ช่วงหนึ่งถึงสองเดือนที่ผ่านมา ผมหมกมุ่นอยู่กับงานอดิเรกใหม่ล่าสุด คือการเขียนบล็อก จนทำให้ผมต้องลดเวลาที่ให้กับงานอดิเรกอื่นๆ ไปค่อนข้างมากเหมือนกัน
ในฐานะที่ชอบอ่านหนังสือและชอบเขียนหนังสือ บล็อกจึงเป็นสิ่งเสพติดที่ผมติดมันอย่างงอมแงมและไม่รู้จะเลิกได้เมื่อไหร่
เช่นเดียวกับคนอีกหลายล้านคนทั่วโลก ที่ชอบคิดออกมาดังๆ เหมือนกัน
บล็อกหรือเว็บล็อก
(Weblog) นั้นมีความหมายที่ค่อนข้างหลากหลาย ตั้งแต่เป็นบันทึกความทรงจำ ประกาศโฆษณา แหล่งมั่วสุมของวัยรุ่น ระเบียงบ้าน วงไพ่ ไปจนถึง ร้านสภากาแฟหน้าปากซอย บล็อกอาจจะเป็นกล่องเก็บความฝันในวัยเด็ก ตู้เก็บของสะสม แก้วไวน์สำหรับปาระบายความเครียด หรือนิตยสารและหนังสือพิมพ์รายวันชั้นดี
บล็อกจึงมีความหมายในเชิงวัฒนธรรม การเมือง เศรษฐกิจ และสังคม ที่ค่อนข้างสูง
บล็อกมีในเมืองไทยมาพักใหญ่แล้ว พอๆ กับที่มีให้เห็นอย่างหนาตาในเว็บไซต์ของต่างประเทศ โดยบล็อกถูกนำไปใช้ในหลากหลายจุดประสงค์ ซีอีโอของบริษัทไอทีชั้นนำอาจจะใช้บล็อกในการเล่าเรื่องราวความเป็นไปต่างๆ ในวงการไอทีโดยแอบสอดแทรกสินค้าหลายตัวของบริษัทตนเข้าไปด้วย นักเขียนอาศัยบล็อกในการเผยแพร่งานเขียนและข่าวคราวเกี่ยวกับหนังสือเล่มใหม่ๆ ของตน นักการเมืองใช้บล็อกในการประชา สัมพันธ์นโยบายและโฆษณาชวนเชื่อในเรื่องราวต่างๆ นักวิชาการใช้บล็อกในการเผยแพร่งานวิจัยของตนหรือแนวความคิดที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ในแวดวงวิชาการ นักร้อง ใช้บล็อกในการสื่อสารถึงแฟนคลับ ขณะเดียวกันแฟนคลับก็ใช้บล็อกในการสื่อสารถึงต้นแบบที่ตนชื่นชอบ อดีตขิงแก่หรือผู้ยิ่งใหญ่ ก็ใช้บล็อกในการสื่อสารถึงเจตจำนงของตนที่ซ่อนเร้นอยู่ และผู้คนอีกมากมายหลายล้าน คนใช้บล็อกในการสื่อสารถึงเรื่องราวต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของพวกเขา เป็นโลกส่วนตัวที่พร้อมเปิดให้ทุกคนเข้ามาเยี่ยมชม
บล็อกมีความสำคัญในแง่ธุรกิจถึงขั้นที่กลุ่ม
News Corp ของ
Rupert Murdoch เจ้าพ่อสื่อโลกทุ่มเงินกว่า 630 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อ
MySpace ซึ่งเป็นหนึ่งในเว็บไซต์สำหรับสร้างบล็อกส่วนตัวอันดับแรกๆ ของโลกซึ่งมีบล็อกอยู่มากถึง 150 ล้านบล็อกใน MySpace ทีเดียว
นิตยสาร The Economist แบ่งบล็อก หลักๆ ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่
