|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2550
|
|
การที่บริษัทองค์กรเอกชนลุกขึ้นมาสร้างแบรนด์แต่ละครั้ง ไม่ใช่แค่เพียงการเปิดตัวชื่อสินค้าใหม่หรือบอกกับผู้บริโภคว่ามีอะไรมาขาย การสร้างแบรนด์ขึ้นมาเหมือนกับเป็นพันธกิจสำคัญของบริษัทหรือองค์กรให้คำมั่นสัญญาว่า ผู้บริโภคจะได้อะไรบ้างจากสินค้าหรือบริการที่เกิดขึ้น
เมื่อถึงเวลาช่วงหนึ่งแบรนด์ที่สร้างมาก็เหมือนกับคน ต้องมีการพัฒนาและสร้างความคึกคัก เพื่อบอกให้ผู้บริโภคและคู่แข่งรู้ว่า แบรนด์นี้ยังอยู่และพร้อมที่จะต่อสู้ในธุรกิจต่อไป
การสร้างแบรนด์หรือปรับเปลี่ยนแบรนด์ในช่วงหลังของผู้ประกอบการเกิดขึ้นอย่างมากมาย ในช่วงหลัง บริษัทใหญ่ๆ มีการปรับเปลี่ยนกันขนานใหญ่และส่วนใหญ่ก็ได้ผลตามที่ต้องการ
ช่วงการปรับเปลี่ยนนี้แหละต้องพึ่งพาพี่เลี้ยงหรือที่ปรึกษาในการสร้างและปรับแบรนด์และบริษัทส่วนใหญ่ก็ใช้บริการอยู่ไม่กี่ราย ศิริกุล เลากัยกุล กับบริษัท Brandbeing Consultant ก็เป็นหนึ่งที่บริษัทและองค์กรเอกชนส่วนใหญ่เรียกใช้
ศิริกุลกับการทำแบรนด์ของเธอช่วงแรกอาจจะดูไม่แตกต่างกับรายอื่นๆ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง การบ่มเพาะแนวคิดและการตกผลึกทางความคิดในแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง ทำวิธีการทำแบรนด์แบบพอเพียง (Sufficiency Branding) ก็เกิดขึ้น และเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น
"เศรษฐกิจพอเพียงสามารถนำมาใช้กับการทำธุรกิจและชีวิตประจำวัน ได้เป็นอย่างดี แต่ในความรู้ความเข้าใจเรื่องนี้ยังมีน้อย ฟังแล้วตีความก็แตกต่างกันไป ในความเป็นจริงแล้วเป็นแนวคิดที่เข้าใจง่าย ฟังแล้วคิดตามไปด้วยเพียงครั้งเดียวก็เข้าใจ และสามารถนำไปใช้ได้แล้ว" เธออธิบายแนวคิดเศรษฐกิจ พอเพียงที่เธอได้สัมผัสและนำมาใช้งานจริง
ศิริกุลเล่าให้ฟังว่า เมื่อคิดเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงกับการทำแบรนด์ ก็มีงานสร้างแบรนด์ของโครงการดอยตุงของมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และบริษัทปูนซิเมนต์ไทยเข้ามาให้ทำพร้อมๆ กัน ซึ่งโครงการดอยตุงเป็นงานที่เธอภูมิใจมากที่สุด เพราะเป็นการยืนยันแนวคิดเรื่องแบรนด์แบบพอเพียงว่าไปได้ รวมทั้งเป็นต้นแบบให้กับบริษัทอื่นๆ ได้เป็นอย่างดี
โครงการดอยตุงมีความชัดเจนว่าทำแบบพอเพียง อย่างการช่วยเหลือชาวเขาให้เลิกปลูกฝิ่นมาปลูกกาแฟ รวมถึงผลิตภัณฑ์การเกษตรอื่นๆ ผ่านการขายที่เป็นระบบ มีการขยายร้านของตัวเองที่เหมาะสมกับฐานะและกำลังของตัวเอง ก่อให้เกิดผลกำไรทางธุรกิจตั้งแต่การคัดเลือกสินค้า และวิธีการนำเสนอ จนได้รับการยอมรับจากยูเนสโกว่าเป็นต้นแบบของการพัฒนาแบบยั่งยืน (Sustainable Development) เป็นรายแรกของโลกที่ประสบความสำเร็จ
ทุกวันนี้โครงการดอยตุง กลายเป็นโครงการต้นแบบที่หลายประเทศส่งคนมาดูงานและนำไปใช้ในประเทศของตัวเอง แต่คนไทยเองกลับรับรู้เรื่องโครงการดอยตุงน้อยเกินไป
ถ้าหากว่าเศรษฐกิจพอเพียงคือการประมาณตัวเองว่าทำได้แค่ไหน และควรทำอย่างไร ศิริกุลก็ได้นำแนวคิดนี้มาบริหารจัดการในการทำงานของเธอเช่นกัน
ซึ่งเธอบอกว่า "การรับทำแบรนดิ้งให้บริษัทต่างๆ ก็มีการพิจารณาคัดเลือก เราไม่ได้ทำให้ทุกบริษัท บางบริษัทเราก็ไม่ทำให้ โดยจะประเมินการพูดคุยกันก่อนว่า มีความคิดเห็นที่ตรงกันหรือไม่ ไปกันได้หรือไม่ เมื่อดูแล้วว่าไม่สามารถทำให้ได้ก็จะบอกตรงๆ เพราะไม่ต้องการให้เสียเวลา พูดกันชัดๆ เลย"
