Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ กุมภาพันธ์ 2543








 
นิตยสารผู้จัดการ กุมภาพันธ์ 2543
ปูนใหญ่ขายไทล์เซราอิงค์ บทเรียนธุรกิจมูลค่า 1,200 ล้านบาท             
 


   
www resources

โฮมเพจ เครือซิเมนต์ไทย
โฮมเพจ บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน)

   
search resources

เครือซิเมนต์ไทย
ไทล์เซราอิงค์
ปูนซิเมนต์ไทย, บมจ.
อวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์
Ceramics




ในที่สุด บริษัทปูนซิเมนต์ไทย ก็ได้ตัดสินใจขายหุ้นที่ถืออยู่ในบริษัท ไทล์เซราอิงค์ และบริษัทไทล์เซรา ดิสทริบิวติ้ง อิงค์ ให้แก่ ฟลอริม เซรามิก กรุ๊ป ผู้ผลิตกระเบื้องเซรามิกรายใหญ่จากอิตาลี เมื่อวันที่ 27 มกราคม ที่ผ่านมา หลังจากได้ลงทุนในบริษัทดังกล่าวมาแล้วถึง 10 ปี ผลจากการขายหุ้นครั้งนี้ ปูนซิเมนต์ไทยต้องขาดทุนทางบัญชีถึง 1,200 ล้านบาท

ปูนซิเมนต์ไทยได้เข้าไปลงทุนซื้อโรงงานผลิตเซรามิกของไทล์เซราอิงค์ ในเมืองแอตแลนตา มลรัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา เมื่อเดือนกรกฎาคม 2533 ซึ่งถือเป็นการขยายการลงทุนออกไปผลิตสินค้าในต่างประเทศเป็นครั้งแรก โดยใช้เงินลงทุนประมาณ 1,000 ล้านบาท

ก่อนหน้านั้น กิจการต่างประเทศของปูนซิเมนต์ไทย มีเพียงสำนักงานสาขาของบริษัทค้าสากลซิเมนต์ในกรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น กรุงซิดนีย์ ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา และสิงคโปร์ ซึ่งเน้นทางด้านการค้าเพียงอย่างเดียว

การลงทุนในไทล์เซราอิงค์ครั้งนี้ ปูนซิเมนต์ไทยตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะให้เป็นโรงงานผลิตเซรามิกคุณภาพสูงป้อนให้กับตลาดสหรัฐอเมริกา เพราะเชื่อมั่นว่าโรงงาน ที่ได้ไปซื้อมาแห่งนี้ มีการนำเทคโนโลยีการผลิตที่ทันสมัยที่สุดในขณะนั้นมาใช้งาน

พร้อมกับการส่งอวิรุทธ์ วงศ์พุทธพิทักษ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัทเซรามิคอุตสาหกรรมไทย ซึ่งเป็นผู้ที่รู้เรื่องเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเซรามิกดีที่สุดคนหนึ่งของปูนซิเมนต์ไทย เดินทางไปเป็นกรรมการผู้จัดการในโรงงานดังกล่าว

ปูนซิเมนต์ไทยมีความมั่นใจค่อนข้างมากในการตัดสินใจครั้งนี้ โดยมีเหตุผล 3 ประการคือ

1. ปี 2533 เป็นปีที่อุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเซรามิกบูมมาก ตามการขยายตัวของธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บริษัทหลายแห่งมีการลงทุนขยายโรงงานผลิตเซรามิกกันมาก จนมีการหวั่นเกรงกันว่าวัตถุดิบในประเทศอาจไม่เพียงพอ

ขณะเดียวกันโครงสร้างรายได้ของปูนซิเมนต์ไทยขณะนั้น รายได้จากกลุ่มวัสดุก่อสร้างมีสัดส่วนสูงที่สุดถึง 2 หมื่นล้านบาท สูงกว่ารายได้จากกลุ่มซีเมนต์ ซึ่งเป็นกลุ่มหลักเสียอีก

2. ปี 2533 เป็นปีแรกที่ประเทศไทยประกาศยอมรับพันธะตามมาตรา 8 ของข้อตกลงกองทุนการเงินระหว่างประเทศ เพื่อผ่อนคลายการปริวรรตเงินตรา ทำให้การส่งเงินออกไปลงทุนในต่างประเทศของปูนซิเมนต์ไทย สามารถกระทำได้ง่ายขึ้น

