เจ้าของเอ็มกรุ๊ปกำลังพุ่งขึ้นสู่ความเป็นผู้ยิ่งใหญ่ในวงการสื่อ
ด้วยการออกหนังสือพิมพ์รายวัน ยิงดาวเทียม และให้บริการข้อมูลออน-ไลน์ คำถามก็คือ
โครงการของเขายิ่งใหญ่เกินกว่าจะทำให้เป็นจริงขึ้นมาได้หรือไม่?
เป็นการปรากฏตัวที่ยากจะเกิดขึ้นได้ และเป็นการปรากฏตัวที่ดูเหมือนจงใจจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับสต๊าฟของ
Asia Times ที่กำลังจะวางแผงในอีกไม่กี่วันนี้แล้ว สนธิ ลิ้มทองกุล รู้ดีว่า
การปรากฏตัวครั้งนี้จำเป็นอย่างยิ่ง เพราะโดยธรรมชาติแล้ว นักหนังสือพิมพ์เป็นกลุ่มคนที่มีความสงสัยอยู่ในหัวสมองตลอดเวลา
และตอนนี้บรรดานักหนังสือพิมพ์อาวุโสที่คร่ำหวอดมานาน ก็กำลังคร่ำเคร่งกับหลายโครงการยักษ์ที่เกิดขึ้นและเปล่งรัศมีอยู่ได้ไม่นานก็วูบลงไปอีก
เมื่อมาถึงโดยไม่มีการแจ้งล่วงหน้าแล้ว สนธิเดินฝ่ากลุ่มคนเข้าไปในกองบรรณาธิการ
และประกาศสร้างความเชื่อมั่นเกี่ยวกับความก้าวหน้าของหนังสือพิมพ์ตามสไตล์ของเขาเองว่า
"อย่ากังวลเรื่องเงิน" สนธิรับรองกับทีมบรรณาธิการข่าว ซึ่งต่างก็รู้ดีว่า
ธุรกิจสิ่งพิมพ์นั้นเสี่ยงขนาดไหน "สายป่านผมยาว"
คำถามคือ สายป่านที่ว่ายาวนั้น ยาวแค่ไหน? ในฐานะผู้เริ่มต้นทำธุรกิจ สนธิและหุ้นส่วนต้องตั้งงบต้นทุนเริ่มดำเนินการไว้
20 ล้านดอลลาร์สำหรับ Asia Times หนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันระดับภูมิภาค ซึ่งจะวางแผงในวันที่
6 ธันวาคม
จากนั้นพวกเขาต้องอัดฉีดเงินทุนอีก 40 ล้านดอลลาร์สำหรับช่วง 3 ปีแรกของการทำหนังสือพิมพ์ฉบับนี้
และคาดว่าจะไม่สามารถทำกำไรตลอดระยะเวลา 5-7 ปีที่หนังสือพิมพ์วางแผง
ระหว่างนี้สนธิและคณะยังต้องเป็นแหล่งเงินทุนให้กับโครงการให้บริการข่าวออน-ไลน์
เข้าไปช่วยสนับสนุนการยิงดาวเทียมมูลค่า 200 ล้านดอลลาร์ในปี 1997 และก่อตั้งกลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจโทรทัศน์
เพื่อให้บริการแก่ผู้ชม ทั่วประเทศในภูมิภาคนี้
โครงการเหล่านี้ต้องดำเนินไปในเวลาเดียวกับที่ธุรกิจหลักของเอ็มกรุ๊ป บริษัทแม่ที่สนธิเป็นเจ้าของกำลังประสบปัญหาราคากระดาษหนังสือพิมพ์ถีบตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ
และปัญหาบุคลากรล้นเกิน เห็นได้จากบริษัทในเครือคือ แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป
ประสบภาวะขาดทุนในปี 1994 และช่วงครึ่งแรกของ ปี 1995 รวมทั้งการที่สนธิยืนยันว่า
เอ็มกรุ๊ปต้องปลดพนักงานที่มีอยู่ 5,000 คน ออก 30%
กับวัย 48 ที่ยังดูฟิต สนธิผู้มีงานยุ่งจนแทบไม่มีเวลาว่าง ไม่เคยปล่อยให้ข่าวร้ายหรือข่าวลือ
มาเป็นอุปสรรคให้เขาก้าวช้าลงได้ กับตัวตนที่เป็นทั้งนักฝัน นักวางแผน และอดีตนักหนังสือพิมพ์
