แอสคอนทบทวนกลยุทธ์หลังไร้เงาอำนาจเก่า สร้างโอกาสชนะประมูลรถไฟฟ้า เตรียมดึงพันธมิตรใหม่ญี่ปุ่นร่วมวงเยอรมัน หวังผูกใจเจบิคผู้ปล่อยกู้ เดินหน้าประมูลหางาน สร้าง Backlog ก้าวกระโดด 5,000 ล้าน หวังรายได้เติบโต 2,500 ล้าน หลังมติบอร์ดไฟเขียวเพิ่มทุนเป็น 400 ล้านบาท เผยใช้ธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ เสริมรายได้หลังภาวะธุรกิจรับเหมาชะลอ
แม้ที่มาที่ไปของแอสคอนก่อนหน้าที่จะกลายเป็นผู้รับเหมารายยักษ์รับงานทั้งภาครัฐและเอกชนในขณะนี้ จะเป็นเหมือนภาพลางๆ ที่น้อยคนจะรู้เบื้องหลังก็ตาม แต่หลายคนคงจำได้ว่าในยุครัฐบาลเก่า ชื่อเสียงของแอสคอนกลับโดดเด่นขึ้น เพราะชนะประมูลงานภาครัฐหลายงาน งานที่เด่นๆ คือ ศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ และผู้บริหารยังแสดงความมั่นใจว่าจะชนะการประมูลงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายใหม่อีกด้วย เพราะณ เวลานั้นเป็นที่ทราบกันดีว่าแอสคอนมีบิ๊กแห่งพรรคไทยรักไทยคอยหนุนหลัง รวมทั้งมีกลุ่มจุฬางกูร ที่มีความสัมพันธ์กับสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และเลขาธิการพรรคไทยรักไทยเช่นกัน อยู่ในอันดับแรกๆ ของผู้ถือหุ้นใหญ่ในบริษัทด้วย
เมื่อขั้วอำนาจการเมืองเปลี่ยน จึงไม่อาจหนุนแอสคอนให้ชนะประมูลอย่างง่ายดายเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป ประกอบกับภาวะเศรษฐกิจและการลงทุนเมกะโปรเจกต์ของภาครัฐยังไม่ชัดเจน ทำให้แอสคอนต้องหันกลับมาทบทวนทิศทางที่ธุรกิจจะเดินไปอีกครั้ง ซึ่ง พัฒนพงษ์ ตนุมัธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสคอน คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) บอกว่า บริษัทมีการปรับนโยบายการบริหารจัดการ โดยให้ความสำคัญกับความเสี่ยง ต้นทุน และกระแสเงินสดมากขึ้น จึงทำให้ความเร็วในการทำงานเพื่อรับรู้รายได้ช้าลงไปเล็กน้อย
ปีนี้บริษัทตั้งเป้าสร้าง Backlog ให้ได้ 5,000 ล้านบาท โดยปัจจุบันมี Backlog อยู่แล้ว 3,200 ล้านบาท คาดว่าในสิ้นเดือนนี้จะมีการเซ็นสัญญาก่อสร้างเข้ามาอีก 1,000 ล้านบาท เป็นงานสาธารณูปโภคภาครัฐ และงานคอนโดมิเนียมภาคเอกชน และตั้งเป้ารับรู้รายได้ 2,500 ล้านบาท เติบโตขึ้น 80% จากปี 2549 ที่มีรายได้ 1,500 ล้านบาท โดยบริษัทฯ จะประมูลงานใหม่เข้ามาเรื่อยๆ เพื่อรักษาระดับ Backlog 5,000 ล้านบาทนี้เอาไว้ให้ได้ภายใน 2 ปี
