วิวัฒนาการของห้องสตูดิโอจัดทำและถ่ายทอดรายการ นับเป็นการสะท้อน การเติบโตของอุตสาหกรรมวิทยุได้ในระดับหนึ่ง
การให้ความสำคัญกับนำระบบไอทีมาช่วยในการจัดรายการเพลงเป็นสิ่งหนึ่ง เอ-ไทม์ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่องตลอดหลายปีมานี้
"แต่ละคลื่นมี concept มีโครงสร้างของคลื่นที่ครอบคลุมอยู่การใช้ไอทีของเรา
มาช่วยอำนวยความสะดวก ไม่ได้ทำเหมือนต่างประเทศที่ใช้เทคโนโลยีมาจัด ให้ดีเจกดปุ่มอย่างเดียว"
พี่ฉอด หรือสายทิพย์ มนตรีกุล ณ อยุธยา บอกกับ "ผู้จัดการ" ถึงพัฒนาการต่อเนื่องของการลงทุนด้านไอทีของ
เอ-ไทม์
ด้วยข้อจำกัดของเทคโนโลยี และธุรกิจเพลงในอดีต ที่เป็นแต่เพียงผู้จัดรายการรายย่อย
ที่เช่าเวลาเพียงแค่ชั่วโมง หรือ 2 ชั่วโมงมาจัดรายการ ทำให้การลงทุนสตูดิโอเป็นของตัวเองยังเป็นเรื่องห่างไกลเกินฝัน
"ตอนนั้นไม่มีใครกล้าลงทุน ถึงขั้นทำห้องส่งเอง เพราะเป็นการลงทุนมหาศาล
และสัญญาแค่ปีเดียว ไม่มีใครรู้ว่าปีหน้าจะไปอยู่สถานีไหน ผู้จัดส่วนใหญ่ยังเป็นรายย่อยๆ"
อภิสิทธิ์ ปุณณะนิธิ ผู้จัดการ Studio and Broadcasting อดีตดีเจ ที่ผันตัวเองมาดูแลงานเทคนิค
จนกระทั่งเมื่อเทคโนโลยีระบบสื่อสัญญาณผ่านดาวเทียม และระบบเคเบิลเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง
บวกกับ ความชัดเจนของธุรกิจวิทยุที่มีมากขึ้นเรื่อยๆ ธุรกิจไหนที่มีกำลัง
ก็เริ่มเปลี่ยนหันมาลงทุนสร้างห้องสตูดิโอเป็นของตัวเอง และเชื่อมสัญญาณผ่านเคเบิลไปออกที่สถานีถ่ายทอด
"เดิมที เราต้องไปจัดรายการที่ สถานีวิทยุ หรือบางครั้งก็ให้พนักงานส่งเอกสาร
ขี่มอเตอร์ไซค์ หิ้วเทปเป็นถุงไปส่งสถานี เพื่อออกอากาศให้ทันเวลาถ่ายทอดรายการ"
อภิสิทธิ์ย้อนอดีต
จนกระทั่งเมื่อธุรกิจเริ่มอยู่ตัวมีรายได้เเข้ามาต่อเนื่อง ทำให้เอ-ไทม์
มีเงินลงทุนมากพอสร้างสตูดิโอจัดรายการเป็นของตัวเอง
แม้ว่า ในเวลานั้นยังเช่าอาคารซีมิคทาวเวอร์จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยังไม่ได้เป็นเจ้าของตึกของตัวเอง
แต่ด้วยธุรกิจที่ขยายตัวทำให้เอ-ไทม์ ใช้เงิน 40 ล้านบาท ลงทุนสร้างห้องจัดรายการ
4 ห้อง ห้องผลิต 2 ห้อง และห้องอัดรายการ หรือ sound boot อีก 2 ห้อง
"การลงทุนช่วงนั้น เอ-ไทม์ ขึ้นเป็นอันดับ 1 ในตลาดอยู่แล้ว พอมาสร้างสตูดิโอเอง
ทำให้เราทำงานสะดวกขึ้น การติดต่อกันผ่านผลิต การตลาดง่ายขึ้น" อภิสิทธิ์บอก
ระบบการใช้งานในห้องสตูดิโอของเอ-ไทม์ในยุค นั้น แม้ว่ายังไม่ได้นำคอมพิวเตอร์มาใช้งาน
แต่เรียกว่าเป็นการยกระดับของการทำธุรกิจให้เข้าสู่มาตรฐานระดับสากล
ห้องจัดรายการถูกเป็นสัดเป็นส่วน การทำงานของดีเจได้รับความสะดวกมากขึ้น
สปอตโฆษณา และเสียงประกอบ (sound effect) ที่อยู่ในรูปเทปคาสเซตต์ เปลี่ยนมาอยู่ในรูปของ
floppy disk ช่วยให้ระบบการทำงานของดีเจ ที่ต้องมีกิจกรรมร่วมกับผู้ฟังทำได้สะดวก
และรวดเร็วขึ้น ระบบเสียงดีขึ้น แต่ส่วนการเปิดเพลงยังต้องใช้แผ่นซีดี
"ตอนนั้นเราไปดูงานในต่างประเทศ ไปดูว่าสตูดิโอไหน ที่เขาใช้ระบบมาตรฐานเราไปดูหมด
อย่างสถานีวิทยุบีบีซีเราก็ไปดู สตูดิโอที่เอ-ไทม์สร้างในช่วงนั้น ถือว่าได้มาตรฐานของโลก
ทำให้การทำงานสะดวกขึ้น เสียงดีขึ้น" อภิสิทธิ์ย้อนถึงการลงทุนสร้างห้องสตูดิโอ
เมื่อ 4 ปีที่แล้ว