สนธิเคยทำให้คนที่สงสัยในตัวเขา ต้องเย็บปากสนิทมาแล้วด้วยการออกหนังสือพิมพ์ฉบับภาษาไทย
ภายใต้ชื่อ "ผู้จัดการ" ทั้งที่เป็นรายวัน รายสัปดาห์ และนิตยสารรายเดือน
ถ้านับเวลากันจริงๆ แล้ว สนธิใช้เวลาเพียงกว่า 10 ปี กับการก่อตั้งและขยายแนวธุรกิจ
จนกิจการสำนักพิมพ์เติบโตขึ้นอย่างรวดเร็ว รวมทั้งการที่ตัวเขาเองมีชื่อเสียงในฐานะนักธุรกิจ
มาดสมาร์ท แม้จะไม่ค่อยรอบคอบในบางครั้งก็ตาม
แม้ว่านักวิเคราะห์รายหนึ่งจะมองว่า สนธิเป็นเพียงปลาซิวปลาสร้อย เมื่อเทียบกับผู้ทรงอิทธิพลในวงการสื่อรายอื่นๆ
แต่เขาก็แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนแล้วว่า ต้องการจะเป็นผู้ยิ่งใหญ่แห่งวงการนี้
โดยเน้นที่เอเชีย เหมือนรูเพิร์ต เมอร์ดอค และเท็ด เทอร์เนอร์ เป็นในโลกตะวันตก
"ผมกำลังสร้างเครือข่ายกระจายเสียงและสื่อสารแบบบูรณาการที่ประกอบด้วย ดาวเทียม
กิจการกระจายเสียง ฐานข้อมูลสารสนเทศ และสื่อสิ่งพิมพ์" เขาให้สัมภาษณ์พิเศษกับ
Asiaweek
ยิ่งกว่านั้น สนธิยังมีวิสัยทัศน์ของตัวเองที่จะให้เครือข่ายนี้เป็นกระบอกเสียงให้คนเอเชียโดยแท้จริง
"เมื่อผมตายลง" สนธิย้ำ "ผมต้องการตายในฐานะผู้บุกเบิก เป็นชาวเอเชียคนแรก
ที่ลุกขึ้นมา และต่อสู้กับการกดขี่ของตะวันตก"
ปฏิกิริยาที่มีต่อตัวสนธิและโครงการมากมายของเขาจึงหลากหลาย มีตั้งแต่อยากรู้อยากเห็นไปจนถึงประหลาดใจหรือไม่ก็ไม่เชื่อ
แต่เขาก็ยังอาจหาญเดินหน้าต่อไป สำหรับคนที่เคยให้คำจำกัดความตัวเองว่าเป็น
"นักหนังสือพิมพ์ธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่บังเอิญโชคดี" นั้น
เขายังเชื่อมั่นต่อไปว่า อันตรายช่วยให้เขาแข็งแกร่งขึ้น
"ผมมีธุรกิจที่มีความเสี่ยงอยู่ในมือมากมาย มันสำคัญมากในการทำให้ธุรกิจเติบโต
และมันก็สำคัญสำหรับการทำให้จิตวิญญาณในตัวผมลุกโชนอยู่ตลอดเวลา"
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง ความเสี่ยงในการออก Asia Times คงจะช่วยให้จิตวิญญาณของสนธิ
ลุกโชนได้อย่างดี ผู้บริหารหนุ่มวัย 48 ให้สัมภาษณ์ขณะอยู่ที่สำนักงานใหญ่อันทันสมัยของเอ็มกรุ๊ป
ที่กรุงเทพฯ ว่า Asia Times จะเป็นเครือข่ายการรวบรวมข่าวที่สำคัญ รวมทั้งเป็น
"brand name" สำหรับโครงการดาวเทียม และบริการข่าวออน-ไลน์ในอนาคตอันใกล้นี้
แต่สนธิย่อมไม่ใช่คนที่ใช้วิธีเดินทางลัดแน่นอน เพราะมีรายงานว่า สต๊าฟของเขาล้วนได้รับค่าตอบแทนดี
และมีการอัดฉีดเม็ดเงินสำหรับดำเนินการมากมาย สำหรับการสนับสนุนนั้นใช้วิธีสร้างจุดเชื่อมกับสื่อสิ่ง
พิมพ์อื่นๆของ แมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป ซึ่งเป็นกิจการในเครือ ได้แก่ หนังสือ
พิมพ์รายวัน "ผู้จัดการ" และ" ไฟแนนเชียล เดย์" รวมทั้ง "MANAGER" ซึ่งเป็นนิตยสารรายเดือนฉบับภาษาอังกฤษ