หนึ่ง เป็นไดอะรี่ส่วนบุคคลออนไลน์ ซึ่งมีบล็อกกว่า 57 ล้านบล็อกทั่วโลกเป็นบล็อกในลักษณะนี้ อย่างไรก็ตาม บล็อกประเภทนี้จะมีคนเข้าชมเพียงน้อยนิดและไม่ได้มีความพยายามของเจ้าของบล็อกในการขายโฆษณาแต่อย่างใด แต่การถือกำเนิดของ
AdSense ของกูเกิ้ลซึ่งจะนำโฆษณาไปวางไว้บนบล็อกและจะสามารถสร้างรายได้ให้เจ้าของเว็บตามจำนวนเมาท์ที่คลิกโฆษณานั้นๆ ก็ทำให้บล็อกกลุ่มนี้เริ่มกลายพันธุ์ไปในเชิงพาณิชย์มากขึ้น อย่างไรก็ตาม จากการศึกษาพบว่ามีเพียง 7 เปอร์เซ็นต์ของเหล่า ผู้เขียนบล็อกทั้งหลายที่บอกว่าแรงจูงใจสำคัญของพวกเขาคือการหาเงิน
อย่างไรก็ดี บล็อกอย่าง
Dooce (http://www.dooce.com) ซึ่งเล่าถึงเรื่องราว ในชีวิตของผู้หญิงอดีตคนออกแบบเว็บชั้นนำของลอสแองเจลิส ช่วงชีวิตของการตั้งครรภ์ และความทรงจำที่เลวร้ายในชีวิตวัยเด็กนั้น ในปีที่ผ่านมาบล็อกของเธอก็เริ่มสร้างรายได้จากโฆษณาและกลายเป็นแหล่งรายได้หลักของครอบครัวของเธอไปในที่สุด โดยมีผู้เข้าชม มากกว่า 1 ล้านคนต่อเดือน
หรือบล็อก
Wife in the North (http://www.wifeinthenorth.com) ซึ่งเป็นบล็อกเกี่ยวกับชีวิตแม่บ้านของจูดิธ โอ ไรลีย์ นับจากการย้ายครอบครัวจากลอนดอนมาอยู่ในเขตชนบทของนอร์ธธัมเบอร์แลนด์ ซึ่งทำให้เธอต้องเปลี่ยนจากชีวิตผู้หญิงทำงานมาดูแลครอบครัวแทน ซึ่งสำนักพิมพ์เพนกวินได้นำบล็อกของเธอมารวมเล่มและจ่ายค่าลิขสิทธิ์ให้ 4.9 ล้านบาท
สอง เป็นบล็อกที่ทำหน้าที่เป็นนิตยสารออนไลน์ที่ต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าเฉพาะ หรือตลาดแบบ Niche (Niche market) บล็อกเหล่านี้ส่วนใหญ่เป็นบล็อกที่สร้างขึ้นเพื่อทำธุรกิจโดยเฉพาะ โดยจะมีเจ้าหน้าที่ที่จ้างเข้ามาเพื่อทำหน้าที่เขียนเรื่องและขายโฆษณาโดยเฉพาะ ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดคือ ค่าย Gawker Media ซึ่งมีบล็อก
Gawker (http://www.gawker.com) ซึ่งเป็นบล็อกเกี่ยวกับเรื่องซุบซิบนินทาชาวนิวยอร์ก ซึ่งเราอาจจะพอเห็นลักษณะคล้ายๆ กันได้จากคอลัมน์ของซ้อเจ็ดในผู้จัดการ, ลัดดาซุบซิบ หรืออีกหลายๆ คอลัมน์ออนไลน์ที่เป็นที่นิยมกันมาก และบล็อก
Gizmodo (http://www.gizmodo.com) เกี่ยวกับสินค้าประเภท gadgets โดยทั้ง 14 บล็อกของ Gawker Media มีคนเข้าดูถึง 60 ล้านหน้าต่อเดือน และถือเป็นบล็อกที่สร้างรายได้มโหฬารมากที่สุดในวงการสื่อ ทุกวันนี้
