ตลาดบริการเสริมบนมือถือไทยคึกคักขึ้น หลัง "ดีแทค" ประกาศสมรภูมิรบเต็มรูป
ตั้งเป้ารายได้ปีแรกขอโต 40% จากรายได้ 5,700 ล้านของปี 49
วาง 4 กลยุทธ์หลัก "มาร์เกตติ้ง " "โปรดักส์" "พาร์ตเนอร์" "มิวสิก" ตลุยตลาดแบบครบวงจร
เปิดตัว "บัตรเบ่ง" นวัตกรรมแนวใหม่บัตรเติมบริการเสริมครั้งแรก สร้างสิ่งที่จับต้องไม่ได้ให้เป็นรูปเป็นร่าง
บริการดาวน์โหลดริงโทน วอลเปเปอร์ เอสเอ็มเอส เอ็มเอ็มเอส อินเทอร์เน็ตโมบาย ฯลฯ บริการเหล่านี้ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มธุรกิจบริการเสริมหรือที่เรียกว่า VAS ของธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ เป็นส่วนธุรกิจที่ฟังดูเหมือนรายได้จะไม่มาก แต่จริงๆ ถือเป็นธุรกิจที่ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ต่างหมายปองในการเพิ่มบทบาทธุรกิจนี้ให้โตวันโตคืน อันเป็นผลมาจากที่ธุรกิจนี้มีต้นทุนไม่สูงเท่ากับธุรกิจหลักทางด้านเสียง แต่กลับสร้างส่วนต่างรายได้ค่อนข้างมาก
ตลอดระยะเวลา 4 ปีที่ทางบริษัท เทเลนอร์ เอเชีย จำกัด เข้าถือหุ้นในบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายใต้แบรนด์ "ดีแทค" ธุรกิจเสริมเป็นธุรกิจที่เทเลนอร์ เอเชียไม่ได้เน้นกิจกรรมการตลาดแบบแรงๆ เหมือนดังค่ายผู้นำตลาดที่ลงทุนลงแรงปลุกปั้นบริการเสริมนี้ให้กับผู้ใช้บริการของตนอย่างต่อเนื่อง จะมีบ้างในปีแรกๆ ที่ได้นำบริการเสริมภายใต้แบรนด์ "ดีจูซ" เป็นโมเดลธุรกิจจากยุโรปมาเปิดให้บริการ แต่ก็กลับไปได้ไม่ดีนัก ทำให้ดีแทคจึงมุ่งความสนใจไปที่ธุรกิจทางด้านเสียงตั้งแต่นั้นมา แต่บริการเสริมของดีแทคก็ไม่ใช่ว่าจะเพิกเฉยโดยสิ้นเชิง ยังคงมีการปรับปรุงการให้บริการมาเรื่อยๆ เท่านั้น แต่ไม่ได้กำหนดให้เป็นธุรกิจสร้างรายได้อย่างจริงจัง
แต่มาปีนี้ ปีที่ดีแทคอยู่ในสถานะของผู้เล่นเบอร์ 2 เต็มตัว มีฐานผู้ใช้ ณ สิ้นปี 2549 รวม 12,225,498 เลขหมาย แบ่งเป็นผู้ใช้บริการในระบบรายเดือน 2,036,102 เลขหมาย ระบบพรีเพด 10,189,396 เลขหมาย ไม่จำเป็นต้องลงสนามแข่งขันเต็มรูปแบบเพื่อช่วงชิงฐานลูกค้าเหมือนในอดีตอีกต่อไป ทำให้ดีแทคอยู่ในฐานะที่พอจะมีกำลังเปิดศึกในธุรกิจบริการเสริมอีกสนามหนึ่งขึ้นมา
