|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
๐ ไขแนวคิดธุรกิจที่สืบทอดองค์ความรู้ของบรรพบุรุษกำลังผ่านมือจากรุ่นสู่รุ่น
๐ "วัดโพธิ์" เชื่อมโยงสู่ "เชตวัน" จะแข็งแกร่งมากน้อยเพียงใด ?
๐ ทำอย่างไร "นวดแผนไทย" จึงกลายเป็นศาสตร์ที่มีคนคลั่งไคล้กัน
ไปทั่วโลก ?
๐ คำตอบดีๆ ของการพัฒนา "ธุรกิจดูแลสุขภาพ" ภายใต้ภูมิปัญญาไทยด้วยหลักบริหารที่มีปลายทางอยู่ที่ความสุข...เชื่อหรือไม่ว่านี่คือความยั่งยืน ?
การนำศาสตร์แพทย์แผนโบราณของไทยที่เก่าแก่ของ “วัดโพธิ์” มาสานต่อและพัฒนาการเรียนรู้ด้านการดูแลสุขภาพในชื่อ "เชตวัน" ด้วยการสร้างโรงเรียนเพื่อฝึกสอนคนให้สามารถนำองค์ความรู้มาดูแลตนเองและสร้างรายได้
ปรีดา ตั้งตรงจิตร เจ้าของกิจการและผู้บริหาร โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) ถ่ายทอดแนวคิดและมุมมองการนำภูมิปัญญาไทยมาสืบทอด กับ "ผู้จัดการรายสัปดาห์"
ปรีดา กล่าวถึงแนวโน้มธุรกิจดูแลสุขภาพในอนาคตว่า เมื่อมองจากจำนวนประชากรโลกที่จะเพิ่มขึ้นอีกมากใน 20 ปีข้างหน้า สูงถึง 8 พันกว่าล้านคนจากปัจจุบันประมาณ 6 พันล้านคน ขณะที่ความเจ็บป่วยที่เกิดจากความเครียดและวิตกกังวลมีมาก และด้วยมุมมองที่เห็นว่าเครื่องมือสื่อสารแยกความสัมพันธ์ระหว่างคนออกจากกันเพราะไปสัมพันธ์กับเครื่องมือแทน และอาจจะทำให้คนหลงปฏิบัติตัวผิดไป เช่น โฆษณายาที่ส่งเสริมให้คนใช้ทั้งที่อาจจะไม่ได้ผล
แต่การดูแลสุขภาพแบบไทย เช่น การนวด และการบริหารร่างกาย เป็นการดึงความสัมพันธ์ของคนเข้ามาอยู่ร่วมกัน และเป็นการรวมองค์ความรู้ในการปฎิบัติดูแลสุขภาพของตนเองได้ถูกต้อง เมื่อจิตใจและสุขภาพดีทุกอย่างที่จะตามมาก็ดี ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน ครอบครัว และสังคม จึงกลายมาเป็นคอนเซ็ปต์ธุรกิจ
ปัจจุบันองค์ความรู้ที่เผยแพร่อยู่ คือ นวดแผนไทย ฤษีดัดตน และสมุนไพร ซึ่งเรื่องใหม่ที่จะเสริมเข้ามา เช่น spa therapist และต่อไปจะมีการเชิญนักวิชาการจากต่างประเทศเข้ามาให้ความรู้คนไทย มีการจัดสัมมนาไม่ว่าจะเป็นด้านสปา หรือเสริมสวยที่มีองค์ความรู้อยู่แล้ว
