Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page








 
บทความจาก ต้องแพ้เสียก่อนจึงจะชนะได้. หนังสือเล่มโครงการ Manager Classic พฤศจิกายน 2544
ปัญหาของนักบุกเบิก             
 


   
search resources

แอ็ดวานซ์มีเดีย
สุจิตต์ วงษ์เทศ




เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ไม่น่าจะต้องมาเกี่ยวพันกับผมหรือกับทางแอ็ดวานซ์มีเดียเลย แต่ผลกระทบของมันทำให้การทำงานของผมต้องยากลำบากมากกว่าเก่า

เมื่อตอนที่ผมออกจากหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ในธันวาคม 2518 นั้น ณรงค์ เกตุทัต ได้เอา ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา เข้ามาแทนเพื่อเปลี่ยนนโยบายหนังสือ และจะด้วยเหตุใดก็ไม่ทราบได้มีการนัดหยุดงานกันทั้งโรงพิมพ์ ตั้งแต่ฝ่ายขาย กองบรรณาธิการ ไปจนถึงช่างเรียง จนในที่สุดก็มีการไล่พนักงานออกร้อยกว่าคน และก็ได้มีการต่อสู้กันอย่างยืดเยื้อในศาลเป็นเวลาหลายปี จนสุดท้ายฝ่ายนายจ้างต้องจ่ายเงินค่าชดเชยให้เป็นเงินทั้งหมดล้านกว่าบาท

หลังจากนั้นอีกไม่นานพอเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 เกิดขึ้น หนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยก็ถูกทางการสั่งปิด ถึงแม้ว่าใน 4-5 เดือนก่อนถูกปิด แนวนโยบายหนังสือพิมพ์จะย้อนกลับไปสู่อนุรักษนิยมกึ่งๆ ขวาจัดก็ตาม หนังสือพิมพ์อีกฉบับคือประชาชาติ (ปัจจุบันคือมติชน) ก็ถูกปิดเช่นกัน

ข้อแตกต่างระหว่างการถูกปิดของประชาชาติและประชาธิปไตยในสายตาของผู้อ่านแล้ว ประชาชาติถูกปิดอย่างมีศักดิ์ศรีมากกว่า เพราะประชาชาติได้ยึดมั่นในหลักการของความเป็นธรรมตั้งแต่วันแรกที่ออกตีพิมพ์จนถึงวันสุดท้ายที่ถูกสั่งปิด บรรดาผู้ที่ทำประชาชาติยุคนั้นต่อสู้เพื่อความเป็นธรรมจนลมหายใจเฮือกสุดท้าย

ส่วนประชาธิปไตยนั้นเปลี่ยนสีเปลี่ยนจุดยืนเพียงเพื่อหวังจะเอาตัวรอดในวินาทีสุดท้ายแต่ก็ไม่สามารถจะรอดพ้นชะตากรรมได้ ทั้งนี้ไม่ใช่เพราะประชาธิปไตยมีลักษณะซ้ายแต่อาจจะเป็นเพราะสมัยนั้น สมัคร สุนทรเวช เป็นรัฐมนตรีมหาดไทย และประชาธิปไตยเป็นหนังสือพิมพ์ของ สนั่น เกตุทัต พ่อตาของดำรง ลัทธพิพัฒน์ คู่ต่อสู้ทางการเมืองของสมัคร สุนทรเวช แต่นี่ก็อาจจะไม่ใช่เหตุผลที่แท้จริงก็ได้ จะอย่างไรก็ตาม เมื่อทุกคนที่เคยอ่านหนังสือพิมพ์ทั้งสองฉบับมาพูดย้อนหลังถึงเหตุการณ์ในอดีตแล้ว จะมีแต่ประชาชาติเท่านั้นที่ยังอยู่ในความทรงจำในช่วงตอน 6 ตุลาคม 2519

ในยุคนั้น ซึ่งหลายคนเรียกมันว่ายุคมืดหรือยุคที่ท้อแท้หรือยุคทมิฬ สุดแล้วแต่ใครจะได้รับความเจ็บปวดกับมันมากเพียงใด

