ผมออกจากหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยปลายเดือนธันวาคม
2518
ปีใหม่ปีนั้นเป็นปีที่ผมคิดหนักว่าชีวิตจะเดินไปทางไหนดี
พ่อแม่และทุกคนในครอบครัวคิดว่าผมน่าจะไปทำงานกับฝรั่งคงจะไปได้ดี
แต่ผมรู้ว่าทุกคนเป็นห่วงชีวิตผมกับงานหนังสือพิมพ์ เพราะในระหว่างที่ผมทำหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยนั้น
ชีวิตมันแขวนอยู่บนเส้นด้ายจริงๆ
เพราะยุคนั้นเป็นยุคมืดยุคหนึ่ง
อาจารย์บุญสนองถูกยิงตายขณะกำลังเลี้ยวรถเข้าบ้านแถววิภาวดี
มีการขว้างระเบิดขวดใส่ผู้ว่าฯ ธวัช มกรพงศ์ ที่บริเวณศาลากลางจังหวัดพังงาตายไปหลายคน
เทอดภูมิ ใจดี ถูกยิงเอาซึ่งๆ หน้าแต่ก็รอดได้แถวๆ วิสุทธิ์กษัตริย์
ผมเองก็เคยถูกมอเตอร์ไซค์ขี่ตามรถหลายครั้งแต่ก็ได้ระวังตัวตลอดเวลา พอผมลาออกมาได้ครอบครัวผมก็โมทนาสาธุ
แต่ก็ไม่มีใครรู้ว่าผมรัก การทำหนังสือเป็นชีวิตจิตใจตั้งแต่อยู่เมืองนอกแล้ว
ผมกลับไปหาทัสมัน สมิธ ที่ดีมาร์อีก
เขาส่งผมไปให้ผู้จัดการใหญ่ จอห์นสันแอนด์จอห์นสัน สัมภาษณ์เพื่อเป็น Product
Manager คงจะเป็นเพราะบุญผมไม่ถึงที่จะไปนั่งบริหารสินค้าเบบี้ออยล์กระมัง
พอผู้จัดการใหญ่บอกว่าเขาจะให้ผมทำสินค้าเบบี้ออยล์ ผมก็เลยบอกเขาว่าผมไม่เอา
เขาเองก็แปลกใจมากถึงกับถามว่าเงินเดือนที่ให้หนึ่งหมื่นสองพันบาทไม่พอใจหรือ?
ผมเตะฝุ่นอยู่ประมาณสองเดือน ก็พอดีคุณลุงอรุณ แสงสว่างวัฒนะ ซึ่งเป็นเพื่อนสนิททางคุณพ่อภรรยาผมบอกว่าถ้าผมต้องการคุณลุงจะให้นิตยสารยานยนต์มาทำ
ตอนนั้นคุณลุงให้ณรงค์ เกตุทัต ทำนิตยสารยานยนต์อยู่
ด้วยความไม่คิดหน้าคิดหลัง ผมรับปากว่าผมอยากทำ ก็ไปดึงเอานิตยสารยานยนต์จากคุณณรงค์มาทำต่อ
ซึ่งการตัดสินใจครั้งนั้นเป็นการไม่ควรอย่างยิ่งและผมเองก็เสียใจจนทุกวันนี้
ที่ไม่ควรเพราะผมไปแย่งณรงค์เขามา จริงอยู่ผมมีสิทธิเพราะคุณลุงอรุณเป็นเจ้าของหัวหนังสือและมีสิทธิจะให้ผมทำ
แต่ในความถูกต้องแล้วผมไม่ควรทำเช่นนั้นเพราะเท่ากับผมใช้สิทธิอันนี้ไปรังแกณรงค์เขา
ซึ่งต่อมาภายหลังอีกหลายปีผมก็ได้รับกรรมที่ผมเคยทำเช่นนี้มา