3. ปูนซิเมนต์ไทยมีความมั่นใจว่าอุตสาหกรรมเซรามิก เป็นอุตสาหกรรมที่ปูนซิเมนต์ไทยถนัด

"เราจะเข้าไปในธุรกิจที่เราเก่งเท่านั้น ถ้าเราไม่ถนัดเราก็จะไม่ไป ทั้งนี้ได้วางนโยบายไว้ว่าถ้าเป็นธุรกิจหลักที่ปูนเชี่ยวชาญ ปูนต้องมีอำนาจบริหาร แต่ถ้าไม่ถนัดปูนก็แค่ร่วมทุน" ทวี บุตรสุนทร ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ปูนซิเมนต์ไทย ซึ่งมีบทบาทมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว กล่าวกับ "ผู้จัดการ" เมื่อเดือนพฤษภาคม 2533 ถึงการขยายการลงทุนออกไปยังต่างประเทศคราวนั้น

แต่การตัดสินใจครั้งนี้ ก็เกิดข้อผิดพลาดขึ้นจนได้ เนื่องจากปูนซิเมนต์ไทยไม่ได้คิดถึงตัวแปรเรื่องความชำนาญของคนงาน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนท้องถิ่น

"เราหวังจะผลิตเซรามิกชั้นดี โดยใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัย แต่ต้องมาเจอกับปัญหาคนงานท้องถิ่นที่ไม่มีความรู้" อวิรุทธ์ ซึ่งไปบุกเบิกโรงงานแห่งนี้เป็นคนแรก ถึงขั้นต้องอพยพครอบครัวไปใช้ชีวิตอยู่ในอเมริกาเกือบ 10 ปี เล่ากับ "ผู้จัดการ" ถึงอุปสรรคสำคัญที่ทำให้เป้าหมายการลงทุนของปูนซิเมนต์ไทยไม่ประสบความสำเร็จ

นอกจากปัญหาเรื่องความรู้ของคนงานแล้ว เรื่องฝีมือและความประณีตของแรงงานก็เป็นอีกอุปสรรคหนึ่ง โดยเฉพาะถ้าต้องการผลิตกระเบื้องเซรามิกคุณภาพสูง ที่ต้องคำนึงถึงเรื่องดังกล่าวเป็นสำคัญแล้ว จะพบว่าเซรามิกที่มีการผลิตมาจากทางฝั่งยุโรปจะมีคุณภาพมากกว่าที่ผลิตในสหรัฐอเมริกา ปัญหาเรื่องการแข่งขันจึงเกิดขึ้น

ตลอดระยะเวลาเกือบ 10 ปี ที่ปูนซิเมนต์ไทยต้องแบกรับภาระของไทล์เซราอิงค์ ด้วยหวังว่าจะให้เวลาเป็นผู้สร้างประสบการณ์ให้สามารถแข่งขันกับโรงงานกระเบื้องจากฝั่งยุโรปได้ แต่ถึงที่สุดแล้วเมื่อบริษัทแม่ในประเทศไทย ต้องประสบกับปัญหาขาดทุนจากอัตราแลกเปลี่ยน จนต้องมีการปรับโครงสร้างธุรกิจในเครือใหม่

ผู้บริหารปูนซิเมนต์ไทยจึงตัดสินใจที่จะขายไทล์เซราอิงค์ให้กับพันธมิตรจากอิตาลี

คนในปูนซิเมนต์ไทยยอมรับกับ "ผู้จัดการ" ว่า กรณีของไทล์เซราอิงค์ ถือเป็นความล้มเหลวในการลงทุน ที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุดของปูนซิเมนต์ไทย เพราะถือเป็นการตัดสินใจขยายการลงทุนไปตั้งฐานการผลิตในต่างประเทศเป็นครั้งแรก เพื่อหวังจะได้รับการเรียนรู้เรื่องเทคโนโลยีที่ทันสมัย

แต่สุดท้ายกลับกลายเป็นบทเรียนทางธุรกิจที่มีค่าเล่าเรียนแพงถึง 1,200 ล้านบาท

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us