สำหรับหลักสูตรที่มีคนเรียนสนใจมากที่สุด คือ นวดเท้า นวดไทยบำบัดรักษาโรค นวดน้ำมันหอมระเหย นวดผู้หญิง นวดทารกและเด็ก นวดไทยพื้นฐาน และนวดบำบัดรักษาโรค ส่วนความสนใจเรียนน้อยที่สุด คือ นวดวิชาชีพระดับกลาง ซึ่งใช้เวลาเรียน 380 ชั่วโมง ทำให้คนไทยไม่ชอบเพราะใช้เวลาเรียนนาน แต่จบแล้วหางานได้ทุกคน เพราะตลาดต่างประเทศต้องการมาก ซึ่งจุดเด่นของที่นี่คือคุณภาพ
แนวคิดของที่นี่คือ “ดีสำหรับคนกลัวจน แต่ไม่ดีสำหรับคนอยากรวย” ปรีดาให้เหตุผลว่า เพราะคนที่กลัวจนสามารถมาเรียนที่นี่ได้ จากหลักสูตรทั้งระยะสั้นและยาว และนำไปสร้างรายได้ได้ทันที เพราะตลาดมีความต้องการมาก เพราะฉะนั้น เมื่อมีความรู้ด้านนี้จึงไม่ต้องกลัวว่าจะจน แต่จะรวยหรือไม่แค่ไหนขึ้นอยู่กับความสามารถแต่ละบุคคล
"ที่นี่เราใช้ระบบโบราณมาก อาจารย์ 1 คนต่อนักเรียน 4 คน เพื่อให้นักเรียนมีคุณภาพ และอาจารย์สอบเป็นอีกคน ไม่มีการเกรงใจ เพราะถือว่าเมื่อจ่ายเงินและตั้งใจมาเรียนต้องได้วิชาความรู้เต็มที่ ทุกคนต้องได้มาตรฐานก่อนจบ"
ปัจจุบันมีอาจารย์ประมาณ 80 คน ยังไม่ค่อยเพียงพอ เพราะมีกฎเกณฑ์ว่าต้องทำงานมีประสบการณ์อย่างน้อยที่สุด 5 ปี แล้วจึงมาฝึกเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใช้เวลาประมาณ 2-3 ปี จึงจะขยับขึ้นเป็นอาจารย์ มีอาจารย์ที่ชำนาญมากอยู่กันมาประมาณเกือบ 40 ปี
"เราเป็นห่วงคนที่มาเรียนซึ่งมีจำนวนมากที่มีความรู้น้อย เราจึงอยากจะสอนให้คิดเป็น คิดดี และมีจรรยาบรรณ นอกจากมีความสามารถ ต้องทำให้แขกเก่ายังอยู่ครบ แขกใหม่มาเพิ่มเติมเรื่อยๆ แม้ว่าจะเหนื่อยแต่ฐานะดีขึ้น ธุรกิจจะเติบโตได้ทุกปีเมื่อคิดอย่างนี้"
๐ เริ่มด้วยจุดเล็กๆ
สำหรับความผิดพลาดในการให้บริการนั้นมีน้อยมาก เพราะมีการสอนหลักกายวิภาคศาสตร์ของคน และสอนให้รู้ว่าอะไรที่ทำได้และไม่ได้ มีความระมัดระวังสูง อย่างไรก็ตาม ด้วยเหตุที่ใบประกาศนียบัตรของที่นี่มีคุณค่ามาก ทำให้เกิดการปลอมแปลง เนื่องจากหลักฐานเหล่านี้ทำได้ง่าย แต่อย่างไรก็ตาม สามารถตรวจสอบกลับมาได้
ปัจจุบันมีผู้เรียนจบไปแล้วประมาณ 1.5 แสนคน ทั้งคนไทยและต่างชาติ 70 กว่าประเทศทั่วโลก โรงเรียนแพทย์แผนโบราณวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์) มีโรงเรียนในเครือในชื่อว่าโรงเรียนนวดแผนโบราณ เชตวัน มี 3 สาขา และคาดว่าจะขยายเพิ่มเพียง 2 สาขาเท่านั้น แต่ในด้านคลินิกและสถานบริการเพื่อสุขภาพสามารถขยายได้มากกว่า เพื่อให้ผู้เรียนสามารถฝึกฝนได้มากและเป็นช่องทางกระจายผลิตภัณฑ์ในอนาคตเพราะการอาศัยช่องทางกระจายสินค้าทางอื่นมีต้นทุนสูง
