เรื่องนี้เป็นข้อคิดเห็นจาก "ผู้จัดการ" ที่เราพยายามมองกรณีของ
สุธี นพคุณ สุพจน์ เดชสกุลธร และสุระ จันทร์ศรีชวาลา ให้เป็นส่วนหนึ่งของภาพรวมของสังคมธุรกิจเมืองไทย
สุธี/สุระ/สุพจน์ เป็นตัวอย่างของคนที่ไม่มีอะไรมากมายแต่พยายามจะเข้ามาในวงการที่ถูกผูกขาดโดยกลุ่มธุรกิจและสายสัมพันธ์เดิม
"ผู้จัดการ" เสียใจที่สุธี/สุพจน์ ไม่สามารถจะทำได้เพราะถ้าพวกเขาทำได้โดยไม่ทำลายความเชื่อมั่นของประชาชน
พวกเขาก็จะเป็นผู้กรุยทางให้กับคนหนุ่มคนสาวที่มีความสามารถแต่ไม่มีใครหนุนหลัง
พอจะมีความหวังว่าถึงแม้จะไม่มีนามสกุลใหญ่ๆ หรือเชื้อสายศักดินาเก่าๆ แต่โอกาสของการสร้างตัวให้เติบโตยังมีอยู่
ความจริงเรื่องนี้เป็นเรื่องเก่าไปเสียแล้ว เดี๋ยวนี้ใครพูดถึง สุธี สุระ
และสุพจน์ (สามสุที่ดังในอดีต) ก็อาจจะไม่มีใครสนใจเลยก็ได้ เพราะสุแรกกับ
สุหลังกลายเป็นอดีตไปเสียแล้ว ในขณะที่สุคนกลางกำลังดิ้นรนเพื่อความอยู่รอดอย่างสุดชีวิต
แต่ถ้าเราหยุดคิดสักนิดแล้วมองสามสุกันอีกสักครั้งในแง่มุมหนึ่งซึ่งไม่เคยมีใครมองมาก่อน
"ผู้จัดการ" เชื่อว่าจะเป็นแง่มุมที่น่าสนใจเอาอย่างมากๆ เลยทีเดียว
เราจะเริ่มด้วยว่าทั้งสามสุเป็นตัวแทนของคนที่ไม่มีชาติตระกูลเก่าแก่ที่มีหลักมีฐานพอจะเป็นเครื่องส่งเสริมให้สูงเด่นขึ้นมาได้
พูดกันภาษาชาวบ้านก็คือ ทั้งสามสุเป็นคนนอกที่จะกระโดดขึ้นเวทีเพื่อชิงแชมป์
ในการต่อสู้บนเวทีใหญ่นั้น ถ้าเป็นคนที่ตระกูลเป็นตระกูลเก่าแก่และร่ำรวยมาก่อนจะเป็นพ่อค้าเก่าหรือศักดินาเก่าการทำงานก็ย่อมจะง่ายขึ้น
ทั้งสามสุจะเป็นคนอยู่ในวัยใกล้เคียงกันมาก และทั้งสามมีคุณสมบัติที่คล้ายกันอยู่ข้อหนึ่งคือมีบุคลิกของผู้ประกอบการหรือที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า
Entrepreneur
สุธีออกจากธนาคารกรุงเทพมาประกอบธุรกิจโดยมาเป็นมือขวาของพร สิทธิอำนวย
แล้วแยกมาทำเอง
สุพจน์ปากกัดตีนถีบมาตลอดจนกระทั่งเริ่มมีกิจการใหญ่ครั้งแรกในชีวิตหนุ่มและนั่นก็คือปั๊มน้ำมันมิตรรำลึกพระประแดง
สุระอาจจะโชคดีกว่าเพื่อนที่วงศาคณาญาติพอจะมีทรัพย์สินเป็นที่ดิน ได้บ้างก็เริ่มมาอย่างธรรมดาจนเริ่มเข้าไปจัดสรรที่ดินกับสุขุม
นวพันธ์ เป็นครั้งแรกในนามบริษัทนวจันทร์
คุณลักษณะประการที่สองที่ทั้งสามมีเหมือนกันคือความทะเยอทะยาน!
ถ้าปราศจากความทะเยอทะยานแล้ว
สุธียังคงอาจจะทำงานตอน 9 โมงเช้าที่ธนาคารกรุงเทพ พอ 5 โมงเย็นก็กลับบ้าน
สิ้นเดือนรับเงินเดือนและสิ้นปีก็รับโบนัส
สุพจน์เองก็คงจะขยับขยายปั๊มน้ำมัน และก็อยู่เพียงแค่นี้
สุระก็คงจะซื้อขายที่ดินในระดับเล็กๆ อยู่และทำโรงเรียนสยามวิทยาต่อไป
ทั้งสามคนไม่ผิดที่มีความทะเยอทะยานเพราะการสร้างสรรค์ต่างๆ ในโลกนี้ทั้งในอดีตจากประวัติศาสตร์อันยาวนานและในปัจจุบันนั้นก็ล้วนแล้วมาจากความทะเยอทะยานทั้งสิ้น
เพียงแต่ว่าความทะเยอทะยานนั้น ควรมีแค่ไหนและควรจะทะเยอทะยานอย่างไร?