ในเวลานั้นต้องยอมรับว่าผมไม่มีพื้นฐานทางการค้าเลย เงินแม้แต่บาทเดียวผมก็ไม่มี
ภรรยาผมก็เป็นคนที่ไม่อยากให้ผมต้องอึดอัดใจไปเที่ยวกู้ยืมใครก็เลยเอาสมบัติซึ่งเป็นที่ดินของเธออยู่ผืนหนึ่งประมาณ
100 ตร.วา ในซอยอินทามระ 41 ซึ่งปัจจุบันเป็นบ้านพักเอาไปหาเงิน
อาจารย์โพธิ์ จรรย์โกมล ส่งผมไปหาคุณโพธิพงษ์ ล่ำซำ ที่เมืองไทยประกันชีวิตซึ่งก็รับจำนองที่เอาไว้เป็นเงิน
100,000 บาท
ผมก็เรียกหุ้นส่วนเข้ามาอีก 2 คน คนหนึ่งคือ วีระเวช กู้ตลาด ซึ่งดึงเอาเพื่อนคือ
อังกูร เทพวัลย์ เข้าร่วมด้วยโดยจะลงกันคนละเท่าๆ กัน แต่ภายหลังสองคนนั้นลงไม่ครบจำนวน
ผมก็เลยถือหุ้นใหญ่ ในระหว่างที่ทำนิตยสารยานยนต์อยู่ได้ 2 เดือน ก็เกิดเหตุการณ์ขึ้นเหตุการณ์หนึ่งซึ่งทำให้ผมต้องเปลี่ยนการเดินทางของชีวิตไปอีกทางหนึ่ง
ในราวเดือนเมษายนหนังสือพิมพ์ประชาธิปไตยได้ไล่พนักงานกอง บ.ก. ฝ่ายโฆษณาและช่างเรียงออกหมดร้อยกว่าคนเพราะผู้บริหารชุดใหม่
นำโดย ปีย์ มาลากุล ณ อยุธยา ซึ่งณรงค์ เกตุทัต เอาเข้ามาแทนผม ต้องการปรับปรุงกองบรรณาธิการแต่โดนกองบรรณาธิการขัดขืนก็เกิดการแตกหักขึ้น
คนที่โดนช่วงนั้นก็มีเช่น จันทรา ชัยนาม ไพบูลย์ สุขสุเมฆ สุชีพ ณ สงขลา
และอีกมากที่ผมจำชื่อไม่ค่อยได้ ด้วยความเป็นห่วงบรรดาผู้ที่เคยร่วมงานกันมา
ผมคิดว่าน่าจะหาทุนทำหนังสือพิมพ์รายวันสักฉบับเพราะเรามีกำลังคนพร้อมแล้ว
และด้วยความที่บริสุทธิ์ต่อโลกอย่างไร้เดียงสาผมก็คิดเลยเถิดไปอีกว่า หนังสือพิมพ์ฉบับใหม่นี้น่าจะเป็นหนังสือพิมพ์ที่มหาชนถือหุ้นอยู่
ด้วยความช่วยเหลือของศาสตราจารย์เผด็จ และภรรยา พี่ชนพรรณ สิทธิสุนทร เราก็พยายามรวบรวมหุ้นกันไปพูดในที่ประชุมเพื่อขายหุ้นหนังสือพิมพ์ที่ชื่อสุภาพบุรุษ
ทำกันแทบตายได้เงินค่าหุ้นมาแค่ 8 พันกว่าบาท ในที่สุดผมก็ต้องเปลี่ยนความคิดจากการหามหาชนมาร่วมเป็นนายทุนเข้ามาและเราก็มองว่าต้องเป็นนายทุนที่ใช้ได้
คุณหมอประสาน ต่างใจ ก็เลยแนะนำว่าไปหาคุณบุญชู โรจนเสถียร
ตอนนั้นคุณบุญชูเป็นเพียง ส.ส. จากชลบุรีหลังจากที่ได้เป็นรัฐมนตรีคลังมาแล้ว