6 ตุลาคม 2519 ก็เป็นบทพิสูจน์จุดยืนของนักหนังสือพิมพ์ประเภท คอลัมนิสต์หลายคน ซึ่งถ้าจะลำเลิกกันแล้ว ก็พอจะเห็นสัจธรรมบางสิ่งบางอย่างกันได้ว่า "กาลเวลาทำให้คนเราฉลาดขึ้น " ในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 นั้นถ้าลองวิเคราะห์หนังสือพิมพ์กันให้ดีๆ แล้ว เราจะเห็นว่าหนังสือพิมพ์ เช่น ประชาชาติ ประชาธิปไตย เป็นเสียงใหม่ของคนหนุ่มที่เรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงในสังคมซึ่งอย่างที่ผมเคยเขียนไปเมื่อตอนแรกๆ ว่า เสียงที่เรียกร้องนั้นเป็นเสียงที่ถูกปิดเงียบมานาน พอถูกเปิดด้วยความที่สังคมไม่เคยชินกับการเรียกร้องมาก่อน พอเจอเข้าก็ตกใจหาว่ารุนแรง ประกอบกับการต่อสู้ของฝ่ายขวาจัดที่ใส่ไคล้ว่าเป็นแนวทางของมาร์กกับเลนินก็เลยกลายเป็นหนังสือพิมพ์ซ้ายไปเลย เมื่อเวลาผ่านไปสักพักหนึ่ง พอมาถึงปัจจุบันสิ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นการกระทำของคอมมิวนิสต์เมื่อก่อน 6 ตุลาคม 2519 กลับเป็นสิ่งที่ทุกคนเรียกร้อง เช่น การสังคายนากรมตำรวจ การปฏิรูปข้าราชการพลเรือน การเรียกร้องค่าแรงของคนงานให้ดีขึ้น แม้แต่นโยบาย 61/2523 ความจริงแล้วมันก็คือสิ่งที่ปัญญาชนและพวกหัวก้าวหน้าทั้งหลาย ที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ ได้เรียกร้องเมื่อ 10 ปีที่แล้ว แม้แต่การพาดหัวของไทยรัฐทุกวันนี้ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมของตำรวจถ้าไปพาดหัวเช่นนั้นในช่วงก่อน 6 ตุลาคม 2519 รับรองได้ว่าต้องถูกเพ่งเล็งว่าเป็นแนวร่วมคอมมิวนิสต์ที่ต้องการจะทำลายสถาบัน บางครั้งผมได้มีโอกาสนั่งคุยกับบรรดาคนที่เคยร่วมทำหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย และประชาชาติเมื่อเร็วๆ นี้ เราจะเห็นพ้องกันว่าความคิดพวกเราเร็วกว่าหนังสือพิมพ์ฉบับอื่น เพียงแค่ 10 ปีเท่านั้น เพราะพวก คอลัมนิสต์ทั้งหลายเมื่อ 10 ปีที่แล้ว ที่โจมตีเราว่าเป็นพวกซ้ายจัด ทุกวันนี้สิ่งที่พวกนี้เขียน คือสิ่งที่เราได้เรียกร้องกันมาเมื่อ 10 ปีที่แล้ว หรือเป็นสิ่งที่ อิศรา อมันตกุล ได้เขียนมาเมื่อ 20 กว่าปีที่แล้ว หรือเป็นสิ่งที่สุวัฒน์ วรดิลก ต้องติดคุกติดตะรางมาเมื่อเกือบ 20 ปีที่แล้ว แต่อย่างน้อยผมก็ดีใจที่เพื่อนในวงการถึงแม้จะมองอะไรไม่เห็นเมื่อสัก 10 ปีที่แล้ว แต่ก็เริ่มเห็นแสงสว่างกันขึ้นมาบ้าง

