|
Today's News
Cover Story
New & Trend
Indochina Vision
GMS in Law
Mekhong Stream
Special Report
World Monitor
on globalization
Beyond Green
Eco Life
Think Urban
Green Mirror
Green Mind
Green Side
Green Enterprise
Entrepreneurship
SMEs
An Oak by the window
IT
Marketing Click
Money
Entrepreneur
C-through CG
Environment
Investment
Marketing
Corporate Innovation
Strategising Development
Trading Edge
iTech 360°
AEC Focus
Manager Leisure
Life
Order by Jude
The Last page
ตีพิมพ์ใน นิตยสารผู้จัดการ ฉบับ เมษายน 2550
|
|
แม้จะได้ขึ้นชื่อว่าเป็นผู้นำในธุรกิจผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารทะเลของประเทศ โดยมียอดขายกว่า 15,000 ล้านบาทในปีที่ผ่านมา และมีตลาดอยู่ในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งอเมริกา แคนาดา แอฟริกาใต้ ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย ตะวันออกกลาง เอเชีย อเมริกาใต้ และเกือบทุกประเทศในสหภาพยุโรป
ทว่า "Sea Value" อันเป็นบริษัทแม่ของ I.S.A. Value และ Unicord Public ซึ่งเป็น 2 ผู้ผลิตและส่งออกปลาทูน่ารายใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ตระหนักดีว่า บริษัทฯ ไม่เป็นที่รู้จักในเมืองไทย
ครั้นเมื่อจะหันหลังกลับมารุกตลาดภาย ในประเทศ ด้วยการส่งผลิตภัณฑ์ตัวแรก ได้แก่ ปลาซาร์ดีนในซอสมะเขือเทศกระป๋อง ยี่ห้อ "ซูเปอร์ ซี เชฟ" ออกมาสู่มือคนไทย
งานนี้ "ซี แวลู" จึงต้องทุ่มทุนสร้างแบรนด์ไม่น้อยกว่า 100 ล้านบาท ครึ่งหนึ่งเป็นค่าโฆษณา ที่โหมยิงสปอตรัวยิบมาตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม ซึ่งเปิดตัวอย่างเป็นทางการ อีกครึ่งเป็นงบจัดกิจกรรมโรดโชว์ ปรุงชิม และส่งเสริมการขายกับร้านค้า รวมทั้งการเปิดร้าน อาหารแฟรนไชส์ขนาด 30-40 ตร.ม.ที่เน้นขายกลับบ้าน
แต่ดูเหมือน "ไม้เด็ด" ที่ผู้บริหารของ ซี แวลู ให้ความเชื่อมั่น อย่างมาก ก็คือตัวแทนจำหน่ายยักษ์ใหญ่อย่าง "สหพัฒน์" ที่มาร่วม จับมือถ่ายรูปในวันเปิดตัวนี้ด้วย
"ซี แวลู เป็นบริษัทที่ได้มาตรฐานระดับโลก และจากที่เคยไปทำวิจัย ผู้บริโภคก็ตอบรับแบรนด์นี้ดี ก็เลยคุยกันง่าย และเราก็มั่นใจว่า งานนี้ต้องสำเร็จแน่นอน" ดร.เพ็ญนภา ธนสารศิลป์ กล่าวในฐานะตัวแทนของบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน)
การเปิดตลาดในเมืองไทยของซี แวลู ไม่ได้เป็นเพียงแค่กลยุทธ์ กระจายความเสี่ยงอันเนื่องมาจากค่าเงินบาทที่แข็งตัวขึ้นทุกวัน ซึ่งทำให้บริษัทฯ ต้องขาดทุนค่าเงินไปร่วม 2 พันล้านบาทในปีที่ผ่านมา
ซี แวลู ยังตั้งเป้ายอดขายในเมืองไทยสูงถึง 500 ล้านบาทในปีนี้ 1 พันล้านบาทในปีหน้า และ 2 พันล้านบาทในปี 2552 พร้อมกับขึ้นแท่นเป็นเจ้าตลาด หรือก็คือโค่นแบรนด์ผู้นำที่ครองใจแม่บ้านมานานอย่าง "สามแม่ครัว" ลงให้ได้
"เราได้เปรียบแบรนด์อื่น เพราะปัจจุบันปลาที่จับในประเทศน้อยลง แต่เรามีพันธมิตรที่จะติดต่อจัดซื้อปลาจากทั่วโลกและก็ซื้อได้ โดยไม่ต้องผ่านโบรกเกอร์หลายต่อเหมือนรายอื่น" พจน์ อร่ามวัฒนา นนท์ ประธาน บริษัท ซี แวลู อธิบายเหตุผล
ไม่เฉพาะตลาดปลาซาร์ดีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในตลาดปลากระป๋อง
ซี แวลู ยังฝันจะขึ้นแท่นเป็นที่หนึ่งของตลาดปลากระป๋องทั้งหมดของเมืองไทย ซึ่งมีมูลค่าตลาดสูงกว่า 3 พันล้านบาท และอัตราเติบโตสูงถึง 20% ในช่วงเศรษฐกิจถดถอยเช่นนี้ พร้อมทั้ง วางแผนจะขยายสินค้ามาสู่ตลาดอาหารทะเลแช่แข็งในเมืองไทยภายใต้แบรนด์เดียวกันอีกด้วย
ทว่า ณ วันนี้ที่ต้องเร่งเจาะตลาดเมืองไทย และสร้างแบรนด์ให้เข้าถึงคนไทย สหพัฒน์ฯ ย่อมมีบทบาทสำคัญ เขาจึงไม่ลืมที่จะเอาใจพันธมิตรยักษ์ใหญ่รายนี้ ด้วยประโยคเด็ดปิดท้ายงานแถลงข่าว
"ปลากระป๋องของเราเมนูอร่อยได้หลายจาน แต่ถ้าจะอร่อยมากๆ ก็ต้องมาม่าต้มยำใส่ซูเปอร์ ซี เชฟ"
|
|
|
|
|