คุณบุญชูก็นัดเจอตามสไตล์คุณบุญชู คือห้องอาหารคัสติเลียนที่ดุสิตธานี มื้อนั้นเป็นมื้อเที่ยง
ทางผมก็มีคุณหมอประสาน ต่างใจ อาจารย์ปราโมทย์ นาครทรรพ และอีก 2-3 คนรวมทั้งผมด้วย
สรุปง่ายๆ เป็นทีมพลังใหม่ เจอกับตัวแทนกิจสังคม
คุณบุญชู โรจนเสถียร ในฐานะที่ผมเคยรู้จักจากสื่อมวลชนมีภาพพจน์ของนายทุนเต็มตัวผู้มุ่งหวังแต่กำไรท่าเดียว
แต่บุญชู โรจนเสถียร ตัวจริงกลับดูเป็นคนที่มีเหตุผลและเป็นคนที่สามารถจะเข้าใจปัญหาขั้นพื้นฐานได้ไม่ยาก
ข้าวมื้อเที่ยงมื้อนั้นพิสูจน์ให้เห็นเด่นชัดว่า คนมีเงินมีทองสามารถจะเปล่งเสียงให้คนไม่มีเงินไม่มีทองรับฟังอย่างตั้งอกตั้งใจเต็มท
ี่ถึงแม้จะไม่เห็นด้วยในบางประการแต่ราศีของเงินทองก็จะกลบเกลื่อนความไม่เห็นด้วยให้สลายมลายไปสิ้น
บุญชู โรจนเสถียร พูดถึงการทำหนังสือพิมพ์ด้วยสัจธรรมอันหนึ่งซึ่งยังคงตราตรึงผมมาจนทุกวันนี้
เขาพูดว่า "หนังสือพิมพ์ที่ดีๆ ยังหาได้น้อยมาก สมควรจะทำขึ้นมาสักฉบับ แต่ทำอย่างไรที่จะให้หนังสือพิมพ์ฉบับนี้อยู่ได้ด้วยตัวของมันเอง
"
อาหารเที่ยงมื้อนั้นจบลงด้วยความหวังที่ทุกคนคิดว่าบุญชูจะช่วยให้มีหนังสือพิมพ์ดีๆ
เกิดขึ้นมาได้สักฉบับหนึ่ง แต่ข้อเท็จจริงแล้วบุญชูไม่ได้สัญญาอะไรทั้งสิ้นเลย
หลังจากนั้นอีก 2 เดือน ผมได้มีโอกาสพบและรู้จัก ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ ผู้ซึ่งกำลังหาเสียงภายใต้ธงพลังใหม่อยู่ใน
กทม. และดร.อาทิตย์เองก็คงจะรู้ว่าผมอยากจะทำหนังสือพิมพ์อย่างมากๆ ก็เลยแนะนำและนัดหมายให้ผมไปพบกับสุธี
นพคุณ ที่สำนักงานพีเอสเอ ซึ่งในปีนั้นเป็นเพียงห้องเล็กๆ ไม่กี่ห้องบนชั้น
7 ของตึกเคี่ยนหงวนซึ่งสมัยก่อนเรียกว่าตึกเชลล์
ในช่วงนั้นพีเอสเอกำลังอยู่ในระยะขยายตัวและในเวลาเพียง 2 ปีเท่านั้นแทบจะไม่มีใครในวงการธุรกิจจะไม่รู้จักพีเอสเอเลย
ผมได้พบสุธี นพคุณ ซึ่งอยู่ในเสื้อนอกและห้องทำงานที่ค่อนข้างจะหรูหรามาก
ยังไม่ทันคุยอะไรกันดีก็มีคนคนหนึ่งโผล่หน้าเข้ามาทักทายด้วยท่าทางที่เป็นมิตร
พูดแต่ภาษาอังกฤษ คนนั้นคือ พร สิทธิอำนวย หรือพอล
