การล่มสลายของบริษัทหม้อแปลงไฟฟ้า"ศิริวัฒน์"ของสมเจตน์ วัฒนสินธุ์
ในปี 2529 ถือว่าเป็นบทเรียนราคาแพงสำหรับธุรกิจเอสเอ็มอีคนไทย วันนี้บริษัท"ศิริวัฒน์น่าจะเติบใหญ่
ถ้าไม่เกิดสะดุดขาตัวเองในเรื่องการตัดราคาหั่นแหลกจนธุรกิจขาดทุนถึงล้มละลาย
สมเจตน์ วัฒนสินธุ์ คือผู้บุกเบิกวงการหม้อแปลงไฟฟ้าของไทยจนเป็นที่ยอมรับของต่างประเทศ
ได้รับการยกย่องเป็นนักธุรกิจดีเด่นปี 2524 และรับพระราชทานปริญญา ดุษฏีบัณฑิตกิตติมศักดิ์
สาขาวิศวกรรมศาสตร์จากจุฬาฯ เพราะหม้อแปลงไฟฟ้าที่บริษัทศิริวัฒน์ผลิต เป็นที่ต้องการและทดแทนการ
นำเข้าจากต่างประเทศได้ดี
สมเจตน์จบคณะวิศวะฯจุฬาฯ เริ่มทำงานที่ห้างวรบูรณ์จนเลื่อนเป็นผู้จัดการแผนกสินค้าไฟฟ้า
ก่อนที่จะลาออกมาก่อตั้งธุรกิจของตัวเองในปี 2501 ในนาม"ห้างหุ้นส่วนจำกัด
ศิริวัฒน์"ด้วยทุนจดทะเบียน 1หมื่นบาท โดยใช้บ้านในซอยกัลปพฤกษ์เป็นโรงงาน
ตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าขณะนั้นมีขนาดเล็กมาก ผู้ผลิตโรงงานเล็กๆในประเทศผลิตขายให้พ่อค้าชาวจีน
ส่วนตลาดราชการ เช่น การไฟฟ้าฯ ได้สั่งหม้อแปลงจากต่างประเทศเข้ามาใช้โดยตรง
ในปี 2505 ภาวะสงครามเวียดนามเกิดขึ้น ฐานทัพอเมริกันในไทยได้สั่งซื้อหม้อแปลงไฟฟ้าจากบริษัทศิริวัฒน์
จากจุดนี้สมเจตน์ได้ขยายกิจการและพัฒนาผลิตภัณฑ์หม้อแปลงไฟฟ้าของไทยให้ได้มาตรฐานสากล
โดยในปี 2514 บริษัทซื้อโนว์ฮาวจากอิสราเอลและส่งลูกน้อง 5 คนไปฝึกอบรมนาน
6 เดือน
หลังจากนั้นบริษัทศิริวัฒน์ก็สามารถประมูลงานของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคได้ตั้งแต่ปี
2515 จนกระทั่งปี 2522 บริษัทศิริวัฒน์เป็นบริษัทหม้อแปลงไฟฟ้าแห่งแรกที่เริ่มส่งออกไปจำหน่ายที่ประเทศมาเลเซีย
ทำให้ภาพพจน์บริษัทเสริมการตลาดอย่างดี
สมเจตน์ได้รุกก้าวพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น โดยการเปลี่ยนไปซื้อโนว์ฮาวจาก
บริษัท เวสติ้งเฮ้าส์ ซึ่งทำให้หม้อแปลงไฟฟ้าศิริวัฒน์เป็นที่รู้จักและยอมรับในคุณภาพมากขึ้น
และยอดขายเพิ่มขึ้นจากเดิมที่รับโนว์ฮาวจากอิสราเอล ซึ่งขายได้ปีละ 20 ล้าน
และเพิ่มขึ้นเรื่อยๆจนถึงปี 2524 บริษัทมีรายได้สูงสุดถึง 400 ล้านบาท และผงาดขึ้นเป็นยักษ์ใหญ่ในวงหม้อแปลงไฟฟ้า
ในขณะนั้นตลาดคู่แข่งศิริวัฒน์ยังมีบริษัท ไทยแมกซ์เวลซึ่งตั้งขึ้นในปี
2521 โดย"" ซันนี่ ยง นายทุนสิงคโปร์ร่วมกับคนไทย ได้ลุยตลาดต่างจังหวัดก่อนและได้งานประมูลของการไฟฟ้าภูมิภาคในปี2523
แต่ก็มีปัญหาต้องแก้ไขตลอดเพราะมาตรฐานคุณภาพไทยแมกซ์เวลยังต่ำอยู่ ทำให้มีผลกระทบต่อยอดขายศิริวัฒน์ไม่มากนัก
แต่แล้วยักษ์ใหญ่อย่างศิริวัฒน์ก็ต้องสะดุดขาตัวเอง เมื่อเกียรติพงศ์ น้อยใจบุญ
ซึ่งเป็นหลานแท้ๆและเป็นมือขวาของสมเจตน์ วัฒนสินธุ์ ได้ลาออกจากบริษัทพร้อมกับทีมงาน
4 คนในปี 2524 ออกมาตั้งบริษัท"เอกรัฐ"ผลิตหม้อแปลงฯแข่งด้วย
สงคราม"การตัดราคา"จึงปะทุขึ้น โดยฝ่ายของบริษัทศิริวัฒน์เป็นฝ่ายเริ่มก่อน
ในงานประมูลของการไฟฟ้าภูมิภาคเมื่อปี2525 จนในที่สุดทั้งไทยแมกซ์เวลและเอกรัฐ
ต้องพ่ายแพ้ทุกครั้ง ทำให้บริษัทศิริวัฒน์ครองส่วนแบ่งตลาดหม้อแปลงไฟฟ้าได้ถึง