"หากเทียบกับรายได้ธุรกิจบริการเสริมของดีแทคเมื่อ 4 ปีทีแล้วที่มีรายได้ต่อปีอยู่ที่เกือบๆ 600 ล้านบาท กับรายได้ของบริการเสริมในปี 2549 ที่อยู่ประมาณ 5,700 ล้านบาท ถือว่ารายได้ต่างกันเยอะมาก ทำให้ทางประธานเจ้าหน้าที่บริหาร "ซิคเว่ เบรคเก้" เริ่มมองว่าถึงเวลาที่ดีแทคน่าจะให้ความสำคัญกับธุรกิจนี้มากขึ้น" ปกรณ์ พรรณเชษฐ์ ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มธุรกิจบริการเสริม บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือดีแทค เล่าถึงที่มาที่ไปของการเปิดตลาดบริการเสริมของดีแทคอีกครั้งในปีนี้ให้ฟัง
การที่ดีแทคลุกขึ้นมาประกาศตนว่า จะเน้นการทำตลาดบริการเสริมอย่างจริงจังในปี 2550 นั้น ทางดีแทคได้มีการปรับปรุงองค์กรเพื่อตอบรับกับแนวนโยบายใหม่ที่เปลี่ยนมาตั้งแต่ 4 เดือนที่แล้ว ด้วยการจัดฝ่ายใหม่ในองค์กร เพื่อให้เกิดความคล่องตัวและชัดเจนในการทำกิจกรรรมการตลาดในอนาคต
บริการเสริมปี 50 โต 40%
แต่ก่อนที่ปกรณ์จะเล่ารายละเอียดของกลยุทธ์ธุรกิจบริการเสริมที่รับผิดชอบนั้น ปกรณ์ได้แจกแจงประสิทธิภาพของบริการเสริมในปี 2549 ให้ฟังว่า ดีแทคมีรายได้จากบริการเสริมอยู่ประมาณ 5,700 ล้านบาท คิดเป็น 12.35% ของรายได้รวม เติบโตเพิ่มขึ้น 48.32% เมื่อเทียบกับปี 2548 โดยมียอดผู้ใช้บริการเสริมประมาณ 60% ของจำนวนยอดผู้ใช้บริการทั้งหมดของดีแทคที่ประมาณ 12,225,498 เลขหมาย แบ่งเป็นสัดส่วนรายได้มาจากบริการทางด้านคอนเทนต์อย่างดาวน์โหลดเพลง เกม บริการรับข่าวสาร 29.45% บริการส่งข้อความสั้นหรือเอสเอ็มเอส 28.47% บริการเสียงเพลงระหว่างรอสายหรือริงฟอร์ยู 25.98% ส่วนบริการดาต้าที่ใช้บริการผ่านจีพีอาร์เอสและเอดจ์อยู่ที่ 28.47% และบริการส่งข้อความมัลติมีเดียหรือเอ็มเอ็มเอส 1.80%
"เวลานี้ดีแทคมียอดผู้ใช้บริการริงฟอร์ยู 3.4 ล้านเลขหมาย ทำรายได้ 1,484 ล้านบาท แต่ถ้าเป็นบริการจีพีอาร์เอสและเอดจ์มียอดผู้ใช้ 1.4 ล้านเลขหมายทำรายได้ 749 ล้านบาท"
สำหรับเป้าหมายรายได้ของธุรกิจบริการเสริมในปี 2550 นี้ซึ่งถือเป็นปีแรกที่ดีแทคให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการเสริมอย่างจริงๆ จังๆ ปกรณ์บอกว่า ปี 2550 ดีแทคตั้งเป้าหมายการเติบโตในธุรกิจบริการเสริมนี้ไม่น้อยกว่า 40% จากปีที่ผ่านมา หลังจากพบว่า ยอดผู้ใช้บริการจีพีอาร์เอสและเอดจ์เติบโตขึ้นจากเดิมที่เมื่อสิ้นปีมีประมาณ 1.4 ล้านเลขหมาย แต่ตัวเลขยอดการใช้บริการดังกล่าว ณ สิ้นเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมามีถึง 2 ล้านเลขหมาย โดยทางดีแทคตั้งเป้าหมายไว้ว่า เมื่อถึงสิ้นปีนี้น่าจะมียอดผู้ใช้บริการส่วนนี้ประมาณ 4-5 ล้านเลขหมาย