"แม้ว่าเราจะเป็นจุดเล็กๆ เป้าหมายต้องการให้ผู้เรียนมีความรู้เพื่อทำมาหากินที่เหมาะสมพอตัวแล้วมีความสุขจากความพอเพียง ส่วนความคิดต่อผู้เรียนต่างประเทศต้องการให้เกิดความรู้สึกที่ดี เกิดความประทับใจต่อประเทศไทย จะสร้างรายได้ต่อเนื่องเข้าประเทศอีกมาก
ความคิดของเราด้านการแข่งขัน คือการแข่งกับตัวเองว่า วันนี้เราทำอะไรที่ดีกว่าเมื่อวานหรือไม่? เมื่อคิดอย่างนี้จะไม่ทุกข์ ไม่เบียดเบียนต่อสู้กับใคร แต่เป็นการพัฒนาตัวเอง สิ่งที่คิดคืออยากจะทำงานแล้วมีความสุขและอยากให้เพื่อนฝูงมีความสุขด้วย เพราะเราอยู่เบื้องหลังความสำเร็จของคนมากมาย
และเราคิดว่าปัจจัยสี่คือสิ่งที่ทำให้เราอยู่ได้ นอกเหนือจากนั้นทำให้เกิดความทุกข์ เพราะฉะนั้น เมื่อทำธุรกิจ วิธีคิดคือยึดหลักความพอเหมาะพอดี เพราะการทำธุรกิจแล้วไม่เจ๊งจึงจะเป็นสุข แต่เมื่อทำเกินไปแล้วเจ๊งย่อมจะเป็นทุกข์โดยไม่ควร"
ข้อเสียของคนไทยมักจะทำตามกระแส ไม่ศึกษาให้ดีพอทั้งแนวทางและความสามารถที่มีอยู่ เพราะอยากจะเห็นความสำเร็จของเพื่อนร่วมวงการ และในด้านการแข่งขัน อย่ามองแคบแค่ประเทศไทย ยังมีโอกาสมากในต่างประเทศ
๐ สร้างชื่ออย่างสร้างสรรค์
สำหรับแนวทางทำธุรกิจของที่นี่ไม่คิดจะขยายตัวด้วยการร่วมทุน แต่มีทายาทมารับช่วงดูแล 3 คน และยึดหลัก "เหลือกินไว้เก็บ และเหลือเก็บไว้ใช้" เพราะเมื่อเกิดมาตัวเปล่าและกลับก็ตัวเปล่า สิ่งที่เหลือทิ้งสิ่งดีๆ ให้ลูกหลานและชื่อเสียงเป็นคุณค่า และอยากให้การเติบโตของธุรกิจนี้มีฐานที่ขยายกว้างขึ้นให้โอกาสกับคนจำนวนมากได้เข้ามา ไม่ใช่การเติบโตแบบปิรามิด
แม้จะเปิดบริการมาถึง 52 ปีแล้ว แต่ภูมิปัญญาของไทยที่มีอยู่ในด้านการดูแลสุขภาพยังมีอีกมากที่ไม่ได้นำออกมาใช้ เพราะฉะนั้น ในอนาคตยังมีองค์ความรู้ให้นำมาพัฒนาอีกมากมาย และแม้ว่าการแข่งขันมีมากขึ้น แต่มองว่าเป็นการช่วยขยายตลาด
