|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
 |
สถานการณ์เอสเอ็มอีเหนื่อยจัดอีกรอบ เมื่อค่าเงินบาทแข็งค่าเหลือเกิน หลายฝ่ายคาดหากทุกอย่างไม่ดีขึ้นไม่เกินปีล้มระเนระนาด นักการตลาดแนะผู้ประกอบการให้ใช้วิกฤตเป็นโอกาสด้วยยุทธศาสตร์จริงใจ พร้อมให้นำซัปพลายเชนมาใช้ให้มากขึ้นเพื่อลดต้นทุน
“ผลจากการที่ค่าเงินบาทได้แข็งค่าอย่างต่อเนื่องได้ส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกเป็นอย่างมาก โดยขณะนี้เริ่มมีการชะลอสั่งซื้อเครื่องจักรแล้ว และหากภาครัฐไม่เร่งแก้ปัญหาเงินบาทแข็งค่าอย่างจริงจังจะเริ่มส่งผลกระทบต่อผู้ส่งออกในอีก 3 เดือนข้างหน้า และผู้ประกอบการจะเริ่มหยุดการผลิตใน 5-6 เดือน และอาจปิดกิจการภายใน 8-9 เดือน โดยคาดว่ากลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดเพราะมีเงินทุนน้อยคือ กลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs)” เป็นคำกล่าวของ ดุสิต นนทนาคร กรรมการเลขาธิการหอการค้าไทย
ปัจจุบันประเทศไทยมีผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อมกว่า 2 ล้านราย (เฉพาะผู้ประกอบผู้ประกอบการในเซกเตอร์ท่องเที่ยวและบริการ จากการสำรวจในปี 2546 มีถึง 627,772 ราย และตัวเลขจากสำนักงานสถิติแห่งชาติรายงานว่าในปี 2548 มีผู้ประกอบการเอสเอ็มอี 1.99 ล้านราย) ที่ผ่านมาเอสเอ็มอีบ้านเราได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้ง 2540 เมื่อประชาชนที่เป็นผู้บริโภคหลักต้องตกงานจากปัญหาเศรษฐกิจ
ถัดจากนั้นมา 8 ปี ผู้ประกอบการบ้านเราโดนผลกระทบอีกครั้ง แต่คราวนี้ค่อนข้างหนักเพราะเจอทีเดียว 3 เด้ง ทั้งจากราคาน้ำมันที่แพงเป็นประวัติการณ์จากลิตรละ 10 บาทกระโดดขึ้นเกือบ 30 บาท ดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถีบตัวสูงขึ้น และเหตุการณ์ความไม่สงบที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งลามมาถึงหาดใหญ่ ส่งผลต่อความหวั่นวิตกในชีวิตและทรัพย์สินทั้งของคนไทย และต่างชาติจนไม่กล้าเดินทางท่องเที่ยวไปในจังหวัดดังกล่าว
ล่าสุดกับสถานการณ์ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นอย่างต่อเนื่องลงไปแตะระดับ 34.78 บาทต่อดอลลาร์ และความไม่แน่นอนทางการเมือง ได้ส่งผลมายังผู้ประกอบการเอสเอ็มอีด้วยเช่นกัน แม้ในวันนี้จะยังไม่มีผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อยที่เป็นลูกค้าของธนาคารได้รับผลกระทบจนไม่สามารถดำเนินการได้ต่อก็ตาม แต่เชื่อว่าหากการณ์ยังเป็นเช่นนี้ต่อไปเรื่อยๆ ผู้ประกอบการที่เน้นการส่งออกเป็นหลักคงจะเกิดปัญหาขึ้นสักวัน และคงไม่ใช่ปัญหาเล็กๆเนื่องจากปัจจุบันคนงานที่ทำงานในสถานประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมมีเกือบ 6 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 60 ของแรงงานทั้งหมด
“ค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นส่งผลให้ผู้ประกอบการบริหารกิจการลำบากขึ้น โดยทำให้ผู้ประกอบการลดการสั่งซื้อวัตถุดิบลง และอาจต้องจ้างคนงานลดลง เพราะต้องลดกำลังการผลิต ซึ่งทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูงขึ้น และราคาสินค้าต้องเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยเอสเอ็มอีที่ได้รับผลกระทบมากมีหลายกลุ่ม เช่น สินค้าเกษตรแปรรูป” ฉัตรชัย บุญรัตน์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย กล่าว