90%
เมื่อโครงการแรกๆของบริษัทตัดราคามาได้นั้นต้องขาดทุน เพราะการลดค่าเงินบาท
แต่เพื่อความอยู่รอด สมเจตน์ต้องหมุนเงินด้วยวิธีหางานประมูลในครั้งต่อไปให้ได้
เพื่อนำโครงการไปจำนองกับแบงก์ นำเงินมาใช้ในโครงการแรก นี่คือลักษณะดำเนินธุรกิจแบบลูกโซ่ที่เปราะบาง
ในช่วงที่ประมูลงานได้และต้องนำโครงการนี้มาจำนองแบงก์นั้น ทางบริษัทศิริวัฒน์เริ่มขาดทุนแล้ว
จึงต้องมีการทำตัวเลขบัญชีขึ้นมาเสนอแบงก์ให้เห็นว่าไม่ขาดทุน โดยลดตัวเลขราคาวัตถุดิบลงมา
พอทางแบงก์อนุมัติก็ทำได้ไม่ครบตามจำนอง เพราะเงินไม่พอซื้อวัตถุดิบ ทำให้โครงการชะงักไป
ส่งมอบไม่ทันกำหนด ต้องถูก กฟภ.ปรับเป็นเงิน 4.5% ต่อเดือน เมื่อรวมหลายๆโครงการเข้ากลายเป็นเงินค่าปรับหลายสิบล้านบาท
แม้ธุรกิจจะขาดทุน แต่ด้วยความเป็นวิศวกรที่มองการณ์ไกล สมเจตน์ตั้งใจจะผลิตหม้อแปลง
ระบบ Power Transformer ซึ่งเป็นหม้อแปลงไฟฟ้า ขนาดใหญ่มาก เพื่อขายให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตซึ่งเป็นตลาดใหญ่
สมเจตน์จึงนำเงินทุนหลายสิบล้าน ไปขยายซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์ผลิตจนสามารถชนะงานประมูลหม้อแปลงระบบนี้
ขนาด 50 MVK.กับกฟผ.ได้ 1 ตัว และนับเป็นหม้อแปลงที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของไทย
ติดตั้งเมื่อเดือนตุลาคม 2528 ที่สถานีย่อยสาขาชิดลม และยังเดินเครื่องถึงทุกวันนี้
ในปี 2527 มาตรการจำกัดสินเชื่อ18%และการลดค่าเงินบาทได้กระหน่ำให้ฐานะการเงินของบริษัทศิริวัฒน์ต้องทรุดหนัก
ตัวเลขขาดทุนในงบดุลปีนั้นปรากฎติดลบ 31 ล้านบาท แบงก์กรุงเทพกับแบงก์กรุงไทยมีเงื่อนไข
ต้องประกันโครงการด้วยเงินสด 30% และชะลอให้สินเชื่อแก่บริษัทศิริวัฒน์
ปัญหาสภาพคล่องของบริษัทศิริวัฒน์มีมาก ก่อนปิดโรงงานแปดเดือน สมเจตน์ต่อรองให้พนักงานกว่า
400 คนยอมรับเงินเดือนเบื้องต้น 500 บาทต่อเดือนก่อน โดยสมเจตน์วาดหวังว่าจะต้อง
ฝ่ามรสุมให้ผ่านพ้นไปได้ถึงปี 2530 แต่ความจริงคือกฟภ.ได้ตัดสิทธิ์ไม่ให้บริษัทศิริวัฒน์เข้าประมูลงานอีกต่อไปตั้งแต่ปลายปี
2528
นี่คืออวสานของสมเจตน์ วัฒนสินธุ์และบริษัทศิริวัฒน์ที่ก่อตั้งมายาวนาน
28 ปี แต่สิ่งที่ดีที่สมเจตน์ได้สร้างไว้ให้กับวงการหม้อแปลงไฟฟ้า คือเทคโนโลยีที่คนไทยทำได้เองและได้สร้าง
"ผู้ประกอบการรุ่นใหม่" เช่น สัมพันธ์ วงศ์ปาน อดีตผู้จัดการโรงงานซึ่งก่อตั้งบริษัท
ไทยทราโฟ ผลิตหม้อแปลงฯและสามารถประมูลงาน 10 ล้านของ กฟภ.ได้ ส่วนพนักงานอีกกลุ่มหนึ่งตั้ง"บริษัทกิจวัฒนา"ขายพ่อค้าทั่วไป
โดยผู้บริหารทั้งสองบริษัทได้เรียนรู้บทเรียนหายนะจากสงครามตัดราคา ของบริษัทยักษ์ใหญ่อย่างบริษัท"ศิริวัฒน์แล้ว
หมายเหตุ จากเรื่อง" เมื่อไฟฟ้าชอร์ตวงการหม้อแปลงไฟฟ้า" โดย
ดารณี ชัยพันธ์- ปราณี ชีวาภาคย์ ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 12 เดือนสิงหาคม
2527
จากเรื่อง"เมื่อสมเจตน์ วัฒนสินธุ์ปล่อยหมัดตัดราคา หวังน็อคคู่แข่ง
เอาศิริวัฒน์เป็น เดิมพัน แล้วทุกอย่างก็พังไปตามระเบียบ" โดย ปราณี
ชีวาภาคย์ ในนิตยสารผู้จัดการ ฉบับที่ 37 เดือนตุลาคม 2529