จากการใช้คู่สายโทรศัพท์และบริการดาวเทียมที่มีอยู่พร้อมแล้ว Asia Times
จะมียอดพิมพ์วันละ 30,000 ฉบับ วางแผงในกรุงเทพฯ สิงคโปร์และฮ่องกงสัปดาห์ละ
5 วัน โดยมีแผนจะเพิ่มยอดพิมพ์เป็น 40,000 ฉบับราวกลางปี 1996 และในปลายปีเดียวกัน
จะเริ่มพิมพ์ในลอนดอน แฟรงก์เฟิร์ต นิวยอร์ก และลอสแองเจลิส สำหรับแผนงานระยะยาวถัดจากนี้ไปคือ
การขยายตลาดออกไปพิมพ์ในฟิลิปปินส์และออสเตรเลีย แต่หนังสือพิมพ์ภูมิภาคฉบับใหม่นี้
จะทำเงินได้แน่หรือ? ในเมื่อบนแผงก็มีหนังสือพิมพ์รายวันที่ตะวันตกเป็นเจ้าของอยู่หลายฉบับ
อาทิ The Asian Wall Street Journal, International Herald Tribune และ Financial
Times
พันศักดิ์ วิญญรัตน์ บรรณาธิการบริหารวัย 53 ของ Asia Times ตอบคำถามนี้ว่า
หนังสือของเขาต้องเติบโตแน่ เพราะได้เสนอทางเลือกให้กับผู้อ่าน Asia Times
ไม่ใช่หนังสือพิมพ์กระบอกเสียงของอเมริกัน" อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนฝ่ายบริหารจะมองว่า
The Asian Wall Street Journal เป็นคู่แข่งสำคัญของหนังสืออยู่ดี เห็นได้จากการที่
Asia Times นำเสนอด้านการตลาดด้วยการย้ำว่า "จะไล่ต้อนให้ The Asian Wall
Street Journal กลับเข้าสู่ฐานะที่แท้จริงของหนังสือ" นั่นคือ การเป็นเพียงแค่หนังสือพิมพ์อเมริกันที่ทำหน้าที่ผู้สังเกต
การณ์เรื่องราวของเอเชียเท่านั้น นักวิเคราะห์ในกรุงเทพฯ รายหนึ่งซึ่งติดตามสถานการณ์สื่อสิ่งพิมพ์ให้ความเห็นว่า
หนังสือพิมพ์รายวันระดับภูมิภาค ที่คิดจะทำเงินจากโฆษณา โดยเน้นแทรกช่องว่างในตลาดนั้นคงทำได้ไม่ง่ายนัก
เขายังชี้ว่า Asia Times จะเกิดหรือจะดับขึ้นอยู่กับว่าจะสามารถขายโฆษณา
ได้เพียงพอหรือไม่? โดย เชน แมทธิวส์ นักวิเคราะห์สื่อประจำบริษัทโบรกเกอร์
เจมส์ แคปเปิ้ล เอเชีย ในสิงคโปร์ให้ความเห็นสอดคล้องกันว่า
"สำหรับหนังสือพิมพ์การเงินทุกฉบับแล้ว จะมีขอบข่ายการหาโฆษณาแคบลงเรื่อยๆ
สิ่งที่จำเป็นคือ การตั้งราคาปกที่สามารถครอบคลุมต้นทุนได้"
ราคาปกของ Asia Times อยู่ในระดับเดียวกันกับ The Asian Wall Street Journal
และดูเหมือนจะหาโฆษณาได้ดีเสียด้วย
พันศักดิ์กล่าวว่า การที่เจ้าของสินค้าที่มีศักยภาพแสดงความสนใจออกมา ย่อมเป็นเรื่องน่ายินดี
จะเห็นได้ว่าการมีโฆษณาของสายการบินคาเธ่ย์ แปซิฟิค, บริติช แอร์เวย์, สตาร์ทีวี
และไอบีเอ็ม ลงในฉบับทดลองนั้น ถือว่าโดดเด่นมาก
Asia Times ใช้เครือข่ายการตลาดที่สนธิสร้างขึ้นจากการตีพิมพ์สิ่งพิมพ์
30 ฉบับในไทย และอีกส่วนหนึ่งจากนิตยสารระดับภูมิภาคคือ Asia, Inc.ที่วางแผงในฮ่องกงมานาน
3 ปีแล้ว ซึ่งสนธิเองก็ยอมรับว่าหนังสือเล่มนี้กำลังประสบภาวะขาดทุนเช่นกัน
สำหรับพันศักดิ์แล้ว ความภาคภูมิใจมีส่วนสำคัญมากทีเดียว เขาต้องการเสี่ยง