ความทะเยอทะยานของสามสุเป็นความทะเยอทะยานที่ผู้เขียนเชื่อว่าทุกคนในสังคมต้องมี
เพียงแต่บางคนอาจจะแฝงซ่อนเร้นในจิตใต้สำนึกโดยไม่กล้าแสดงออก
สุธี นพคุณ เคยพูดกับคนสนิทว่าเขาใฝ่ฝันที่จะเป็นเจ้าพ่อทางโรงแรมที่มีโรงแรมอยู่ในมือหลายแห่ง
สมัยที่เขาเป็นกรรมการผู้จัดการอยู่รามาสมัยที่ยังอยู่ในเครือไฮแอท สุธีจะไปโรงแรมทุกวัน
และเขามีความสุขมากที่มีพนักงานสาวๆ สวยๆ ยกมือไหว้เขาอย่างนอบน้อม จึงไม่น่าประหลาดใจเลยที่เมื่อสุธีแยกกับพร
สิ่งแรกที่ทำทันทีที่แยกออกมาคือการขยายโรงแรมที่รามาการ์เด้นและการไปบริหารโรงแรมต่างจังหวัดที่พัทยา
หาดใหญ่ และกาญจนบุรี
ทั้งหมดนี้เป็นเพราะสุธีมีความทะเยอทะยานจะเป็นเจ้าของโรงแรม หลายๆ แห่ง
สุระเองก็มีความทะเยอทะยานเช่นกัน สุระเคยประสบผลสำเร็จในการซื้อขายที่ดิน
และจากการเป็นนายหน้าระดับท้องถิ่น พอเริ่มเข้าสังคม ชั้นสูงที่มีแต่ระดับมังกร
สุระก็เห็นว่าตัวเองก็ทำได้ ประกอบกับการเป็น แขกทำให้สุระต้องการให้มีคนยอมรับในตัวเขามากขึ้น
และในสังคมไทย การยอมรับจะมาได้เพียงรูปเดียว แบบเดียวเท่านั้น นั่นคือต้องเป็น
Tycoon เพราะ Tycoon จะเป็นแขก จีน ไทย หรือฝรั่ง มันก็คือ Tycoon นั่นเอง
อย่าลืมว่าคนอินเดียที่มีเงินมากก็มีอยู่ไม่น้อย แต่คนอินเดียที่สามารถ ออกมากระโดดโลดเต้นในวงการ
จนเป็นที่เลื่องลือกันในสังคมนั้นมีเพียงแค่ สุระ จันทร์ศรีชวาลา ในสายตาของคนอินเดียบางกลุ่มสุระอาจจะเป็นความภูมิใจของเขา
เหมือนบุญชูเป็นความภูมิใจของคนไหหลำ หรือเกียรติ วัธนเวคิน เป็นความภูมิใจของคนจีนแคะ
นี่ก็เรียกได้เหมือนกันว่าเป็น ความทะเยอทะยานประการหนึ่ง
กรณีของสุพจน์ เดชสกุลธร ยิ่งกว่ากรณีของสุธีและสุระมารวมกัน เสียอีก ในขณะที่สุธี
นพคุณ มีการศึกษา มี connection และสุระ จันทร์ศรีชวาลา มีทรัพย์สิน แต่ขาด
connection สุพจน์ เดชสกุลธร ไม่มีทั้งการศึกษา ทรัพย์สิน และ connection
เป็นเค้าหน้าตักในการเดิมพันเลย
เพราะฉะนั้นไฟทะเยอทะยานของสุพจน์จะเผาไหม้ยิ่งกว่าทั้งสองคนรวมกัน
สุพจน์ เดชสกุลธร ครั้งหนึ่งเคยยกย่อง สุธี นพคุณ ราวเทพเจ้า ทั้งนี้สุธีคือตัวอย่างที่สุพจน์ต้องการเป็นมากที่สุด
ทั้งต่อหน้าและลับหลัง สุพจน์จะยกสุธีไว้เหนือสิ่งอื่นใด
เมื่อพูดถึงพร สิทธิอำนวย สุพจน์จะบอกว่าไม่มีความหมายสู้สุธีไม่ได้ สำหรับสุพจน์แล้วสุธีคือ
connection ที่เขาหมายมั่นปั้นมือไว้และเขาก็ไม่รู้ว่า connection ของเขาคนนี้ก็ไม่มีของจริงเหมือนที่อ้างไว้จนช่วงสุดท้าย
ของความรุ่งเรืองที่เขาเพิ่งจะรู้ว่าอะไรเป็นอะไร
ความทะเยอทะยานของสุพจน์เนื่องจากมีปมด้อยมาตั้งแต่เริ่มต้นก็ทำ ให้ความทะเยอทะยานเพิ่มทวีคูณขึ้นไปตลอดโดยไม่รู้จักพอ
จากคนเข็นผักมาเป็นคนขับแท็กซี่ มาเป็นเจ้าของรถ และมาเป็น เจ้าของปั๊มน้ำมัน
ในที่สุดสุพจน์ก็ยอมรับสัจธรรมว่าการเป็น Tycoon เท่านั้นที่จะมีคนยอมรับทั่วหน้าและจะเป็น
