|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2550
|
|
น้ำตก ทะเล ภูเขา ย่านชอปปิ้ง หรือโรงแรมหรู อาจไม่ใช่จุดหมายของนักเดินทางทุกคนเสมอไป สำหรับบางคน อาจไม่ได้ต้องการอะไรจากการท่องเที่ยวมากไปกว่าประสบการณ์ธรรมดาที่โอบอุ้มด้วยจิตวิญญาณชุมชนและเงาประวัติศาสตร์แห่งสถานที่ที่ไปเยือน ก็เท่านั้น
เมื่อเรือด่วนแล่นเข้าคุ้งน้ำเจ้าพระยา ผ่านหน้าพระบรมมหาราชวัง นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติหลายคนจับกล้องหันขวับ พากันขยับไปถ่ายรูปองค์พระปรางค์วัดอรุณฯ ที่สูงตระหง่านระยิบระยับยามต้องแสง
แต่หากหันไปมองอีกฟากฝั่งแม่น้ำ ร้านกาแฟขนาดกะทัดรัดที่เบื้องหลังเป็นตึกสวยทรงยุโรปหลังใหม่ก็ดึงดูดสายตาของผู้สัญจรในเรือได้เช่นกัน
ตึกสีขาวสไตล์โมเดิร์นคลาสสิกที่เห็นนี้มีชื่อว่า Aurum, The River Place เป็นโรงแรมบูติกขนาด 4 ชั้น 12 ห้อง เปิดตัวมาเพียง 7-8 เดือน ตั้งอยู่ในซอยปานสุข บนถนนมหาราช ย่านท่าเตียน
"ท่าเตียนเป็นย่านเก่าที่มีประวัติ-ศาสตร์ แต่คนไม่ค่อยรู้จักว่าอยู่ตรงไหน ก็ต้องคอยบอกว่า ท่าเตียนอยู่ใกล้ท่าช้าง เราเป็นชาวท่าเตียนพอพูดไปก็น้อยใจ" วิไลพร อัญญานุภาพ เธอเป็นหนึ่งในผู้บริหาร โรงแรม ซึ่งทีมผู้บริหารก็คือพี่น้องตระกูลอัญญานุภาพ นั่นเอง
ท่าเตียนเป็นย่านเก่าบนเกาะรัตน-โกสินทร์ มีเสน่ห์อยู่ที่ความทรงจำและจิตวิญญาณในอดีตของที่นี่
ชื่อ "ท่าเตียน" น่าจะมาจากเหตุไฟไหม้ใหญ่ในสมัยรัชกาลที่ 4 ที่เผาวอดวังเจ้านายและบ้านเรือนข้าราชการที่ตั้งอยู่แถวนั้นจนราบเตียน ผู้คนสมัยนั้นจึงพากันเรียกท่าน้ำที่นี่ว่าท่าเตียน
ท่าเตียนเป็นชุมชนที่มีมาตั้งแต่สมัยอยุธยา เรียกว่า "ชุมชนบางกอก" สมัยรัตนโกสินทร์ บริเวณนี้เคยเป็นตลาดท้ายวัง จึงทำให้ที่นี่กลายเป็นศูนย์รวมทางวัฒนธรรม เศรษฐกิจ และการคมนาคม
ท่าเตียนยังเคยเป็นศูนย์กลางตลาดขนส่งสินค้าการเกษตรที่ใหญ่ที่สุดของกรุงเทพฯ และเคยเป็นเมืองที่สำคัญในการคมนาคมทางน้ำ ขนาดว่าใครจะไปต่างประเทศก็ต้องมาขึ้นเรือ ที่ท่านี้ แต่ปัจจุบันคงเหลือเพียงท่าเรือข้ามฟากไปยังวัดอรุณฯ และตลาดขายปลาเค็มที่ซบเซา ลงทุกวัน
"แถวนี้เป็นเมืองเก่า เราก็อยากออกแบบตึกให้มีกลิ่นอายกลมกลืนกับสิ่งแวดล้อมของที่นี่" จินตนา อัญญานุภาพ น้องสาวของวิไลพร อีกหนึ่งผู้บริหารโรงแรม พูดถึงที่มาของการดีไซน์