ในความรู้สึกครั้งแรกที่ผมเจอพอล ผมคิดว่าเขาเป็นญี่ปุ่นเพราะหน้าตาการหวีผมที่เสยขึ้นไปและหนวดเรียวประกอบกับแว่นสายตาสั้น
ทำให้เขาน่าจะเป็นนายทากายาม่าหรือนายฮิโร่โตเม่ มากกว่าที่จะเป็นพอล พอพอลรู้ว่าผมจะมาขอกู้เงินทำหนังสือพิมพ์เขาหัวเราะก๊ากออกมาแล้วบอกผมว่า
"เอาเงินไปถวายวัดดีกว่าเพราะเจ๊งแน่ๆ "
พอลซักถามผมอย่างละเอียดถึงการทำงานและประวัติความเป็นมาโดยไม่เปิดโอกาสให้ผมได้พูดเรื่องของผมเลยแม้แต่น้อย
พอลเป็นคนพูดเร็วและความคิดเปลี่ยนไปแทบจะทุกนาที การพูดคุยของพอลอาจจะดูเหมือนเป็นการพูดคุยธรรมดา
แต่โดยเนื้อแท้แล้วกลับเป็นการสัมภาษณ์ไปในตัว
พอลสนุกสนานกับการคุยกับผมมากถึงกับลากผมไปห้องทำงานของเขาแล้วซักต่อ แล้วจู่ๆ
หลังจากคงจะพอใจกับคำตอบแล้ว พอลก็พูดสั้นๆ ว่า "มาทำงานกับผมไหม " ผมถามกลับว่า
"จะให้ผมทำอะไร ผมต้องการทำหนังสือเพราะผมคิดว่าหนังสือเป็นงานที่ดีมีประโยชน์ต่อสังคมและถ้าทำดีๆ
ก็จะเป็นธุรกิจหนึ่งซึ่งสามารถจะเจริญก้าวหน้าไปได้ " พอลบอกผมว่าเขาอยากทำสำนักพิมพ์แต่ไม่ทำหนังสือพิมพ์
เขาจะทำหนังสือพิมพ์ต่อเมื่อสำนักพิมพ์อยู่ตัวแล้วและมีบุคลากรที่เขาไว้ใจได้จริงๆ
ถึงจะทำหนังสือพิมพ์ พอผมบอกว่าผมมีสำนักพิมพ์อยู่แล้วทำหนังสือรถยนต์ เขาก็บอกว่าของเขาก็มี
Whos Who in Thailand อยู่แล้วเหมือนกัน เขาให้เอามารวมกันตั้งเป็นบริษัทใหม่แล้วให้หุ้นผม
40%
ผมยอมรับว่าข้อเสนอนี้มันเป็นเรื่องที่เย้ายวนใจมากโดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนหนุ่มที่พ่อแม่ไม่รวย
ไม่มีทุนรอน สำหรับพอลเองมันก็เข้าหลักของเขาในการที่เขาไม่สามารถจะทำงานเองได้
เขาก็จะแบ่งผลประโยชน์ให้คนที่ทำงาน
พอตกลงกันได้ก็มาถึงตอนสำคัญคือเรื่องเงินเดือน
ผมเป็นคนขี้เกรงใจคนเพราะผมไม่รู้จริงๆ ในขณะนั้นว่าในท้องตลาดอัตราเงินเดือนขนาดนั้น
มันควรจะเป็นเท่าไร
ผมรู้อยู่อย่างเดียวว่าผมเพิ่งถูก offer เงินเดือนหนึ่งหมื่นสองพันบาทมาหยกๆ
เมื่อต้นปีจากจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน
และการเจรจาต่อรองเรื่องเงินเดือนวันนั้นทำให้ผมเรียนรู้จิตวิทยาในการตั้งเงินเดือนอีกมากต่อมาภายหลัง