"ถามตัวเองเสมอว่าประเทศไทยมีอะไรขาย หลายอย่างที่ทำอยู่ต้องอาศัยวัตถุดิบหรือไม่ก็ความรู้จากต่างประเทศ แต่เรื่องนี้เป็นสิ่งที่ประเทศไทยมีอยู่เองทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถ้าช่วยกันทำให้ดีเราจะมีสิ่งดีๆ สำหรับขายอีกมาก ในอดีตมีกรมหมอนวด งานนี้ไม่ใช่งานต่ำ และที่ผ่านมาก็ส่งเสริมกันมาทำให้ดีขึ้นมาแล้ว เพราะฉะนั้น ตอนนี้ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้หรือเทคนิควิธีการเป็นธุรกิจไทยจริงๆ ที่เราเติบโตมาด้วยจุดเริ่มจากเล็กๆ ไปใหญ่ๆ"
เมื่อถามถึงชื่อเสียง ปรีดาบอกว่า ความมีชื่อเสียงต้องให้คนอื่นบอก แต่ที่บอกได้คือมีสื่อต่างประเทศมาขอทำรายการไม่ต่ำกว่า 50 รายในแต่ละปี เพื่อมาขอดูสิ่งที่ทำและความก้าวหน้า ขณะที่ชื่อเสียงการนวดแผนโบราณของวัดโพธิ์ เป็นที่ยอมรับในต่างประเทศมานานแล้ว ระดับผู้นำหลายๆ ประเทศมาใช้บริการ ส่วนฤษีดัดตน ตามพระราชประสงค์ของรัชกาลที่ 3 อยากให้เป็นประโยชน์ต่อมนุษยชาติ ตอนนี้มีหน่วยงานกำลังดำเนินการเพื่อขอจดทะเบียนเป็นมรดกโลก หากสำเร็จจะทำให้เห็นมุมที่ดีๆ เห็นภูมิปัญญาไทยอีกเรื่องหนึ่ง
ขณะที่ในต่างประเทศนำไปถ่ายทอดต่อ ยุโรปและเอเชียขยายไปหลายประเทศ ญี่ปุ่นคลั่งไคล้มาก หลายสิบประเทศสนใจ แม้ว่ามีบางส่วนมองว่าการส่งเสริมให้ชาวต่างชาติเรียนรู้จะกลายเป็นการนำไปสร้างผลประโยชน์ ทำให้คนไทยเสียประโยชน์ แต่หากมองอย่างสร้างสรรค์จะเห็นว่าเป็นการช่วยเผยแพร่ และช่วยให้อยากมาเที่ยวเมืองไทยเพื่อดูต้นตำรับ
แต่สำหรับมุมมองเรื่องความสำเร็จนั้น ณ วันนี้ นับว่ายังไม่ประสบความสำเร็จตามที่ตั้งใจไว้ เพราะยังต้องทำอะไรอีกมาก เช่น การนวดแผนโบราณที่ทำอยู่ยังเป็นเพียงจุดเล็กๆ ความสำเร็จวัดได้จากความสุขของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งหมด ในด้านการบริหารให้ดี ต้องพยายามให้ได้ทำในสิ่งที่ชอบหรือรัก กุญแจที่ทำให้ได้ก้าวมาถึงวันนี้ มาจากความเป็นเพื่อนและความจริงใจ ไม่ว่าจะเป็นส่วนไหน
ธุรกิจการดูแลสุขภาพในปัจจุบันมีทางเลือกมาก และการที่มีโรงเรียนสอนนวดไทยมากๆ มองว่าเป็นผลดีโดยรวมเพราะคนทั่วไปจะได้รู้ประโยชน์ของการนวดไทย และเมื่อถึงจุดหนึ่งจึงอยู่ที่คุณภาพว่าใครจะทำให้ผู้บริโภคยอมรับได้มากกว่ากัน
"ความรู้เรื่องการนวดไทยไม่ใช่ของเรา ไม่ต้องใช้ความรู้ใหม่ เพียงแต่นำความรู้เดิมมาจัดให้เข้าระบบ และใช้การบริหารจัดการให้เหมาะสม เราเอาภูมิปัญญาดั้งเดิมมาใช้อย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่มุ่งผลประโยชน์แล้วเอาเปรียบกัน" ปรีดา ย้ำถึงแนวทางที่ยึดถือมาตลอด