6 ตุลาคม 2519 ทำให้คนที่มีความคิดก้าวหน้าถูกปิดกั้นทางปัญญาทันที บรรยากาศของสังคมอยู่ในภาวะที่หดหู่ เป็นครั้งแรกในสังคมที่แบ่งออกให้เห็นเป็น 2 ฝ่าย อย่างชัดเจนโดยไม่มีเหตุผล ในสมัยนั้นถ้าใครไม่เห็นด้วยกับคุณธานินทร์ กรัยวิเชียร คนนั้นก็ต้องเป็นคอมมิวนิสต์ไปโดยปริยาย คนที่เคยทำงานและมีความคิดก้าวหน้าแทบจะหมดสิ้นอนาคตไป คนที่อยู่ในวงการสื่อมวลชนที่มีหัวคิดก้าวหน้าต้องตกงานกันเป็นแถว หลายคนต้องหนีไปต่างประเทศเพราะถูกคุกคาม

คนพวกนี้ถูกผลกระทบทางการเมืองรังแกอย่างไม่เป็นธรรม ทำให้ลูกเมียและครอบครัวต้องเดือดร้อน แต่นี่มันก็เป็นข้อเท็จจริงในชีวิตเหมือนกันที่ต้องยอมรับและกัดฟันสู้มันเข้าไป อย่าลืมว่าถ้าเรามองอีกมุมหนึ่งว่าในช่วงที่เลนินขึ้นมายึดอำนาจในรัสเซีย ก็มีคนจำนวนหนึ่งซึ่งเป็นคนดีแต่ไม่เห็นด้วยกับกลุ่มพระเจ้าซาร์นิโคลาสหรือกลุ่มเลนินก็ต้องพลอยรับกรรมไปด้วยเช่นกัน

บทเรียนทางประวัติศาสตร์ก็สอนให้ผมรู้ว่า ความเป็นกลางในโลกนี้คือจุดร่วมที่ฝ่ายซ้ายและขวามาสัมผัสพึ่งพิงชั่วคราว ตราบใดที่ยังไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งได้รับชัยชนะโดยเด็ดขาด

ในภาวการณ์แบบนั้นก็ต้องมีคนฉวยโอกาสเป็นธรรมดาอยู่แล้ว และการฉวยโอกาสก็ไม่มีอะไรเสียหาย จะผิดก็ตรงที่ว่าคนฉวยโอกาสไม่ควรจะตักตวงผลประโยชน์เข้าตัวเองโดยการใส่ร้ายผู้อื่น และในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 ได้มีผู้ฉวยโอกาสแบบนี้เยอะ

แม้แต่บุญชู โรจนเสถียร ก็ยังท้อแท้ใจ ผมจำได้ว่าบุญชูพูดว่า เขาไม่เห็นอนาคตของการเมืองไทยถ้ารัฐบาลชุดนี้ (ธานินทร์ กรัยวิเชียร) ยังอยู่ และในต้นปี 20 เขาก็กลับไปสู่ฐานเดิมคือธนาคารกรุงเทพ ในฐานะผู้จัดการใหญ่

การกลับเข้าไปธนาคารของบุญชูนั้นมาจากสาเหตุ 2 ประการ

ประการแรก บุญชูถูกเพ่งเล็งร่วมกับ ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ มากว่าเป็นตัวบ่อนทำลายรัฐบาล ธานินทร์ กรัยวิเชียร ถึงกับมีข่าวว่าทางรัฐบาลกำลังจับตาดูความเคลื่อนไหวทุกฝีก้าว บุญชูเองไม่ใช่นักต่อสู้ทางการเมืองประเภทเดินหน้าเข้าชน ก็เลยต้องหาทางทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอันเพื่อหลีกเลี่ยงข้อสงสัยจากรัฐบาล และวิธีการก็คงจะไม่ดีไปกว่าการเข้าไปทำงานธนาคารเหมือนเดิม และการเป็นผู้จัดการใหญ่ของธนาคารที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ แท้ที่จริงแล้วก็คือ นายกฯ ในภาคเอกชนนั่นเอง