การที่จะบรรลุให้ถึงเป้าหมายที่วางไว้ กลยุทธ์ที่ปกรณ์ ผู้บริหารที่เข้ารับหน้าที่ในครั้งนี้ประกอบไปด้วย 4 ส่วน คือ กลยุทธ์แรก กลยุทธ์ทางด้านการตลาด โดยบริการเสริมของดีแทคมีความชัดเจนว่า จะแยกการทำตลาดระหว่างระบบพรีเพดกับระบบโพสต์เพดกันอย่างชัดเจน เนื่องจากพฤติกรรมลูกค้าแต่ละระบบต่างมีพฤติกรรมการใช้งานบริการเสริมที่แตกต่างกัน
"ดีแทคจะไม่มีการแยกแบรนด์บริการเสริมออกมาเหมือนอย่างที่ทางเอไอเอสมีแบรนด์โมบายไลฟ์แบรนด์เดียวในการโปรโมตไปยังฐานลูกค้าทั้งหมด"
กลยุทธ์ที่สอง กลยุทธ์ทางด้านโปรดักส์หรือผลิตภัณฑ์และบริการ โดยดีแทคจะพัฒนาบริการออกมาให้ผู้ใช้บริการได้เลือกที่หลากหลายและตรงกับความต้องการ โดยมีแนวความคิดที่สวนทางจากผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่อย่างเอไอเอสตรงที่จะพยายามผลักดันให้บริการเสริมต่างๆ ลงมาอยู่บนมือถือ แต่แนวคิดของดีแทคจะทำการพัฒนาบริการต่างๆ ที่มีอยู่บนมือถือให้ขึ้นไปอยู่บนเว็บมากขึ้นเพื่อให้ตรงกับพฤติกรรมของผู้ใช้ในแต่ละเซกเมนต์ที่มีพฤติกรรมการใช้งานที่ไม่เหมือนกัน
ปัจจัยเสริมที่หนุนให้เกิดบริการดังกล่าวได้เป็นเรื่องของประสิทธิภาพเครือข่ายที่รองรับการใช้งานทางด้านดาต้า ซึ่งปกรณ์ ขยายความในเรื่องเครือข่ายให้ฟังว่า ประมาณเดือนพฤษภาคมปีนี้ ดีแทคจะมีเครือข่ายเอดจ์ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการประมาณ 95-96% และยังสร้างระบบสื่อสัญญาณในการเชื่อมต่อเครือข่ายเข้ากับอินเทอร์เน็ต ด้วยประสิทธิภาพเครือข่ายที่มีอยู่ของดีแทค เรามีความเชื่อมั่นว่า จะทำให้บริการเสริมในส่วนของดาต้าเพิ่มขึ้นกว่า 100% เหมือนกับปีที่ผ่านมา
ปกรณ์ กล่าวว่า เนื่องจากเรามองว่า ผู้ใช้บริการเสริมของดีแทคมีพฤติกรรมการใช้งานบนอินเทอร์เน็ตมากขึ้น ซึ่งแอปพลิเคชั่นบางอย่างเมื่อใช้บนมือถืออาจจะไม่สะดวกในการใช้งาน บริการใหม่ที่จะนำออกมาให้บริการเร็วๆ นี้นั้น จะนำแนวคิดเรื่องทูลบาร์ที่ใช้กันอยู่บนอินเทอร์เน็ต มาพัฒนาเป็นบริการเสริมที่เรียกว่า