๐ แนะผู้ประกอบการใหม่
ปรีดา แนะนำผู้ที่สนใจจะเป็นผู้ประกอบว่า การเป็นผู้ประกอบการไม่ว่าจะทำกิจการอะไรก็ตาม ข้อสำคัญ คือ ต้องมีคอนเซ็ปต์เป็นสิ่งสำคัญข้อแรก เพื่อให้มีทิศทางที่จะเดินรู้แน่ว่าตัวเองจะทำอะไร สามารถกำหนดแนวทางได้หมด และสามารถประมาณการได้ ไม่ใช่การทำตามคนอื่นๆ เปรียบเทียบกับการซื้อหุ้นซึ่งเป็นการลงทุนเช่นกัน จำเป็นจะต้องรู้ว่าต้องการหุ้นแนวไหน
วิธีการคิดคอนเซ็ปต์ขึ้นอยู่กับตัวคนที่ต้องการทำ เริ่มต้นชอบหรือถนัดคอนเซ็ปต์อาหารสุขภาพ ก็ไม่ควรจะทำเรื่องนวดเป็นหลัก รวมทั้งองค์ประกอบต่างๆ ที่เหมาะสมกับตนเอง เช่น เงินลงทุน
คนที่จะทำธุรกิจนี้ ต้องมีใจ มุ่งมั่น ทุกอย่างมาจากความมุมานะเพื่อให้ได้มา แต่อยู่บนฐานที่ทำได้อย่างมีการประมาณตนไว้แล้ว ทำธุรกิจมีเก็บมีใช้ ไม่ควรจะโลภ เพราะถ้าสู้ด้วยการทุ่มเงินลงไปรายใหญ่จะใช้วิธีเดียวกัน ในที่สุดรายเล็กจึงไม่รอด ไม่ต้องการสนับสนุนให้คนกู้เงินมาลงทุน ต้องการให้ทำงานเก็บเงินให้ได้ก่อน เพราะจริงๆ แล้วเมื่อมีความรู้ด้านนี้ไม่จำเป็นต้องเปิดเป็นร้าน แต่ต่อไปพยายามจะสร้างให้เป็นผู้ประกอบการมากขึ้น
ปัจจุบันเป็นวิทยากรทั่วไปให้ความรู้ด้านบริหารจัดการธุรกิจอยู่แล้ว เช่น ในมหาวิยาลัยหัวเฉียว มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช ในวิชาการพัฒนาแพทย์แผนไทยสู่สากล และการพัฒนาแพทย์แผนไทยสู่อาชีพอิสระสำหรับผู้ที่จบปริญญาตรีแล้ว แต่ในส่วนของโรงเรียนฯ ต่อไปจะทำเป็นหลักสูตรการทำธุรกิจอย่างครบถ้วน เช่น การบริหารร้าน การบริหารจัดการแพทย์แผนไทยเพื่อสอนในระดับต่ำกว่าปริญญาตรี คาดว่าไม่เกิน 2 ปีข้างหน้าจะทำออกมา ทั้งผู้เรียนที่ไม่เคยเรียนรู้มาก่อน และผู้ที่มาอัพเดทเรียนรู้ความรู้ใหม่ที่พัฒนาไป
๐ "ศาลายา" เพิ่มคุณค่าไทย
ธุรกิจดูแลสุขภาพของไทยแบ่งเป็น 3 ส่วน คือ 1.การนวดเพื่อสุขภาพ 2.การดูแลบุคลิกภาพเพื่อสุขภาพ และ3.เสริมสวยเพื่อสุขภาพ เป็นศาสตร์พื้นฐานความรู้ที่มีอยู่ แต่ที่ผ่านมาไม่ได้นำมาทำเป็นวิชาการ