ประการที่สอง บุญชู ก็ถูก ชิน โสภณพนิช ขอร้องให้กลับเข้าไปโดยเร็ว เพื่อไปช่วยจัดรูปแบบของการบริหาร และ เพื่อฝึกฝนให้ชาตรีขึ้นไปเป็นผู้จัดการใหญ่ใน 2-3 ปีข้างหน้า อีกประการหนึ่งในระยะนั้นความขัดแย้งระหว่าง ชาตรี กับ โชติ โสภณพนิช กำลังทำให้ชินต้องปวดศีรษะเป็นอย่างมาก และบุญชูแต่ผู้เดียวที่เป็นคนนอกครอบครัวที่มีบารมีมากพอจะทำให้การประนีประนอมหย่าศึกของทั้งสองได้ แอ็ดวานซ์มีเดียในช่วงหลัง 6 ตุลาคม 2519 ก็เป็นสำนักพิมพ์ที่มุ่งมั่นจะสร้างผลงานและต้องการจะเปิดแนวใหม่ในด้านธุรกิจสื่อสาร และจากการที่บุญชูกลับเข้าไปสู่ธนาคารอีกครั้งก็ทำให้พร สิทธิอำนวย มีเวลาให้บริษัทในเครือมากขึ้น เพราะก่อนหน้านั้นพรต้องไปช่วยบุญชูในด้านนโยบายอย่างมาก และปล่อยให้สุธี นพคุณ ดูแลพีเอสเอเสียส่วนใหญ่

จากการที่นักเขียนและนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกแรงกดดันของ 6 ตุลาคม 2519 ทำให้ต้องตกงานเป็นแถว ก็เลยเป็นผลให้ผมมีโอกาสได้เลือกคนที่มีฝีมือให้เข้ามาร่วมงานได้มากกว่าธรรมดา ในด้านพ็อกเก็ตบุ๊คนั้น สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้เข้ามาบริหารและสามารถพูดได้ว่า ผลงานของพ็อกเก็ตบุ๊คที่มีชื่อเสียงของแอ็ดวานซ์มีเดียในสมัยนั้นเป็นผลผลิตจากมันสมองของสุจิตต์ วงษ์เทศ ทั้งสิ้น สุจิตต์เป็นคนแรกที่เริ่มระบบค่าเรื่องของนักเขียนโดยคำนวณรายได้จาก 10% ของราคาปกหนังสือคูณด้วยจำนวนพิมพ์ และทันทีที่หนังสือออกวางตลาดนักเขียนก็จะได้เงินค่าเรื่องทันที นโยบายนี้ทำให้วงการสำนักพิมพ์ปั่นป่วนไปหมด เพราะฉีกออกจากแนวเดิมที่นักเขียนมักจะต้องเป็นฝ่ายยอมเจ้าของสำนักพิมพ์ตลอดในเรื่องของค่าเรื่องโดยไม่มีมาตรฐานใดๆ เป็นเครื่องวัด ในปัจจุบันมาตรฐานที่สุจิตต์ได้ตั้งไว้ก็เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปในวงการ

แต่ผลร้ายของการทำเช่นนั้นก็มีเพราะการที่เราไปเดินทวนกระแสน้ำที่ชาวบ้านเขากระทำกันเป็นประจำ และจากการที่เราเป็นแอ็ดวานซ์มีเดียซึ่งมีพีเอสเอหนุนอยู่ ทำให้วงการเกิดความกลัว หมั่นไส้ และรวมหัวกันทำลายเราทุกวิถีทาง

นี่ก็คือบทเรียนของการทำงานอีกบทหนึ่งที่ว่าถ้าเราจะทำอะไรที่ขัดธรรมเนียมการปฏิบัติของชาวบ้านเขาละก้อ ทำเงียบๆ ดีกว่า