ดีแทคทูลบาร์ เมื่อลูกค้าของดีแทคที่เข้าไปยังเว็บไซต์ของดีแทคจะมีทูลบาร์ขึ้นมาเพื่อใช้สำหรับส่งเอสเอ็มเอสหรือส่งเอ็มเอ็มเอสไปยังเลขหมายปลายทางที่ต้องการได้ทันที ไม่ต้องเข้าไปหน้าเว็บโน้นเว็บหน้าเว็บนี้ให้ยุ่งยาก โดยเฉพาะผู้ที่ใช้ชีวิตอยู่กับอินเทอร์เน็ตเป็นเวลานานๆ ในแต่ละวันก็สามารถส่งเอสเอ็มเอสหรือเอ็มเอ็มเอสไปยังเลขหมายปลายทางที่ต้องการได้ โดยไม่ต้องเสียเวลาป้อนข้อความเพื่อส่งผ่านทางโทรศัพท์เคลื่อนที่อีก
"บริการนี้จะเริ่มให้บริการได้ในเดือนพฤษภาคมที่จะถึงนี้"
ปกรณ์ยังได้ยกตัวอย่างผลิตภัณฑ์ที่จะพัฒนาขึ้นอีกว่า จะมีการสร้างแพลตฟอร์มในลักษณะเป็นคอมมูนิตี้บนเว็บดีแทคสำหรับลูกค้าพรีเพด เพื่อใช้ในการแชร์ข้อมูลหรือแชร์รูปภาพ รวมทั้งสามารถดาวน์โหลดได้ด้วยในลักษณะคล้ายมายสเปซ โดยคอนเซ็ปต์ที่ไม่มุ่งหวังในการสร้างรายได้ แต่จะให้ความสำคัญกับการใช้งานเป็นหลักเพื่อให้ลูกค้าเข้ามาใช้งานเป็นจำนวนมาก
บริการเสริมที่จะเห็นกำลังอยู่ในการพัฒนาอีกบริการหนึ่ง ก็คือ บริการพุชเมลที่พัฒนาเพื่อให้บริการสำหรับผู้ใช้บริการ เพียงแต่สมัครลงทะเบียนเท่านั้นโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย ต่อไปเมื่อมีฟรีเมลส่งเข้ามาก็จะมีเอสเอ็มเอสบอกชื่อคนส่ง หัวข้อความเหมือนที่ส่งในอีเมล ซึ่งผู้ใช้บริการสามารถเลือกเปิดดูเมลที่ต้องการได้ โดยจะเสียค่าใช้จ่ายด้านดาต้าผ่านเทคโนโลยีจีพีอาร์เอสเฉพาะข้อความที่เปิดดูเท่านั้น
"บริการนี้จะเปิดให้บริการปลายเดือนเมษายนที่จะถึงนี้ ขณะนี้อยู่ระหว่างทดสอบกับกลุ่มตัวอย่างให้ครบ 10,000 ราย บริการเหล่านี้น่าจะกระตุ้นยอดการใช้งานดาต้าได้เพิ่มมากขึ้น และบริการลักษณะนี้จะนำไปใช้กับโอเปอเรเตอร์ที่เทเลนอร์ไปลงทุนทั่วโลก โดยในช่วงแรก 1 เบอร์ยังใช้ได้สำหรับ 1 อีเมลเท่านั้น
บริการค้นหาบนมือถือ
ประสบการณ์เพื่อการค้นหา
บริการเสริมล่าสุดที่ดีแทคเปิดให้บริการก็คือ ความพยายามสร้างประสบการณ์ใหม่พร้อมเพิ่มความสะดวกทันใจให้กับลูกค้าทั้งในระบบจดทะเบียนและเติมเงินที่ต้องการดาวน์โหลดบริการเสริมต่างๆ ด้วยการนำเสนอบริการ "ดีแทค โมบาย เซิร์ช" เป็นระบบการค้นหาบริการคอนเทนต์บนมือถือทั้งหลาย อาทิ เพลงภาพ และเกมแบบง่ายๆ รวดเร็วทันใจ โดยได้มอบหมายให้โมบาย คอนเทนต์ เน็ตเวิร์ก อิงก์หรือเอ็มซีเอ็น ซึ่งถือเป็นผู้นำทางด้านการค้นหาข้อมูลทางโทรศัพท์มือถือพัฒนาระบบโมบาย คอนเทนต์ เซิร์ช เอนจิ้นให้