Tycoon ได้เขาต้องมีฐานทางการเงิน และชื่อเตียบักฮ้งนั้นคงไม่มีโสภณพนิชหรือล่ำซำหรือเตชะไพบูลย์คนไหนจะคุยด้วยแน่
ฉะนั้นไม่มีอะไรจะดีกว่าการเล่นกับประชาชน
ทั้งสามคนนี้ถ้าเป็นภาษาของชาวบ้านเขาเรียกว่านักเสี่ยงโชคเพราะมาจากพื้นฐานที่ไม่มีอะไรเลย
แล้วขอเข้ามาเล่นด้วยคนโดยไม่มีเค้าหน้าตัก
แต่เมื่อไม่กี่สิบปีมานี้ ชิน โสภณพนิช อุเทน เตชะไพบูลย์ วัลลภ ธารวณิชกุล
(จอห์นนี่ มาร์) แห่งธนาคารเอเชียทรัสต์ ชวน รัตนรักษ์ (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา)
ฯลฯ ก็เป็นคนที่ไม่มีเค้าบนหน้าตักเหมือนกันมิใช่หรือ?
เพียงแต่ว่าคู่ท้าชิงในสมัยนั้นไม่หนาแน่นเหมือนสมัยนี้!
ในการสร้างตัวขึ้นมาเองนั้นนอกจากคุณสมบัติของ
1. ผู้ประกอบการ
2. ความทะเยอทะยาน
ยังต้องมีอีกประการหนึ่งที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งนั่นคือ :-
สายสัมพันธ์ หรือ connection
connection ในที่นี้ในทศวรรษที่มีการแข่งขันกันมาก เกือบจะเรียกได้ว่าเป็นเงื่อนไขที่สำคัญที่สุดในไม่กี่เงื่อนไขที่ทำให้งานประสบความสำเร็จได้
พร สิทธิอำนวย เคยพูดว่า"การทำงานให้คุณบุญชูถึงสิบกว่าปีนั่นคือการสร้างสายสัมพันธ์ขึ้นโดยใช้บารมีของผู้ใหญ่เพื่องานในอนาคต"
สิบกว่าปีของการทำงานของพรให้กับบุญชูเป็น 10 กว่าปีที่พรได้ก้าว ไปสู่วงการโดยไม่รู้ตัว
หรือใครจะปฏิเสธว่า สว่าง เลาหทัย แห่งศรีกรุงสามารถสร้างตัวขึ้น มาได้โดยไม่ต้องใช้สายสัมพันธ์กับชาตรี
โสภณพนิช
หรือเถลิง เหล่าจินดา เกิดขึ้นจากสายสัมพันธ์ของสหัส มหาคุณ ที่มอบสายสัมพันธ์ของทหารให้
หรือเติมศักดิ์ ตุลวัฒนจิต ก็มาจากสายสัมพันธ์ที่ทำงานให้เกียรติ วัธนเวคิน
แล้วค่อยแยกตัวออกมา
หรือตามใจ ขำภโต ซึ่งใช้สายสัมพันธ์ของตระกูลศรีเฟื่องฟุ้งที่ผูกพันกับพรรคชาติไทยเข้ามาทางสายบุญชูจนถึงปัจจุบัน
และยังมีอีกมาก
สายสัมพันธ์จึงเป็นสะพานที่เชื่อมฝั่งน้ำสองฟากเพื่อให้ผู้ประกอบการเดินจากฝั่งตนเองไปอีกฝั่งหนึ่ง
เพียงแต่สายสัมพันธ์นั้นมีอยู่ 2-3 ลักษณะ
ลักษณะแรกคือสายสัมพันธ์ตรงหรือดั้งเดิม
สายสัมพันธ์นี้เป็นสายสัมพันธ์ทางสายเลือดหรือสายของการเป็นลูกน้องบริวารกันมานาน
เช่น ธุรกิจของล็อกซเล่ย์ คือสายสัมพันธ์ตรงกับกลุ่มการเงินของกสิกรไทย หรือโรงพยาบาลบำรุงราษฎร์คือสายสัมพันธ์ทางสายเลือดระหว่างชัย
โสภณพนิช กับกลุ่มธนาคารกรุงเทพ
หรือยอดยิ่ง เชื้อวัฒนสกุล แห่งพาราวินเซอร์ คือสายสัมพันธ์รุ่นพ่อคืออื้อจือเหลียงซึ่งมีบุญคุณกับอุเทน
เตชะไพบูลย์
หรือมหาดำรงค์กุลที่มีสายสัมพันธ์ดั้งเดิมมากับเสี่ยเม้งหรือมงคล กาญจนพาสน์
ฯลฯ
ลักษณะที่สองคือสายสัมพันธ์ทางอ้อม
สายสัมพันธ์ทางอ้อมจะออกมาหลากหลายแบบ ส่วนใหญ่จะเป็นประเภทตามกระแสน้ำ
มีน้อยรายมากที่จะออกนำหน้าเจ้าของสายสัมพันธ์และก็จะเป็นสายสัมพันธ์ที่ผูกพันกันหลายฝ่าย
เพื่อความอยู่รอดของผู้ประกอบการซึ่งไม่สามารถจะมีสายสัมพันธ์ตรงเป็นผู้หนุนหลังได้
สุระ จันทร์ศรีชวาลา ก็เป็นตัวอย่างที่ดี!