"เพื่อพิสูจน์ว่า เอเชียก็สามารถผลิตหนังสือพิมพ์ระดับภูมิภาคที่มีคุณภาพได้เหมือนกัน"
อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี พลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ผู้นี้เป็นผู้ก่อตั้งและเป็นบรรณาธิการของนิตยสารทรงอิทธิพลคือ
"จัตุรัส" ซึ่งวางแผงในช่วงทศวรรษ 1970 เขายังเป็นเพื่อนเก่าแก่ของสนธิด้วย
"เราหวังว่าจะวางแผงในซิมลาด้วยนะ คงน่าอภิรมย์ไม่น้อยที่คุณนั่งจิบน้ำชาและอ่าน
Asia Times ที่นั่น" บรรณาธิการบริหารพูดกลั้วหัวเราะพร้อมออกสำเนียงอังกฤษ
ซึ่งเป็นผลมาจากการที่เขาเรียนที่ London School of Economics ในช่วงทศวรรษ
1960 นั่นเอง
แต่สำหรับนักธุรกิจในกรุงเทพฯ แล้ว พวกเขาอาจไม่ได้ให้ความสนใจอะไรมากนัก
"เป็นความคิดที่ดีและน่ายกย่อง" หนึ่งในคู่แข่งด้านสื่อของสนธิวิจารณ์ "แต่มันเป็นงานที่ยากแสนสาหัส
ผู้บริหารของเอ็มกรุ๊ปอาจถึงขั้นทำงานหักโหมเกินกำลังก็เป็นได้" ขณะที่แมทธิวส์แห่งเจมส์
แคปเปิ้ล กล่าวว่า Asia Times มีศักยภาพที่จะประสบความสำเร็จได้ เพราะคนเอเชียเริ่มมั่งคั่งขึ้น
และให้ความสนใจในธุรกิจระดับภูมิภาค แต่ "ผมไม่แน่ใจว่า หนังสือพิมพ์ธุรกิจ
ที่เป็นเอเชีย pure จะประสบความสำเร็จในยอดพิมพ์ทีละมากๆ ได้หรือไม่" นอกจากนี้
ตัวอย่างจากหนังสือพิมพ์ที่เพิ่งวางตลาดในกรุงเทพฯ เมื่อไม่นานมานี้ ก็ได้ผลไม่เป็นที่น่าพอใจนัก
เห็นได้จาก Business Day ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นหนังสือพิมพ์ธุรกิจรายวันระดับนานาชาติฉบับแรกของไทย
และเริ่มต้นจากการเป็นหนังสือพิมพ์ภูมิภาคในปีที่แล้ว โดยการร่วมทุนระหว่าง
Thai Premier Publishing Group ของไทย กับ Singapore Press Holdings และอื่นๆ
ตอนนี้กำลังประสบปัญหาการทำยอดพิมพ์ให้ได้วันละ 10,000 ฉบับ และมีโฆษณาน้อยมาก
ขณะที่ Thailand Times ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์รายวันวางตลาดในกรุงเทพฯ มียอดพิมพ์ต่ำกว่ามาก
พนักงานคนหนึ่งเล่าว่า หลังจากเปิดตัวมาแล้วถึง 2 ปี แต่มีสมาชิกไม่ถึง 200
ราย
ดูเหมือนจอห์น มาร์ช ซึ่งปัจจุบันนั่งเก้าอี้หัวหน้ากองบรรณาธิการของ Asia
Times จะรู้ซึ้งถึงความเสี่ยงที่ต้องเผชิญได้เป็นอย่างดี เขาเคยเป็นอดีตบรรณาธิการของ
South China Morning Post ในฮ่องกง และเป็นหนึ่งในจำนวนนักหนังสือพิมพ์ไม่มากคนนัก
ที่มีบทบาทในการเปิดตัวหนังสือพิมพ์รายวันของโอเรียนเต็ล เพรส กรุ๊ป ในฮ่องกง
คือ Eastern Express เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 1944
หนังสือพิมพ์ฉบับนี้ต้องฝ่าวิกฤติแบบใจหายใจคว่ำมาครั้งแล้วครั้งเล่า และมีรายงานว่า
ประสบภาวะขาดทุนอย่างต่อเนื่องในอัตราที่น่ากลัวมาก