สุดท้าย เป็นกลุ่มบล็อกที่กำลังเติบโตอย่างรวดเร็ว โดยมากจะเป็นบล็อกในลักษณะของอุตสาหกรรมในครัวเรือนหรือใช้คนจำนวนไม่มากนักในการทำ ซึ่งก่อนหน้ายุคของบล็อกเราจะเรียกว่าเป็นกลุ่มคนที่ทำจดหมายข่าวต่างๆ บล็อกอย่าง
GigaOm (http://gigaom.com) ซึ่งอดีตนักเขียนของนิตยสาร Business 2.0 ได้ลาออกจากงานเพื่อมาทำบล็อกของตัวเองโดยได้จ้างนักเขียนอีกสองคนเพื่อมาช่วยเขียน ปัจจุบันมีคนเข้าชมถึง 50,000 คนต่อวันและสามารถสร้างรายได้หลายหมื่นเหรียญสหรัฐต่อเดือน ในขณะที่ต้นทุน รวมถึงค่าจ้างเงินเดือนต่างๆ อยู่ที่ราว 20,000 เหรียญสหรัฐต่อเดือน
แต่การทำให้บล็อกเป็นที่นิยมนั้นก็ไม่ใช่เรื่องที่ได้มาด้วยเวลาเพียงข้ามคืน แม้ปัจจุบันกำลังจะเริ่มเป็นยุคฟองสบู่ของบล็อกอยู่ก็ตามที แต่การทำให้บล็อกเป็นที่นิยมก็ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันได้ทุกคน อย่างบล็อก Dooce เจ้าของบล็อกก็ต้อง ทำงานอย่างหนักเจ็ดวันต่อสัปดาห์ แม้แต่วันหยุดสุดสัปดาห์ก็ไม่มีหยุดหย่อน เธอต้องใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะสร้างมันขึ้นมาจนเป็นที่นิยมได้ โดยมีอีกหลายคืนที่เธอไม่ได้นอนเลย
ปัจจุบันเริ่มมีเว็บไซต์และหนังสือหลายๆ เล่มที่เล่าถึงเรื่องราวของการสร้างบล็อกและการทำให้บล็อกได้รับความสนใจ ซึ่งมีทฤษฎีที่หลากหลาย แต่ผมคิดว่าบล็อกก็เหมือนหนังสือหรือนิตยสารเล่มหนึ่ง ซึ่งสามารถสร้างปฏิสัมพันธ์กับผู้อ่านได้มากกว่า แต่อย่างไรก็ตาม การที่บล็อกนั้นจะได้รับความสนใจหรือไม่ก็ขึ้นกับว่ามันจับจุดความสนใจของคนอ่านได้มากหรือน้อยกว่ากัน มันเหมือนหนังสือเล่มหนึ่งที่จะต้องอาศัยปัจจัยหลายๆ อย่างในการจะประสบความสำเร็จได้ บางครั้งการได้รับการแนะนำจากคนดังสักคนอย่าง Oprah Winfrey ก็อาจจะทำให้หนังสือเล่มหนึ่งเล่มใดขายอย่างถล่มทลายได้ บล็อกก็เช่นเดียวกัน แต่เนื่องจากบล็อกมีพื้นฐานต่างจากหนังสือตรงที่โอกาสที่คนจะสร้างบล็อกขึ้นมาเป็นของตัวเองมีมากกว่าการที่จะตีพิมพ์หนังสือสักเล่มหนึ่ง โดยที่ต้นทุนในการเริ่มสร้างบล็อกต่ำมาก แต่การรักษาให้บล็อกอยู่ต่อไปกลับมีต้นทุนที่ค่อนข้างสูง เพราะเมื่อบล็อกมีคนต้องการเข้ามาดูมากขึ้นก็จะต้องอาศัยปัจจัยพื้นฐานทางด้านโทรคมนาคมและคอมพิวเตอร์ที่สามารถรองรับการเข้ามาดูจำนวน มากมายเหล่านั้น ในขณะที่ต้นทุนการจัดการเพื่อให้ได้มาซึ่งเรื่องราวในบล็อกก็เป็นต้นทุนที่ต้องจ่ายประจำอยู่แล้ว