ปรับยุทธศาสตร์
ใช้วิกฤตสร้างโอกาส
ชลิต ลิมปนะเวช คณบดี คณะนิเทศศาสตร์มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ หรือเอแบค กล่าวกับ “ผู้จัดการรายสัปดาห์” ว่า ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาบาทแข็งที่เกิดขึ้นในบ้านเราขณะนี้แบ่งได้เป็น 2 ประเภท ประเภทแรก เป็นผู้ประกอบการนำเข้าที่ได้รับผลดีจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น เนื่องจากสามารถสั่งซื้อสินค้าในราคาที่ถูกลงกว่าเดิม ประเภทที่สอง เป็นผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมากจากสถานการณ์ค่าเงินบาทในปัจจุบัน
“เอสเอ็มอีทั้ง 2 ประเภทแม้จะได้รับผลกระทบที่ต่างกันแต่สามารถนำโอกาสนี้มาใช้ประโยชน์ให้กับองค์กรและตราสินค้าของตนเองได้ โดยผู้ที่ได้ผลบวกจากค่าเงินบาทสามารถแสดงความจริงใจไปยังลูกค้าด้วยการให้ส่วนลดอาจจะ 10% หรือมากกว่าเพื่อผูกใจผู้บริโภค และแสดงให้เห็นว่าแม้บริษัทจะได้ผลดีจากส่วนต่างค่าเงิน แต่บริษัทไม่ได้นำกลับมาเพื่อบริษัทเองแต่นำไปคืนให้กับผู้บริโภค
ส่วนผู้ประกอบการส่งออกที่ได้รับเงินน้อยลงอาจใช้ช่วงเวลานี้หันมาให้ความสำคัญอย่างแข็งขันกับการจัดการห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain Management) เนื่องจากหากทำดีๆ จะช่วยลดต้นทุนได้ 20-30% ด้วยในบางกระบวนการสามารถนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ให้เกิดความคล่องตัว และสามารถบริหารสต๊อก ตลอดจนสามารถส่งสินค้าได้ทันเวลา”
ชลิต ยังกล่าวว่า ในช่วงเวลานี้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงานให้มากขึ้น และพยายามหันมาใช้กลยุทธ์การบริหารความสัมพันธ์กับลูกค้า (CRM : Customer Relationship Management) ด้วยการโฟกัสกลุ่มลูกค้าว่ากลุ่มใดมีปริมาณการซื้อสินค้ามาก-น้อย-บ่อย-ห่าง ขนาดไหน เมื่อทราบแล้วจะได้มาวางแผนการจับลูกค้าแต่ละกลุ่มให้อยู่หมัด หนทางหนึ่งก็คือ พยายามชักจูงให้ลูกค้า หรือร้านค้าสั่งหรือซื้อสินค้าที่ใช้สม่ำเสมอในปริมาณมากๆ เพื่อปิดโอกาสการขายสินค้าของคู่แข่ง
ทางรอดเอสเอ็มอี
แม้ว่าผู้ประกอบการเอสเอ็มอีจะอยู่ในภาวะแทบจะสำลักวิกฤตทั้งหลายทั้งปวง แต่ทางแก้ที่จะไม่ให้ผู้ประกอบการบ้านเราต้องตกอยู่ในอาการเพียบหนักกว่าเก่าก็คือ ประการแรก ภาครัฐต้องจัดทำยุทธศาสตร์เอสเอ็มอี ซึ่งในระดับจังหวัดอาจไม่เพียงพอ แต่ต้องลงลึกถึงระดับอำเภอ หรือตำบล เพื่อเฟ้นหาสินค้าที่สามารถแข่งขันได้ ซึ่งในแต่ละจังหวัดอาจมีเพียง 10 ประเภทที่มีศักยภาพเพียงพอ
ประการที่สอง ต้องรื้อฟื้นมาตรการให้ธนาคารที่ตั้งสาขาในอำเภอ หรือจังหวัดต่างๆ ปล่อยเงินกู้ให้กับผู้ประกอบการในจังหวัดนั้น โดยแต่ละธนาคารต้องทำตัวเป็น Region Bank เช่นเดียวกับญี่ปุ่นทำอยู่