เมื่อรับงานมาแล้ว แนวคิดแบรนด์แบบพอเพียงเธอก็ต้องดูว่า ผู้บริหารที่ว่าจ้างเธอเป็นอย่างไร บางรายอาจบอกตรงๆ ไปเลยว่า ทำแบบพอเพียง หรือบางครั้งจะค่อยๆ ทำ แล้วค่อยๆ บอก เพราะการบอกตรงๆ บางครั้งผู้บริหารอาจรับไม่ได้ หรือไม่เข้าใจ ค่อยๆ ให้ความรู้ ทำความเข้าใจจนสุดท้ายก็บอกเขาว่า นี่คือแนวคิดแบบเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งส่วนใหญ่ก็เข้าใจและรับได้การบอกก่อนบางครั้งอาจจะตั้งป้อมไว้ก่อน เพราะไม่เข้าใจ แต่ลูกค้าส่วนใหญ่เข้าใจและพอใจ
เธอย้ำด้วยว่า แนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงไม่ได้ต้องการให้กลับไปอยู่แบบสมถะ มีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไรก็ดำเนินไปตามนั้น เพียงแต่ว่าต้องมีความยั้งคิดและประมาณกำลังตัวเองว่า มีความสามารถและกำลังมากน้อยขนาดไหน ทำให้สมฐานะของตัวเอง เหมือนนักมวยรุ่นเล็กก็ต้องขึ้นชกกับมวยรุ่นเล็กเหมือนกัน ไม่ใช่ข้ามไปชกกับนักมวยรุ่นใหญ่ ซึ่งไม่มีทางชนะอยู่แล้ว
ความหมายของแนวคิดนี้ก็คือ ดูตัวเองเป็นที่ตั้ง ไม่ใช่ดูคู่แข่งเป็นหลัก บริษัทขนาด 1,000 ล้านบาท กับบริษัทขนาด 10 ล้านบาท ย่อมแตกต่างกัน บริษัทขนาดเล็กไม่สามารถไปลงทุนเท่าบริษัทใหญ่ได้ แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะทำให้ดีไม่ได้ แต่ดีในระดับบริษัท 10 ล้านด้วยกัน
เมื่อดูแล้วว่าแนวคิดนี้สามารถทำได้จริงและเห็นผล เธอจึงลงมือเขียนหนังสือการทำแบรนด์แบบพอเพียงออกมา
หนังสือเล่มใหม่ของเธอใช้เวลาเขียนประมาณ 2 เดือน ความหนาประมาณ 200 หน้า เธอบอกว่า หากนับเวลาเขียนจริงๆ แบบต่อเนื่อง ตัดวันที่ต้องทำงานอื่นๆ ออกไป อยู่ที่ประมาณ 2 สัปดาห์ และมีบางวันที่ลงมือเขียนตั้งแต่เช้าจนถึงเที่ยงคืนเลยก็มี เพราะว่าช่วงนั้นความคิดกำลังหลั่งไหล จึงออกมาแบบต่อเนื่อง ต่างจากหนังสือเล่มแรกของเธอที่ใช้เวลาน้อยกว่า เพราะมีความหนาไม่ถึง 80 หน้า
เมื่อหนังสือเขียนเสร็จ ผู้ที่ถูกเลือกให้ทดสอบว่าเนื้อหาออกมาเป็นอย่างไร อ่านแล้วเข้าใจหรือไม่ ก็คือสามีของเธอนั่นเอง ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจที่เธอทำอยู่ ซึ่งคำตอบที่ได้รับก็คือ เข้าใจง่าย และรู้ว่าหนังสือต้องการสื่ออะไร เมื่อด่านแรกผ่านไป คนต่อมาก็คือน้องผู้ร่วมงานอีกคนหนึ่ง ซึ่งคำตอบที่ได้ก็ใกล้เคียงกัน จึงทำให้แน่ใจได้มากขึ้นว่า คนอ่านจะเข้าใจสิ่งที่เธอต้องการสื่อได้ไม่ยาก
ความปรารถนาในส่วนลึกของเธอต้องการให้แนวคิดนี้สามารถพัฒนาต่อยอดไปจนถึงขั้นให้บริษัทหรือองค์กรสามารถพัฒนาอย่างยั่งยืน (Sustainable Development) โดยหันกลับมารับผิดชอบต่อคน สิ่งแวดล้อมมากขึ้น ซึ่งขณะนี้กำลังเป็นกระแสหลักของบริษัทใหญ่ๆ ทั่วโลก แต่ในไทยยังมีไม่กี่บริษัทที่คำนึงถึงเรื่องนี้
ไม่แน่ว่าหัวข้อนี้อาจจะเป็นหนังสือเล่มที่สามของเธอก็ได้
ถ้าคนที่เข้าใจว่าเศรษฐกิจพอเพียงจะต้องยากจน หรือไม่ใช้จ่ายเงินทอง แล้วศิริกุลต้องเป็นคนสมถะก็ลืมไปได้เลย เพราะเธอบอกเองว่า การใช้ชีวิตของเธอก็ไม่ได้มัธยัสถ์ ยังซื้อสินค้าแบรนด์เนมอยู่ แต่การซื้อต้องคิด เช่นจะเลือกซื้อกระเป๋าที่แพงขึ้นแต่สามารถใช้ได้นาน 10 ปี และใช้ออกงานได้บ่อยครั้ง หรือซื้อผ้าคลุมไหล่ที่นานๆ ได้ใช้สักครั้ง ต้องมองประโยชน์ใช้สอยที่คุ้มค่า เธอบอกว่าคนเรายังมีกิเลสอยู่และเศรษฐกิจก็ถูกขับเคลื่อนด้วยกิเลส แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราจะจัดการกับกิเลสได้อย่างไรมากกว่า
|
|
|
|
|