สุระเริ่มสายสัมพันธ์ครั้งแรกกับสุขุม นวพันธ์ แต่เริ่มในลักษณะที่ไม่ใช่สายสัมพันธ์ตรง
กลับเป็นในรูปของสุระต้องพึ่งบารมีของสุขุมใน ธนาคารทหารไทยซึ่งสุขุมเองก็ไม่ใช่เจ้าของ!
ฉะนั้นข้อแตกต่างระหว่างสุระกับสว่าง เลาหทัย จึงอยู่ที่นี่!
เพราะสว่างสามารถจะจับชาตรี โสภณพนิช อย่างเต็มที่ได้เพราะสว่างรู้ว่าถ้าชาตรีโดดลงมาเล่นด้วยก็เท่ากับว่าไม่มีใครในธนาคารกรุงเทพจะกล้าเข้ามาขวาง
เพราะโดยพฤตินัยชาตรีคือธนาคารกรุงเทพและธนาคารกรุงเทพคือชาตรี
แต่สุระกับสุขุมต่างกัน
และกาลเวลาพิสูจน์แล้วว่าสุขุมต้องระเห็จออกจากธนาคารทหารไทย ไปในที่สุด
ฉะนั้นผู้ประกอบการอย่างสุระจึงต้องระเหเร่ร่อนหาสายสัมพันธ์เพื่อ เป็นกำลังหนุนหลังตัวเอง
สุระเริ่มจับภิวัฒน์แห่งธนาคารแหลมทองก็เกือบจะสำเร็จ เพียงแต่สายสัมพันธ์ที่กำลังสร้างจนเกือบจะเป็นสายสัมพันธ์ตรง
ก็พลันขาดวงจรจากการเสียชีวิตของภิวัฒน์ สุระเลยต้องร่อนเร่ต่อไปเพื่อขวนขวายหาสายสัมพันธ์ของสุธีกับบุญชูที่เขาคิดว่าเขาอาจจะพึ่งได้
แต่อยู่กันสักพักสุระเองต้องเปลืองตัวแทนที่จะได้ดีขึ้นมา สุระจึงเฉออกไป
และก็ได้เจอตามใจ ขำภโต แต่เหตุการณ์ในเดือนสองเดือนที่ผ่านมานี้พิสูจน์แล้วว่าตามใจกับสุขุม
คือสายสัมพันธ์ลักษณะเดียวกัน คือไม่ได้เป็นเจ้าของโดยตรงเพียงแต่เป็นมือปืนรับจ้างเท่านั้น
จะเห็นว่าถ้าสุระมีสายสัมพันธ์ตรงเช่นชาตรี โสภณพนิช รับรองได้ว่าภายในไม่กี่ปีสุระจะต้องขึ้นมาในชั้นแนวหน้าแน่ๆ
คราวนี้ในเมื่อทั้ง 3 มีคุณสมบัติของคนที่จะเป็น Tycoon ได้แล้วคือ :-
1. เป็นผู้ประกอบการ
2. มีความทะเยอทะยาน
3. มีสายสัมพันธ์พอสมควร
แล้วทำไมจึงพลาด? และพลาดอย่างหนักด้วย!