ทั้ง 2 ประการนั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่จะเข้ามาเสริมยุทธศาสตร์พัฒนาและส่งเสริมเอสเอ็มอีของไทยในช่วง 4 ปี ( 2548-2551) ที่สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ที่วางไว้เดิมใน 5 ยุทธศาสตร์หลัก คือ 1.เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เน้นพัฒนาเครือข่ายวิสาหกิจ หรือคลัสเตอร์ให้มีการเชื่อมโยงระหว่างเอสเอ็มอีด้วยกันอย่างมีระบบ
2. สร้างผู้ประกอบการใหม่ จะเข้าไปสร้างแนวคิดการเป็นผู้ประกอบการตั้งแต่ยังเป็นนักเรียน นักศึกษา พร้อมพัฒนาและสนับสนุนเครื่องมือด้านการเงิน 3. พัฒนาและปรับปรุงปัจจัยพื้นฐานในการประกอบธุรกิจ ให้ความสำคัญการพัฒนาแหล่งเงินทุน เพื่อให้เข้าถึงผู้ประกอบการใหม่ จัดระบบลอจิสติกส์ช่วยลดต้นทุน
4. พัฒนาเอสเอ็มอีสู่ความยั่งยืน ให้การสนับสนุนการผลิตและเทคโนโลยีสะอาด ส่งเสริมการอนุรักษ์และจัดหาพลังงานทดแทน 5.การบริหารจัดการส่งเสริมและสนับสนุนเอสเอ็มอีขณะนี้ยังขาดทิศทางและกลไกในการเชื่อมโยงการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
สร้างวัฒนธรรมใหม่
ด้วยเทคโนโลยี-คลัสเตอร์
สุวิทย์ เมษินทรีย์ นักการตลาด และนักยุทธศาสตร์ชื่อดัง กล่าวว่า หากพิจารณาเอสเอ็มอีในบ้านเรานั้นจริงแล้วก็คือ กลุ่มเครือข่ายที่มีการร่วมมือกัน แต่จะต้องเพิ่มเทคโนโลยีเข้าไปเพื่อสร้างขีดความสามารถของสภาพแวดล้อมนั้นทำงานได้เร็วขึ้น พร้อมกับการสร้างวัฒนธรรมของการอยู่ร่วมกันในรูปแบบของคลัสเตอร์ในรูปแบบของ Inter-firm collaboration
“สิ่งที่คุณต้องทำ และถือเป็นจุดเป็น จุดตาย ที่สามารถทำให้คุณตอบสนองผู้บริโภคได้ก็คือการทำซีอาร์เอ็ม ทำนองเดียวกัน คุณมี Competency Space ที่จะนำมาสู่ Business Domain ว่าคุณจะทำอะไร คุณก็ต้องทำให้มันเกิดเป็นรูปธรรมโดยผ่านสิ่งที่เราเรียกว่า ERP (Enterprise Resource Planning) หรือในหนังสือเล่มนี้เขียนไว้เป็น Internal Resource Planning กล่าวโดยสรุปถึง Key Player ที่สำคัญก็คือ Customer, Company และ Collaborator ซึ่งการจัดการในอนาคต การตลาดจะมีเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่อง 3 เรื่อง คือเรื่องของคอนซูเมอร์ หรือ การจัดการความต้องการ (Demand Management) เรื่องของบริษัทหรือการจัดการทรัพยากร และเรื่องของการทำงานร่วมกัน หรือการจัดการเครือข่าย”
เมื่อเป็นเช่นนี้ภาครัฐต้องช่วยผู้ประกอบการเอสเอ็มอีในหลายรูปแบบ ไม่ใช่เฉพาะเรื่องการเงินอย่างเดียว แต่รัฐต้องช่วยวางโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้เกิดคลัสเตอร์อย่างแท้จริง เนื่องจากที่ผ่านมาภาครัฐโดยเฉพาะกระทรวงการคลังมองว่าผู้ประกอบการขนาดกลางและย่อมเป็น Traditional SMEs เป็น Sub-contractor SME ไม่มี Stand-alone SME และไม่มี High value-added SME
“มันต้องเปลี่ยนแปลงถอนรากถอนโคน ต้องออกแบบโครงสร้างภาษี เพื่อจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ให้มีการลงทุนวิจัยและพัฒนาให้หนักกว่านี้ ลงทุนทางการศึกษามากๆ สร้างกติกาให้ค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากรสามารถเอาไปลดหย่อนภาษีได้กลยุทธ์ของเอสเอ็มอีต้องเปลี่ยนแปลง จากทำให้ดีขึ้น (Make It Better) เป็น "ทำให้แตกต่าง (Make It Difference) " จากนี้ไปจะต้องเป็นยุคของการสร้างผู้ประกอบการที่สร้างความแปลกใหม่มากขึ้น เน้นผลิต High value-added Entrepreneur
|
|
 |
|
|