"กับ Asia Times แล้ว เรามีช่วงเวลาตั้งหลักนานกว่า เมื่อเทียบกับ Eastern
Express ซึ่งมีเวลาน้อยกว่ามาก จนดูเหมือนทำหนังสือแบบฆ่าตัวตาย"
แต่กับแผนการที่เอ็มกรุ๊ปจะเป็นเจ้าของและบริหารโครงการดาวเทียมเอง กลับมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เชิงลบน้อยมาก
หลังจากเสร็จสิ้นการเจรจากับรัฐบาลลาว ซึ่งใช้เวลานานมาก เมื่อไม่นานมานี้
สนธิได้ลงนามในข้อตกลงซึ่งบริษัท Asia Broadcasting and Communications Network
(ABCN) ของเขาจะยิงดาวเทียมสมรรถนะสูง เพื่อให้บริการแบบส่งตรงถึงบ้านทั่วเอเชีย
กำหนดการยิงดาวเทียม L-Star 1 คือปลายปี 1997 และเริ่มดำเนินงานต้นปี 1998
โดยจะให้บริการส่งสัญญาณโทรทัศน์ได้ 200 ช่อง มีสถานีรับ 3 จุด คือที่อินเดีย
เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และจีน คาดว่าจะมี ผู้ชมกว่า 2 พันล้านคน
หลังจากยิงดาวเทียมขึ้นไปแล้ว จะส่งมอบให้รัฐบาลลาวดำเนินการเป็นระยะเวลา
30 ปี โดย ABCN เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ 80% สำหรับดาวเทียมดวงที่สองนั้น มีกำหนดการจะยิ่งขึ้นในปี
1999
"ดาวเทียมที่ใช้ได้ชื่อว่าเป็นหนึ่งในดาวเทียมก้าวหน้าที่สุดและมีสมรรถนะสูงสุดของโลก"
ปีเตอร์ นิวแมน ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดของ เทเลแซทแห่งแคนาดา ซึ่งเป็นที่ปรึกษาโครงการของเอ็มกรุ๊ปอธิบาย
"ความเข้าใจของผมก็คือว่า ABCN มีบทบาทเหมือนบริษัทแม่ของ Asia Times" เดวิด
ปีเตอร์ รองกรรมการผู้จัดการซึ่งร่วมงานกับแมเนเจอร์ มีเดียกรุ๊ป มาแล้วหลายปีให้ข้อมูล
"โครงการดาวเทียมเป็นความปรารถนาของคุณสนธิ ที่ต้องการเป็น ผู้ให้บริการข้อมูลในระดับภูมิภาค"
โดยใช้เครือข่ายของผู้สื่อข่าวและฐานข้อมูลของหนังสือพิมพ์ เป็นตัวจักรสำคัญในการป้อนข้อมูลธุรกิจและเศรษฐกิจ
ทั่วเอเชีย
แต่ธุรกิจให้บริการข้อมูลดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งของโครงการทั้งหมดเท่านั้น
เพราะสนธิมีโครงการยักษ์ในการเข้าเป็นหุ้นส่วนกับเจ้าของสถานีโทรทัศน์ ทั้งหน้าใหม่และเจ้าเก่าด้วย
แนวคิดก็คือ เพื่อให้เอ็มกรุ๊ปสร้างหรือเชื่อมโยงกับสถานีโทรทัศน์ของแต่ละประเทศ
และร่วมมือกันดำเนินธุรกิจในรูปเครือข่ายขนาดยักษ์ครอบคลุมทั่วเอเชีย
แล้วสนธิจะระดมทุนสำหรับโครงการมหึมาเหล่านี้ได้อย่างไร? นักวิเคราะห์ผู้ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อ
2 ราย ชี้ว่า เขาทำเงินมหาศาลจากการเข้าไปปั่นหุ้นในตลาดหุ้น ซึ่งเป็นข้อกล่าวหาที่สนธิเคยระบุว่าเป็นหนึ่งใน
"ข่าวลือ" มากมายเกี่ยวกับตัวเขา
"เคยมีคนลือกันด้วยซ้ำไปว่า ผมได้เงินจากการเข้าไปพัวพันกับ ยาเสพย์ติด"