การทำอะไรให้ดังจะเป็นเป้านิ่งให้เห็นและมีโอกาสถูกทำลายได้ง่าย

ผมจำได้ว่าวันหนึ่งในขณะนั้นผมได้ไปรับประทานอาหารกับแขกในภัตตาคารจีนแห่งหนึ่ง ซึ่งข้างๆ ห้องที่ผมทานมีการเลี้ยงโต๊ะแชร์ของบรรดาเจ้าของสำนักพิมพ์และโรงพิมพ์ทั้งหลายซึ่งคุยกันเสียงลั่นห้อง และเรื่องที่คุยกันคือเรื่องบิดามารดาของผมซึ่งทั้งหมดบนโต๊ะแชร์ไม่รู้จักท่านหรอก และก็ไม่รู้จักผม แต่พากันก่นโคตรเหง้าผมอย่างมันปาก เพียงเพราะว่าเสี่ยเจ้าของสำนักพิมพ์คนหนึ่งโพล่งว่า "ไอ้เ-ี้ยสนธิ โคตร...มันทำให้ราคานักเขียนในท้องตลาดเสียหมด เดี๋ยวนี้นักเขียนมันไม่ยอมเราง่ายๆ เหมือนก่อน " แขกร่วมโต๊ะผมมองหน้าผมอย่างอึดอัดใจเพราะได้ยินร่วมกันกับผม ผมก็ได้แต่ยักไหล่และก็ต้องใช้ขันติเข้าช่วย

นโยบายของสุจิตต์ วงษ์เทศ ในเรื่องพ็อกเก็ตบุ๊คได้ผลมาก เพราะทุกวันจะมีแต่นักเขียนเดินเข้ามาเสนอเรื่องให้เลือก ทำให้แอ็ดวานซ์มีเดียสามารถจะเลือกเรื่องได้ก่อนคนอื่น และเรื่องในสต็อกเรามีสูงถึง 100 เรื่อง คิดเป็นค่า inventory ประมาณ 300,000 บาทได้ เพราะเราจ่ายให้ส่วนหนึ่งก่อนทันทีที่รับเรื่องไว้ ในการจัดเรื่องออกสู่ตลาดนั้นเรามีความเห็นพ้องกันว่า ในเมื่อเราต้องการจะอยู่ในตลาดอย่างถาวรและเราเองก็พอจะมีทุนรอน ดังนั้นเราน่าจะเริ่มสำนักพิมพ์พ็อกเก็ตบุ๊คด้วยเรื่องที่มันมีคุณค่าแล้วค่อยสลับเรื่องทางการบันเทิงและเรื่องแปลไปตามแต่ละโอกาส

ผมจำได้ว่าเล่มแรกที่เราออกไปคือ หนังสือศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงซึ่งหอสมุดแห่งชาติต้องการจะพิมพ์นานแล้ว แต่ไม่มีใครกล้าพิมพ์เพราะจำนวนขายน้อยมากต้องขาดทุนเป็นเงินก้อน หนังสือเล่มนี้ถึงเราจะขาดทุน แต่ในแง่ภาพพจน์กลับเป็นตัวเชิดชูสำนักพิมพ์เพราะเป็นหนังสือที่มีคุณค่ามหาศาลและทุกวันนี้ก็ไม่มีอีกแล้ว

หลังจากนั้นแอ็ดวานซ์มีเดียก็เริ่มบุกหนักทางด้านพ็อกเก็ตบุ๊คทันที โดยออกเฉลี่ยเดือนละ 4 เล่ม สุจิตต์เป็นคนแรกที่จัดระบบการลงหลักฐานในหนังสือที่เป็นระบบบอกว่าพิมพ์ครั้งที่เท่าไร? จำนวนเท่าไร? เรื่องเป็นประเภทใด? และหมายเลขหอสมุดเลขใด รวมทั้งการออกแบบปกที่ทันสมัยและการทาสีเหลืองที่ข้างๆ หนังสือให้เด่น

พูดง่ายๆ ว่าปี 2520 เป็นปีที่วงการหนังสือพ็อกเก็ตบุ๊คได้วิวัฒนาการใหม่หมด และเป็นจุดเริ่มต้นที่นำมาสู่รูปแบบของพ็อกเก็ตบุ๊คในปัจจุบันโดยคนที่ชื่อ สุจิตต์ วงษ์เทศ เป็นผู้ริเริ่ม

ผมจำได้ว่าพอเราเริ่มประกาศนโยบายพ็อกเก็ตบุ๊คออกไปก็เป็นที่ตื่นเต้นของนักเขียนมาก โดยเฉพาะบรรดาครูบาอาจารย์ที่อยากจะเสนอความรู้ออกไป แต่ไม่มีใครรับพิมพ์เพราะยอดจำหน่ายหนังสือพวกนี้จะต่ำและไม่คุ้มค่าการลงทุนในระยะสั้นเพราะหนังสือพวกนี้ต้องใช้เวลาขายสัก 3 ปี ถึงจะขายได้สัก 3,000-5,000 เล่ม ซึ่งเป็นยอดพิมพ์ที่อยู่ในระดับคุ้มทุน