ธนดี โสภณศิริ เคยพูดกับนิตยสารข่าวจตุรัสว่าในสมัยนี้คนที่ไม่มีพื้นฐานเดิมมาอาจจะรวยได้ถ้าเป็น
Innovator หรือผู้ริเริ่มใหม่
ก็พอจะพูดได้ว่าทั้ง 3 คนก็เป็น Innovators เหมือนกัน
แต่ในรอบทศวรรษที่ผ่านมานี้คนที่เป็น Innovator จริงๆ ที่เริ่มโดยไม่มีเค้าของตัวเองก็ต้องยกให้พร
สิทธิอำนวย
ผู้ริ่เริ่มสิ่งใหม่หรือ Innovator
พร สิทธิอำนวย เป็น Innovator คนแรกที่ไม่มีทุนอะไรมากแต่สามารถริเริ่ม
concept ของธุรกิจของการใช้หลักธุรกิจแบบใหม่ที่ใช้ฐานเงินของประชาชนโดยการมี
Finance เป็นของตัวเอง แล้วสร้างสรรค์งานใหม่ที่คนไทยไม่เคยคิด (ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ของสยามเครดิตเมื่อ
10 ปีที่แล้วพอจะพูดได้ว่าเป็นผู้บุกเบิกในวงการนี้และปัจจุบันเป็นบริษัทเช่าซื้อรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย)
รู้จักระดมเงินจากประชาชนเข้ามาในบริษัทของตัวเองโดยที่ตัวเองยังคุมอำนาจการบริหารอยู่
(ในยุคแรกก่อนที่จะแยกกับสุธีนั้นบริษัทในเครือของพร สิทธิอำนวย เข้าตลาดหลักทรัพย์ถึง
3 บริษัทคือ รามาทาวเวอร์ เงินทุนหลักทรัพย์เครดิตการพาณิชย์ และสยามเครดิต)
ในขณะที่เจ้าของบริษัทคนอื่นแทบจะไม่สนใจวิธีการนี้เลย
การที่สุธีทำงานกับพรมาตลอดก็พอจะทำให้เขาเรียนรู้วิธีการของพรมากพอสมควร
พรเคยพูดเสมอหลังจากที่เคยต้องลำบากยากเย็นกับการหาเงินหาทองมา Finance
กิจการของตัวเองว่าอะไรๆ ก็ไม่ดีเท่ามีฐานการเงินของตัวเอง
และสุธีก็เจริญรอยตามพร
และสุพจน์ก็เจริญรอยตามสุธี
และสุระก็เจริญรอยตามสุธีเช่นกัน
ลักษณะของ Innovation ของสุธีที่อีก 2 สุ เจริญรอยตามคือการมีฐานทางการเงินซึ่งไม่จำกัดเฉพาะบริษัทเงินทุน
แต่จะรวมไปถึงบริษัทประกันชีวิตซึ่งเป็นสถาบันการเงินประเภทหนึ่งเหมือนกัน
แล้วใช้ฐานการเงินนี้ไปดันธุรกิจซึ่งแยกออกเป็น 2 ประเภทคือ ธุรกิจค้าของหนัก
เช่น ที่ดิน กับการพัฒนาที่ดิน และธุรกิจบริการ
ธุรกิจของทั้งสามสุมีประเภทคล้ายคลึงกันมากจนดูเหมือนว่าจะเรียนมาจากโรงเรียนเดียวกัน
ความจริงแล้วทุกคนก็เรียนมาจากโรงเรียนเดียวกันนั่นเองแหละ โดยมีสุธี นพคุณ
เป็นอาจารย์ใหญ่ "ความจริงสิ่งที่ทั้งสามสุทำนั้นเป็นเรื่องที่ผู้เชี่ยวชาญวงการธุรกิจเราก็จะทำเหมือนกันและก็เป็นสามัญสำนึก
คุณอย่าลืมว่าถ้าฐานะการเงินสามารถระดมเงินประชาชนมาแล้วเอาเงินประชาชนเหล่านี้มาหมุนเวียนในธุรกิจที่แตกแขนงไป
เมื่อธุรกิจมีกำไรก็สามารถคืนเงินประชาชนได้ แต่ถ้าขาดทุนก็ตัวใครตัวมัน"
MBA เก่าจากเมืองนอกคนหนึ่งสาธยายให้ฟัง หรือสรุปง่ายๆ ก็คือว่า พวกนี้อยากเป็น
Tycoon ตามความทะเยอทะยานของตน แต่การทำโครงการมันต้องมี Financing ซึ่งดูตามสกุลรุนชาติและความเป็นมาแล้วคงหา
Financing เป็นร้อยล้านจากธนาคารไม่ได้ ก็เลยขอยืมเงินจากประชาชนมาใช้ โดยใช้ในลักษณะนิติบุคคลกับนิติบุคคลเพื่อปัดความรับผิดชอบออกจากตัวเองถ้าเกิดมีปัญหาขึ้นมา
แต่ถ้าสุธีกับสุพจน์และสุระเกิดทำได้ขึ้นมาล่ะ?
แน่นอนถ้าเป็นเช่นนั้นก็อาจจะเป็นสิ่งที่ดีก็ได้เพราะสุธี สุพจน์ และสุระ
จะเป็นตัวอย่างของคนหนุ่มนอกวงการที่มีลักษณะ "ข้ามาคนเดียว" และสามารถเข้าได้ในนิวเคลียสของกลุ่ม
Tycoon ทั้งหลายได้ มิหนำซ้ำยังจะภาคภูมิใจกว่าพวกเก่าเสียด้วยซ้ำเพราะเข้ามาด้วยฝีมือจริงๆ
ไม่ใช่เพราะมีสายสัมพันธ์ของตระกูล
แต่เผอิญเกิดทำไม่ได้!! ไปสะดุดขาตัวเองแล้วเหยียบกบาลชาวบ้าน!