"ระบบการค้นหาข้อมูลบนมือถือปัจจุบันมีอยู่ 2 ประเภท คือระบบการค้นหาคอนเทนต์ภายในเครือข่ายเพื่อการดาวน์โหลด และระบบการค้นหาเว็บไซต์จากอินเทอร์เน็ต ซึ่งดีแทคเล็งเห็นว่านอกเหนือจากบริการคอนเทนต์มีการแข่งขันสูงขึ้นและมีคอนเทนต์ให้เลือกหลากหลายประเภทแล้ว เพื่อเป็นการเอาใจลูกค้าคอดาวน์โหลดทั้งหลายให้สามารถเข้าถึงและเลือกโหลดคอนเทนต์ต่างๆ ได้ง่าย สะดวกทันใจ ภายในเครือข่ายของเราเอง จึงได้วางแผนการพัฒนาระบบการค้นหาคอนเทนต์บนมือถือนี้มาตั้งแต่ปลายปี 2549 โดยได้เลือกเอ็มซีเอ็นมาพัฒนาระบบให้ เนื่องจากเอ็มซีเอ็นมีศักยภาพในการพัฒนาระบบที่สามารถตอบโจทย์ดีแทคได้เป็นอย่างดี ทั้งเรื่องการเชื่อมต่อกับผู้ให้บริการคอนเทนต์ทั้งหลาย รวมถึงมีฟังก์ชั่นของบริการที่สมบูรณ์แบบ โดยลูกค้าสามารถค้นหาได้ทั้งภาษาไทยและภาษาอังกฤษ อีกทั้งยังสามารถประมวลผลการหาข้อมูลจากผู้ให้บริการคอนเทนต์แบบเรียลไทม์ อีกด้วย"
ดีแทคได้เริ่มให้บริการระบบค้นหาคอนเทนต์บนมือถือ หรือ DTAC Mobile Search ในหน้าแว็ปไซต์ http://wap.dtac.co.th ตั้งแต่วันที่ 15 มี.ค. ที่ผ่านมา โดยลูกค้าสามารถเลือกค้นหาบริการดาวน์โหลดต่างๆ อาทิ ริงโทน รูปภาพ จาวาเกม และโปรแกรมบนมือถือได้ง่ายๆ เพียงแค่ใส่คีย์เวิร์ดของคอนเทนต์ที่ต้องการในกล่องค้นหาและกดปุ่มค้นหา จากนั้นระบบก็จะเชื่อมต่อไปยังผู้ให้บริการคอนเทนต์และแสดงผลการค้นหาอย่างรวดเร็ว โดยในเฟสแรก ดีแทค ได้ทำการเชื่อมต่อระบบการค้นหาไปยังผู้ให้บริการคอนเทนท์ จำนวน 4 ราย ได้แก่ บริษัท โซลูชั่นวัน โฮลดิ้ง จำกัด หรือเอ็น-คอนเทนต์ บริษัท สามารถ มัลติมีเดีย จำกัดหรือบั๊กทูโมบาย บริษัท ธิงค์สมาร์ท จำกัด หรือโมบาย Fantasy และบริษัท คอนเนควัน จำกัด หรือยู-nee
กลยุทธ์ที่ 3 กลยุทธ์ทางด้านพาร์ตเนอร์ ปกรณ์ บอกว่า จะมีความร่วมมือกับพาร์ตเนอร์อย่างใกล้ชิดมากขึ้น ก่อนหน้านี้ ดีแทคมีพาร์ตเนอร์ในส่วนบริการเสริมอยู่ทั้งหมดกว่า 200 บริษัททำให้มีความยุ่งยากในการติดต่อสื่อสาร ต่อไปจะแบ่งกลุ่มพาร์ตเนอร์ที่เรียกว่า Preferred Partner ขึ้นมา 14 บริษัท โดยดีแทคจะทำงานใกล้ชิดกับ 14 พาร์ตเนอร์ดังกล่าวด้วยการแบ่งแยกเป็นหมวดอย่างมิวสิกก็มีอาร์เอส แกรมมี่ เป็นต้น โดยแต่ละกลุ่มจะมีประมาณ 2 บริษัทที่เป็นแกนหลัก แต่สำหรับพาร์ตเนอร์รายอื่นที่เหลือก็จะมีอยู่ เพียงแต่เลือกโฟกัสแต่ละเซกเมนต์เป็นพิเศษมากขึ้น