สนธิเย้ยหยัน "เป็นความคิดที่น่าหัวเราะเยาะจริงๆ แต่ผมไม่ถือสาหรอก เพราะมันเป็นรูปแบบความคิดของคนที่นี่"
เขายังเล่ากับ Asiaweek ว่า เขาใช้เงินส่วนตัวจัดไฟแนนซ์ให้ Asia Times
"มันเป็นเงินส่วนตัวของผม ผมมีความสุขกับการใช้เงินและสนับสนุนในสิ่งที่ผมเชื่อมั่น"
แต่เอ็มกรุ๊ปก็เหมือนธุรกิจรายอื่นๆ ของไทยที่ไม่สามารถให้ความกระจ่างเรื่องฐานะการเงินได้
นักวิเคราะห์พากันระบุว่ากิจการของสนธิมีโครงสร้างแบบให้บริษัทหนึ่งเข้าค้ำอีกบริษัทหนึ่งเป็นทอดๆ
และยากที่จะบอกว่าตอนนี้ได้เกิดอะไรขึ้นบ้างแล้ว นักวิเคราะห์รายหนึ่งถึงกับบอกว่า
เขาไม่แนะนำหุ้นของแมเนเจอร์ มีเดีย กรุ๊ป เลย แม้ว่าจะมีราคาต่ำมาโดยตลอดก็ตาม
อย่างไรก็ตาม สนธิยังสามารถดึงดูดนักลงทุนอยู่ดี ด้วยการเข้าไปสู่ภาคธุรกิจที่มีศักยภาพในระบบเศรษฐกิจของไทย
แต่ในสายตาของนักวิเคราะห์การเงินและผู้สังเกตการณ์อื่นๆ กลับมองว่า เขามีสไตล์การเริ่มต้นโครงการต่างๆ
ด้วยการทำให้ระเบิดตูมขึ้นมา ซึ่งเป็นวิธีที่สามารถดูดเงินลงทุน อย่างมหาศาล
รวมทั้งได้รับความสนใจอย่างมากด้วย แต่หลังจากเสียงตูมตามเงียบหายไป ก็เห็นได้ชัดว่าการบริหารงานประจำวันมีจุดอ่อน
ซึ่งตัวสนธิเองก็ยอมรับในจุดนี้ว่า
"เมื่อให้ผมออกไปตีบ้านตีเมือง ผมเชื่อมั่นว่าทำได้แน่นอน แต่เมื่อยึดมาได้แล้ว
ผมไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรกับมัน ผมต้องเดินหน้าไปเรื่อยๆ"
แม้ว่าสิ่งพิมพ์หลายฉบับของสนธิจะอยู่ตัว และมีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับ แต่ตัวเขาเองกลับกลายเป็นคนลึกลับในไทย
และในเอเชียก็ไม่เป็นที่รู้จักเลย ด้วยซ้ำ
อดีตนักหนังสือพิมพ์ผู้นี้ยังห้อมล้อมตัวเองด้วยคนที่มีความสามารถสูง ซึ่งสามารถเป็นมือไม้ให้เขาได้ทันทีที่ต้องการ
จะเห็นได้ว่ามีหลายคนทีเดียวที่มีประวัติชีวิตข้องเกี่ยวกับช่วงทศวรรษ 1960
และ 1970 ซึ่งเป็นยุคที่มีการปะทะทางความคิดอย่างรุนแรง และนักศึกษาลุกฮือขึ้นออกเดินขบวนประท้วงไปตามถนน
สนธิถือกำเนิดในกรุงเทพฯ ในครอบครัวชาวจีนโพ้นทะเล เขาลิ้มรสการทำกิจกรรมการเมืองของนักศึกษาเป็นครั้งแรกที่
UCLA ซึ่งเขาศึกษาวิชาประวัติศาสตร์
"เมื่อผมเข้าเรียนต่อที่แคลิฟอร์เนีย ผมฝันอยู่เสมอว่า ผมต้องกลับมาและออกหนังสือพิมพ์ระดับภูมิภาคให้ได้"
สนธิเล่าความใฝ่ฝัน เมื่อได้เข้าร่วมกิจกรรมแล้ว เขาเป็นผู้สื่อข่าวประจำหนังสือพิมพ์ของนักศึกษาคือ
The Daily Bruin ระหว่างปี 1966-1969 ซึ่งเป็นยุคที่กระแสต่อต้านสหรัฐอเมริกา
กรณีเข้าแทรกแซงในสงครามเวียดนามกำลังทวีความรุนแรงขึ้นทุกขณะ
เมื่อเดินทางกลับถึงไทย สนธิพบว่ากระแสต่อต้านในรั้วมหาวิทยาลัยต่างๆของอเมริกา
ได้แผ่อิทธิพลมาถึงการทำกิจกรรมทางการเมืองของนักศึกษาไทยด้วยเขาทำงานเป็นผู้สื่อข่าวและบรรณาธิการบริหารของหนังสือพิมพ์
