Search Resources
 
Login เข้าระบบ
สมัครสมาชิกฟรี
ลืมรหัสผ่าน
 
  homenewsmagazinecolumnistbooks & ideaphoto galleriesresources50 managermanager 100join us  
 
 


bulletToday's News
bullet Cover Story
bullet New & Trend

bullet Indochina Vision
bullet2 GMS in Law
bullet2 Mekhong Stream

bullet Special Report

bullet World Monitor
bullet2 on globalization

bullet Beyond Green
bullet2 Eco Life
bullet2 Think Urban
bullet2 Green Mirror
bullet2 Green Mind
bullet2 Green Side
bullet2 Green Enterprise

bullet Entrepreneurship
bullet2 SMEs
bullet2 An Oak by the window
bullet2 IT
bullet2 Marketing Click
bullet2 Money
bullet2 Entrepreneur
bullet2 C-through CG
bullet2 Environment
bullet2 Investment
bullet2 Marketing
bullet2 Corporate Innovation
bullet2 Strategising Development
bullet2 Trading Edge
bullet2 iTech 360°
bullet2 AEC Focus

bullet Manager Leisure
bullet2 Life
bullet2 Order by Jude

bullet The Last page


ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ
ฉบับ เมษายน 2550








 
นิตยสารผู้จัดการ เมษายน 2550
กลับไปปักกิ่ง             
โดย วริษฐ์ ลิ้มทองกุล
 


   
search resources

News & Media




ไม่กี่วันก่อน ผมเพิ่งได้รับการตอบรับจากทางสถานทูตจีนประจำประเทศไทยว่า วีซ่าผู้สื่อข่าวประจำประเทศจีนที่ผมยื่นขอไปนั้นได้รับการอนุมัติแล้ว หลังจากต้องติดต่อเพื่อยื่นเอกสารหลักฐานต่างๆ อยู่หลายรอบ และกินเวลานานนับเดือน

การที่เครือหนังสือพิมพ์ผู้จัดการได้รับการอนุมัติวีซ่าผู้สื่อข่าวประจำประเทศจีนครั้งนี้นั้นนับเป็นครั้งแรกที่สื่อมวลชนไทยจะมีสื่อมวลชนประจำประเทศจีนอย่างจริงๆ จังๆ ตั้งแต่ประเทศไทยและประเทศจีนหันกลับมาจับมือฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตกันอีกครั้ง ตั้งแต่สมัย ม.ร.ว.คึกฤทธิ์ ปราโมช เมื่อ พ.ศ. 2518 ด้วยเหตุผลข้อนี้นี่นี่เองที่ทำให้ผมรู้สึกตื่นเต้นไม่น้อยกับภารกิจในการเดินทางกลับไปประเทศจีนในช่วงกลางปีนี้

โดยส่วนตัวแม้ผมจะมีความคุ้นเคยกับกรุงปักกิ่งและประเทศจีนอยู่บ้างจากการเดินทางไปศึกษาที่นั่นเป็นเวลาหลายปี แต่การเดินทางกลับไปประเทศจีนครั้งนี้นับว่ามีความแตกต่างออกไป

ประการแรก แตกต่างตรงที่การกลับไปคราวนี้ผมจะไม่ได้ไปอยู่ที่นั่นในสถานะนักศึกษาเช่นเดิม แต่จะเป็นสถานะของนักข่าวเต็มตัวที่จะต้องลงไปคลุกกับข่าวที่เกิดขึ้นตลอดเวลา ภายในขอบเขตขัณฑสีมาของประเทศที่กว้างใหญ่ไพศาลเช่นประเทศจีน โดยนอกจากกรุงปักกิ่งที่เป็นเมืองหลวงแล้ว ก็ยังมีเมืองที่เป็นศูนย์กลางในด้านต่างๆ อีกมาก และมีความสำคัญกับประเทศไทย เช่น เซี่ยงไฮ้ กว่างโจว คุนหมิง เป็นต้น ดังนั้นการที่จะทำข่าวเกี่ยวกับประเทศจีน ณ วันนี้ ให้สมบูรณ์และรอบด้านจึงเป็นภาระที่หนักมิใช่น้อย ทั้งในด้านตัวของนักข่าวเอง และในด้านการลงทุนขององค์กรสื่อต้นสังกัด

ประการที่สอง ณ วันนี้ประเทศจีนได้กลายสภาพเป็นมหาอำนาจของโลกอย่างเต็มตัว ไม่ว่าจะในเชิงเศรษฐกิจ การเมือง การทหาร สังคม หรือวัฒนธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านเศรษฐกิจ การที่จีนจะขยับเขยื้อนอะไร ล้วนแล้วแต่ก่อให้เกิดแรงกระเพื่อมกับเศรษฐกิจโลกทั้งสิ้น การได้เข้าไปสัมผัสกับข้อมูลจีนในระดับปฐมภูมิจึงเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการทำข่าวในเชิงลึก