แต่เราคิดว่าหนังสือพวกนี้มีคุณค่าเพราะเป็นการอุทิศความรู้ให้กับสังคมและเป็นการส่งเสริมให้บรรดาครูบาอาจารย์เขียนตำรากันมากขึ้น ถึงแม้จะใช้เวลาขายนานสักหน่อย แต่เมื่อเทียบกับดอกเบี้ยที่ต้องแบกแล้วก็ยังพอมีกำไรบ้าง จะเสียก็ในแง่บัญชีซึ่งสินค้าคงเหลือถ้าเกิน 1 ปีแล้วจะมีปัญหาในการลงบัญชี ฉะนั้นในงบดุลเราจะเห็นว่าแผนกพ็อกเก็ตบุ๊คตัดมูลค่าสินค้าคงเหลือลงไปกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วไม่ใช่เช่นนั้น

และในปี 2520 แอ็ดวานซ์มีเดียก็ได้สร้างประวัติศาสตร์พ็อกเก็ตบุ๊ค ขึ้นมาด้วยผลงานของ "พงษ์พินิจ " หรือ "พินิจ พงษ์สวัสดิ์ " ชื่อเรื่อง "สิ้นชาติ "

การพิมพ์ "สิ้นชาติ " เป็นตัวอย่างในการตัดสินใจทางธุรกิจที่พิสูจน์ให้เห็นชัดได้ว่าการเสี่ยงในธุรกิจถ้าอัตราการเสี่ยงสูงกำไรก็ย่อมสูงเป็นเงาตามตัว

สุจิตต์ วงษ์เทศ เข้ามาหารือกับผมวันหนึ่งว่า พินิจ พงษ์สวัสดิ์ มีเรื่องแปลเรื่องหนึ่งคือ บันทึกของเหงียนเกากี ซึ่งเขาตั้งชื่อว่า "สิ้นชาติ "

หนังสือเล่มนี้ พินิจ พงษ์สวัสดิ์ เคยเสนอขายให้ ก.สัมพันธ์ เพื่อเอาไปพิมพ์ แต่ก.สัมพันธ์ไม่กล้าเพราะกลัวสภาพทางการเมืองของยุคธานินทร์ กรัยวิเชียร ก็เลยเอามาเสนอทางแอ็ดวานซ์มีเดีย ผมกับสุจิตต์ต้องคิดหนัก เพราะสภาพของแอ็ดวานซ์มีเดียเองก็ถูกทางการเพ่งเล็งว่ารับนักหนังสือพิมพ์ที่ถูกทางการปิดไว้เยอะ จนมีข่าวลือในวงการว่าเป็นแหล่งซ่องสุมฝ่ายซ้าย

แต่หนังสือเล่มนี้เย้ายวนมากเพราะเนื้อหามันเหมาะกับเหตุการณ์ในเมืองไทยขณะนั้นเป็นอย่างมาก เพราะเนื้อหาบรรยากาศเป็นเรื่องของเหงียนวันเทียว ได้พยายามทำลายฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับเขาทุกวิถีทาง โดยกล่าวหาคนที่รักชาติแต่ไม่เห็นด้วยกับวิธีการของเขาว่าเป็นคอมมิวนิสต์ จนกระทั่งในที่สุดเหงียนวันเทียวถูกอำนาจครอบงำ และฝ่ายคอมมิวนิสต์ เวียดกงได้รับแนวร่วมจากฝ่ายปัญญาชนและฝ่ายหัวก้าวหน้าอย่างมหาศาลจนสามารถขับไล่เหงียนวันเทียวให้ไปอยู่ไต้หวัน และ ยาตราทัพเข้ายึดกรุงไซ่ง่อนได้ในที่สุด มันช่างเหมือนเหตุการณ์ในเมืองไทยเสียจริงๆ ในขณะนั้น เพราะพิษสงของรัฐบาลชุดนั้นเริ่มทำให้คนที่เคยเป็นแนวร่วมของรัฐบาลเมื่อ 6 ตุลาคม 2519 มีหลายฝ่ายที่เริ่มหันมามองตัวเองแล้วครุ่นคิดว่าตัวเองหนุนคนผิดหรือเปล่า