"ประชาธิปไตย" ระหว่างปี 1973-1974 ทำให้ได้รู้จักกลุ่มคน ซึ่งเข้าร่วมงานในธุรกิจสื่อของเขาในเวลาต่อมา
เพื่อนคนหนึ่งเล่าว่า สนธิเป็นคนมีหัวทางการเมืองโดดเด่นมาก เขาเขียนบทความที่พูดถึงพัฒนาการทางการเมืองได้อย่างลึกซึ้ง
จนนำไปสู่เหตุการณ์นองเลือดวันที่ 14 ตุลาคม 1973 ที่โค่นล้มรัฐบาลลงได้
พันศักดิ์เล่าว่า ช่วงเวลานั้นถือเป็นบทเรียนอันล้ำค่าเลยทีเดียว
"ผมกับสนธิไม่ได้มาจากวงการธนาคาร เรามีภูมิหลังของการเป็นสื่อมวลชนในเอเชีย
ช่วงทศวรรษ 1960 และ1970 ซึ่งเป็นยุคของการแตกแยกทางความคิดรุนแรงมาก เราผ่านช่วงเวลาหน้าสิ่วหน้าขวานนี้มา
ทั้งในฐานะนักหนังสือพิมพ์และผู้ประกอบธุรกิจสำนักพิมพ์ เราจึงไม่เหมือนคนอื่นในแง่พยายามลงมือทำก่อน
จึงต้องประสบความล้มเหลว"
เหตุการณ์ช่วงหนึ่งที่ส่งอิทธิพลต่อชีวิตของสนธิอย่างเต็มที่ เริ่มขึ้นในปี
1976 เมื่อเขาก่อตั้งกิจการแอ็ดวานซ์ มีเดีย กรุ๊ป ร่วมกับพร สิทธิอำนวย
หรือที่รู้จักกันสั้นๆ ว่าพีเอสเอ นักลงทุนในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยมีสื่อ
สิ่งพิมพ์ 4 ฉบับอยู่ในมือ ซึ่งรวมทั้งหนังสือพิมพ์รายวันฉบับภาษาอังกฤษ
Business Times ที่มีอายุวางแผงสั้นๆ โดยสนธิเป็นบรรณาธิการ
แม้ว่าหนังสือพิมพ์ฉบับนี้จะมีอะไรหลายๆ อย่างคล้ายกับที่เขากำลังทำอยู่ในปัจจุบันมากก็ตาม
แต่ไม่มีการกล่าวถึงในประวัติชีวิตของสนธิแต่อย่างใด โครงการนี้ล้มหลังจากพีเอสเอพัวพันกับคดีฉาวโฉ่ในธุรกิจอสังหาริมทรัพย์
พรล้มละลายและเดินทางออกนอกประเทศ ส่วนสนธิยังต่อสู้ต่อไปเพียงลำพัง ปี 1979
เขาก่อตั้งกิจการของตัวเองขึ้นมาคือ สำนักพิมพ์การเวก ซึ่งเป็นเจ้าของนิตยสาร
"ผู้หญิง" ระหว่างปี 1980-1982
ปี 1982 ถือเป็นก้าวย่างสำคัญ เมื่อสนธิก่อตั้งธุรกิจนิตยสารรายเดือน "ผู้จัดการ"
โดยใช้ห้องห้องหนึ่งในบ้านพ่อของเขาเป็นกองบัญชาการ
"เขาทำงานคนเดียว 90% ของเนื้อหางานทั้งหมดที่มีทั้งเขียน เลย์เอาท์ และขายโฆษณา
ไม่นานนักหนังสือเล่มนี้สามารถทำยอดขายได้ถึงเดือนละ กว่า 1 ล้านบาท" เพื่อนคนหนึ่งเล่า
เจ้าของสำนักพิมพ์หนุ่มผู้นี้เติบโตขึ้นตามกระแสเศรษฐกิจของไทยที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว
จนกระทั่งอีก 4 ปีหลังจากนั้น เขาเริ่มทำหนังสือพิมพ์รายสัปดาห์อีกฉบับหนึ่ง
โดยใช้ชื่อเดียวกันคือ "ผู้จัดการ"
ปี 1988 สนธิตั้งบริษัท ผู้จัดการ และออกนิตยสารรายเดือนฉบับภาษาอังกฤษ
MANAGER ในอีก 1 ปีต่อมาเขาออกหนังสือพิมพ์ผู้จัดการรายวันในปี 1990 และในปีเดียวกันนี้เอง
เขานำบริษัท ผู้จัดการ เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และนำเงินที่ระดมเข้ามาได้ขยายกิจการ