สิ่งที่น่าห่วงคือ บล็อกจะซ้ำรอยแฟชั่นในวงการอินเทอร์เน็ตอีกหรือเปล่า ก่อนหน้านี้วงการอินเทอร์เน็ตมีแฟชั่นเกิดขึ้นหลายอย่าง ซึ่งแต่ละอย่างล้วนมีอายุสั้นๆ เพราะเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงเร็วและความนิยมในแฟชั่นที่มีธรรมชาติที่จะต้องเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เช่นเดียวกับยุคดอทคอมที่ช่วงแรกเด็กรุ่นใหม่จำนวนมากมายต่างเข้ามากอบโกยเงินทองที่หมุนเวียนจำนวนมหาศาล และสุดท้ายก็มีคนที่อยู่รอดมาถึงปัจจุบันเพียงไม่กี่รายเท่านั้น
เพราะบล็อกจำเป็นต้องอาศัยเนื้อหาที่คอยอัพเดตหล่อเลี้ยงให้บล็อกเติบโตเดินหน้าไปได้ เมื่อใดที่เจ้าของบล็อกเริ่มเบื่อหรือมองไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องอัพเดตก็จะทำให้บล็อกหยุดการเติบโต หรือตายไป เพราะเมื่อไม่อัพเดต เหล่าคนอ่านก็จะไม่แวะเข้ามาอ่าน แม้เมื่อเจ้าของบล็อกเปลี่ยนใจกลับมาอัพบล็อกใหม่ก็จะไม่สามารถเรียกแฟนเก่าๆ กลับคืนมาได้
การทำให้บล็อกเป็นที่นิยมจึงต้องอาศัยทั้งความอึดและความสม่ำเสมอเป็นระยะเวลาที่ยาวนานพอสมควร ซึ่งบางครั้งอาจจะนานจนทำให้หลายๆ คนรอไม่ไหว
บล็อกจึงอาจจะเป็นเพียงกล่องเก็บความทรงจำที่ถูกทิ้งอยู่ในห้องเก็บของ ที่นานๆ ครั้งเจ้าของถึงจะเปิดมาดูมันบ้างและนั่งนึกย้อนถึงอดีตอันแสนหวาน แล้วหลังจากนั้นก็ลืมมันไป
การเดินทางของบล็อกยังต้องอาศัยการพิสูจน์อีกยาวไกล เส้นทางข้างหน้าของบล็อกอาจจะเต็มไปด้วยอิฐ กรวด และหิน แต่ยังคงมีดอกไม้ริมทางให้เด็ดดมตลอดเส้นทางข้างหน้า
และถ้ายังนึกไม่ออกว่าจะไปเยี่ยมชมบล็อกที่ไหนกันดี ลองแวะดูของผมกันก่อนก็ได้นะครับ ที่
http://lepidopterans.blogspot.com/
1. Tory 2.0,' The Economist, London: Oct 7, 2006, Vol. 381, Iss. 8498, pg. 36
2. The universal diarist,' The Economist, London: Nov 25, 2006, Vol. 381, Iss. 8505, pg. 92
3. Going pro,'The Economist, London: Oct 16, 2006
4. Kafka, P. (2007), Murdoch 2.0, 'Forbes.com, Jan 24, 2007.
5. I blog, therefore,' Faylicity,
http://www.faylicity.com
6. บล็อกของผู้เขียน,
http://lepidopterans.blogspot.com/