แทนที่จะเสนอเงินเดือนมาให้ผมหรือให้ผมเสนอเงินเดือนออกไป พอลกลับถามคำถามผมหนึ่งคำถามที่บีบบังคับให้ผมไม่มีทางเลือกนอกจากต้องพยายามประมาณตน
พอลถามว่า "คุณต้องใช้เงินเดือนละเท่าไรจึงจะพออยู่ได้? "
ผมจำได้ว่าผมแทบสะอึกกับคำถามนั้นพอลเล่นชกผมอย่างไม่ให้ตั้งตัวเพราะว่า
:-
1. ถ้าผมบอกจำนวนสูงๆ ผมก็กลัวว่าเขาจะมองว่าผมฟุ่มเฟือย
2. ถ้าผมบอกต่ำมาก ผมจะต้องเจ็บปวดกับมัน
สรุปแล้วคำถามแบบนี้ ก็มักจะได้คำตอบที่ตัวเลขออกมาค่อนข้างจะให้ฝ่ายนายจ้างได้เปรียบ
ซึ่งถ้าเป็นตอนนี้ผมคงจะต้องถามพอลกลับไปว่า "ในงานขอบข่ายเช่นนี้ บวกกับโครงการที่จะขยายต่อไปคุณคิดว่าคุณค่าผมอยู่ในราคาเท่าไรต่อเดือน
" เพื่อจะได้ให้ผมเตรียมรุกบ้าง อันนี้ก็เป็นบทเรียนในการเจรจาต่อรองเรื่องผลประโยชน์กับนายจ้าง
คุณผู้อ่านที่เป็นนักบริหารหนุ่มถ้าถูกทาบทามให้ไปบริหารงานใหญ่ หรือบริษัทใดบริษัทหนึ่ง
ผมมีข้อแนะนำว่า :-
1. ให้สำรวจราคาตลาดในขณะนั้นว่าราคามาตรฐานควรจะอยู่ที่ไหน
2. ราคามาตรฐานนี้รวมสิทธิพิเศษอะไรบ้าง เช่น รถประจำตำแหน่ง คนขับรถ พักร้อน
รักษาพยาบาล หรือโบนัส ฯลฯ ด้วยหรือเปล่า
3. ถ้าคุณไม่พอใจในผลตอบแทนที่เขาเสนอให้ตรงข้อไหนอย่าเก็บเอา ไว้ในใจ พูดออกมาทำความเข้าใจกันให้ชัดแจ้งเป็นข้อๆ
ไป ถ้าเขารับไม่ได้และคุณเองก็รับไม่ได้ ก็ให้มันสิ้นสุดกันตรงนั้นดีกว่าจะต่อเนื่องไปแล้วคุณจะมีความรู้สึกเก็บกด
4. วิธีที่ดีที่สุดอาจจะเป็นการพบกันครึ่งทางแล้วใช้ผลงานเป็นเครื่องวัด
เพื่อปรับค่าตอบแทนคุณหลังจากพ้นระยะเวลาหนึ่งไปแล้ว แต่ข้อนี้ก็จำเป็นต้องพูดกันให้แน่ชัดไปก่อน
สรุปแล้วผมกับพอลตกลงกันหลังจากคุยกันในวันนั้น ซึ่งแสดงว่าพอลเป็นคนตัดสินใจเร็วมาก
แต่ก็เป็นบางเรื่องเท่านั้น
ในเวลานั้นพอลมีบริษัทสยามเครดิตซึ่งให้ภรรยาคือวนิดาหรือเอด้า สิทธิอำนวย
เป็นผู้ดูแลโดยตรง มีพัฒนาเงินทุนที่อื้อฉาวอยู่ทุกวันนี้ให้สุธี นพคุณ ดูแล
มีบริษัทแอ๊ดวานซ์โปรดักส์ซึ่งเป็นเทรดดิ้งคัมปะนีโดยสุธี นพคุณ ดูแล และให้สมชาย