ด้วย การตั้งบริษัท โรงพิมพ์ตะวันออก ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงพิมพ์พาณิชย์ใหญ่ที่สุดของประเทศ
ตามด้วยบริษัท MIS และบริษัท Direct Marketing Services จากนั้นจึงเข้าซื้อกิจการบริษัท
International Engineering Company (IEC) จนกระทั่งปี 1992 สนธิจึงก่อตั้ง
เอ็มกรุ๊ป รวมเอาบริษัททั้งหมดมาอยู่ใต้ร่มเงาเดียวกัน
ความทะเยอทะยานของสนธิที่ต้องการความสำเร็จทั้งในระดับภูมิภาคและระหว่างประเทศนั้น
เห็นได้จากการที่เขาออกนิตยสาร Asia, Inc. ความล้มเหลวจากการพยายามเข้าซื้อสำนักข่าวต่างประเทศ
ยูพีไอ และการเข้าซื้อนิตยสาร Buzz ที่กำลังซวดเซในแคลิฟอร์เนีย ทั้งๆ ที่
Buzz ยังประสบภาวะขาดทุน เขาก็ยังทำโครงการร่วมทุนออกนิตยสาร Buzz ฉบับภาษาจีนในกวางโจว
ภายใต้ชื่อ 7 Days
ปัจจุบันว่ากันว่า สนธิถือหุ้นในเอ็มกรุ๊ป 70% คิดเป็นมูลค่า 193 ล้านดอลลาร์
มูลค่าสินทรัพย์รวม 438 ล้านดอลลาร์ และมีกำไรสุทธิ 4 ล้านดอลลาร์ในปี 1994
"สนธิไม่ใช่เจ้าของสื่อรายใหญ่ที่สุดในไทย ถ้าคุณเปรียบเทียบเขากับยอดขายมหึมาที่ไทยรัฐทำได้"
ยูสเซฟ เอล-คูรี อับบูด นักวิเคราะห์ของวอลล์สตรีท ไฟแนนซ์ แอนด์ ซีเคียวริตี้
ในกรุงเทพฯ ให้ความเห็น "แต่สิ่งพิมพ์ของเขา และการที่เขายังยืนหยัดอยู่ได้นี่แหละ
ที่มีผลกระทบอย่างใหญ่หลวงในเวลาต่อมา" ชัยสิริ สมุทวณิช ผู้รับผิดชอบสถาบัน
MIIJ รู้จักสนธิครั้งแรกในช่วงทศวรรษ 1970 ให้สัมภาษณ์ขณะขับรถไปตามถนนที่เต็มไปด้วยโคลน
มุ่งหน้าสู่สระบุรี เพื่อพาไปดูที่ตั้งจานดาวเทียมและสถาบันที่เขากำลังก่อตั้งขึ้น
และเป็นหนึ่งในโครงการมากมายของเอ็มกรุ๊ป ที่จะช่วยเชื่อมอาณาจักรของ สนธิเข้ากับโลกว่า
"คนอย่างสนธินี่แหละมีบทบาทและอิทธิพลสำคัญต่อเทคโนโลยีการสื่อสารของประเทศไทย"
เพื่อทำความกระจ่างให้กับโครงการมากมายของสนธิ ชัยสิริชี้ไปที่ทิวเขารอบตัวแล้วกล่าวว่า
"คุณจะเห็นว่าถนนพวกนี้มีสภาพดีขึ้นเรื่อยๆ ยังมีถนนอีกมากมายที่มุ่งหน้าไปลาว
เขมร และพม่า เพื่อว่าในท้ายที่สุดแล้ว ไทยจะกลายเป็นศูนย์กลางสำคัญนั่นเอง"
เขายังอธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อประเทศเหล่านี้เปิดประตู การสื่อสารรูปแบบอื่นๆ
ย่อมมีบทบาทมากขึ้นด้วย จะมีคนดูอีกหลายล้านครัวเรือน ที่สามารถดูรายการโทรทัศน์
โดยรับสัญญาณที่ยิงตรงจากดาวเทียมลงมา และในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ถ้าฝันของเขาเป็นจริงขึ้นมา
จะมีคนดูจำนวนมหาศาล ที่ได้ดูรายการโทรทัศน์จากสถานีที่สนธิ ลิ้มทองกุล เป็นเจ้าของ
หมายเหตุ จากเรื่อง "Sondhi 's Times" ในนิตยสาร Asiaweek ฉบับวันที่ 12
สิงหาคม 1995 เขียนโดย Julian Gearing แปลและเรียบเรียงโดย ดรุณี ลิ่ว