ก่อนหน้านี้แอสคอนได้เซ็น MOU กับบริษัท ดิวิดัก อินเตอร์เนชั่นแนล จีเอ็มบีเอช ซึ่งเป็นบริษัทลูกของสตราบัก เอสอี ยักษ์ใหญ่ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างจากเยอรมัน เพื่อเข้าร่วมประมูลก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้า 5 สาย มูลค่า 165,000 ล้านบาทของรัฐบาลในนามกิจการร่วมค้า โดย พัฒนพงษ์ กล่าวเพิ่มว่า ยังสนใจจะใช้กิจการร่วมค้านี้ไปประมูลงานขนาดใหญ่อื่นๆ ด้วย โดยจะเป็นงานขนาดใหญ่ที่มีมูลค่าสูงกว่า 1,000 ล้านบาท และเป็นงานในต่างประเทศ ซึ่งกิจการร่วมค้าได้เซ็นสัญญางานก่อสร้างโรงแรม 16 แห่งของกลุ่มแอคคอร์ในเวียดนาม มูลค่า 10,000 ล้านบาทไปแล้ว คาดว่าจะศึกษาโครงการเสร็จ และเริ่มก่อสร้างได้ในไตรมาส 3
เพราะความหวังส่วนหนึ่งฝากไว้กับเมกะโปรเจกต์ ซึ่งมีมูลค่างานมหาศาล ทำให้แอสคอนตัดสินใจที่จะปรับสัดส่วนพันธมิตรในกิจการร่วมค้า จากเดิมมีเพียงกลุ่มทุนเยอรมันที่มีความเชี่ยวชาญในโนว์ฮาว มาเป็นการดึงกลุ่มทุนญี่ปุ่นเข้ามาร่วมด้วย เพราะหากรัฐบาลจะต้องกู้เงินธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างแห่งประเทศญี่ปุ่น (เจบิก) ในเบื้องลึกหากแอสคอนมีพันธมิตรญี่ปุ่นร่วมด้วยตามข้อตกลงที่เจบิกต้องการ โอกาสที่จะชนะประมูลย่อมมีสูงขึ้น ซึ่ง พัฒนพงษ์ บอกเพียงว่าเป็นแผนระยะยาว แต่ขณะนี้อยู่ในระหว่างพิจารณากลุ่มทุนญี่ปุ่นที่เข้ามาเจรจาด้วย 2-3 ราย
นอกจากนี้มติที่ประชุมผู้ถือหุ้นยังอนุมัติให้บริษัทฯ เพิ่มทุนจดทะเบียนจาก 200 ล้านบาทเป็น 400 ล้านบาท เพื่อนำมาเป็นเงินหมุนเวียนในการลงทุน นอกจากนี้ยังอนุมัติให้ซื้อโครงการคอนโดมิเนียม ดิ อินสไปร์ พระราม 9 จำนวน 700 ยูนิต ในราคาไม่เกิน 475 ล้านบาท ปัจจุบันเป็นโครงการที่แอสคอนกำลังดำเนินงานก่อสร้าง และมียอดขายแล้วกว่า 60% ซึ่งหากขายได้หมดในปีนี้ จะมียอดรับรู้รายได้เข้ามา 1,400 ล้านบาท
การเข้าไปซื้อโครงการดังกล่าวถือเป็นการกระจายความเสี่ยงของธุรกิจ เนื่องจากปัจจุบันภาวะการเมืองและเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลทำให้โครงการลงทุนของภาครัฐหดหายไปด้วย ดังนั้นจึงต้องแตกไลน์เข้าสู่ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เป็นตัวเสริม เพื่อให้มีรายได้เข้ามาหล่อเลี้ยงแทนงานรับเหมาที่หดหายไป ซึ่งบริษัทฯ อยู่ในระหว่างศึกษาเพื่อตัดสินใจซื้ออาคารร้างมาพัฒนาต่ออีก 2-3 โครงการ ได้แก่ รีสอร์ตที่หัวหิน และโครงการอีก 2 แห่งในกรุงเทพฯ ทั้งนี้มองโครงการที่มีโอกาสและศักยภาพเพียงพอเท่านั้น เน้นอาคารสูง เนื่องจากแอสคอนมีความเชี่ยวชาญอยู่แล้ว โดยคาดว่าปีนี้จะมีสัดส่วนรายได้จากธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ 30% จากเดิมที่รายได้มาจากธุรกิจรับเหมา 100%
|