ตึกแถบนี้เป็นแบบยุโรป หลายตึกสร้างในสมัยรัชกาลที่ 5 แต่บางตึกก็สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 เช่นตึกที่เคยเป็นอู่จอดเรือของสมเด็จพระมหาสมณ เจ้ากรมพระปรมานุชิตชิโนรส และอาคารแถวนั้นที่เคยเป็นห้องพัก ของฝีพาย
ทว่า ตึกของ Aurum สร้างขึ้นใหม่ เพราะตึกเก่ามีอายุโครงสร้างกว่า 50 ปี รุ่นพ่อตึกนี้เคยเป็นทั้งที่พักและออฟฟิศทำธุรกิจขนส่ง แต่ 15 ปีหลัง เมื่อลูกๆ โตขึ้นและแยกย้ายกันไปอยู่ที่อื่น ออฟฟิศเก่านี้จึงร้างชีวิตชีวาของผู้อาศัย
"เราถือครองที่ดินตรงนี้มาอย่างน้อย 50 ปีแล้ว ในรุ่นพ่อตรงนี้ก็ยังเหมาะที่จะทำธุรกิจ ค้าส่งวัสดุก่อสร้างได้ เพราะขนส่งทางเรือสะดวก แต่พอทุกอย่างเปลี่ยนไป ออฟฟิศตรงนี้เริ่มไม่สะดวกอีกต่อไป ก็เลยไม่ได้ใช้ประโยชน์เต็มที่" จินตนาเล่าย้อนประวัติของที่ดิน
หลังจากประชุมโต๊ะกลมในหมู่พี่น้อง พวกเขาลงมติทุบตึกทิ้งแล้วสร้างใหม่ เพื่อความ ปลอดภัยของผู้สัญจรแถวนี้ และเพื่อปรับปรุงภูมิทัศน์ละแวกนี้ให้มีชีวิตชีวามากขึ้น โดยขณะนั้นพวกเขาก็ยังไม่คิดว่าบ้านเกิดของตนจะกลายเป็นโรงแรมบูติกในดวงใจของนักท่องเที่ยวหลายคน
"พอคิดว่าถ้าทำเป็นที่อยู่อาศัย ก็น่าเสียดายศักยภาพของทำเลตรงนี้ เพราะมันเป็นมุม ที่สวยมาก และมันยังมีประวัติศาสตร์ และจิตวิญญาณชุมชนเก่าอยู่ด้วย"
แม้จะต้องรื้อเสาเข็มแบบเดิมที่ลงไปแล้วกว่า 70 เปอร์เซ็นต์ ออก แล้วทำแปลนใหม่ หมดสำหรับโครงสร้างของโรงแรมขนาดเล็ก ที่ได้แรงบันดาลใจมาจากความประทับใจในการไปเที่ยวพักในโรงแรมสไตล์ "Bed & Breakfast" ในแถบยุโรป ที่ไม่ได้เน้นที่ความหรูหราสะดวกสบายแบบครบวงจรเหมือนโรงแรมใหญ่ แต่ขายความเป็นส่วนหนึ่งของชุมชนเล็กๆ และอัธยาศัยอันดีของเจ้าบ้าน (ผู้ดูแลและบริการลูกค้า)
Aurum เป็นภาษาละติน แปลว่า "ทอง" อันเป็นความหมายที่ดี เพราะนอกจาก จะหมายถึงสิ่งที่มีค่า ทองยังเป็นสิ่งที่ชาวไทย ใช้แสดงความเคารพต่อสิ่งที่นับถือ เช่น การหล่อพระพุทธรูปด้วยทองหรือทองคำเปลวที่ใช้ปิดองค์พระพุทธรูป เป็นต้น
โรงแรมแห่งนี้ได้รับอานิสงส์อย่างมากจากการจัดแสดงขบวนพยุหยาตรา อาจเรียก ได้ว่า นั่นเป็นเสมือนการเปิดตัวโรงแรมให้ประจักษ์ต่อสายตาลูกค้าหลากสัญชาติจริงๆ
