริโภคทุกกลุ่ม
"อย่าง Fake นี่เป็นหนังที่ไม่มีทางที่จะทำรายได้เหมือนองค์บาก มันเป็นหนังที่
ดูยาก ขายได้กับคนเฉพาะกลุ่ม ต่างจังหวัดก็ขายได้เฉพาะกลุ่มนักศึกษา แต่เราจำเป็นต้องมีหนังพวกนี้บ้าง
เพราะมันจะทำให้ค่ายเราเป็นอินเตอร์ เราต้องมีหลายรูปแบบ อย่างสยิว ก็เป็นหนังอาร์
หนังขนาดนี้รายได้ 10 กว่าล้านก็พอใจแล้ว แต่เรื่องนี้ 20 กว่าล้านมันต้องได้
มันแสดงให้เห็นศักยภาพของสหมงคลฟิล์มอย่างหนึ่งว่า ทุกอย่างในเรื่องนี้ใหม่
หมด ผู้กำกับ ดาราเขายังทำได้ Fake อาจจะมีดาราเป็นตัวดึงดูด แต่สยิวนี่ไม่มีเลยนะ"
ลิขสิทธิ์ในการทำวิดีโอ และวีซีดีของภาพยนตร์ทุกเรื่องจากค่ายถูกขายให้กับบริษัท
แมงป่อง เพราะสมศักดิ์บอกว่าเป็นธุรกิจที่ไม่ชำนาญ และมีทีมงานไม่เพียงพอ
บทบาทสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่เขาบอกว่าชอบเข้าไปจัดการก็คือ การกำหนดกลยุทธ์
ต่างๆ ในการทำการตลาด และประชาสัมพันธ์ โดยเขาให้ความสำคัญอย่างมากกับสื่อทาง
ด้านทีวี โดยเฉพาะเครือข่ายของช่อง 7 ที่ครอบคลุมการออกอากาศทั่วประเทศ
พันธมิตรระหว่าง "เสี่ยเจียง" กับ "คุณนายแดง" แห่งช่อง 7 สี มีมานาน สหมงคลฟิล์มซื้อโฆษณาของช่อง
7 เป็นปี แถมส่วนลด รวมทั้งภาพนิ่งหน้าจอของภาพยนตร์เรื่องต่างๆ ที่กำลังฉายขึ้นมาให้เห็นทุกครั้งทีมีการประกาศข่าว
คือ อานิสงส์ ผลพวงที่ได้รับ
แน่นอน เขาไม่ได้หยุดแค่ช่อง 7 ช่อง 9 คือเป้าหมายต่อไปที่เขาจะเข้าไปสร้างสัมพันธ์
พร้อมทั้งวางแผนสร้างการ์ตูนเรื่อง "มาอุตตม์" เสนอให้ช่องต่างๆ เม็ดเงินรายได้หรือกำไรไม่ใช่สิ่งสำคัญ
ความสัมพันธ์และการหาช่องทางประชา สัมพันธ์ ให้กับค่ายของเขาต่างหากคือ สิ่งที่คนคนนี้ต้องการ
ทุกอย่างกำลังเดินหน้าแผนการสร้างภาพยนตร์ปีนี้ ปีหน้าเสร็จเรียบร้อย และสิ่งหนึ่งที่สมศักดิ์
เตชะรัตนประเสริฐ กำลังผลักดันให้เกิดขึ้นก็คือ การวางแผนเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
โดยให้บริษัทเงินทุนหลักทรัพย์บัวหลวง และบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์ทิสโก้
ศึกษาความเป็นไปได้ และวิธีการต่างๆ หากแผนการเข้าตลาดฯ ในปีหน้าประสบผลสำเร็จ
สหมงคลฟิล์ม ก็จะเป็นบริษัทสร้างภาพยนตร์บริษัทแรกที่เข้าไปอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ
บริษัทสหมงคลฟิล์ม มีการบริหารแบบครอบครัวมาโดยตลอด 30 ปี ก็จะถึงยุคการเปลี่ยนแปลงก้าวไปสู่บริษัทมหาชน
ปัจจุบันนอกจากเสี่ยเจียงที่เป็นตัวหลักสำคัญของบริษัทนี้แล้ว ยังมีภรรยา "เตือนใจ" ดูแลด้านการเงิน ลูกสาวสามคน ที่จบการศึกษาระดับปริญญาตรี จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
รับผิดชอบในส่วนงานหลักๆ คือ "อวิกา" ลูกสาวคนโต อายุ 27 ปี รับตำแหน่ง Senior
Manager ดูงานด้านโฆษณาประชาสัมพันธ์ "จาตุสม" ลูกสาวคนรองอายุ 25 ปี มีตำแหน่ง
Manager Marketing ส่วน คนเล็ก "ชุมศจี" อายุ 23 ปี รับตำแหน่ง Sale Manager
ดูทางด้านการจำหน่ายภาพยนตร์ สำหรับอัครพล ลูกชายคนเล็กกำลังศึกษาต่อระดับปริญญาโท
ที่ประเทศอังกฤษ
การทำโครงสร้างองค์กรให้เป็นระบบวางแผนสร้างรายได้ในแต่ละช่วงเวลา กำลังถูกถักทอเป็นรูปร่างขึ้นอย่างช้าๆ
พร้อมๆ กับศูนย์บัญชาการแห่งใหม่กำลังก่อสร้าง
"ผมยอมรับความเปลี่ยนแปลงได้ ทุกอย่างต้องมีการเปลี่ยนแปลง และผมไม่ต้องการที่จะเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯ
เพราะต้องการเงินมาทำหนังเหตุผลที่ผมเอาเข้าตลาดฯ เพราะต้องการให้คนที่มีความรู้ความสามารถทางด้านนี้
เข้ามา มีส่วนในการบริหารบริษัทให้เจริญยาวนานต่อๆ ไป รวมทั้งลูกๆ ของผมก็จะได้มีหุ้นอยู่ในบริษัทที่มั่นคง
เมื่อผมตายไปชื่อของบริษัทนี้ก็ยังคงอยู่" สมศักดิ์ เตชะรัตนประเสริฐ กล่าวถึงที่มาของความคิด
และบอกย้ำว่า
"ความหวังของผม อยากให้ชื่อสหมงคลฟิล์ม ยังคงยืนหยัดต่อไปไม่ว่าจะมีผม
หรือไม่มีผมก็ตาม"