จนกระทั่งเมื่อมีการย้ายสำนักงานมาอยู่ที่อาคารจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ การลงทุนสร้างสตูดิโอใหม่
เริ่มขึ้นอีกครั้ง และถือเป็นพัฒนาการต่อเนื่องของไอที ที่ต้องลงทุนต่อเนื่องตลอดเวลา
ครั้งนี้ นอกจากข้อจำกัดในเรื่องของเทคโนโลยี disk drive ที่ไม่มีการผลิตอีกต่อไป
ทำให้ยากต่อการดูแลรักษา การลงทุนสร้างห้องสตูดิโอใหม่ให้เทียบเคียงมาตรฐานในครั้งนี้
ยังทำขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับความเป็น format station ของเอ-ไทม์ ที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง
ความสำเร็จของรูปรายการ ที่มุ่งเน้นการสร้างความสัมพันธ์กับผู้ฟังรายการในแบบสองทาง
ผ่านกิจกรรมต่างๆ การเปิดให้โทรศัพท์เข้ามาขอเพลงในรายการ เล่นเกมทายปัญหา
ชิงบัตรชมคอนเสิร์ต ทำให้เอ-ไทม์มองเห็นจำเป็นของการมีอุปกรณ์เครื่องมือในห้องจัดรายการ
เพื่อสร้างความสะดวกให้กับดีเจในการทำรายการให้สอดคล้องกับ format station
มากที่สุด
"ประเทศอื่นๆ เขาเปิดเพลง 10 เพลง ดีเจพูดครั้งเดียว สลับด้วยข่าวพยากรณ์อากาศ
ตลาดหุ้น แต่ของเราดีเจต้องติดต่อกับคนฟังตลอดเวลา มีกิจกรรมของคลื่น จัดคอนเสิร์ต
เล่นเกม เป็นรูปแบบการจัดรายการวิทยุที่เป็นแบบเฉพาะตัว ไม่เหมือนกับประเทศไหนๆ
ในโลก ต้องหาระบบที่มาประยุกต์ใช้กับการทำงานของเราให้มากที่สุด" อภิสิทธิ์ย้อนอดีตถึงที่มาของการลงทุนห้องสตูดิโอจัดรายการวิทยุของเอ-ไทม์
บนชั้น 38
สตูดิโอจัดทำรายการ ถูกสร้างขึ้น 5 ห้องรองรับ 5 รายการ เพื่อให้สอดรับกับคอนเซ็ปต์รายการของแต่ละคลื่น
การเปลี่ยนแปลงที่สำคัญจากการลงทุนในครั้งนี้ อยู่ที่การเปลี่ยนมาใช้ระบบคอมพิวเตอร์ในการเปิดเพลงของดีเจ
ที่ถือเป็นการยกระดับการจัดทำรายการให้เข้ากับมาตรฐานสากล
ซีดีเพลงทั้งหมด รวมทั้งสปอตโฆษณา และเสียงประกอบ ถูกจัดเก็บในรูปไฟล์ดิจิตอลในเครื่องคอมพิวเตอร์
server ที่ถูกแบ่งแยกตามแต่ละสถานี
แทนที่ดีเจจะต้องเปิดเพลงจากแผ่นซีดี เปลี่ยนคีย์จากหน้าจอคอมพิวเตอร์ที่สามารถค้นหา
หรือเลือกเพลงจากโปรแกรม
"ระบบทำถึงขั้นต่อเพลงให้เลย แต่เราไม่เลือกวิธีนั้น เพราะรายการวิทยุไทยกับฝรั่งไม่เหมือนกัน
ต่างประเทศดีเจไม่ได้เลือกเพลงเองจะพูดเชื่อมอย่างเดียว music director เป็นคนเรียงเพลง
ใส่ข้อมูลลงในคอมพิวเตอร์ หลังจากจบด้วยเสียงเปียโน ต่อด้วยเพลงอะไร ใครกรอกตรงนี้เก่งที่สุด
จะทำให้เพลงที่ออกมาเพราะที่สุด แต่ของเราไม่ใช่" อภิสิทธิ์บอก
ในขณะที่วัฒนธรรมการฟังเพลงของไทย ที่ยังต้องอาศัยดีเจยังคงเป็นสื่อกลางที่จะเข้าถึงผู้ฟัง
การนำไอทีมาใช้จึงต้องพบกันตรงกลาง นั่นคือ เพิ่มความสะดวกให้กับดีเจในการจัดรายการเป็นหลัก
ทุกวันนี้ดีเจของเอ-ไทม์ เลือกเพลง เลือกสปอตโฆษณา และเสียงประกอบ ด้วยการ
click mouse ที่อยู่บนหน้าจอ คือสิ่งที่ปรากฏขึ้นกับการทำงานของดีเจในเวลานี้
"ระบบที่ใช้อยู่ เราใช้แค่ 10% ของประสิทธิภาพที่มีอยู่ ถ้าใช้อย่างเต็มที่
เขาสามารถตัดต่อเพลง จัดปฏิทินเพลงล่วงหน้า คำนวณเวลา เงินทองได้"
สีสัน และชีวิตชีวาในการจัดทำรายการ จากเสียงประกอบที่ดีเจเลือกใช้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์
เป็นส่วนหนึ่งของการลงทุนธุรกิจวิทยุ ที่เกิดขึ้นจากเทคโนโลยีในห้องสตูดิโอแห่งนี้