กลยุทธ์สุดท้าย กลยุทธ์ทางด้านมิวสิกหรือเพลง ปกรณ์ บอกว่า ปีนี้จะให้ความสำคัญกับเพลงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากเชื่อว่า เทรนด์ในอนาคตการดาวน์โหลดเต็มเพลงหรือฟูลซองดาวน์โหลดจะมาแทนที่ริงโทน โดยดีแทคจะนำบริการมิวสิกจากบนมือถือไปไว้บนเว็บอย่างบริการที่เรียกว่า "มิวสิก ฮับ" เป็นบริการที่เน้นผู้ใช้บริการกลุ่มโพสต์เพดเป็นหลัก โดยผู้ใช้สามารถดาวน์โหลด ฟังเพลงได้ นอกจากนี้ดีแทคยังอยู่ระหว่างคุยกับผู้ผลิตคอนเทนต์มิวสิกรายใหญ่ในเกาหลีในการให้บริการมิวสิกเหมือนบริการ "เมล่อน" ที่ให้บริการอยู่ในเวลานี้
บัตรเบ่ง
นวัตกรรมบริการเสริม
ธนา เธียรอัจฉริยะ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานพาณิชย์ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวถึงนวัตกรรมใหม่บริการเสริมสำหรับผู้ใช้บริการระบบพรีเพด "แฮปปี้" ว่า หลังจากที่แฮปปี้เปิดตัวบัตรเบ่งในวันนี้แล้ว การใช้บริการเสริมจะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ผู้ใช้บริการจะสามารถซื้อบริการเอสเอ็มเอส เอ็มเอ็มเอส เอดจ์หรือจีพีอาร์เอสได้อย่างชัดเจนขึ้น จากเดิมที่ไม่สามารถมองเห็นบริการเป็นรูปธรรมและไม่สามารถคำนวณค่าใช้จ่ายแยกจากค่าโทร.ได้ เราก็ได้ทำเป็นบัตรเติมบริการเสริมออกมาจำหน่ายให้ลูกค้าเลือกซื้อบริการนั้นๆ โดยตรง เราเรียกง่ายๆ ว่าเป็นรูปแบบการทำการตลาดแบบน้ำแข็งหรือนวัตกรรม ICE ที่ย่อมาจาก Intangible Comes Easy สร้างสิ่งที่จับต้องไม่ได้ให้มองเห็นได้ชัด รูปแบบของการทำบัตรเติมเฉพาะบริการเสริมนี้ยังไม่มีใครทำมาก่อนในเอเชีย แฮปปี้จะเป็นรายแรกที่ขยายตลาดบริการเสริมด้วยบัตรเติม เป็นการวางรากฐานการตลาดที่จะสามารถขยายไปสู่บริการอื่นๆ ในอนาคต
ปกรณ์ กล่าวเสริมถึงเทคโนโลยีที่ใช้รองรับบัตรเติมเงินแบบใหม่นี้ว่า การสร้างระบบที่มารองรับบัตรเติมบริการเสริมนั้น ได้ลงทุนไปแล้วเป็นจำนวนกว่า 100 ล้านบาท เพื่อให้การเติมเงินเพื่อใช้โทร.และเติมเงินเพื่อใช้บริการเสริมแยกออกจากกันอย่างชัดเจน และใช้ประโยชน์กับคอนเทนต์แบบต่างๆ