ข้อผิดพลาดที่ทำไม่ได้นั้นเมื่อมามองดูแล้วก็มีหลักใหญ่ๆ อยู่หลายประการดังนี้
:-
1. รู้ซึ้งไม่ถึงแก่น
ถ้าคนพูดถึงมือแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศแล้วทุกวันนี้ก็ยังยอมรับว่า
ชิน โสภณพนิช คือมือหนึ่ง และชินก็ใช้ความเชี่ยวชาญของตนอันนี้แหละในการขยับขยายกำไรของธนาคารมาตั้งแต่อดีต
หรือถ้าจะพูดถึงเหล้ากับโรงรับจำนำก็ต้องเป็นอุเทนและสุเมธ เตชะไพบูลย์
ที่รวยขึ้นมาเพราะตัวเองชำนาญทางด้านนี้เป็นพิเศษ
หรือเชาว์ เชาว์ขวัญยืน ก็ไม่เล่นเรื่องอะไรเลยนอกจากเรื่องน้ำมันเรื่องเดียวที่ตัวเองเล่นมาตั้งแต่หนุ่มจนถึงปัจจุบัน
จะเห็นได้ว่าผู้ประกอบการที่จะประสบความสำเร็จนั้นต้องเป็นคนที่รู้ซึ้งถึงเรื่องที่ตัวเองทำ
การรู้จักแต่หมุนเงินอย่างเดียวนั้นไม่พอเพียงที่จะทำให้ตัวเองประสบความสำเร็จไปได้
ฉะนั้นก็ไม่น่าประหลาดใจอะไรที่สุธี นพคุณ จะพลาดเพราะในบรรดาธุรกิจที่ตัวเองทำตั้งแต่โรงแรม
ขายข้าว แกง ตลอดจนประกันชีวิตนั้นไม่มีอะไรที่ตนเข้าใจจริงๆ
สุพจน์ก็เช่นกัน บ่อยครั้งที่สุพจน์รับฝากเงินให้ดอกเบี้ย 18% แต่ก็ ปล่อยออกไปในหมู่คนรู้จักเพียง
16%
ส่วนสุระนั้นเป็นนักเก็งกำไรอย่างเดียว ฉะนั้นในภาวะเศรษฐกิจตกต่ำการเก็งกำไรจึงเก็งไม่ออกเพราะหาคนมาจ่ายกำไรให้ตัวเองไม่ได้
2. ใจร้อนอยากให้คนยอมรับเร็วเกินไป
คนพวกนี้จะขาดความอดกลั้น ทั้งสามเพิ่งจะโลดแล่นเข้ามาในวงการเมื่อ 5-6
ปีมานี่เอง แต่ทั้งสามก็อยากจะทำในสิ่งที่คนอื่นเขาทำกันมาเป็นสิบปีขึ้นไป
ทั้งสามขาดเสียความอดกลั้นและขันติ
ถ้าแต่ละคนตั้งใจทำในงานแต่ละอย่างและรอคอยให้งานนั้นสำเร็จเสียก่อน และขยายฐานของงานนั้นเป็นแนวตั้งก็จะประสบความสำเร็จ
เพราะทั้งสามคนมีคุณสมบัติของผู้ประกอบการอยู่แล้ว จะขาดก็เพียงระยะเวลาเท่านั้น
เมื่อ 5 ปีที่แล้วรามาทาวเวอร์เป็นบริษัทมหาชนที่กำไรมากและแทบจะไม่มีหนี้สิน
ถ้าสุธี นพคุณ เพียงอดทนอยู่กับรามาทาวเวอร์และขายทุกสิ่งออกไปขยายแต่รามาทาวเวอร์
มาวันนี้สุธี นพคุณ ก็คงจะนั่งอย่างมีความสุขบนทรัพย์สิน 14 ไร่ที่เฉพาะราคาที่ดินอย่างเดียวก็ร่วม
100 ล้านแล้ว ยังไม่นับสิ่งปลูกสร้างที่พัฒนาบนที่ดินนั้นอีก"เดิมทีเมื่อ
6 ปีที่แล้วรามาทาวเวอร์มีโครงการจะสร้างโรงแรมใหม่บนลานจอดรถว่างเปล่ามาแทนโรงแรมเก่า
และดัดแปลงโรงแรมเก่าเป็นอาคารสำนักงาน และเชื่อมโรงแรมใหม่กับโรงแรมเก่าด้วยชอปปิ้งคอมเพล็กซ์
ทั้งหมดนั้นก็จะเป็นคอมเพล็กซ์ที่ทันสมัยและเสร็จหมดภายใน 2 ปี (2523) คุณคิดดูซิ
เสร็จก่อนอมรินทร์ พลาซา ก่อนทุกๆ คน และถึงวันนี้อย่างน้อยก็ได้เปรียบกว่าทุกๆ
คนไป 4 ปี ล่วงหน้าแล้ว" อดีตผู้ร่างโครงการของรามาทาวเวอร์เมื่อ 7