ความเสี่ยงของผมก็มีอยู่ว่าถ้าใครคนหนึ่งในรัฐบาลเกิดลมเสียกับหนังสือเล่มนี้แล้วหาเรื่องปิดบริษัทอะไรจะเกิดขึ้น?

ผมต้องปรึกษาสำนักงานทนายความที่ปรึกษาของบริษัท และสรุปออกมาว่าหนังสือเล่มนี้เป็นพ็อกเก็ตบุ๊ค ถ้ามีปัญหาหนังสือเล่มนี้ก็จะถูกยึด ผู้แปลจะถูกเล่นงานพร้อมผู้จัดพิมพ์ซึ่งจะมีเจ้าของโรงพิมพ์และผมในฐานะกรรมการผู้จัดการ ส่วนบริษัทนั้นเป็นนิติบุคคลก็ไม่มีปัญหาอะไร

ผมถามพินิจว่าเขาต้องโดนด้วยนะถ้ามีปัญหา เขาจะว่าอย่างไร?

พินิจบอกว่าเขาไม่กลัว!

ก็ในเมื่อพินิจ พงษ์สวัสดิ์ เป็นพนักงานธนาคารกรุงเทพ มีลูกมีเมียที่จะต้องรับผิดชอบยังไม่กลัว แล้วผมจะไปกลัวอะไร อีกประการหนึ่ง เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ก็ทำให้เราไม่มีอะไรจะต้องกลัวมากไปกว่านั้นอีกแล้ว

"สิ้นชาติ " ก็ออกสู่ตลาดในระยะเวลาอันสั้น

และพิมพ์ครั้งแรกก็หมดลงในเวลาไม่ถึง 7 วัน หนังสือพิมพ์ต่างๆ ซึ่งอัดอั้นตันใจมานานแล้วเพราะถูกห้ามไม่ให้พูดถึงรัฐบาลชุดนั้นในแง่เสียหาย ก็เริ่มบรรเลงกันใหญ่ตีวัวกระทบคราดโดยด่าเหงียนวันเทียว และยุให้ทุกคนอ่านสิ้นชาติจะได้รู้ว่าชาตินั้นสิ้นอย่างไร?

ยอดพิมพ์ทั้งหมด 80,000 ฉบับ

ทำลายสถิติพ็อกเก็ตบุ๊คทั้งหมดตั้งแต่ประเทศไทยเคยมีมา

เฉพาะค่าเรื่องอย่างเดียวที่พินิจได้รับตกประมาณ 200,000 บาท

และหนังสือสิ้นชาติก็เป็นแรงดลใจให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยมีการโค่นล้มรัฐบาลชุดธานินทร์ กรัยวิเชียร ในที่สุด เพราะ "สิ้นชาติ " อ่านกันในหมู่กลุ่มทหารกุมกำลังทั้งหมด และเป็นหัวข้อการสนทนากันในหมู่คนถือปืน

แอ็ดวานซ์มีเดียก็ได้ผลพลอยได้เหมือนกัน นั่นคือ กำไรจากสิ้นชาติประมาณเกือบ 1 ล้านบาท แต่ถ้ามองในแง่มุมกลับ ถ้าหนังสือเล่มนี้ถูกสั่งเก็บและผู้จัดพิมพ์ถูกเล่นงาน สถานภาพผมก็คงจะไม่ดีเท่าไรนักเพราะ...

