|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
|
|
เงินเฟ้อมี.ค.เทียบเดือนต่อเดือนเพิ่ม 0.7% ดีดกลับมาช่วงขาขึ้น หลังชะลอตัวลงต่อเนื่องกัน 4 เดือน เหตุราคาน้ำมันที่ปรับขึ้นต่อเนื่องตลอดเดือน โดยเบนซิน 5 ครั้ง ดีเซล 3 ครั้ง รวมทั้งผักและผลไม้แพงขึ้น ส่วนเงินเฟ้อไตรมาสแรกขยับ 2.4% “พาณิชย์”มั่นใจทั้งปียังคุมได้ 1.5-2.5% แม้ทิศทางราคาน้ำมันจะขยับตัวเพิ่มขึ้น
นางนทีทิพย์ ทองเขาอ่อน ผู้อำนวยการสำนักดัชนีเศรษฐกิจการค้า เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (เงินเฟ้อ) เดือนมี.ค.2550 เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.ที่ผ่านมา สูงขึ้น 0.7% เทียบกับเดือนมี.ค.2549 สูงขึ้น 2% และเมื่อเทียบช่วง 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วสูงขึ้น 2.4%
อัตราเงินเฟ้อเดือนมี.ค.ที่สูงขึ้น 0.7% เมื่อเทียบกับเดือนก.พ. นั้น ถือว่าสูงขึ้นเป็นเดือนแรกหลังจากที่เงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่องติดต่อกัน 4 เดือน นับจากเดือนพ.ย.2549 เนื่องจากดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม และหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้นในอัตราที่เท่ากัน คือ 0.7% ซึ่งมีสินค้าสำคัญที่สูงขึ้น ได้แก่ ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ผักและผลไม้ เนื้อสุกร และไก่สด เป็นต้น
“เดือนมี.ค.อัตราเงินเฟ้อเริ่มกลับมาสูงขึ้น เพราะช่วงนี้อากาศเริ่มร้อน ผักและผลไม้ เช่น มะนาว ผักกาดขาว ต้นหอม และส้มเขียวหวาน ผลผลิตลดลง เนื้อสุกรก็มีราคาสูงขึ้น จากการตัดวงจรของสุกรมีชีวิตไปทำหมูหัน ขณะที่ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น 5.2% โดยเบนซินขึ้น 5 ครั้ง ดีเซล 3 ครั้ง และราคายางรถยนต์ และรถยนต์นั่งก็ปรับราคาสูงขึ้น”นางนทีทิพย์กล่าว
นางนทีทิพย์กล่าวว่า เงินเฟ้อในช่วงไตรมาสแรกที่สูงขึ้น 2.4% มีสาเหตุมาจากการสูงขึ้นของดัชนีราคาหมวดอาหารและเครื่องดื่ม 5.1% และหมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่มสูงขึ้น 0.9% ซึ่งกระทรวงฯ ยังคงยืนยันว่าอัตราเงินเฟ้อทั้งปีจะอยู่ในระดับ 1.5-2.5% เช่นเดิม แม้ว่าขณะนี้ราคาน้ำมันจะเริ่มปรับตัวสูงขึ้นก็ตาม
“เดิมทีตั้งเป้าหมายเงินเฟ้อทั้งปีที่ 1.5-2.5% บนสมมติฐานน้ำมันดิบดูไบ 50-60 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล เฉลี่ย 3 เดือนอยู่ที่ 55.56 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล จึงยังไม่เกินที่คาดไว้ แต่ก็น่าเป็นห่วง เพราะล่าสุด (30 มี.ค.) ราคาน้ำมันดิบดูไบขยับเพิ่มขึ้น 63 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลแล้ว ซึ่งต้องจับตาดูต่อไป แต่ก็ยังดีที่อัตราแลกเปลี่ยนแข็งค่าขึ้น ทำให้น้ำมันนำเข้าราคาไม่แพงมากนัก และยังมีผลในเรื่องต้นทุนและวัตถุดิบที่ถูกลง”
ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อในไตรมาส 2 และ 3 คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นในระดับที่ไม่สูงมากนัก เพราะฐานในช่วงเดียวกันของปีที่แล้วสูงมาก โดยเฉลี่ยสูงกว่า 5% แต่ก็ต้องจับตาในเรื่องราคาน้ำมัน หากปรับเพิ่มขึ้นมาก ก็จะมีผลต่อราคาสินค้า และค่าโดยสาร รวมไปถึงการปรับเพิ่มขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที)
สำหรับเงินเฟ้อพื้นฐาน ที่หักรายการสินค้ากลุ่มอาหารสดและสินค้ากลุ่มพลังงานออกไป เมื่อเทียบกับเดือนก.พ.2550 สูงขึ้น 0.1% เทียบกับเดือนมี.ค.2549 สูงขึ้น 1.3% และเมื่อเทียบ 3 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-มี.ค.) กับช่วงเดียวกันของปีที่แล้วสูงขึ้น 1.4%
|
|
|
|
|