ปีที่แล้วเล่าให้ "ผู้จัดการ" ฟัง
"ในตอนนั้นเราแนะนำคุณสุธีให้ขายทุกอย่างทิ้งไป หรือไม่ก็ตกลงกับพร
สิทธิอำนวย เวลาแยกกันว่าไม่เอาอะไรขอรามาทาวเวอร์อย่างเดียว แต่แกไม่เอา
แกต้องการแยกออกจากพรแล้วต้องใหญ่กว่าพร" แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
และก็เป็นเมื่อ 5 ปีที่แล้วเช่นกันที่เยาวราชไฟแนนซ์ของสุพจน์ทำกำไร ให้กับผู้ถือหุ้นเพียงแค่ปีที่
2 ของการดำเนินการ
"ผู้ถือหุ้นตอนนั้นรักสุพจน์มากถ้าสุพจน์จะจับทางไฟแนนซ์อย่างเดียวขอเพิ่มทุนเป็น
100-300 ล้าน รับรองว่าทุกคนเล่นด้วยแล้ว แค่สุพจน์ค้าขายกับคนจีนแถวๆ นั้นอย่างเดียวก็เหลือจะกินแล้ว"
อดีตเจ้าหน้าที่เยาวราชไฟแนนซ์พูดให้ฟัง
"ความจริงแล้วฐานของคุณสุระจริงๆ อยู่ที่มิดแลนด์ไฟแนนซ์กับไทยประสิทธิประกัน
ถ้าคุณสุระจับสองอย่างนี้พัฒนามันขึ้นมาทุ่มเทกับมันเต็มที่อย่าไปเล่นอย่างอื่น
ผมเองเชื่อว่าแกต้องอยู่ในขั้นแนวหน้าและไม่ต้องลำบากเหมือนวันนี้ ยิ่งแกมีที่ดินเป็นทุนอยู่แล้ว
พวกนี้กลับเป็นเครื่องเสริม แกอีก" คนที่รู้จักสุระดีให้เหตุผล
3. ชอบทำตัวให้เด่นแล้วเป็นภัย
สังคมไทยเป็นสังคมที่น่าเกลียดตรงที่ว่าไม่มีใครอยากเห็นใครประสบความสำเร็จ
และนี่คือสัจธรรมที่ยั่งยืนมาตลอดทุกยุคทุกสมัย
"คนที่เขามีของจริงคือคนประเภทซุ่มเงียบๆ อย่างวานิช ไชยวรรณ แห่งไทยประกัน
หรือวิญญู คุวานนท์ แห่งโค้วยู่ฮะ นี่เป็นต้น พวกนี้มีของจริงและมาแบบงูเหลือม"
ผู้รู้เรื่องในวงการดีเล่าให้ฟัง
จากการที่เป็นคนนอกแล้วเข้ามาในวงการมาขยายงานอยู่ตลอดเวลานั้น ย่อมเป็นการทำให้พวกที่มีสถานภาพอยู่เดิม
มองคนสามคนนี้อย่างไม่ไว้วางใจ (Threatening the Old Status Quo) และยิ่งพยายามทำตนให้เป็นข่าวอยู่
เสมอยิ่งเอาตัวเองไปผูกพันกับบุญชู โรจนเสถียร ซึ่งขณะนั้นเป็นรองนายกฯ ก็ยิ่งทำให้คนข้างนอกมองว่าเป็นกลุ่มธุรกิจการเมืองที่มีอิทธิพล
การถูกจ้องทำลายก็เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ
"คนเราเวลาทำงานถึงแม้จะไม่ได้สร้างเพื่อนขึ้นมาเลยก็ตามแต่ ขอเพียงว่าอย่าสร้างศัตรูขึ้นมาก็ถือว่าใช้ได้แล้ว"
นักธุรกิจที่คร่ำหวอดกับวงการ สั่งสอน "ผู้จัดการ"
"ก็ต้องยอมรับว่าในยุคที่พวกนี้เฟื่องมากๆ พวกนี้จะกลายเป็นคนที่มีนัยน์ตาอยู่บนศีรษะมองไม่เห็นความสำคัญของคนอื่น
ในการประชุมอะไรร่วมกันบางครั้งการพูดจาโดยเฉพาะจากคุณสุพจน์จะออกมาในลักษณะก้าวร้าว"
นักธุรกิจที่เคยเกี่ยวพันกับทั้งสามคนเล่าให้ฟัง
แม้แต่ธนดี โสภณศิริ เองยังเคยโดนสุพจน์ เดชสกุลธร ลุกขึ้นชี้หน้าว่ากลางที่ประชุมสมัยที่ธนดีเป็นนายกสมาคมเงินทุนหลักทรัพย์ว่าธนดีเป็นคนไม่มีน้ำยา!
