นายกสมาคมประกันชีวิต "สาระ ล่ำซำ" ออกแรงผลักดันเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจาก 50,000 เป็น 300,000 เทียบเท่าธุรกิจกองทุนเต็มกำลังไล่หลังเพื่อนบ้านที่วิ่งไปไกลหลายก้าว ยอมรับคนส่วนใหญ่เริ่มมองเห็นการซื้อประกันชีวิตเป็นการบริหารค่าใชจ่าย ของชนชั้นระดับกลางถึงบน ขณะที่ภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตใต้ร่มแบงก์เร่งเครื่องหนัก กระตุ้นการขยายตลาดอัตราสูง
ในหลายหัวข้อที่นายกสมาคมประกันชีวิต "สาระ ล่ำซำ" เสนอให้กรมการประกันภัยต้นสังกัดพิจารณา ดูเหมือนจะมีเพียงประเด็นเดียวที่ทำท่าจะเป็นจริง นั่นก็คือ การเสนอขอเพิ่มวงเงินลดหย่อนภาษีจากเดิม 50,000 บาทเป็น 300,000 บาท
ว่ากันว่า กว่าจะขยับขึ้นมาจาก 1 หมื่น เป็น 3 หมื่น และขึ้นมาเป็น 50,000 บาท ต้องใช้เวลานานร่วม 10 ปีกว่าจะได้มา ในขณะที่ธุรกิจกองทุนที่เสนอเรื่องไปใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็น กองทุนรวมเพื่อเกษียณอายุหรือ (RMF) และกองทุนรวมลงทุนหุ้นระยะยาวหรือ (LTF) กลับลอยลำไปถึงหลัก 300,000 บาทอย่างง่ายดาย
สาระ บอกว่า ธุรกิจประกันชีวิตมีเม็ดเงินหมุนเวียนทั้งระบบถึง 6 แสนล้านบาท และส่วนใหญ่มากกว่า 80-90% มักจะลงทุนในตราสารหนี้ ดังนั้นเงินประกันชีวิตจึงเหมาะกับการลงทุนระยะยาว ขณะเดียวกันก็สามารถนำเงินไปลงทุนในพันธบัตรรัฐบาล เพื่อนำไปพัฒนาประเทศได้ ดังนั้นการลดหย่อนภาษีจึงต้องจำกัดเฉพาะกรมธรรม์อายุ 10 ปีขึ้นไป
" เรื่องภาษีได้นำสำเนาเข้าพบกับรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ เพื่ออธิบายว่าทำไมต้องเพิ่มวงเงินลดหย่อนจาก 50,000 บาทเป็น 300,000 บาท"
สาระอธิบายว่า ต้องการ 300,000 บาท เพราะเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่จะให้วงเงินลดหย่อนมากกว่า 50,000 บาททั้งนั้น ขณะเดียวกันหลายคนก็เริ่มมองและเข้าใจว่า การซื้อประกันชีวิตก็เพื่อการบริหารค่าใช้จ่ายในกลุ่มคนระดับกลางถึงบน
" เราก็มีความหวัง ไม่ใช่แค่ผลักดันอย่างเดียว แต่จะได้ 300,000 หรือเปล่านั้น ก็คงไม่รู้ แต่เราก็อยากจะให้มีมาตรฐานเท่าเทียมกับเพื่อนบ้านและธุรกิจบริหารจัดการกองทุน เพราะสามารถนำมาเป็นหลักประกันให้กับคนไทยอย่างมีเหตุผล"
อภิรักษ์ ไทพัฒนกุล กรรมการสมาคมประกันชีวิตไทย อธิบายภาพธุรกิจประกันชีวิตหลังไตรมาส 4 ปี 2549 พบว่า หลายบริษัทเร่งกิจกรรมการตลาด จนตัวเลขออกมาเป็นบวก และแรงต่อเนื่องมาถึงต้นปี 2550 โดยเฉพาะประกันชีวิตภายใต้ชายคาธนาคารพาณิชย์ หลายแห่งหันมากระตุ้นการขยายตลาดในอัตราสูง ทั้งการขายตรง และขายสินค้าประเภทประกันอุบัติเหตุส่วนบุคคลหรือพีเอ ที่ขยายตัวสูงมาก ธุรกิจประกันเครือแบงก์จึงมีหน้าตาที่สะสวยเมื่อเทียบกับเจ้าอื่น
อย่างไรก็ตาม ภาวะเศรษฐกิจปีนี้ที่คาดว่าจะชะลอตัว ทำให้บริษัทหลายแห่ง โดยเน้นไปที่เครือแบงก์ เริ่มหันไปรุกการขายผ่านสาขาแบงก์ และผ่านช่องทางอื่นมากขึ้น โดยสรุปก็คือมีการตื่นตัวมากขึ้น ยกเว้นบางบริษัทที่ยังนอนนิ่งอยู่แต่กว่า 99% ตื่นตัวมากขึ้น
" ธุรกิจแบงแอสชัวรันส์ มีขึ้นก็เริ่มมีลง บางปีก็โผล่มามาก บางปีก็หายไป ขึ้นกับว่าแบงก์และธุรกิจประกันชีวิตในเครือจะให้ความสำคัญมากแค่ไหน ถ้าแบงก์เล่นด้วยธุรกิจประกันชีวิตก็ขยายตัว ตัวเลขก็โผล่ ขึ้นอยู่กับแบงก์จะเล่นไปตลอดหรือว่า
เล่นๆ หยุดๆ หรือเล่นไปตลอด โดยการกดดันพนักงานให้มากขึ้น"ในปี 2549 ธุรกิจประกันชีวิตมีเบี้ยประกันรับรวม 15,023 ล้านบาท เป็นเบี้ยรับปีแรก 2,992 ล้านบาท เบี้ยปีต่ออายุ 11,280.9ล้านบาท อัตราความคงอยู่ 89% และเบี้ยประกันจ่ายครั้งเดียว 750.5 ล้านบาท ส่วนปี 2550 คาดว่าเบี้ยรับรวมจะอยู่ที่ 192.3 พันล้านบาท จำนวนกรมธรรม์ 14-15 ล้านกรมธรรม์ จะมีผู้ถือกรมธรรม์เพิ่มประมาณ 23-24% จากประชากร 63.4 ล้านคน นั่นก็แสดงถึงกำลังซื้อและกำลังใช้จ่ายมีมากขึ้น
โดยคาดว่าปี 2550 ประชากรจะมีกำลังจ่ายเบี้ยประกันชีวิตได้คนละประมาณ 22,791 บาทต่อปีส่วนปี 2551 คาดว่าแนวโน้มอัตราการเติบโตจะอยู่ที่ประมาณ 10-15% มีเบี้ยรับรวมราว 212.9 พันล้านบาท จำนวนกรมธรรม์16-17 ล้านกรมธรรม์ มีผู้ถือกรมธรรม์เพิ่มขึ้นประมาณ 25-26% จากจำนวนประชากร 64.1 ล้านคน ซึ่งแสดงว่าประชากรจะมีกำลังจ่ายเบี้ยประกันชีวิตคนละ 23,149 บาทต่อปี
|