ที่นี่มีห้องพักแค่ 12 ห้อง แต่ละห้อง ขนาดไม่ใหญ่ แบ่งเป็น City View สนนราคา 3,500 บาท/คืน แต่ถ้าเป็น River View ราคาก็จะอัพเป็น 4,500 บาท พื้นห้อง ตกแต่งด้วยกระเบื้องผสมพื้นไม้ เพื่อสัมผัสราวอยู่บ้าน แม้จะเป็นโรงแรมเล็กๆ แต่ที่นี่ก็ติด Wi-Fi Hi Speed เตรียมไว้ให้ลูกค้าได้ ใช้บริการฟรี
ล็อบบี้สีขาวที่ช่วยเพิ่มความโปร่งสบาย ถูกตกแต่งให้เหมือนห้องรับแขกในบ้าน ให้ลูกค้าได้ลงมานั่งคุยกันได้ โดยจะมีเก้าอี้และโซฟาเอาไว้ให้นั่งเล่นในมุมต่างๆ บางมุมมีหนังสือเตรียมไว้ให้ลูกค้าอ่านเล่น และบางมุมก็มีกาแฟจัดเตรียมไว้ให้
แม้วิไลพรและจินตนาจะไม่เคยมีประสบการณ์ด้านธุรกิจบริการ แต่เธอก็เชื่อว่าประสบการณ์จากการท่องเที่ยวที่เธอมี บวกกับความชอบและศักยภาพของทำเล ก็น่าจะทำให้แขกที่มาพักได้ความประทับใจ ติดมือกลับไปเป็นกอบเป็นกำ
"มันเหมือนทำเลตรงนี้ก็ช่วยสกรีนลูกค้าในระดับหนึ่ง คนที่มาที่นี่จะไม่จุกจิก เขาอยากมาสัมผัสวิถีชีวิตตรงนี้ มันเป็นอีกโลกที่หาไม่ได้จากโรงแรมในเมือง" วิไลพรกล่าวพร้อมยกตัวอย่างพฤติกรรมของแขก เธอมักจะชอบเฝ้าสังเกตแขกของเธอ
"เคยมีฝรั่งคนหนึ่งมาพักที่นี่ เขาไม่ไปไหนเลย ตื่นมาก็ไปนั่งกินกาแฟ อ่านหนังสือ ที่ร้านกาแฟ (ร้านของวิไลพรที่อยู่ติดแม่น้ำ หน้าโรงแรม) ออกไปทานอาหารแล้วก็กลับห้องนอน ไม่ไปเที่ยว เหมือนว่าเขาคงทำงานเหนื่อยมามาก แล้วก็อยากมาพักจริงๆ"
แขกของที่นี่ส่วนใหญ่เป็นชาวต่างชาติ ซึ่งรู้จักที่นี่จากเว็บไซต์หรือคำบอกเล่าของเพื่อนฝูง ฝรั่งบางคนมาเรียนนวดแล้วก็มาพักที่นี่ ส่วนคนไทยก็มีบ้าง บางกลุ่มอยากมา สัมผัสบรรยากาศชีวิตริมน้ำ บางกลุ่มก็เป็นคนที่เดินทางมาจากต่างจังหวัด เพื่อมาไหว้พระ 9 วัด
วิไลพรและจินตนายอมรับว่าธุรกิจโรงแรมเล็กๆ เช่นนี้อาจหวังกำไรก้อนโตไม่ได้ ซึ่งนั่นก็ไม่ใช่สิ่งที่เธอคาดหวัง เพราะทุกวันนี้ พวกเธอแค่อยากจะทำอะไรที่ทำให้ เธอมีความสุข
ความสุขของพวกเธอ ไม่ได้อยู่ที่การ เห็นแขกเข้ามาพักในโรงแรมเยอะๆ แต่อยู่ที่ การเห็นแขกสนุกกับการได้ขึ้นไปนั่งเล่นบนดาดฟ้า เพื่อรับลมชื่นชมภาพวิถีของผู้คนในย่านเก่าที่เต็มไปด้วยเรื่องราวในยามเช้า หรือดื่มด่ำกับบรรยากาศที่มีชีวิตชีวาของแม่น้ำเจ้าพระยาและพระปรางค์วัดอรุณฯ ในยามเย็น
และที่สำคัญก็คือ การได้เป็นส่วนหนึ่งในความพยายามฟื้นฟูย่านเก่าที่เป็นบ้านเกิดแห่งนี้ ให้กลับเป็นที่รู้จักและกลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง
|
|
|
|
|