อย่างไรก็ตาม โรงเรียนแพทย์แผนไทยวัดพระเชตุพน(วัดโพธิ์) และในเครือ นำมาสร้างเป็นองค์ความรู้ ปัจจุบันมี 4 แห่ง ซึ่งมีคลินิกสุขภาพควบคู่ไปด้วย เพื่อเป็นที่ฝึกของนักเรียน และให้บริการคนทั่วไป ประกอบด้วย วัดโพธิ์ 1 แห่ง โรงเรียนนวดแผนโบราณ เชตวัน 2 แห่ง คือ แจ้งวัฒนะ และเชียงใหม่ กับโรงเรียนสุขภาพ เชตวัน ศาลายา สาขาล่าสุด เป็นการดูแลสุขภาพครบวงจร เพิ่งจะเปิดบริการเมื่อเร็วๆ นี้ กระแสการตอบรับดี
สำหรับโรงเรียนฯ ทั้ง 3 แห่ง เป็นแค่ห้องแถว แต่โรงเรียนสุขภาพ เชตวัน ศาลายา การเรียนการสอนที่ศาลายา จะมีรูปแบบแตกต่างไปจากสาขาอื่นๆ เพราะมีพื้นที่มากกว่า สามารถเป็นโรงเรียน คลินิก หอพักให้นักเรียนพัก และมีกิจกรรมต่างๆ ให้ทำด้วย
ไม่ได้คิดจะสอนการนวดเท่านั้น แต่เป็นวิถีชีวิตของไทยทั้งหมดที่จะแสดงให้ดู โดยหลักมีเรื่องการนวด การนำสมุนไพรมาใช้ และกิจกรรมต่างๆ ที่จะสร้างสรรค์ขึ้นมา มีทั้งอยู่ภายในโรงเรียนและเข้าไปเรียนรู้จากชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง
เมื่อมาเรียนสามารถมาพักอยู่ได้ และจะเริ่มตั้งแต่ทานอาหารไทย ออกกำลังกายแบบไทย และกิจกรรมต่างๆ เช่น กระบี่กระบอง เตะตะกร้อ เรียนทำอาหาร เรียนรู้การปลูกข้าวซึ่งรูปแบบของไทยกับต่างชาติต่างกัน ของไทยเป็นลักษณะของวิถีชีวิตมีชาวบ้านมาลงแขกมาช่วยกันทำเป็นกิจกรรมของท้องถิ่นชุมชน แต่ต่างประเทศเป็นลักษณะของการที่ปลูกเพื่อหาเงิน เป็นต้น เพราะความต้องการของคนเรียนมีหลากหลาย และมีทั้งคนไทยและต่างชาติ
"คอนเซ็ปต์ของที่นี่ไม่ใช่แค่สร้างโรงเรียน แต่เป็นการสร้างชุมชนให้รู้จักทุกอย่างที่เป็นไทย ถ้าเป็นคนไทยจะได้มีความภูมิใจในวัฒนธรรม ถ้าเป็นต่างชาติจะได้เข้าใจและประทับใจ ที่เราทำส่วนหนึ่งเป็นการจุดประกายให้คนในชุมชนนั้นเห็นด้วยว่า สิ่งที่อยู่ในชุมชนสามารถนำมาสร้างคุณค่าให้คนที่ไม่รู้ทั้งคนไทยและต่างชาติได้มากมาย
เราจะไม่สร้างอะไรใหม่ เพราะสมุนไพรที่ปลูกเราก็นำมาใช้ทำผลิตภัณฑ์ของเราเอง ส่วนอื่นให้เรียนรู้จากที่มีอยู่แล้ว เราไปสร้างโรงเรียนนี้คนอื่นดีใจ ทั้งพิพิธภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง ฟาร์มจระเข้ สวนสามพราน สวนกล้วยไม้ เพราะเราจะพาคนเรียนไปดู แถวนั้นมีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนค่อนข้างมากอยู่แล้ว" ปรีดากล่าว
|
|
 |
|
|