ถิรธรรม อดีตผู้จัดการฝ่ายโฆษณาธนาคารกรุงเทพ ซึ่งลาออกมาอยู่กับพอลเป็นผู้บริหาร
นอกจากนั้นแล้วอาณาจักรของพอลก็กำลังจะขยายอยู่
ในปี 2519 นั้นเป็นปีที่พีเอสเอกำลังจะเข้าไปในเครดิตการพาณิชย์และอยู่ในระหว่างการเจรจารายละเอียดของการ
take over กลุ่มบริษัททัวร์ รอแยล นอกจากนั้นก็ยังมีรามาทาวเวอร์ ซึ่งขณะนั้นไฮแอทเป็นผู้บริหารอยู่ในเครือ
ปี 2519 ก็เป็นปีที่พอลดึงตัวผู้บริหารหนุ่มมาจากที่ต่างๆ เพราะเขามีปรัชญาว่า
เขาอยากใช้คนหนุ่มเพราะคนหนุ่มมีอนาคต ถึงจะมีโอกาสทำพลาดมากกว่าคนแก่ แต่คนหนุ่มถ้าได้ทำพลาดเสียบ้างแล้วสามารถจดจำบทเรียนที่ผิดพลาดได้
พอลคิดว่าเขาจะมีทีมนักบริหารที่เก่งมากๆ ทีมหนึ่ง
คนหนุ่มที่เขาดึงมาก็มี สุรินทร์ ลิมปานนท์ ซึ่งเคยอยู่กรุงเทพธนาทร มาเป็นกรรมการผู้จัดการบริษัทเครดิตการพาณิชย์
ยุทธ ชินสุภัคกุล อดีตผู้อำนวยการฝ่ายการเงินของบริษัทเฟดเดอร์ มาเป็นรองกรรมการผู้จัดการ
รูดี อัลวิโซ นักบัญชีนักบริหารชาวฟิลิปปินส์ซึ่งทำงานอยู่เอสจีวี ณ ถลาง
มาคุมกลุ่มทัวร์รอแยล ส่วนสุธี นพคุณ เองก็ดึงวัฒนา ลัมพะสาระ มาจากธนาคารไทยพาณิชย์
มาร่วมทำพัฒนาเงินทุนแล้วเตรียมสร้างบริษัทบ้านและที่ดินไทยขึ้นมา
กลางปี 2519 ผมก็เป็นคนหนุ่มในหลายคนหนุ่มที่กำลังเดินเข้าไปสัมผัสกับกลุ่มธุรกิจซึ่งใน
3 ปีขยายฐานสินทรัพย์เพียง 6-700 ล้านบาทมาเป็น 3,000 กว่าล้านบาทในเวลาอันสั้น
คนหนุ่มพวกนี้เป็นคนหนุ่มที่ไม่ได้มีสกุลรุนชาตินายทุนใหญ่ที่เพียงแต่อาศัยนามสกุลตัวเองก็สามารถจะเป็นผู้บริหารได้
แต่คนหนุ่มพวกนี้ได้ถูกให้โอกาสในการพิสูจน์ตัวเอง บางคนก็ค่อนข้างพร้อมเพราะมีการฝึกในด้านนี้มาก่อน
บางคนเช่นผมมีพื้นฐานธุรกิจน้อยอย่างมากๆ
พวกเราเหมือนถูกจับโยนเข้าไปในกรงเสือเพื่อทดสอบความแข็งแกร่ง
แต่ความท้าทายในงานทำให้คนหนุ่มเหล่านี้ลืมนึกถึงความกลัวไป ทุกคนมีแต่ความกระเหี้ยนกระหือที่จะเข้าไปในสนามรบโดยที่ไม่มีใครรู้เลยว่าในปี
2519 นั้นเรามีกระสุนปืนอยู่จำกัดมาก แต่ทุกคนก็พร้อม หมายเหตุ จากนิตยสารผู้จัดการ
ฉบับที่ 4 เดือนพฤศจิกายน 2526