ประการที่สาม จากปัจจัยแวดล้อมในเชิงอิทธิพลของจีนที่เพิ่มขึ้นในด้านต่างๆ ได้ส่งให้ปีนี้ (2550) ซึ่งถือได้ว่าเป็นปีโหมโรงของการจัดกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อน และปีหน้า 2551 (ค.ศ.2008) อันเป็นปีที่กรุงปักกิ่งจะเป็นเจ้าภาพในการจัดกีฬาโอลิมปิก กลายเป็นสองปีที่มีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับชาวจีนและชาวโลก

ประการสุดท้าย ชีวิตนักข่าวเต็มเวลาในประเทศที่ปกครองโดยพรรคการเมืองเพียงพรรคเดียว และรัฐบาลสามารถสั่งหันซ้ายหันขวา สั่งเปิด สั่งปิด สื่อมวลชนภายในประเทศได้ทุกขณะ รัฐบาลจีนจะมีวิธีปฏิบัติ-ควบคุมสื่อมวลชนจากต่างประเทศเช่นไร? ประสบการณ์การทำข่าวในสภาวะแวดล้อมเช่นนี้คงมีรสชาติที่เข้มข้นยิ่ง

ในส่วนของผู้สื่อข่าวจากชาติอื่น ตามรายงานจากสำนักข่าวบีบีซีระบุว่า ณ ปัจจุบันมีนักข่าวต่างประเทศที่ประจำอยู่ในประเทศจีน ราว 600 คน ขณะที่ก็มีนักข่าวอีกกลุ่มใหญ่ราว 3,000 ถึง 5,000 คน ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศจีนเพื่อทำข่าวในวาระต่างๆ

ทั้งนี้ทั้งนั้นสำหรับการส่งนักข่าวไปประจำในประเทศจีน เพื่อรายงานข่าวเกี่ยวกับกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งซึ่งกำลังจะจัดขึ้นในปี 2551 ที่จะถึงนี้นั้น สำนักข่าวหลายแห่งได้ส่งนักข่าวไปประจำที่ประเทศจีนไว้ล่วงหน้ากว่า 2 ปี โดยทางหนึ่งก็เพื่อจะรายงานความพร้อมในการเตรียมจัดการแข่งขันที่ครอบคลุมไปในหลากหลายมิติไม่เพียงเฉพาะในเรื่องการแข่งขันกีฬาเท่านั้น เนื่องจากขั้นตอนการเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกของจีนนั้นก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและผลกระทบต่อสังคมจีนในหลายมิติ ไม่ว่าจะในเชิงของการลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลงทุนในสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานต่างๆ ของเมือง เช่น การก่อสร้างสนามกีฬา สนามบิน รถไฟฟ้า รถไฟใต้ดิน การปรับปรุงภูมิทัศน์ การคมนาคม เป็นต้น

นอกจากนี้การส่งนักข่าวไปล่วงหน้าก็ยังมีผลสำคัญอย่างยิ่งต่อการรายงานข่าวที่กำลังจะเกิดขึ้นในช่วงการแข่งขัน เนื่องจากนักข่าวที่เดินทางไปก่อนนั้นจะมีเวลาปรับตัวในการทำงานมากกว่านักข่าวที่ไปทำข่าวระยะสั้น ยิ่งการทำข่าวในประเทศอย่างเช่นประเทศจีนด้วยแล้ว เชื่อแน่ว่าอุปสรรคทางด้านภาษาและอุปสรรคในเชิงวัฒนธรรมจะเป็นสิ่งที่นักข่าวจากชาติอื่นๆ โดยเฉพาะนักข่าวจากตะวันตกจะต้องประสบอย่างแน่นอน

แต่กระนั้น รัฐบาลจีนก็มีการปรับตัวเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับนักข่าวจากต่างชาติด้วยเช่นกัน อย่างเช่นในกรณีของผมและเพื่อนร่วมงานอีกหนึ่งท่านที่กำลังจะเดินทางไปประจำที่ประเทศจีนนั้น สถานทูตจีนในประเทศไทยเมื่อเห็นว่าเราจะเป็นสื่อมวลชนไทยกลุ่มแรกที่เดินทางไปประจำที่นั่นก็เอื้ออำนวยความสะดวกเป็นอย่างดี