"การจำหน่ายบริการในรูปของบัตรทำให้มุมมองที่มีต่อบริการเสริมเปลี่ยนไป ผู้ใช้บริการมีความสะดวกในการตัดสินใจเลือกใช้บริการแต่ละประเภทรวมทั้งเรียกดูข้อมูลมูลค่าการเติมเงินแยกประเภทได้ สำหรับผู้ใช้บริการที่อยู่ในที่ห่างไกลซึ่งยังไม่เคยทดลองใช้บริการเสริมก็จะมีโอกาสได้พบเห็นสินค้าของเราและทดลองใช้มากกว่าเดิมที่การใช้งานจำกัดอยู่ในบางกลุ่มหรือบางพื้นที่เท่านั้น"
ชัยยศ จิรบวรกุล ผู้อำนวยการอาวุโสกลุ่มพัฒนาธุรกิจ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บัตรเติมบริการเสริมถือเป็แวลู ฟัน การ์ดที่แท้จริงที่ออกวางตลาดให้ลูกค้าเลือกซื้อเพื่อนำมูลค่าในบัตรไปใช้ประโยชน์ โดยเราได้ปรับโครงสร้างการตลาดใหม่ทั้งการผลิต การสร้างระบบรองรับ การโปรโมตและจัดจำหน่ายที่จะเป็นแนวทางเดียวกับสินค้าอุปโภคบริโภคมากขึ้น ซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบของแฮปปี้ที่จะสร้างการรับรู้ในรูปแบบใหม่ รวมทั้งมีการใช้กลยุทธ์ความคุ้มค่าที่จูงใจให้ทดลองใช้งานบริการเสริม นับเป็นการเริ่มขยายตลาดออกไปสู่กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ ก่อนคู่แข่ง และกระจายกลุ่มเป้าหมายได้มากยิ่งกว่าที่ผ่านมา
"สำหรับในธุรกิจบัตรเติมเงินครั้งนี้ถือเป็นบัตรเติมเงินในประเภทนอนวอยซ์ บัตรแรกที่มีการผลิตขึ้นมา โดยใช้ช่องทางการจำหน่ายเดียวกับบัตรเติมเงินทั่วไป ซึ่งมีอยู่นับ 100,000 จุดทั่วประเทศ"
"บัตรเติมบริการเสริม" หรือบัตรเบ่งของแฮปปี้มีให้เลือก 3 ประเภท ประกอบไปด้วย บัตรเบ่ง เอสเอ็มเอส สีชมพู บัตรเบ่ง เอ็มเอ็มเอส สีฟ้า และบัตรเบ่ง เอดจ์/จีพีอาร์เอส สีเขียว จำหน่ายในราคาบัตรละ 100 บาทเท่ากัน เมื่อเกิดการเติมบริการเสริมโดยใช้วิธีและช่องทางเดียวกับบัตรเติมเงินทั่วไปจะได้รับบริการดังนี้ บัตรเบ่ง เอสเอ็มเอสจะสามารถส่งเอสเอ็มเอสได้ 100 ครั้ง และรับวันใช้งานเพิ่ม 7 วัน บัตรเบ่ง เอ็มเอ็มเอสจะสามารถส่งเอ็มเอ็มเอสได้ 40 ข้อความ และรับวันใช้งานเพิ่ม 7 วัน และ บัตรเบ่ง เอดจ์/จีพีอาร์เอสใช้บริการแว็ปและดาวน์โหลดคอนเทนต์ต่างๆ ได้ 10 ชั่วโมง และรับวันใช้งานเพิ่ม 7 วัน ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถตรวจสอบยอดเงินคงเหลือได้โดยใช้ช่องทางเดียวกับการตรวจสอบค่าโทร.อีกด้วย
|