ในช่วงนั้น สุธี นพคุณ เข้ามาบอกผมว่าบริษัทแอ็ดวานซ์มีเดียถูกทางการเพ่งเล็งมากว่าเป็นแหล่งซ่องสุมฝ่ายซ้าย และเขาอยากจะให้คนที่ผมรับเข้ามาช่วยงานออกไปเสีย คนเหล่านั้นก็มีเช่น สุจิตต์ วงษ์เทศ เธียรชัย ลาภานันต์ และอีกหลายคน

ผมก็ได้แต่รับฟังเพราะผมไม่เชื่อว่าจะเป็นเช่นนั้น จากอดีตที่ผมเคยเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตย ทำให้ผมเองก็มีแหล่งข่าวในสันติบาลและในกรมประมวลข่าวกลางเหมือนกัน ซึ่งผมตรวจสอบดูแล้ว กลับเป็นว่าทางการสงสัยว่าบุญชู ซึ่งมีลูกน้องชื่อพรตั้งบริษัทแอ็ดวานซ์มีเดียขึ้นมาเป็นแหล่งรับฝ่ายซ้ายเข้ามาทำงานเพื่อเตรียมตัวทำงานด้านข่าวสารที่จะล้มล้างรัฐบาลชุดธานินทร์ ผมเพิ่งจะมีความรู้สึกตอนนั้นเองว่าบ้านเรามีคนบ้ามากกว่าคนดี!

แต่ก็จะไปตำหนิเขาไม่ได้เพราะคนเราถ้าใหญ่ขึ้นมาด้วยการทำลายคนอื่นแล้ว ชั่วชีวิตก็จะอยู่ได้ด้วยความระแวงและความหวาดกลัวว่าคนอื่นจะจ้องทำลายตัวเองอยู่

มันเป็นกฎแห่งกรรมที่พิสูจน์มาตั้งแต่สมัยโบราณกาลนานแล้ว

ผมเอาเรื่องนี้ไปเล่าให้คุณบุญชูฟังที่ธนาคาร เพราะมันเป็นเรื่องที่พาดพิงไปถึงตัวเขา คุณบุญชูก็ไม่ได้พูดอะไรไปมากกว่าว่า "มันจะบ้ากันไปใหญ่แล้ว "

คุณบุญชูก็ยังแนะนำว่าพวกนั้น (พวกสุจิตต์ วงษ์เทศ) ไม่ได้ทำอะไรผิด ไม่มีความจำเป็นจะต้องให้ออก แต่ผมก็เกริ่นๆ เรื่องนี้ให้ทุกคนรู้ ปรากฏว่า สุจิตต์ วงษ์เทศ ก็ขอลาออกเพื่อให้ทางผมสบายใจ โดยขอไปรับงานที่บ้านเป็นเล่มแทนกินเงินเดือน ส่วน เธียรชัย ลาภานันต์ กับพวก ซึ่งขณะนั้นรับผิดชอบในด้านบทความ และสารคดีป้อนให้กับหนังสือทุกฉบับของแอ็ดวานซ์มีเดียก็ยกพวกออกไปรับจ้างแอ็ดวานซ์มีเดียทำงานโดยตั้งเป็นสำนักพิมพ์เทียนทองขึ้นมา

จากการที่สุจิตต์ วงษ์เทศ ได้ออกไปทำให้แผนงานทางด้านพ็อกเก็ตบุ๊คต้องชะงักไปบ้าง แต่ที่สำคัญที่สุดคือการขาดมันสมองในการกลั่นกรองเรื่องและการวางแผนในระยะสั้นและยาว ทั้งๆ ที่ขณะนั้นโครงการพ็อกเก็ตบุ๊คกำลังเริ่มไปได้ดี เราผลิตหนังสือดีๆ ออกไปมาก เช่น "โชกุน " แปลโดย ธนิต ธรรมสุคติ กวี "ชักม้าชมเมือง " โดย เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ "บันทึกรัก เพชรา เชาวราษฎร์ " โดย ศิลา ยิ่งสุขวัฒนา ซึ่งเป็น Autobiography เรื่องแรกของไทยที่ทำ และได้มีโครงการทำอีกหลายคนโดยศิลาเพียงแต่ว่าศิลาด่วนจากโลกไปเสียก่อน "ล่าตำรวจ " นิยายสมัยใหม่ โดย ชัชรินทร์ ไชยวัฒน์
หมายเหตุ จากนิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 7 เดือนกุมภาพันธ์ 2527

   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us