ขณะเดียวกันในเชิงของการทำข่าวตั้งแต่ต้นปี 2550 เป็นต้นมารัฐบาลจีนก็เริ่มดำเนินการผ่อนคลายกฎระเบียบราชการในการขอสัมภาษณ์ของนักข่าวต่างชาติด้วยเช่นกัน จากแต่เดิมที่ระบบการให้สัมภาษณ์กับสื่อต่างชาติเป็นแบบรวมศูนย์ นักข่าวต่างชาติเวลาขอสัมภาษณ์แต่ละที ต้องผ่านขั้นตอนมากมายทั้งยังใช้เวลามาก ปัจจุบันเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับสื่อมวลชนที่จะหลั่งไหลเข้าไปในประเทศจีนในช่วงก่อนและระหว่างมหกรรมกีฬาโอลิมปิกฤดูร้อนที่ปักกิ่ง รัฐบาลจีนได้ลดทอนขั้นตอนและเปิดกว้างให้ผู้สื่อข่าวต่างชาติสามารถติดต่อสัมภาษณ์หน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้โดยตรง โดยไม่ต้องผ่านหน่วยงานส่วนกลาง ทั้งนี้ถ้าเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบจากหน่วยงานนั้นๆ ตอบตกลงที่จะให้สัมภาษณ์ ผู้สื่อข่าวต่างชาติก็สามารถนัดและดำเนินการสัมภาษณ์ได้เลย

อย่างไรก็ตาม เป็นเรื่องน่าเสียดายว่า การผ่อนคลายกฎระเบียบที่ว่านี้ก็จะสิ้นสุดลงหลังมหกรรมกีฬาโอลิมปิกที่ปักกิ่งเสร็จสิ้นลงในช่วงเดือนตุลาคม 2551 (ทว่ามีผู้วิเคราะห์มองโลกในแง่ดีเช่นกันว่า ในเมื่อรัฐบาลจีนตัดสินใจเปิดกว้างในด้านสื่อแล้ว การจะงับประตูปิดให้แคบลงเหมือนเดิมคงจะเป็นเรื่องยาก)

กลางปี 2549 ที่ผ่านมา ตัวผมเองได้ทำวิจัยเกี่ยวกับ "สถานการณ์การรับข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนของสื่อมวลชนไทย" ผลสรุปปรากฏชัดว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา สื่อมวลชนไทยทั้งหมดที่ทำการสำรวจ ซึ่งก็ครอบคลุมไปถึงสื่อโทรทัศน์, หนังสือพิมพ์ และนิตยสาร ต่างก็ต้องการรับข่าวสารจากประเทศจีนเพิ่มขึ้นด้วยกันทั้งสิ้น โดยส่วนใหญ่ให้ความสนใจกับข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนในระดับมากถึงมากที่สุด โดยเฉพาะข่าวเศรษฐกิจ การเมือง วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

แต่กระนั้นจากผลการวิจัยชิ้นดังกล่าว ได้ชี้ชัดออกมาว่าอุปสรรคใหญ่ที่สุดที่ฉุดรั้งสื่อมวลชนไทยไม่ให้เข้าถึงข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนก็คือ อุปสรรคทางด้านภาษา ขณะที่อุปสรรคในอันดับรองลงไปก็คือ การขาดแคลนผู้สื่อข่าวหรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความรู้เรื่องจีน เป็นต้น จากข้อจำกัดดังกล่าว บีบให้สื่อมวลชนไทยต้องรับข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับประเทศจีนที่ผ่านการกลั่นกรองมาแล้ว ถูกเซ็นเซอร์ ใส่ความคิดเห็น ใส่ทัศนคติ-ความเชื่อ เพิ่มเติมมาแล้วจากสื่อตะวันตก

ดังเช่นที่ผมเคยกล่าวไปในคอลัมน์เดียวกันนี้ ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับเดือนมีนาคม 2549 เรื่อง "สื่อไทยกับประเทศจีน" ว่า ถึงเวลาแล้วที่ประเทศไทยและคนไทยจะต้องลดการยืมจมูกสื่อตะวันตกหายใจ ลดการมองเหตุการณ์ความเป็นไปของประเทศเพื่อนบ้านผ่าน "แว่นตา" ของฝรั่งลงบ้าง เพื่อที่เราจะได้ใกล้ชิด และเข้าใจเพื่อนบ้านมากกว่าที่เป็นอยู่

ผมหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการกลับไปปักกิ่งของผมคราวนี้ในสถานะใหม่ ผมคงจะมีโอกาสได้สัมผัส-รับรู้เรื่องราวเกี่ยวกับประเทศจีนในมุมที่กว้างและลึกขึ้นกว่าเดิม และนำมาถ่ายทอดให้ท่านผู้อ่านได้รับทราบกันในโอกาสต่อไป   




 








upcoming issue

จากโต๊ะบรรณาธิการ
past issue
reader's guide


 



home | today's news | magazine | columnist | photo galleries | book & idea
resources | correspondent | advertise with us | contact us