"อย่างกรณีของสุระเป็นอีกแบบหนึ่ง เขาเป็นคนนิ่มแต่เวลาเขาไป take
over อะไรมันจะเป็นข่าวใหญ่และทำให้คนไม่พอใจ บางคนถึงกับพูดว่าแขกคนนี้ต้องระวังเอาไว้"
แหล่งข่าวคนเดิมกล่าว
และการต่อต้านสุระ โดยกลุ่มสมบูรณ์และอภิวัฒน์ นันทาภิวัฒน์ ก็พอจะเป็นข้อพิสูจน์ได้ว่า
"โรคกลัวแขก" ระบาดจริงๆ
4. ขาดคุณธรรมกำกับวิธีการดำรงชีวิต
ในข้อนี้คือบทพิสูจน์สุดท้ายของความล้มเหลว "ถ้าคุณใช้ประชาชนเป็นฐานหนุนคุณขึ้นมา
คุณต้องทำงานโดยตั้งมั่นอยู่บนพื้นฐานของความซื่อสัตย์ ความจงรักภักดีเพียบพร้อมด้วยสัจธรรม
ไม่เอารัดเอาเปรียบหรือเห็นแก่ได้ โดยไม่นึกถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น"
นักธุรกิจคนหนึ่งที่ไม่ประสงค์จะออกนามวิจารณ์ให้เราฟัง
ดร.อำนวย วีรวรรณ เคยเขียนในบัญญัติ 7 ประการ แห่งความสำเร็จว่า "ผมใคร่ขอย้ำว่า
อย่าพึงหวังสร้างความสำเร็จด้วยทางลัด เพราะยากที่จะเป็นไปได้ และถึงเป็นไปได้ก็ไม่จีรังยั่งยืน
ขอให้ทุกคนจำไว้ว่าหนทางสู่ความสำเร็จที่ถาวรนั้นยาวไกลและไม่มีทางลัดใดๆ
ด้วย"
จนทุกวันนี้ก็ยังมีคำถามที่เกี่ยวพันกับทั้งสามที่ยังหาคำตอบไม่ได้อีก มากและคำถามนี้สะท้อนกลับไปถึงคุณธรรมของผู้ประกอบการแต่ละคนเช่น
:-
...ทำไมที่ดินโรงแรมรามาการ์เด้นถึงซื้อมาแพงนักเปลี่ยนมือกันอยู่ไม่กี่คนในกลุ่มภายในระยะเวลาสั้นๆ
และราคาสุดท้ายแพงกว่าราคามือแรกที่ซื้อเกือบ 300%?
...ทำไมค่าก่อสร้างโรงแรมรามาการ์เด้นต่อห้องยังแพงกว่าค่าก่อสร้างโรงแรมรอยัลออร์คิด?
...ทำไมโรงแรมรามาทาวเวอร์จึงถูกงุบงิบขายไปในวงเงิน 700 ล้านบาท?
...ทำไม SN Intertrade ซึ่งเป็นบริษัทส่วนตัวของสุธี นพคุณ ถึงมีเงินมีทองมาดำเนินกิจการต่อไปได้?
...ทำไมเงินผู้ฝากที่พัฒนาเงินทุนถึงหายไปหมด แล้วหายไปไหน?
...ทำไมเยาวราชไฟแนนซ์ถึงมีทรัพย์สินเหลือเพียงไม่เท่าไร แล้วเงิน หายไปไหนหมด?
...ทำไมถึงมีรายงานว่าสุพจน์มีเงินเสียการพนันเป็นหลายสิบล้าน
...และยังมีอีกมาก!
ทั้งหมดนี้เป็นปัญหาเรื่องคุณธรรมของผู้ประกอบการ
ความจริงแล้วเราปรารถนาจะเห็นผู้ประกอบการที่เข้ามาในวงการ โดยไม่มีสายสัมพันธ์
แต่มีความสามารถและความมานะพยายามประสบความสำเร็จมากๆ เพราะจะได้เป็นเครื่องแสดง
และให้กำลังใจแก่คนรุ่นใหม่ที่ไม่มีสกุลรุนชาติได้เห็นว่ามีคนประสบความสำเร็จแล้วเพียงแต่ขอให้มีความสามารถ
มีความมานะพยายาม และมีคุณธรรมโดยไม่จำเป็นต้องมีนามสกุลใหญ่ๆ โตๆ หนุนหลัง
และถ้าสังคมเรามีผู้ประกอบการแบบนี้มากๆ ขึ้นก็คงจะไม่มีใครปฏิเสธว่าสังคมธุรกิจเช่นว่านี้จะให้ประโยชน์มากกว่าให้โทษ
ฉะนั้นเราน่าจะมีคนอย่างสุธี สุพจน์ และสุระมากๆ ขึ้นเพียงแต่ว่า เป็นสุธี
สุพจน์ และสุระ ที่ไม่ได้ทำผิดพลาดเหมือนที่ว่าไว้
บางทีเราอาจจะเรียกความเชื่อมั่นจากประชาชนกลับมาได้อีก!
หมายเหตุ จาก "เราควรจะมีคนอย่าง "สามสุ" นี้มากๆ"
ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 10 พฤษภาคม 2527